วิชายุทธ วิถีเซน by Lordofwar Nick
มาอ่าน “คัมภีร์ห้าห่วง” ของมูซาชิด้วยกันเถอะ (81) คัมภีร์แห่งวาโย (ลม): สี่ การใช้ทะจิสั้นในสายสำนักอื่น
สวัสดีครับท่านผู้อ่าน เข้าสู่สัปดาห์สุดท้ายของเดือนสิงหาคมแล้วนะครับ บอกได้แค่ว่า เดือนตุลาคมนี้ ก็จะจบซีรี่ส์ “คัมภีร์ห้าห่วง” ที่เขียนมาได้ยาวนานแบบกินเวลาเกือบๆ สองปีแล้วนะครับ (โห) และเรายังมุ่งไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้งนะครับ
คำแปลข้อความต้นฉบับ
風の巻
คัมภีร์แห่งวาโย
四 一 他流に短き太刀を用ゐる事
สี่ การใช้ทะจิสั้นในสายสำนักอื่น
`短き太刀斗にて `勝ん `と思ふ所実の道に非ず `昔より `太刀 `かたな `と云て `長き `と `短き `と云ふ事を顕し置也 `世の中に強力なる者は大きなる太刀をもかろく振なればむりに短きを好む所にあらず `其故は長きを用て槍長太刀をも持物也 `短き太刀を以て人の振太刀の透間を `きらん `飛いらん `つかまん `などと思ふ心かたつきて悪し
การคิดว่า “จะชนะ” เพียงด้วยทะจิสั้นนั้น หาใช่วิถีที่แท้ไม่ แต่โบราณ ที่เรียกว่า “ทะจิ” “คาตานะ” (นั้น) เป็นการสำแดงไว้ว่า “ยาว” ว่า “สั้น” ในโลกนี้ผู้มีกำลังเข้มแข็งนั้น หากแกว่งทะจิใหญ่ให้เป็นของเบาได้ ย่อมไม่มีทางที่จะชมชอบความสั้นไปได้ ด้วยเหตุนั้น เมื่อใช้ความยาวจึงถือของอย่างหอกหรือทะจิยาว การมีจิต คิดว่า อาศัยทะจิสั้น “จักฟัน” “จักโดด” “จักกุม” ซึ่งช่องว่างที่คนแกว่งทะจิ นั้น (เป็นของ) ลำเอียงและเลว
`又すきまをねらふ所万事後手に見えもつると云心有て嫌事也 `若は短かき物にて `敵へ入くまん `とらん `とする事大敵の中にて役に立ざる心也 `短きにてし得たるものは `大勢をもきりはらはん `自由に飛ばん `くるはん `と思ふ共皆 `うけ太刀 `と云物になりてとりまぎるる心有て慥成道にてはなき事也 `同くは我身は強く直にして人を追回し人に飛はねさせ人のうろめく様にしかけて慥に勝所を専とする道也 `大分の兵法に於ても其理有 `同じくは人数かさを以て敵を矢場にしほし即時にせめつぶす心兵法の専也
อีกทั้ง การมีจิตที่ว่า เล็งช่องโหว่ ทุกเรื่องเห็นเป็นลงมือทีหลัง แล้วพัวพันยุ่งเหยิง นั้น เป็นเรื่องน่ารังเกียจ แม้ว่า ด้วยของสั้น “จักเข้าประกบศัตรู “จักยึดจับ” การทำเช่นนั้น ท่ามกลางศัตรูใหญ่ (แผลงเป็น ศัตรูหมู่มาก) เป็นจิตที่ไม่มีประโยชน์ ผู้ที่จะทำเอา (ให้) ได้ด้วยความสั้นนั้น แม้จะนึกว่า “จักฟันกวาดคนหมู่มาก” “จักโดดดังใจ” “จักคลั่ง” ก็ตาม ล้วนกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ทะจิรับ” เกิดจิตปนเป (สับสน) ย่อมไม่มีการสำเร็จมรรคเป็นแน่แท้ เหมือนกันคือ กายตนแรงตรง ไล่วนคนอื่น ทำคนอื่นให้โดดเด้ง เข้าทำคนอื่นให้เกิดอาการลน คือวิถีที่ถือการเอาชนะเป็นเรื่องใหญ่สำคัญอย่างแน่แท้ แม้ในพิชัยสงครามของส่วนใหญ่ก็มีหลักดังกล่าว เหมือนกัน คืออาศัยจำนวนคนมาก บีบศัตรูให้ไปยังที่ธนู แล้วรุกขยี้ในทันใด จิตนี้เป็นเรื่องใหญ่สำคัญของพิชัยสงคราม
`世の中人の物をしならふ事へいぜいもうけつかはしつぬけつくぐりつしならへば心道にひかされて人にまはさるる心有 `兵法の道直にただしき所なれば正理を以て人を追回し人をしたがふる心肝要也 `能く吟味有べし
ในโลกนี้ การฝึกทำสิ่งต่างๆ ของคน หากเรียนแบบ รับบ้าง หลบบ้าง ถอนบ้าง ซ่อนบ้าน อยู่เป็นนิตย์ จิตจะถูกดึงไปในทาง (นั้น) เกิดจิตที่ถูกคนล้อม วิถีของพิชัยสงคราม หากตรง เป็นที่ถูกต้องล่ะก็ อาศัยหลักที่ถูก ไล่ล้อมคน จิตที่ทำคนให้ทำตาม (เรา) เป็นเรื่องใหญ่ใจสำคัญ ขอจงคิดพินิจให้ดีๆ
การตีความและอภิปราย
ถ้าจะถามว่า ทำไมมูซาชิจึงเห็นว่า การใช้ของสั้น (ทะจิสั้น) คิดแต่จะฉวยช่องว่าง ลอบแทง คอยแต่จะลงมือทีหลัง “แต่เพียงถ่ายเดียว” นั้นไม่ดี ก็จะต้องท้าวความไปถึงคำสอนว่าด้วยเรื่อง “การรู้นายทัพไพร่พล” ใน “คัมภีร์แห่งเตโช” ที่ว่า การจะมีชัยชนะ เราต้องควบคุมคนอื่น ไม่ใช่ถูกคนอื่นควบคุม
…แต่ถ้าเราฝึกนิสัยเอาแต่คอยจังหวะ รออีกฝ่ายลงมือก่อนอยู่อย่างเดียว นิสัยแบบนี้จะกลายเป็นทำตัวเป็น “ฝ่ายรับ” (passive) ลูกเดียว สุดท้ายจะกลายเป็นว่าคู่ต่อสู้เป็นฝ่ายกุมสถานการณ์เสียเอง
มันน่าอายนะครับ แต่พูดตรงๆ แต่ก่อนผมก็แนวนี้เหมือนกันครับ (ต้องเปลี่ยน)
ในชีวิตประจำวันก็เช่นกัน หากเราทำตัวไม่เป็นผู้นำหรือผู้ริเริ่ม เอาแต่จะคอยแบบ อะไรก็ได้ แล้วแต่ ทำตามเขาสั่งลูกเดียว จิตใจเราก็จะถูกทำรูปร่าง (shape) ไปตามนั้น คือเป็นจิตที่ไม่กระฉับกระเฉง ขาดความริเริ่ม ขาดความคิดเชิงวิพาษณ์ สุดท้าย จะขาดกระทั่งสัญชาตญาณพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตคือ “การดิ้นรนเอาตัวรอด”
สิ่งที่เราเป็น เราทำ ในทุกย่างก้าว ชีวิตประจำวัน สิ่งที่เรารับรู้ สัมผัส กระทบกับตาหูจมูกลิ้นกายใจเรา ทุกอย่างล้วนมีส่วนในการทำรูปร่าง (shape) ของจิตเราทั้งนั้น พูดแบบง่ายๆ คือ ถ้าห้องเราสะอาดโล่ง จิตใจเราก็จะสะอาดโล่ง ถ้าห้องเราสกปรกรกรุงรัง จิตใจของเราก็จะสกปรกรุกรังขึ้นมา เพราะฉะนั้นใน 5 ส. ถึงต้องตบท้ายด้วย “สร้างนิสัย” (ชิทสึเคะ 躾) ก็เพื่อที่ว่าจะได้ทำให้ ส.ทั้งสี่ ก่อนหน้า (สะสาง สะดวก สะอาด สุขลักษณะ 整理 整頓 清掃 清潔 เซริ เซตง เซโซ เซเคตสึ) ยังอยู่ได้ “ อย่างยั่งยืน” ไงล่ะครับ
หลุดมาเรื่อง 5 ส.ได้ไงนิ?
และนี่คือภาพของข้าวราดน้ำแกงอ่อมไก่แบบเมืองๆ ในสไตล์ข้าวแกงกะหรี่ญี่ปุ่น (คิดได้ไงเนี่ย) ร้าน Curry Craft หลังกองบิน บางวันผมซ้อมเสร็จแวะมากินนี่แหละครับ (อันนี้ยิ่งหลุดกันไปใหญ่นะ 555)
เอาเป็นว่าพอแค่นี้ก่อนดีกว่า (ฮา) พบกันใหม่สัปดาห์หน้าสวัสดีครับ
เรื่องแนะนำ :
– มาอ่าน “คัมภีร์ห้าห่วง” ของมูซาชิด้วยกันเถอะ (80) คัมภีร์แห่งวาโย (ลม): สาม สิ่งที่เรียกว่า ทะจิแรง ในสายสำนักอื่น
– มาอ่าน “คัมภีร์ห้าห่วง” ของมูซาชิด้วยกันเถอะ (79) คัมภีร์แห่งวาโย (ลม): สอง การถือทะจิใหญ่ของสำนักอื่น
– มาอ่าน “คัมภีร์ห้าห่วง” ของมูซาชิด้วยกันเถอะ (78) คัมภีร์แห่งวาโย (ลม): หนึ่ง การรู้วิถีแห่งพิชัยสงครามสำนักอื่น
– มาอ่าน “คัมภีร์ห้าห่วง” ของมูซาชิด้วยกันเถอะ (77) คัมภีร์แห่งเตโช (ไฟ): ยี่สิบเก้า ปัจฉิมลิขิต
– มาอ่าน “คัมภีร์ห้าห่วง” ของมูซาชิด้วยกันเถอะ (76) คัมภีร์แห่งเตโช (ไฟ): ยี่สิบแปด สิ่งที่เรียกว่า กายแห่งหินผา
#มาอ่าน “คัมภีร์ห้าห่วง” ของมูซาชิด้วยกันเถอะ (81) คัมภีร์แห่งวาโย (ลม): สี่ การใช้ทะจิสั้นในสายสำนักอื่น