Ajisen Ramen จากคุมาโมโต้เพื่อผู้ประสบภัยคุมาโมโต้…คุณคัตซึอาคิ ชิเงมิสึ และทีมงานได้ออกตระเวนไปตามที่พักผู้ประสบภัยรอบๆ คุมาโมโต้เพื่อแจกราเม็งในมื้อกลางวันและเย็น ถึงแม้ว่าพนักงานของชิเงมิสึเองก็เป็นผู้ประสบภัยเช่นเดียวกัน แต่เขาก็ยังอยากจะให้ความช่วยเหลือคนอื่น
นั่งดูข่าวแผ่นดินไหวที่คุมาโมโต้ก็ทำให้หวนนึกถึงตอนที่ตัวเองได้ประสบเหตุการณ์แผ่นดินไหวชูเอ็ทสึ ครั้งใหญ่ของญี่ปุ่น (Chuetsu Earthquake -中越地震) ตอนดิฉันเรียนที่นีงาตะช่วงปี 2004 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ดิฉันจะจำไม่ลืมไปตลอดชีวิต
แผ่นดินไหวครั้งนั้นเป็นแผ่นดินไหวครั้งที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดนีงาตะ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2547 เวลา 5.56 ตอนเย็น โดยเกิดขึ้นสามครั้งติดต่อกัน ครั้งแรกมีความรุนแรง 7 ชินโดะ ครั้งที่สอง 6+ ชินโดะ และครั้งที่สาม 6- ชินโดะ
แผ่นดินไหวเกิดขึ้นอีกสิบห้าครั้งภายในเวลาหกสิบหกชั่วโมง และ after shock นับครั้งไม่ถ้วน เรียกว่าแผ่นดินสะเทือนทุกๆ 10 นาทีและต่อเนื่องถึงกว่า 3 เดือน ซึ่งในขณะที่เกิดแผ่นดินไหวดิฉันอยู่กับ Host Family ที่อพาร์ทเมนต์ชั้น 9 ขอบอกว่าเป็นเหตุการณ์สะเทือนอารมณ์มาก เพราะแม้แต่จะยืนขึ้นก็ยังไม่สามารถทรงตัวอยู่ได้ น้ำประปาไม่ไหล สัญญาณโทรศัพท์ถูกตัดขาด
จากเหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้เสียชีวิตจำนวน 39 คนจากแผ่นดินไหวและ after shock มีผู้ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 3,000 คน และมีผู้อพยพทิ้งบ้านเรือนมากกว่าแสนคน แผ่นดินไหวยังทำให้บ้านเรือนถล่ม และเสียหายกว่าพันแห่ง รวมถึงรถชินกันเซนสายโจเอ็ตสึ (上越新幹線) ซึ่งเชื่อมระหว่างจังหวัดโตเกียวและนีงาตะตกรางขณะแล่น และความเสียหายแก่ทางหลวงหมายเลข 8 และ 17 ทางการหยุดการเดินรถทั้ง รถไฟธรรมดาและชินกันเซนเป็นเวลากว่า 2 เดือน
แต่สิ่งที่ดิฉันประทับใจมากๆ จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนั้นก็คือความมีน้ำใจและการช่วยเหลือซึ่งกันและกันของคนญี่ปุ่น และครั้งนี้ก็เช่นกัน
คุณผู้อ่านคงเคยรับประทานหรือรู้จักราเม็งอาจิเซน (味千ラーメン) ซึ่งเป็นราเม็งจากคุมาโมโต้ Ajisen Ramen ถือกำเนิดขึ้นโดย คุณทาคาฮารุ ชิเงมิสึ ที่คุมาโมโต้ ประเทศญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1968
คุณทาคาฮารุคิดว่า อาหารต้องเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดผลดีต่อร่างกายและจิตใจ จนทำให้ผู้รับประทานคิดถึงความสุขของอาหาร และอยากกลับมาทานอีกครั้ง จึงเป็นที่มาของชื่อ “อาจิเซน ราเม็ง” ซึ่งแปลว่า “หนึ่งพันรสชาติ” นั่นเอง อาจสังเกตหาร้านง่ายๆ จากโลโก้ร้านที่เป็นเด็กน้อยชื่อ Chii-chan เมนูเด็กของร้านก็คือราเม็งน้ำซุปกระดูกหมู Tonkotsu ที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และทางร้านบอกว่าน้ำซุปนี้เต็มไปด้วยคอลลาเจนที่มาจากกระดูกและเนื้อหมูซึ่งเป็นโปรตีนสำคัญในการบำรุงร่างกายค่ะ อาจิเซนยังได้ขยายสาขาไปทั่วญี่ปุ่นและข้ามไปประเทศอื่นได้แก่ออสเตรเลีย แคนาดา จีน มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา รวมทั้งประเทศไทย
ช่วงสัปดาห์ก่อนมีผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวที่เมือง Mashiki คุมาโมโต้กว่าพันคนกำลังเข้าคิวรอรับอาจิเซนที่มาแจก ซึ่งผู้ประสบภัยต่างมีใบหน้ายิ้มแย้ม “ขอบคุณ” “นี่จะทำให้ฉันยังต่อสู้ไปได้” ผู้ประสบภัยกล่าว หลังจากที่เกิดแผ่นดินไหว ร้านอาจิเซนต้องปิดลงเพราะไม่มีแก๊ส
คุณคัตซึอาคิ ชิเงมิสึ ลูกชายของคุณทาคาฮารุ ชิเงมิสึ ซึ่งเป็นประธานของบริษัทคนปัจจุบันได้ตัดสินใจบริจาคราเม็งเท่ากับสต็อกหนึ่งอาทิตย์ให้กับผู้ประสบภัย คุณคัตซึอาคิ ชิเงมิสึ และทีมงานได้ออกตระเวนไปตามที่พักผู้ประสบภัยรอบๆ คุมาโมโต้เพื่อแจกราเม็งในมื้อกลางวันและเย็น ถึงแม้ว่าพนักงานของชิเงมิสึเองก็เป็นผู้ประสบภัยเช่นเดียวกัน แต่เขาก็ยังอยากจะให้ความช่วยเหลือคนอื่น จากประสบการณ์ที่ได้เคยเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือช่วงแผ่นดินไหว Great Hanshin Earthquake ปี 1995 และแผ่นดินไหวและสึนามิที่โทโฮคุปี 2011

ทีมของชิเงมิสึได้เสิร์ฟราเม็งกว่า 6,000 ชามในหนึ่งเดือนหลังเกิดแผ่นดินไหวให้กับผู้ประสบภัยในเขตเซนไดและอิชิโนมาคิ
คุณคัตซึอาคิ ชิเงมิสึ กล่าวว่า “ผมไม่เคยคิดว่าจะเกิดแผ่นดินไหวที่คุมาโมโต้ และผมก็ไม่สามารถที่จะนั่งเฉยๆ โดยที่ไม่ทำอะไรเลยได้ ในฐานะบริษัทท้องถิ่นที่ถือกำเนิดจากที่นี่ ผมอยากจะช่วยเหลือให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้” เขายังมีแผนที่จะไปแจกราเม็งที่เมือง Minamiaso ที่ประสบภัยหนักเช่นเดียวกัน
เห็นไหมคะว่ายามมีภัยเราหรือยามที่เราลำบากที่สุด ความมีน้ำใจและการช่วยเหลือซึ่งกันและกันก็เป็นสิ่งที่สวยงามและวิเศษที่สุดเช่นกันค่ะ
เรื่องแนะนำ :
– ทีมเวิร์กแบบญี่ปุ่น
– เคล็ดลับความสำเร็จจาก Dr. Kazuo Inamori ผู้กอบกู้ Japan Airlines ให้พ้นวิกฤต
– เทคนิคพิชิตใจเจ้านายญี่ปุ่น
– บทเรียนจากมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของญี่ปุ่น Tadashi Yanai เจ้าของ Uniqlo
– ผู้หญิง (หรือผู้ชาย) ก็สวยขึ้นได้ด้วยการแต่งหน้า