The Omiya Bonsai Art Museum สวรรค์สำหรับคนรักบอนไซ…ที่ไซตามะ (ไม่กี่สิบนาทีจากโตเกียว) ดินแดนแห่งนี้นอกจากจะของกินอร่อยแล้ว ยังจะถือว่าเป็นสวรรค์ของ “คนรักบอนไซ” ซึ่งมีชื่อเสียงไปทั่วโลก เรียกได้ว่าใครที่ชอบไม้ต้นเล็กอย่างบอนไซ ต้องมีความฝันในการมาเยือนเมืองไซตามะสักครั้ง
โดยส่วนตัวผมเป็นคนชอบดอกไม้หรือต้นไม้อะไรแบบนี้อยู่แล้วครับ (ดูไม่เข้ากับหน้าเนอะ) และเมื่อช่วงปลายปีก่อนก็มีโอกาสได้เดินทางไปที่ไซตามะ (ไม่กี่สิบนาทีจากโตเกียว) ซึ่งดินแดนแห่งนี้นอกจากจะของกินอร่อยแล้ว ยังจะถือว่าเป็นสวรรค์ของ “คนรักบอนไซ” ซึ่งมีชื่อเสียงไปทั่วโลก เรียกได้ว่าใครที่ชอบไม้ต้นเล็กอย่างบอนไซ ต้องมีความฝันในการมาเยือนเมืองไซตามะสักครั้ง ดังนั้นไซตามะจึงเป็นเป้าหมายของคนทั่วโลกที่ต่างแวะเวียนเข้ามาอย่างไม่ขาดสายครับ
The Omiya Bonsai Art Museum เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่และสมบูรณ์แบบที่สุดของประเทศญี่ปุ่น (เรียกได้ว่ามีคุณภาพมากที่สุดในโลก) ซึ่งนอกจากจะรวมประเภทของบอนไซไว้มากมายแล้ว สถานที่แห่งนี้ยังรวบรวมบอนไซหายากจากบุคคลที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่น เช่น บอนไซประจำตระกูลของนายกรัฐมนตรีอาเบะอีกด้วย
บอนไซของญี่ปุ่นมีจุดเด่นกว่าที่อื่นคือจะมีขนาดเล็กที่สุดในโลก (เทียบกันในข้อกำหนดว่าบอนไซจะมีสภาพสมบูรณ์ที่สุด เนื่องจากปัจจุบันมีบอนไซขนาดเล็กมากๆ เกิดขึ้นมา แต่ก็ไม่ได้มาตรฐานของบอนไซจริงๆ ซึ่งตรงส่วนนั้นเราไม่ได้เอาไปเทียบด้วย) และบอนไซของญี่ปุ่นนั้น ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อ “สร้างบอนไซที่เล็กที่สุด” เพียงอย่างเดียว แต่บอนไซของญี่ปุ่นจะได้เพิ่มในส่วนของ “ความหมายของบอนไซ” เข้าไปด้วย นั่นทำให้วงการบอนไซของญี่ปุ่น มีความโดดเด่นในเรื่องของการตกแต่งบอนไซ และเกิดเป็นวิธีการใหม่ๆ มากมาย เช่น การใช้ลวดมาดัดต้นไม้ หรือกระทั่งใช้มีดเฉือนให้เนื้อบางส่วนตาย ให้เกิดเป็นลายสวยงาม
จุดเด่นของบอนไซที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือเขาเล็งเห็นแล้วว่า “สาเหตุสำคัญที่ทำให้คนไม่ชอบบอนไซ ก็คือเขาไม่รู้ว่าจะเข้าใจมันได้อย่างไร?”
ดังนั้นเพื่อให้สมกับเป็นเมืองแห่งบอนไซ ทางพิพิธภัณฑ์จึงมีเป้าหมายเพื่อให้คนสามารถเข้าใจบอนไซได้โดยง่ายที่สุด การจัดวางภายในห้องโถงต่างๆ จะเน้นให้เป็นสัดส่วน เพื่อที่อย่างน้อยแม้คุณจะไม่เข้าใจ แต่คุณก็จะได้สัมผัสกับบอนไซ ได้สัมผัสถึงความงามอย่างไม่รู้ตัว นอกจากนี้เพื่อให้คนเลือกเดินทางมาที่พิพิธภัณฑ์บ่อยๆ เขาก็ใช้วิธี “เปลี่ยนบอนไซทุกสัปดาห์” ทำให้ผู้ที่มาชมได้เห็นบอนไซใหม่ๆอยู่เรื่อยๆ ซึ่งล้วนเป็นการนำเข้ามาจากทั่วเกาะญี่ปุ่น หรือแม้กระทั่งจากต่างประเทศ และยังรวมไปถึงบอนไซอื่นๆ ในสวนของพิพิธภัณฑ์เองที่รอการเฉิดฉายเมื่อได้นำจัดเข้าห้องแสดงและตัดแต่งอย่างถูกต้อง ทั้งหมดนี้คือความตื่นตาตื่นใจที่ทำให้คนรักบอนไซหนีห่างไปจากสถานที่แห่งนี้ไม่ได้เลยล่ะครับ
บอนไซในญี่ปุ่นนั้นมีความเป็นมานานกว่า 700 ปี และปลูกกันกระจัดกระจายทั่วญี่ปุ่น บอนไซเป็นตัวแทนของความอ่อนโยน เป็นความหมายของสิ่งที่ปลอบประโลมจิตวิญญาณของผู้ที่ได้ชม คอนเซปต์ของบอนไซนั้น ถ้าจะว่าไปแล้วเขาใช้คำว่า “เพิ่มความเป็นหญิงเข้าไปไปในสิ่งที่แข็งแกร่ง” เปรียบกับการเอาต้นไม้ใหญ่มาอยู่ในระดับที่เล็ก คล้ายเหมือนเป็นการเพิ่มความอ่อนโยนลงไป สอนให้เรามองสิ่งต่างๆด้วยสายตาที่อ่อนโยนมากยิ่งขึ้น
อย่างที่กล่าวไปว่าบอนไซนั้นแต่เดิมมีการพัฒนาอยู่ทั่วญี่ปุ่น จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1923 ที่เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในแถบภูมิภาคคันโต ทำให้แหล่งบอนไซหลายๆ แห่งเสียหาย เหตุนี้จึงนำไปสู่ความคิดที่จะทำให้เมืองใดเมืองหนึ่งเป็นศูนย์กลางของบอนไซไปเลย เพื่อจะได้ตั้งหน่วยงานศึกษาพัฒนาที่เป็นจริงเป็นจังและเพื่อให้ง่ายต่อการดูแลรักษา
สิ่งหนึ่งที่คุณจะมั่นใจได้เลยจากพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็คือ “ผู้บรรยาย” ที่พร้อมจะตอบคำถามของคุณอยู่เสมอ (แต่ข้อเสียคือบางคนก็พูดภาษาอังกฤษไม่ได้จริงๆ แต่ถ้าเรามีล่ามไปด้วย เขาจะตอบได้อย่างฉะฉานมากกกก ในฐานะคนชอบอะไรพวกนี้แล้ว ขอบอกเลยว่าเขาตอบได้อย่างชัดเจนและกระจ่างจริงๆ ครับ) อย่างที่บอกไปว่าพิพิธภัณฑ์เขาอยากให้คนเข้าใจบอนไซในภาพรวมมากยิ่งขึ้น ทางพิพิธภัณฑ์เลยจัดการแสดงแบบง่ายๆ ให้คนที่เพิ่งมาสัมผัสได้เข้าใจด้วย ยกตัวอย่างบอนไซแต่ละประเภทดังนี้
ภาพด้านบนนี้คือ “บอนไซเอียงขวา” อันนี้สามารถใช้บอกทางได้ และมีความหมายถึงการต้อนรับ / เรียนเชิญ ในที่นี้อาจจะทำเป็นบอนไซเอียงซ้ายก็ได้ ก็เป็นการบอกทางอีกทางไป หรือจะเป็นบอนไซที่มีลำต้นสูงขึ้นมาตระหง่านตรงกึ่งกลางแล้วแผ่กิ่งก้านซ้ายขวาก็ได้ บอนไซแบบนั้นจะเหมือนคนที่ยืนผายมือสองข้างออกไปตอนที่จะต้อนรับคน บอนไซลักษณะดังกล่าวนี้ เหมาะอย่างยิ่งในการวางไว้ในสถานที่ที่ต้องพบปะผู้คน เพราะจะทำให้ผู้ที่เห็นรู้สึกอุ่นใจสบายใจครับ
ภาพด้านบนนี้ ส่วนที่เห็นเป็นสีขาวคือส่วนที่ “ตายแล้ว” เป็นการสร้างบอนไซขึ้นมาโดยใช้เทคนิคของการ “ฆ่า” โดยการใช้มีดเฉือนส่วนต่างๆ ออกไปให้ส่วนนั้นไม่สามารถเจริญเติบโตได้นั่นเอง (ต้องใช้เทคนิคมาก เพราะต้องการจำกัดส่วนที่ตายเท่านั้น ยังต้องการให้ส่วนอื่นๆ เจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์อยู่ และหากทำพลาดเพียงนิดเดียวก็จะตายได้ทั้งต้น หรือก็จะไม่สามารถเขียวงามอย่างที่เห็นในภาพได้)
ความหมายของบอนไซชนิดนี้ คือการแสดงให้เห็นว่า “ความผิดพลาด” (เปรียบกับส่วนของต้นไม้ที่ตาย) แม้จะดูเป็นสิ่งที่น่าเสียดาย แต่มันจะเป็น contrast ให้ความสำเร็จของเราที่เกิดขึ้นนั้น ชัดเจน และงดงามมากยิ่งขึ้น (อย่างต้นไม้ต้นนี้ส่วนที่ตายแล้วเป็นสีขาว ก็ส่งเสริมส่วนที่เป็นใบสีเขียวให้เด่นชัดขึ้นมา) เป็นต้นไม้ที่สอนเราให้ไม่ต้องกลัวความผิดพลาด เพื่อที่วันหนึ่งเราจะได้อิ่มเอมกับความสำเร็จนั่นเอง
บอนไซด้านบนนี้ เป็นบอนไซที่ใช้เพื่อการสั่งสอนเช่นเดียวกัน คอนเซปต์ของบอนไซชนิดนี้คือ “การตกลงบนเหว” กล่าวคือลักษณะของต้นจะเป็นการย้อยลงด้านในด้านหนึ่งอย่างรุนแรง เหมือนถูกทิ้งลงไปในเหว เปรียบเสมือนปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับชีวิต เหมือนตัวเองถูกทิ้งอยู่ในจุดที่ยากลำบากและโศกเศร้า แต่ถ้าเรามองบอนไซต้นนี้ให้ดี เราจะสัมผัสได้ว่านอกจากส่วนที่ดิ่งลงเหวแล้ว ยังมีส่วนที่เชิดขึ้นบนอย่างสง่าผ่าเผย เปรียบดั่งส่วนลึกในจิตใจของเรา ที่ถึงแม้จะโศกเศร้าแต่บางส่วนก็ยังอยากพยายามที่จะแข็งแกร่งขึ้นมาให้ได้ และสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ หรือความสุขก็ตาม ทั้งหมดล้วนเกิดมาจากรากฐานเดียวกัน นั่นก็คือตัวเรา (ในที่นี้ก็คือทั้งต้นที่เชิดชูขึ้นหรือส่วนกิ่งที่ก้มตกลงเหวไป ล้วนมาจากรากฐานเดียวกัน กระถางเดียวกัน) ดังนั้นเราควรมีกำลังใจ และเลือกว่าจะมีความสุขหรือไม่ ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้สามารถปรับปรุงและหาความสุขได้ด้วยตัวเองนั่นแหละ
ส่วนภาพด้านบนนี้จะแสดงวิธีการใช้ “ลวด” ในการพันต้นไม้ เพื่อให้ต้นไม้เอียงไปตามความต้องการ ภายในพิพิธภัณฑ์จะมีการอธิบายอย่างละเอียดเลยครับว่าการใช้ลวดแบบไหน จะออกมาเป็นอย่างไร ถ้าทำผิดพลาด ผลจะออกมาเป็นอย่างไร ชัดเจนและสนุกสนานมากครับ

หากใครสนใจเดินทางมาชมที่นี่ ก็เดินทางมาได้โดยรถไฟครับ ห่างจากโตเกียวแค่ครึ่งชั่วโมงเท่านั้นเอง โดยสามารถนั่งมาด้วย JR Utsunomiya Line มาลงที่สถานี Toro และเดินจาก East Exit ของสถานี แค่ 5 นาทีเท่านั้นเอง โดยมีค่าเข้า 300 เยนครับ !
ใครเคยไปเยี่ยมชมที่นี่ก็มาพูดคุยกันได้นะครับ เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยไป แต่อาจจะไม่ถูกใจเท่าไรนัก ตอนนี้ทางไซตามะเองจากที่ได้พูดคุยกัน ก็มีความต้องการที่จะสร้างความเข้าใจของคนทั่วไปกับบอนไซให้มากขึ้น เพื่อจะทำให้ชื่อเสียงของไซตามะบอนไซกระจายออกไป และเรียกนักท่องเที่ยวเข้ามาในตัวเมืองมากยิ่งขึ้นอีกครับ
พบกันใหม่สัปดาห์หน้า หรือทางทวิตเตอร์ @pumiiiiiiiiii ครับ!
เรื่องแนะนำ :
– สถานที่แปลกๆ ในการจัดมวยปล้ำญี่ปุ่น
– 5 นักมวยปล้ำหญิงญี่ปุ่นรุ่นใหม่ที่น่าจับตามอง
– “E-BOOK” อัศวินขี่ม้าขาว ผู้กอบกู้วงการหนังสือญี่ปุ่น
– “รู้แบบนี้ไม่มีตกงาน” คำแนะนำจากชาวญี่ปุ่นสำหรับคนอยากประสบความสำเร็จทางการงาน
– ช่วงเวลาที่ยากลำบากของวงการมวยปล้ำญี่ปุ่น