Be With You: ใช้ชีวิตวันนี้ให้ดีที่สุดเพราะเราไม่สามารถย้อนเวลาได้
จากข่าวนักแสดงชื่อดัง “ยูโกะ ทาเคอุจิ (Yuko Takeuchi)” วัย 40 ปี เสียชีวิตในบ้านของตัวเองซึ่งสาเหตุน่าจะมาจากการฆ่าตัวตาย ทำให้หมอรู้สึกใจหายมากเพราะติดตามผลงานของเธอมาตลอด เรื่องที่หมอชอบมากที่สุด คือ ภาพยนตร์เรื่อง “ Be with you” (いま、会いにゆきます) ที่เข้าฉายปี 2004 คน คนในครอบครัวและคนรอบตัวที่ได้เจอกับเธอก่อนเสียชีวิต คงไม่มีใครคาดคิดว่านั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่จะได้พบกัน
Yuko Takeuchi
เรื่องย่อของ Be With You: นางเอกรักกับพระเอกตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย พระเอกป่วยมีโรคประจำตัว ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างคนอื่น ส่วนนางเอกเป็นคนที่สามารถมอบความรักให้กับคนที่เธอรักได้ทุกอย่างถึงขนาดยอมที่เสียสละตัวเองได้ ทั้งสองคนได้แต่งงานและมีลูกกัน เป็นครอบครัวที่ดูอบอุ่นมีความสุข นางเอกเคยพูดให้สัญญากับพระเอกและลูกชายว่า “ถ้าฉันตายไป ปีหน้าในวันที่ฝนตก เราจะได้พบกันอีก”
วันหนึ่งนางเอกเสียชีวิตกระทันหัน ในปีถัดมาพระเอกกับลูกเดินเข้าป่า ได้เจอกับหญิงสาวที่หน้าตาเหมือนกับนางเอก แต่เธอจำอะไรไม่ได้ พวกเขาพาเธอกลับบ้าน และได้กลับมาใช้เวลาที่แสนจะมีค่าร่วมกันอีกครั้ง
ตราบใดที่ฤดูฝนยังไม่หมด คำพูดของตัวละครในหนังมักจะบอกว่า “ถ้าหากว่า…” ราวกับยังมีบางอย่างติดค้างอยู่ในใจจากการที่ไม่สามารถแก้ไขบางสิ่งในอดีต สุดท้ายแล้วคนที่มีสิทธิได้เลือกเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต คือ ตัวนางเอกเอง ทางเลือกแรก คือ เธอเลือกที่จะได้รัก ได้ถูกรัก และตายไป หรือทางเลือกว่าเธอจะได้อยู่ต่อไปโดยไม่ได้รับประสบการณ์ความรักจากพระเอกและลูก
คนญี่ปุ่นมีหลักการใช้ชีวิตที่เรียกว่า “อิจิโกะ อิจิเอะ (一期一会)” หมายถึง “หนึ่งชีวิต หนึ่งพบ” บางทีการที่เราได้เจอกับใครสักคน มันอาจเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายในชีวิต ดังนั้นสิ่งที่เราได้ทำในช่วงเวลาที่พบกันจึงมีค่ามาก เราควรใช้ชีวิตด้วยการมีสติรู้ตัวและให้ความความสำคัญกับทุกเสี้ยววินาที ทำทุกอย่างด้วยความตั้งใจและดีที่สุด เพื่อที่จะไม่ต้องมาเสียใจทีหลัง เพราะเราได้พยายามเต็มที่แล้ว ในชีวิตจริงเราไม่มีปาฏิหาริย์อย่างในเรื่อง Be With You ที่เราจะเดินทางข้ามเวลากลับไปแก้ไขสิ่งต่างๆได้ เราจึงควรทำสิ่งที่อยากทำก่อนที่โอกาสและช่วงเวลานั้นจะผ่านพ้นไปอย่างไม่หวนกลับ
หลายต่อหลายครั้งที่เราต้องมานั่งคร่ำครวญเสียใจ (Regret) กับสิ่งที่น่าจะทำแต่ไม่ได้ทำหรือทำสิ่งที่ไม่ควรทำลงไป ซึ่งสาเหตุอาจมาจากความกังวล, ลังเลใจ, ประมาท, คิดว่าเดี๋ยวค่อยทำก็ได้ บางเรื่องเป็นสิ่งที่ยังพอแก้ไขได้ แต่บางเรื่องไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เช่น ไม่ตั้งใจอ่านหนังสือสอบ ทำให้สอบตก ต่อให้ตกยังแก้ตัวกลับไปซ่อมให้ผ่านได้ แต่ถ้าต้องจากลากับคนรัก เพราะเขาเสียชีวิตไปก่อนที่เราจะได้บอกความรู้สึก ถึงแม้อยากจะพูดกับเขามากแค่ไหน เขาก็ไม่ตอบเราแล้ว
อย่างไรก็ตามต่อให้เราพยายามใช้ชีวิตด้วยความตั้งใจว่าจะทำให้ดีที่สุด แต่มนุษย์ย่อมไม่มีใครสมบูรณ์แบบ ทุกคนล้วนแล้วแต่ต้องเคยทำอะไรผิดพลาดบางอย่าง เป็นธรรมดาที่เราจะมานั่งเสียใจเสียดายทีหลัง การรู้สึกแย่ไม่ใช่เรื่องผิด สิ่งที่สำคัญ คือ การจัดการกับอารมณ์ลบที่เกิดขึ้น และทำอย่างไรไม่ให้ผิดพลาดซ้ำเดิมอีก
>> การจัดการกับความเสียใจ (Regret)
ความเสียใจ (Regret) เกิดจากความผิดหวังที่สิ่งต่างๆ ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดไว้ เป็นความเจ็บปวดที่บาดลึกลงไปในจิตใจจากความคิดว่า “ทั้งๆ ที่ตอนนั้นเราน่าจะ…” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการสูญเสีย (Loss) และความเศร้าโศก (Sadness) วิธีการจัดการ คือ
@ บอกความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเองออกมา
เป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญมากในการยอมรับว่าเรากำลังมีอารมณ์แย่ๆ เกิดขึ้น เช่น โกรธ, เศร้า เมื่อเราสามารถเรียกอธิบายอารมณ์ได้อย่างถูกต้อง สมองส่วนที่เกี่ยวข้อง (Orbital Prefrontal Cortex) จะมีการทำงานสั่งการไปที่สมองส่วนอารมณ์ (Amygdala) เกิดการเชื่อมโยงร้อยเรียงข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น และมีการแสดงออกทางอารมณ์ที่เหมาะสมเพื่อเป็นการระบายความเจ็บปวดทางใจ เช่น การร้องไห้
@ ถามตัวเองว่าการเสียใจที่เกิดขึ้นสมเหตุสมผลหรือไม่
ทบทวนเรื่องราวดูว่าเหตุผลที่เราเสียใจเกิดจากอะไร เราสูญเสียอะไรไปจากการตัดสินใจครั้งนั้น อนุญาตให้ตัวเองคิดว่า “ถ้าตอนนั้น…” ผลจะต่างกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นอย่างไร คิดให้จบเพื่อที่จะได้ไม่ค้างคา แต่อย่าลืมว่าถึงแม้เราจะคร่ำครวญหวนคิดถึงเรื่องในอดีตมากแค่ไหน แต่เราต้องยังมีชีวิตอยู่กับปัจจุบันให้ได้
@ อนุญาตให้ตัวเองเศร้าเสียใจได้
เราไม่จำเป็นต้องบังคับตัวเองให้เป็นคนคิดบวกหรืออารมณ์ดีตลอดเวลา ช่วงที่รู้สึกแย่มันก็คือแย่ ไม่ต้องฝืน ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติที่เป็นปฏิกิริยาจากความสูญเสีย (Grieving Process) ไม่ตัดสินตัวเองที่รู้สึกเสียใจว่าเป็นคนที่อ่อนแอ ไม่เข้มแข็ง เพราะสิ่งที่ได้จากการที่เราเศร้าเสียใจ คือ การทบทวนและเรียนรู้ทำความเข้าใจตัวเองให้มากกว่าเดิม
@ เชื่อมั่นว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงได้
บางครั้งการเสียใจอาจทำให้เราพยายามหลบเลี่ยงการเผชิญกับสิ่งที่เราเคยทำผิดพลาดหรือผิดหวัง เช่น เราเคยมีแฟนแล้วความสัมพันธ์แย่มาก (Toxic Relationship) แม้จะเลิกกัน เราก็ยังไม่กล้าคุยกับคนใหม่เพราะกลัวจะต้องเสียใจอีก สิ่งที่ต้องทำเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คือ การคิดวิธีรับมือแก้ปัญหาที่แตกต่างจากเดิม เช่น เสียใจถูกหัวหน้าด่าว่านำเสนองานได้ไม่ดี เป็นเพราะเราใช้เวลาเตรียมตัวน้อย ครั้งหน้าต้องเปลี่ยนวิธีด้วยการวางแผนจัดการเวลาเตรียมตัวให้มากขึ้น
ทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตมีจังหวะและเวลาของมัน ดังนั้นการใช้ชีวิตอย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้ต้องมาเสียใจทีหลังจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะบางเรื่องไม่สามารถแก้ไขได้ แต่ถ้าเราทำสิ่งที่ผิดพลาดไปก็ไม่เป็นไรที่จะรู้สึกเสียใจ ให้ทำใจยอมรับความเจ็บปวด แล้วแปรเปลี่ยนเป็นพลังในการพัฒนาตัวเองเพื่อไม่ให้ผิดพลาดซ้ำอีก
ทักทายพูดคุยกับหมอแมวน้ำเล่าเรื่องได้ที่ www.facebook.com/sealpsychiatrist
เรื่องแนะนำ :
– เทศกาลหิมะซัปโปโรกับความรักที่รอวันละลาย
– “ฮารุกิ มุราคามิ” ผู้แปรเปลี่ยนความเหงาให้เราจับต้องได้
– ญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 : ทนในสิ่งที่ยากจะทนให้พ้นผ่าน
– ซากุระความงามที่ไม่จีรังและความเป็นจริงของชีวิต
– ซาซากิ มะคิ : ผู้วาดหน้าปกนวนิยายของมุราคามิเล่มแรกๆ
คลินิก JOY OF MINDS
ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลรักษาปัญหาด้านสุขภาพจิตโดยเฉพาะ
https://www.facebook.com/Joyofminds/
Tel: 090-959-9304
#Be With You: ใช้ชีวิตวันนี้ให้ดีที่สุดเพราะเราไม่สามารถย้อนเวลาได้