ดารา-ศิลปินที่เป็นบุคคลของประชาชนเนี่ย เวลามาเจ๊อะกับเรื่อง “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” เขาจะทำอย่างไร มีอะไรที่ทำได้และทำไม่ได้บ้าง วันนี้จะมาเล่าอีกมุมหนึ่งของวงการบันเทิงญี่ปุ่นให้ได้เรียนรู้กันค่ะ
วันนี้จะพาไปดูเรื่องราวระหว่าง “ดาราญี่ปุ่น” กับ “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ค่ะ
ดารา-ศิลปินที่เป็นบุคคลของประชาชนเนี่ย เวลามาเจ๊อะกับเรื่อง “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” เขาจะทำอย่างไร มีอะไรที่ทำได้และทำไม่ได้บ้าง วันนี้จะมาเล่าอีกมุมหนึ่งของวงการบันเทิงญี่ปุ่นให้ได้เรียนรู้กันค่ะ
ป.ล. บทความนี้เขียนขึ้นมาเพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับญี่ปุ่น ไม่ได้มีเจตนาเชิญชวนหรือสนับสนุนให้หันมาดื่มแอลกอฮอล์ หรือมีโฆษณาแฝงแต่อย่างใด
1. ดาราญี่ปุ่นเป็นพรีเซ็นเตอร์โฆษณาเบียร์ได้
สำหรับประเทศญี่ปุ่นแล้ว ดารา-ศิลปินสามารถเป็นพรีเซ็นเตอร์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ เครื่องดื่มที่เห็นบ่อยสุดๆ เลยก็คือ “เบียร์” ค่ะ ถ้าได้เข้าไปดูโฆษณาเบียร์ญี่ปุ่นล่ะก็ โฆษณาเบียร์มักมากับบรรยากาศหน้าร้อนเผยให้เห็นถึงความสดชื่น สะใจจากการได้ดื่มเบียร์ ไม่หวั่นแม้จะอากาศร้อนแค่ไหนก็ตาม รวมถึงได้เห็นลักษณะของเบียร์ ไม่ว่าจะเป็นสีหรือฟองเบียร์ก็จะถูกพรีเซ็นต์ในโฆษณาค่ะ แล้วเหล่าดาราก็ยกขึ้นซดอย่างเอร็ดอร่อย ให้สมกับการเป็นโฆษณาจริงๆ
อารมณ์ประมาณนี้ค่ะ สื่อให้เห็นถึงบรรยากาศหน้าร้อน แต่เย็นสบายไปด้วยสถานที่ทุ่งหญ้า ต้นไม้และที่ขาดไม่ได้ก็คือเบียร์ ดิฉันพยายามเลือกภาพที่เห็นไม่ค่อยชัดมาประกอบบทความ เพื่อความปลอดภัยและความเหมาะสม แต่ถ้าดูในโฆษณาญี่ปุ่นจริงๆ จะเห็นแม้กระทั่งสีของเบียร์ ฟองเบียร์ที่รินใส่อยู่ในแก้ว พร้อมท่าดื่มแบบสดชื่น อะโลฮ่า…
2. มีการตกลงอย่างชัดเจนว่าเป็นพรีเซ็นเตอร์
ดารา-ศิลปินที่จะมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ก็จะมีการตกลงอย่างชัดเจนว่าทางตัวสินค้าเครื่องดื่มเนี่ย ตกลงให้ดารา-ศิลปินคนนั้นมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้ ประชาชนก็จะรับรู้โดยทั่วกันว่า อ่ออ สินค้าตัวนี้ มีดาราคนนี้เป็นพรีเซ็นเตอร์ พอเห็นรูปถ่ายหรือกิจกรรมคู่กับสินค้าก็จะรู้กันว่าเป็นงาน เป็นโฆษณาระหว่างตัวสินค้านั้นอย่างถูกต้องตามที่ได้ตกลงกันเอาไว้
3. มีงานเปิดตัวสินค้าต่อสื่อสาธารณะด้วย
เวลาถึงงานเปิดตัวสินค้า ดาราที่เป็นพรีเซ็นเตอร์ก็จะออกมาแถลงข่าวบนเวทีพร้อมถือขวดเบียร์ กระป๋องเบียร์ออกสื่อ ก็คล้ายๆ กับพรีเซนเตอร์สินค้าทั่วไปค่ะ ที่จะมีงานเปิดตัว และดาราต้องออกมาถือมาโชว์สินค้าให้คนทั่วไปได้เห็นในเชิงการประชาสัมพันธ์สินค้า พร้อมกับมีการพูดคุยเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างดาราที่เป็นพรีเซ็นเตอร์ค่ะ
4. ฉากละครที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มักไม่ถูกเซนเซอร์
มาดูที่ “ละครญี่ปุ่น” กันบ้างค่ะ ดาราไม่ได้แค่ออกมาโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้เท่านั้น ในละครญี่ปุ่นเองก็มีฉากที่ตัวละครดื่มแอลกอฮอล์ด้วย ซึ่งในฉากเหล่านั้นก็จะไม่ถูกเซ็นเซอร์แต่อย่างใดค่ะ แลดูเหมือนเป็นสิ่งธรรมดาทั่วไปในละครที่คนดูไม่ได้รู้สึกว่านี่คือ “วัตถุอันตราย” แต่มันก็เป็นเครื่องดื่มที่ประชาชนในญี่ปุ่นสามารถซื้อดื่มได้ถ้าบรรลุนิติภาวะแล้ว
อย่างเช่นละครเรื่อง “Hotaru no Hikari” จะมีฉากขนบประจำเรื่องก็คือ ฉากที่นางเอกจะชอบมาดื่มเบียร์ที่ระเบียงบ้านหลังเลิกงานทุกวัน แต่ฉากที่เห็นเนี่ย มันไม่ได้ชวนให้อยากออกไปดื่มจนมัวเมา แต่มันจะให้ความรู้สึกที่ว่าคงเป็นเรื่องทั่วไปของคนญี่ปุ่น พอเสร็จจากงานที่เหน็ดเหนื่อย ก็อยากผ่อนคลายด้วยเครื่องดื่มสุดโปรดของเขาเหมือนชีวิตประจำวันของมนุษย์ญี่ปุ่นทั่วไปค่ะ ที่มักจะชื่นชอบดื่มเบียร์เป็นชีวิตจิตใจ โดยเฉพาะในยามที่เหนื่อยล้าหลังเลิกงาน แล้วก็ในละครจะเป็นการดื่มแบบหอมปากหอมคอค่ะ ไม่ใช่แบบเมาเละ หรือต่อให้เมาก็ยังอยู่บนพื้นฐานความจริง ที่ในโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว คนเราก็มีบ้างที่ต้องสังสรรค์ ดื่มเหล้า ดื่มเบียร์กัน ถ้าดื่มเยอะหน่อยก็ต้องเมาเป็นธรรมดา แต่ในละครก็จะสอดแทรกเหตุและผลถึงความเป็นไปของละครฉากนั้นด้วยว่าทำไมถึงต้องดื่มเบียร์ แล้วทำไมถึงต้องให้ตัวละครเมา

แล้วก็ด้วยความที่ละครญี่ปุ่นมีแนวอาชีพเยอะมาก บางทีเราก็จะเห็นฉากที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บ่อยๆ ในเวลาที่ตัวละครออกไปกินเลี้ยงสังสรรค์กับพนักงานในบริษัทค่ะ หรือเวลาออกไปพบลูกค้า ละครญี่ปุ่นเนี่ยสิ่งสำคัญที่สุดคือ “ความสมจริง” ละครที่ฉายออกไปต้องมีความใกล้เคียงกับชีวิตจริงมากที่สุด ถ้าถึงฉากนี้เนี่ยแล้วตัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทิ้งไป ก็จะดูทะแม่งๆ เพราะว่าตามธรรมเนียมของคนญี่ปุ่นเวลาออกไปพบลูกค้า หรือพูดคุย สังสรรค์กับคนในบริษัทนอกเวลางาน จะต้องมีการดื่มเหล้า ดื่มเบียร์กัน ซึ่งธรรมเนียมนี้คนญี่ปุ่นเรียกว่า “Nominication” คนญี่ปุ่นถือว่าการดื่มเป็นช่องทางการสื่อสาร เชื่อมความสัมพันธ์อีกรูปแบบหนึ่ง พอดื่มปุ๊ป มันก็จะเกิดบรรยากาศผ่อนคลาย เป็นกันเอง กล้าพูดสิ่งที่อยู่ในใจจริงๆ ออกมาได้มากขึ้นค่ะ
5. ดาราที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ห้ามดื่มหรือเผยภาพคู่กับแอลกอฮอล์อย่างเด็ดขาด!
ถึงแม้ว่าดารา-ศิลปินสามารถออกมาเป็นพรีเซ็นเตอร์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ และสามารถเผยแพร่ฉากละครที่มีเครื่องดื่มแอกอฮอล์ได้อย่างไร้เซ็นเซอร์เนี่ย เราอาจมองว่าช่างมีความเป็นอิสระและเสรีมาก แต่จริงๆ แล้วสำหรับเรื่อง “แอลกอฮอล์” ในชีวิตจริง ทางญี่ปุ่นเองค่อนข้างเคร่งครัดมากๆ ค่ะ ทางกฎหมายมีกฎว่าผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (ไม่ครบอายุ 20 ปี) ห้ามซื้อ ห้ามดื่มของมึนเมาโดยเด็ดขาด!
พอเด็กอายุครบ 20 ปี ญี่ปุ่นจะมีวันพิเศษสำหรับเยาวชนที่อายุบรรลุนิติภาวะค่ะ ซึ่งก็คือวันจันทร์ที่สองของเดือนมกราคมของทุกปี ใครที่มีอายุครบ 20 ปีในวันนั้น ถือว่าเป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะอย่างเป็นทางการ ไม่ใช่แค่พ่อแม่ ผู้ใหญ่ หรือคนรอบข้างให้การยอมรับในการเป็นผู้ใหญ่โดยสมบูรณ์เท่านั้น แต่ยังรวมถึง “กฎหมาย” ด้วยค่ะ ที่จะให้สิทธิทางกฎหมายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้ง ซื้อหรือดื่มเหล้าเบียร์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ หรือจะสูบบุหรี่ก็เรื่องของคุณ เป็นสิทธิที่กฎหมายอนุญาต แต่ถ้าทำผิดกฎหมายเมื่อไรล่ะก็ต้องรับผิดชอบในฐานะผู้ใหญ่คนหนึ่งอย่างเช่นกันค่ะ เช่น หากเมาแล้วขับเนี่ยก็ต้องรับโทษ (ที่ค่อนข้างหนัก) อย่างปฏิเสธไม่ได้ ซึ่งวันที่เด็กๆ บรรลุนิติภาวะถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ของพวกเขามากๆ ค่ะ
อย่างนักร้องสาว “Kyary Pamyu Pamyu” ถึงกับออก Single เพลง “Furisodation” เพื่อเฉลิมฉลองที่เธอครบรอบ 20 ปีเลยทีเดียว ซึ่งใน PV ก็จะมีฉากที่สาวปามิวออกมาเต้นแบ้วตามคอนเซ็ปต์เธอนั่นแหละค่ะ พร้อมกับการกินดื่มเฉลิมฉลองกับการเติบโตสู่การเป็นผู้ใหญ่ของเธอ
แต่ถึงอย่างนั้นก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มคนที่ต่อต้านรณรงค์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถึงกับเขียนจดหมายมาร้องเรียน Warner Music Japan ต้นสังกัดเลยว่า การมีฉากดื่มแอลกอฮอล์นั้นมันไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นฉากที่สาวปามิวยกขวดไวน์ขึ้นมากระดกดื่ม ที่แลดูไม่สุภาพเอามากๆ หรือจะเป็นฉากอื่นๆ ที่มีแอลกอฮอล์ปรากฏร่วมด้วยก็ตาม เลยร้องเรียนขอให้ช่วยปรับ PV ตัวนี้เสียใหม่ด้วย ทาง Warner Music Japan เลยออกมารับผิดชอบสังคมด้วยการเขียนรณรงค์ใต้ PV เพลงใน Youtube ค่ะว่า คนที่จะดื่มเหล้าได้เนี่ยต้องบรรลุนิติภาวะก่อนนะจ๊ะ ถ้ายังล่ะก็จะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง แต่ทางต้นสังกัดก็ไม่มีการปรับเปลี่ยนตัว PV แต่อย่างใด เพราะทีมงานไม่ได้มีเจตนาที่จะเชิญชวนให้เยาวชนดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงสาวปามิวก็ถึงวัยอันสมควรตามกฎหมายที่สามารถดื่มแอลกอฮอล์ได้แล้ว ทุกวันนี้ตัว PV นี้ก็ฉายได้ตามปกติค่ะ ไม่ดราม่าแล้ว จากเคสนี้ทำให้เราเห็นว่า ไม่ว่าจะทำอะไร “เจตนา” เป็นสิ่งสำคัญจริงๆ
แต่ถ้าศิลปินทำผิดกฎหมายเอง ในวงการบันเทิงญี่ปุ่นก็ค่อนข้างมีกฎที่เคร่งครัดมากๆ โดยเฉพาะเรื่องการดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่ก่อนที่จะบรรลุนิติภาวะ ซึ่งสนับสนุนกับกฎหมายในบ้านเมืองเขาอีกทีหนึ่ง ฉะนั้นคนที่จะมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ได้เนี่ย ก็ต้องมีภาพลักษณ์ที่เป็นผู้ใหญ่ และที่สำคัญต้องบรรลุนิติภาวะ สามารถดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ตามกฎหมาย
ถ้าพบดารา-ศิลปินที่ดื่มเหล้า ดื่มเบียร์ หรือสูบบุหรี่ก่อนวัยอันควรจะเป็นยังไงน่ะเหรอคะ? ถ้าจับได้นี่ ส่วนใหญ่แล้วไม่ใช่แค่ถูกพักงานนะคะ แต่ถูกคัดออกจากวงการบันเทิงไปเลยค่ะ อย่างเช่น กรณีของ “Uchi Hiroki” และ “Kusano Hironori” อดีตสมาชิกวง NEWS บอยแบนด์จากค่ายจอห์นนี่ที่โด่งดังสุดๆ ในญี่ปุ่น พวกเขาทั้ง 2 คน ดื่มเหล้าในขณะที่อายุยังไม่ถึง 20 ปี หรือยังไม่บรรลุนิติภาวะ เลยถูกคัดออกจากวงโดยไม่ได้กลับคืนมาอีกจนถึงทุกวันนี้เลยค่ะ และในช่วงแรกๆ ที่สมาชิกในวงถูกจับได้ว่าดื่มเหล้า ก็เล่นเอาวง NEWS ทั้งวงต้องหยุดกิจกรรมการแสดงไปชั่วขณะ เรียกได้ว่าไม่ได้ลงโทษแค่คนที่ทำผิดกฎเท่านั้น แต่เพื่อนร่วมวงก็ต้องรับผิดชอบด้วยเช่นกัน

แต่ทั้งคู่ก็ยังสามารถกลับเข้ามาในวงการบันเทิงได้อีกค่ะ แต่ก็ไม่สามารถกลับเข้ามาในฐานะของสมาชิกวง NEWS ได้แล้ว Uchi Hiroki กลับมาในฐานะของนักแสดงแต่ก็เห็นในจอทีวีไม่บ่อยเท่าไรนัก ส่วน Kusano Hironori ก็ผันตัวไปเป็นนักร้องเดี่ยวค่ะ

หรือดาราบางคนที่ทำผิดกฎก็อาจจะถูกพักงานไปโดยที่ไม่รู้ว่าเมื่อไรจะได้กลับมาอีกครั้ง อย่างเคสของ “Ryutaro Morimoto” ไอดอล นักร้องหนุ่มจากวง Hey! Say! JUMP มีภาพหลุดออกมาว่าสูบบุหรี่ก่อนวัยอันควร ซึ่งในภาพตอนนั้นเขามีอายุเพียง 14 ปีเองค่ะ พอภาพหลุดออกมาแบบนั้นแล้ว ทางต้นสังกัดจึงสั่ง “พักงาน” น้องริวทาโร่ทันทีอย่าง “ไม่มีกำหนด”!!
แม้ดารา-ศิลปินญี่ปุ่นจะเป็นพรีเซ็นเตอร์โฆษณาเหล้าเบียร์ได้ แต่คนที่จะเป็นพรีเซ็นเตอร์ได้นั้นต้องบรรลุนิติภาวะก่อน อีกทั้งกฎของเขาก็เข้มงวดพอสมควรค่ะ ดาราคนไหนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะแต่ดันไปดื่มเหล้า ดื่มเบียร์ สูบบุหรี่ล่ะก็ เรียกได้ว่า…ถึงขั้นอนาคตในวงการบันเทิงดับเลยล่ะค่ะ
ทำไมดาราญี่ปุ่นถึงโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้
การที่ดาราบ้านเขาสามารถเป็นพรีเซ็นเตอร์แอลกอฮอล์ได้อย่างเปิดเผย อาจจะเป็นจากกฎหมายที่ห้ามคนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะดื่มแอลกอฮอล์ และคนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะก็ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และผู้ขายเองก็ไม่ปล่อยปละละเลย เลยทำให้ไม่ว่าจะให้ใครเป็นพรีเซนเตอร์ก็ไม่ถือว่าเป็นชักชวนให้หันเข้าหาของมึนเมาอย่างเกินเหตุเกินควร (เพราะมีกฎหมายควบคุมอยู่) รวมถึงคนที่จะมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ได้ก็ต้องบรรลุนิติภาะวะแล้ว และมีภาพลักษณ์ที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้วจริงๆ แล้วก็แอลกอฮอล์โดยเฉพาะเบียร์ของญี่ปุ่นเนี่ย เขามีหลายดีกรีค่ะ ไม่ใช่มีแต่แบบเบียร์แรงๆ ดื่มเข้าไปแล้วจะเมาทันที
รวมถึงวัฒนธรรมการดื่มของคนญี่ปุ่นค่ะ ส่วนใหญ่คนญี่ปุ่นจะมีการดื่มแบบเป็นพิธีให้กรึ่มๆ ไม่ถึงกับเมาหัวราน้ำ ออกแนวฉันเหนื่อย ฉันเซ็ง ขอดื่มสักนิดนึงล่ะกันนะ กินแบบที่สบายใจแค่ตัวฉัน ไม่ได้กินเพื่อไประรานสร้างความเดือดร้อนให้ใคร หรือบางทีก็ดื่มเพื่อหน้าที่การงาน ไม่ได้ดื่มเล่นแต่อย่างใด อย่างที่เล่าไปแล้วข้างต้นถึงเรื่องออกไปสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงานหรือพูดคุยงานกับลูกค้าค่ะ
อีกอย่างถ้ากลัวเยาวชนจะเลียนแบบล่ะก็ ญี่ปุ่นเขามี “เบียร์เด็ก” ค่ะ เป็นเบียร์ที่ไม่ผสมแอลกอฮอล์ แต่มีลักษณะสีฟองเหมือนเบียร์เป๊ะ อ่านได้ในบทความของพี่เกตุวดีค่ะ >>> https://www.marumura.com/สินค้าญี่ปุ่นมึนๆ-กึ่งมีประโยชน์/
พี่เกตุวดีได้บอกเอาไว้ว่าเป็นเบียร์ที่เหมือนของจริงมาก แต่รสชาติของมันไม่สู้ดีเท่าไรค่ะ แต่จริงๆ อาจเป็นการจงใจทำให้รสชาติมันไม่ดีหรือเปล่า เด็กจะได้เกิดความรู้สึกว่าเบียร์มันไม่อร่อย อย่าดื่มเลย แหม! ช่างเป็นการรณรงค์ที่ครีเอทีฟจริงๆ ค่ะ
ก็เอาเป็นว่าถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวอีกหนึ่งมุมมองที่เก็บมาเล่าสู่กันฟังค่ะ แต่ละสังคมต่างก็มีวิธีการควบคุมสังคมให้สงบสุขที่แตกต่างกัน แต่ละวิธีก็ย่อมปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของสังคมนั้นๆ ญี่ปุ่นเขาก็มีวิธีในแบบของเขา ส่วนเราก็มีวิธีแบบของเรา สิ่งสำคัญคือปฏิบัติตามกฎที่มี เคารพกฎและสิทธิซึ่งกันและกัน และไม่ก่อความเดือดร้อนให้คนรอบข้างค่ะ ☺
ทักทายพูดคุยกับ ChaMaNow ได้ที่ >>> Facebook Sakura Dramas
ขอบคุณรูปภาพและข้อมูลจาก:
http://arashi-yucatan.blogspot.com/2012_07_01_archive.html
http://aramatheydidnt.livejournal.com/1853483.html
https://en.wikipedia.org/wiki/Furisodation
https://www.pinterest.com/pin/452048881320054840/
http://nasthycielle.livejournal.com/2555.html
http://asianboys90.blogspot.com/2012/04/biografiaprofile-de-kusano-hironori.html
โมริโมโตะ ริวทาโร่ (Hey!Say!JUMP) จะกลับคืนสู่วงการได้อีกครั้งหลังจบการศึกษาหรือไม่?