KY (空気読めない / kuuki yomenai) แปลตรงตัวว่า “อ่านบรรยากาศไม่ออก” ใช้สำหรับว่าคนที่พูดอะไรออกไปโดยไม่ดูสถานการณ์หรือบรรยากาศรอบข้าง คำนี้เป็นที่แพร่หลายมากในทุกกลุ่มที่ใช้ KY 語 จนมีคำลูกหลานงอกตามมากันเยอะ
บทความโดย : hatonotamago www.marumura.com
ในปัจจุบันนี้ อินเตอร์เน็ตเป็นสิ่งที่ใช้กันโดยทั่วไปในสังคมโลกที่พวกเราอยู่ แทบจะไม่มีคนรุ่นใหม่คนไหนที่ไม่รู้วิธีการใช้คอมพิวเตอร์ วิธีการใช้โปรแกรมพื้นฐานรวมไปถึงวิธีการใช้อินเตอร์เน็ต การที่โลกของเราเชื่อมต่อกันด้วยเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ทำให้การสื่อสารเป็นไปได้โดยเร็วมากขึ้น ดังนั้นการสื่อสารของคนในโลกไซเบอร์จึงมักจะใช้คำสั้นๆ หรือใช้ตัวย่อแทนสิ่งที่ต้องการพูดออกมา
คนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับตัวย่อของประเทศฝั่งตะวันตกที่เป็นสากลมากกว่าตัวย่อของประเทศทางตะวันออกเช่นญี่ปุ่นอย่างแน่นอน ในที่นี้ขอแนะนำ KY 語 ที่ใช้กันแพร่หลายในโลกไซเบอร์และในชีวิตประจำวันของญี่ปุ่นกันค่ะ

KY 語 คืออะไรกันแน่
เป็นที่รู้กันว่าคนญี่ปุ่นนิยมส่งเมสเสจคุยกันทางโทรศัพท์มือถือ บทสนทนาจะดำเนินไปอย่างช้ามากถ้าหากใช้ภาษาญี่ปุ่นแบบไม่ย่อ ดังนั้นเพื่อทำให้สามารถส่งเมสเสจได้เร็วขึ้น จึงเกิดเป็นคำย่อที่สั้นลงกว่าคำศัพท์เดิม ยกตัวอย่างเช่น งานพิเศษ/พาร์ทไทม์ アルバイト (Arubaito) กลายเป็น バイト (Baito) ファミリーコンピュータ (Family Computer) กลายมาเป็น ファミコン (Famicon) เป็นต้น และในเวลาต่อมาก็เกิดการย่อโดยอักษรภาษาอังกฤษ โดยตัวย่อของคำญี่ปุ่นที่เริ่มใช้แรกๆ และเป็นที่นิยมกันแพร่หลายก็คือ KY ที่มาจากประโยคว่า 空気読めない (kuuki yomenai) ใช้ว่าคนที่ชอบทำหรือชอบพูดอะไรโดยไม่ได้ดูบรรยากาศรอบข้าง ด้วยการที่ KY เป็นตัวย่อที่มีคนญี่ปุ่นจำนวนมากใช้กันโดยไม่จำกัดกลุ่ม จึงกลายเป็นตัวแทนของตัวย่อทั้งหลายที่ใช้กันไปเลย
KY 語 เองก็มีการแบ่งกลุ่มตามผู้ใช้อีกด้วย แบ่งเป็นกลุ่มหนุ่มสาววัยรุ่น กลุ่มอินเตอร์เน็ต กลุ่มโทรศัพท์มือถือ กลุ่มโอตาคุ อะคิบะเคย์ รวมไปถึงกลุ่มสายความมืด (ขอละไว้ในฐานที่เข้าใจ :D) ที่มีการแบ่งกลุ่มผู้ใช้เพราะตัวย่อบางตัวอาจจะมีหลายความหมาย ถ้าใช้กับคนไม่ถูกกลุ่มอาจจะถูกเข้าใจผิดได้ค่ะ
ในที่นี้ขอยกตัวอย่าง KY 語 ที่ใช้กันอย่างเพร่หลายในอินเตอร์เน็ตกันนะคะ เพราะเป็นเส้นทางที่ง่ายที่สุดที่จะเข้าถึงสังคมเล็กๆ สังคมหนึ่งของประเทศญี่ปุ่นโดยไม่ต้องเสียค่าเครื่องบินไป 😉

KY (空気読めない / kuuki yomenai) แปลตรงตัวว่า “อ่านบรรยากาศไม่ออก” ใช้สำหรับว่าคนที่พูดอะไรออกไปโดยไม่ดูสถานการณ์หรือบรรยากาศรอบข้าง คำนี้เป็นที่แพร่หลายมากในทุกกลุ่มที่ใช้ KY 語 จนมีคำลูกหลานงอกตามมากันเยอะ เช่น
CKY(ちゃんと空気読める / chanto kuuki yomeru) “อ่านบรรยากาศออกได้ดีนะ”
KYG (空気読めなくてごめん/kuuki yomenakute gomen) “ขอโทษด้วยนะที่อ่านบรรยากาศไม่ออก” เป็นต้น
MT (Meeting) ประชุม แต่ถ้าใช้กันในกลุ่มวัยรุ่นอาจจะหมายถึงอีเวนต์ต่างๆ ก็ได้ค่ะ
HD (ヒマ電 / himaden) มาจากคำว่า ヒマ(hima) เวลาว่าง บวกกับอักษรตัวแรกของคำว่า 電話(denwa)โทรศัพท์ กลายเป็น ヒマ電(himaden) มักจะใช้กันเมื่อกำลังจะแยกกันไปทำธุระของตัวเองในความหมายว่า “จะโทรศัพท์ไปหาเมื่อว่างนะ”
wktk(ワクワクテカテカ / wakuwakutekateka) ใช้กันในขณะที่กำลังรออะไรบางอย่างด้วยความหวัง ความตื่นเต้น ระทึก ความรู้สึกแบบ “ฉันรอไม่ไหวแล้วนะ”
ktkr(キタコレ / kitakore) มักจะใช้กันหลังจากสิ่งที่กำลังรออยู่ด้วยความหวัง ความตื่นเต้น ความระทึกได้ปรากฎขึ้นมา มักพบว่าใช้หลัง wktk กันบ่อยมาก
w/ww/wwwww(笑う / warau) ตัว w ตัวเดียวแทนการ “หัวเราะ” มักจะพบทั้งแบบตัวเดียวและแบบwยืดยาวเป็นแผง คล้ายๆกันการใช้ 5555 ของบ้านเราเลยค่ะ
kwsk(詳しく / kuwashiku) 詳しいkuwashii แปลเป็นภาษาไทยได้ว่าโดยละเอียด อย่างละเอียด ตัวย่อนี้ใช้เมื่อต้องการข้อมูลของสิ่งที่ต้องการรู้อย่างละเอียดค่ะ
mjsk(マジスカ / majisuka)マジですか?maji desu ka→マジスカ?maji su ka แปลว่า “จริงเหรอ” “จริงดิ่” อะไรทำนองนี้ค่ะ ผู้ใช้มักจะใช้เมื่อไม่อยากเชื่อว่าข้อมูลที่กำลังรับอยู่เป็นเรื่องจริงหรือเปล่า
うp(upu=up) คือ アップロード(appuroodo) แปลว่า upload นั่นเอง คนญี่ปุ่นเวลาพิมพ์เขาก็ขึ้เกียจเปลี่ยนภาษารวมถึงขี้เกียจพิมพ์คำยาวๆ เวลาพิมพ์คำว่าอัพโหลดก็เลยใช้สั้นๆ ว่า うp แทนที่การใช้คำว่า アップロードไปเลย
うp主 (upu-nushi) แปลว่า ผู้อัพโหลด
KY 語 ข้างต้นนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำที่คนญี่ปุ่นใช้กันบ่อยมากๆ ไว้คราวหน้าถ้ามีอะไรน่าสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับตัวย่อ KY 語 ก็จะมาเพิ่มเติมนะคะ
*ในเว็บบอร์ดญี่ปุ่นจะพบการใช้คำเหล่านี้เยอะมาก เช่น เว็บ 2ちゃねる (2channel) หรือ ニコニコ動画 (niconico douga)


ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ: KY語辞(BLOCKBUSTER+現代略語研究会)