ผู้ก่อตั้ง Cybozu เองลาไปเลี้ยงลูกถึง 3 ครั้งด้วยกัน ซึ่งได้ขึ้นเป็นข่าวใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น เพราะผู้ชายในระดับบริหารน้อยคนนักในประเทศญี่ปุ่นที่จะสามารถลาเลี้ยงลูกได้
เป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมการทำงานหนัก และคาดหวังให้พนักงานทำงานเป็นระยะเวลายาวนานในแต่ละวัน การทำงานที่เคร่งเครียดและกดดันบีบบังคับให้พนักงานต้องให้ความสำคัญกับงานมากกว่าครอบครัว หรือแม้กระทั่งเกิดเหตุพนักงานทำงานหนักจนตายหลายต่อหลายครั้ง
แต่ในช่วงที่การสร้างสมดุลในชีวิตและการทำงานให้กับพนักงานในบริษัท (Work Life balance) ยังไม่เป็นที่พูดถึงในประเทศญี่ปุ่น กลับมีบริษัทซอฟต์แวร์ชั้นนำแห่งหนึ่งที่มุ่งมั่นดำเนินนโยบายยืดหยุ่นเวลาการทำงาน สนับสนุนการทำงานทางไกล การอนุญาตให้ลาเลี้ยงลูกได้เป็นเวลานานๆ และการจ้างงานผู้หญิงมากขึ้น
สามารถเสนอขายหุ้นให้กับคนทั่วไป (IPO) ภายในระยะเวลาเพียง 3 ปี
Cybozu คือบริษัทซอฟต์แวร์ชั้นนำของญี่ปุ่นที่ก่อตั้งในปี 1997 โดยวิศวกรจากบริษัทระดับโลกอย่างพานาโซนิค 3 คน ได้แก่ คุณ Toru Takasuka อดีตประธานและผู้อำนวยการ บริษัท Matsushita Electric Works V-Internet Operation ร่วมกับเพื่อนร่วมทีม อีก 2 คนคือ Yoshihisa Aono และ Shinya Hata ด้วยเงินลงทุน 200,000 ดอลล่าร์ที่ยืมมาจากครอบครัวและเพื่อนๆ พวกเขาเริ่มต้นบริษัทในห้องเช่าเล็กๆ ในคอนโดโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อจะให้เป็นบริษัทผลิตกรุ๊ปแวร์ (ซอฟท์แวร์ที่สนับสนุนการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม) แห่งแรกในญี่ปุ่น ถึงแม้พวกเขายังไม่รู้ทิศทางที่แน่นอนของบริษัท แต่กลับสร้างปรากฏการณ์กลายมาเป็นบริษัทที่เติบโตรวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นเพราะสามารถเสนอขายหุ้นให้กับคนทั่วไป (IPO) ภายในระยะเวลาเพียง 3 ปี หลังจากก่อตั้งบริษัท
ข้างนอกสดใส ข้างในสั่นคลอน
ในขณะที่บริษัทเติบโตอย่างรวดเร็วกลายเป็นบริษัทอันดับหนึ่งด้าน กรุ๊ปแวร์ และได้ส่วนแบ่งตลาดใหญ่สุดด้านซอฟต์แวร์สำหรับออฟฟิศ ซึ่งมากกว่าบริษัทระดับโลกอย่างไอบีเอ็ม หรือไมโครซอฟต์เสียอีก แต่ภายในบริษัทกลับต้องเผชิญกับวิกฤตครั้งใหญ่ เพราะพนักงาน 28% ลาออกจากบริษัททุกปีพร้อมๆ กับการสูญหายไปของความรู้ในการทำงาน และความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวของทีม
ผู้บริหารทราบดีถึงวิกฤตดังกล่าว จึงได้คิดนโยบายต่างๆ ขึ้นมากมายโดยมีวัตถุประสงค์ เพิ่มความพอใจของพนักงาน และเพิ่มความเท่าเทียมกันระหว่างเพศชายและหญิง ได้แก่
• 100 คน 100 สไตล์การทำงาน
รูปแบบการทำงานของบริษัททั่วไปไม่ได้ให้ความเคารพต่อวิถีชีวิตของพนักงาน โดยต้องการจะปรับพนักงานทุกคนให้เข้ากับรูปแบบการทำงานของบริษัท แต่ Cybozu เชื่อว่าหากมีพนักงาน 100 คน ก็จะมีสไตล์การทำงาน 100 แบบที่ไม่เหมือนกัน เพราะทุกๆ คนล้วนมีสไตล์การทำงานของตัวเองและได้รับแรงกระตุ้นจากสิ่งต่างๆ ที่แตกต่างกัน
บริษัทจึงได้ปรับรูปแบบการทำงานให้เหมาะกับสไตล์การทำงานของแต่ละคน โดยไม่ยึดเอารูปแบบใดรูปแบบหนึ่งตายตัว ไม่ว่าจะเป็นการทำงานในช่วงเวลาที่ตัวเองสะดวกโดยไม่จำเป็นต้องทำงานระหว่างเวลาปกติคือ 9 โมงถึง 5 โมง การทำงานจากบ้าน หรือการทำงานทางไกลจากที่อื่นๆ
• เน้นการจ้างงานผู้หญิงมากขึ้น
วัฒนธรรมการทำงานของญี่ปุ่นยังมีความแตกต่างกันระหว่างผู้หญิงและผู้ชายค่อนข้างมาก ผู้หญิงมักได้รับโอกาสในการทำงานน้อยกว่า ตำแหน่งต่ำกว่า และเงินเดือนก็น้อยกว่า ทั้งนี้เพราะผู้หญิงมักถูกกดดันให้ออกจากงานเพื่อรับบทบาทแม่บ้านและแม่ของลูกทำให้บริษัทไม่ค่อยนิยมจ้างผู้หญิงมากนัก แต่ Cybozu เชื่อมั่นในศักยภาพของผู้หญิงและเชื่อว่าสามารถเป็นแรงงานที่สำคัญในสภาวะที่ขาดแคลนคนวัยทำงาน
• ระบบสวัสดิการต่างๆ
บริษัทได้อนุญาตให้พนักงานลาคลอดตั้งแต่ช่วงเริ่มตั้งครรภ์และอนุญาตให้พ่อหรือแม่ลาเลี้ยงลูกได้สูงสุดเป็นเวลาถึง 3 ปี Yoshihisa Aono ผู้ก่อตั้ง Cybozu เองลาไปเลี้ยงลูกถึง 3 ครั้งด้วยกัน ซึ่งได้ขึ้นเป็นข่าวใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น เพราะผู้ชายในระดับบริหารน้อยคนนักในประเทศญี่ปุ่นที่จะสามารถลาเลี้ยงลูกได้ นอกจากนั้นบริษัทยังช่วยเหลือด้านการเงินกับพนักงานในการเรียนคอร์สพัฒนาตัวเองต่างๆ
เห็นได้ชัดว่าเมื่อเลือกสถานที่และเวลาทำงานเองได้ อัตราความพอใจในการทำงานของพนักงานเพิ่มขึ้นสูงมาก อัตราการลาออกของพนักงานที่สูงถึง 28% ในปี 2006 ลดเหลือเพียง 4% ในปี 2012 ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานใหม่ลงได้ 1 ใน 3 และลดค่าใช้จ่ายด้านการอบรมพนักงานใหม่ลงได้ครึ่งหนึ่ง
2 องค์ประกอบที่ทำให้บริษัทไม่มีวันเจ๊ง
Yoshihisa Aono หนึ่งในผู้บริหารของ Cybozu กล่าวว่า
“ผู้ถือหุ้นระบบทุนนิยมมักมุ่งหวังเพียงผลประโยชน์ด้านการเงินในระยะสั้นๆ ถึงแม้อาจต้องหลอกลวงลูกค้าหรือลดพนักงานลงบ้าง หากลดการจ้างงาน กำไรอาจเพิ่มขึ้นและทำให้นักลงทุนดีใจ แต่ต่อมาไม่นานนักลงทุนเหล่านั้นก็จะขายหุ้นทิ้งให้คนอื่น ดังนั้นสิ่งที่บริษัทควรทำคือ ให้นักลงทุน ลูกค้า และพนักงานมีความสุขและการทำประโยชน์เพื่อสังคม”
เขากล่าวว่า บริษัทจะไม่มีวันเจ๊งหาประกอบด้วย 2 สิ่งนี้
1) สินค้าและบริการที่คนต้องการ
หากลูกค้าจ่ายเงินเราเพราะว่าเขาชื่นชอบกับสินค้าและบริการของเรา เราก็จะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของพนักงานและครอบครัว และจ่ายภาษีเพื่อประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งจะทำให้เกิดสังคมแห่งความเท่าเทียมกันมากขึ้น
2) พนักงานที่มีความสุข
พนักงานถือได้ว่าเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของบริษัท บริษัทจะคงอยู่ได้หรือไม่ สิ่งสำคัญคือพนักงานที่กำลังทำงานนั้นกระตือรือร้นที่จะทำงานแค่ไหน
บริษัทขนาดกลางที่โด่งดังไปทั่วโลก
นโยบายการบริหารคนของ Cybozu ได้รับการยอมรับไม่เพียงแต่ที่ญี่ปุ่นแต่ในอีกหลายประเทศทั่วโลก ได้รับรางวัลหนึ่งในสถานที่ทำงานที่ดีที่สุดในญี่ปุ่นติดต่อกันเป็นเวลา 4 ปีแล้ว และยังได้รับรางวัลสถานที่ทำงานยอดเยี่ยมสำหรับผู้หญิง (ปัจจุบันมีพนักงานผู้หญิงคิดเป็นถึง 66%)
พนักงานกล่าวว่า ชื่นชอบที่บริษัทมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี ให้ผลตอบแทนดี มีเจ้านายที่ดี สนับสนุนให้พนักงานมีความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ทำให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และส่งเสริมให้มีความร่วมมือร่วมใจกันเป็นทีม หัวหน้าด้านการบริหารคนของบริษัท กล่าวว่าเขาต้องการทดลองใช้นโยบายในการบริหารคนต่างๆ ที่ Cybozu เพื่อเป็นต้นแบบในการบริหารคนของประเทศญี่ปุ่น
ถึงแม้ Cybozu เป็นบริษัทไม่ใหญ่ แต่ผู้บริหารกลับได้รับเชิญจากผู้บริหารบริษัทใหญ่ๆ และนักการเมืองให้แบ่งปันวิสัยทัศน์ และได้รับเชิญให้ร่วมทำโครงการสำคัญต่างๆ ปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าองค์กรกว่า 3,000 บริษัท และมีผู้ใช้งานกว่า70,000 คนทั้งในญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา
ติดตามอ่านเรื่องราวการทำธุรกิจด้วยใจรักจนประสบความสำเร็จได้ในหนังสือ “Japan Success ธุรกิจสำเร็จได้ด้วยใจรัก” และ หนังสือจิตวิทยาความรักความสัมพันธ์ “เมื่อจิตวิทยา ทำให้คนรักกัน” สามารถพูดคุยสื่อสารกับพิชชารัศมิ์ได้ที่ FB: Life Inspired by พิชชารัศมิ์
เรื่องแนะนำ :
– Kiyoko Ojima ผู้หญิงที่มอบโอกาสให้ผู้ไร้บ้านได้กลับมายืนบนลำแข้งตัวเองได้อีกครั้ง
– Rita No Kokoro จิตใจที่ทำเพื่อผู้อื่นของบริษัทญี่ปุ่น
– หัวอกคุณแม่ชาวญี่ปุ่นที่ต้องทำงานนอกบ้าน
– ผู้ชายญี่ปุ่น 10 ประเภท
– ชิเซโด้ บริษัทผู้ผลิตเครื่องสำอางเพื่อช่วยผู้มีปัญหาแผลเป็นร้ายแรง
– การบริการญี่ปุ่นที่ดูเปลี่ยนไป
ที่มา https://blog.kintone.com/work-reform-cybozu-20th-anniversary