งานมหกรรมขาว-แดง (Kohaku Uta Gassen) หลังจากมีการประกาศรายชื่อของศิลปินที่จะมาร่วมงาน “Kohaku Uta Gassen” หรืองานมหกรรมขาว-แดงประจำปี อย่างเป็นทางการไม่กี่วัน ก็เป็นสัญญาณว่างานมหกรรมดนตรีขาว-แดงประจำปีใกล้เข้ามาเยือนแล้ว แม้จะเป็นงานที่มอบความสนุกสนานครื้นเครง แต่รู้ไหมคะว่า จุดเริ่มต้นของรายการนี้กลับมาจาก “สงคราม” !!
“Kohaku Uta Gassen” เทศกาลดนตรีที่เริ่มต้นมาจากหยาดน้ำตาในช่วงหลังสงครามโลก
หลังจากมีการประกาศรายชื่อของศิลปินที่จะมาร่วมงาน “Kohaku Uta Gassen” หรืองานมหกรรมขาว-แดงประจำปี อย่างเป็นทางการไม่กี่วัน ก็เป็นสัญญาณว่างานมหกรรมดนตรีขาว-แดงประจำปีใกล้เข้ามาเยือนแล้ว แม้จะเป็นงานที่มอบความสนุกสนานครื้นเครง แต่รู้ไหมคะว่า จุดเริ่มต้นของรายการนี้กลับมาจาก “สงคราม” !!
เรื่องราวความเป็นมาจะเป็นอย่างไร ตามมาอ่านกันได้เลยค่ะ
งานมหกรรมขาว-แดงคืออะไร?
“Kohaku Uta Gassen” หรือที่คนไทยเรียกกันว่า “งานมหกรรมขาว-แดง” เป็นงานที่จะจัดขึ้นทุกๆ สิ้นปีของทางช่อง NHK ค่ะ เป็นมหกรรมดนตรีที่ใหญ่สุดๆ ในญี่ปุ่นก็ว่าได้ค่ะ งานนี้ก็จะเต็มไปด้วยศิลปินชื่อดังของญี่ปุ่นมากมาย
โดยจะแบ่งออกเป็น 2 ทีม คือ ทีมสีขาวกับทีมสีแดง แล้วให้ทั้งสองทีมขึ้นมาแข่งขันร้องเพลงกัน แต่ละทีมก็จะมีหัวหน้านำทีมด้วยค่ะ พอร้องเพลงจบ ก็จะให้ผู้คนร่วมกันโหวตว่าจะให้ทีมไหน เรียกได้ว่าเป็นงานมหกรรมที่สร้างความสนุก ครื้นเครงให้กับคนญี่ปุ่นก่อนที่จะเริ่มต้นวันใหม่ในปีต่อไปค่ะ
และรู้ไหมคะว่า รายการรื่นเริงแบบนี้เนี่ย จุดเริ่มต้นของมันไม่ได้มาจากความสนุกหรอกค่ะ แต่มาจาก “สงคราม”
จุดเริ่มต้นของงานมหกรรมขาว-แดง
ประวัติความเป็นมาของรายการมหกรรมขาว-แดงถูกเล่าผ่าน “ละครญี่ปุ่น” เรื่องหนึ่ง ชื่อเรื่องว่า “Kouhaku ga Umareta Hi” เป็นละครที่สร้างขึ้นมาเนื่องจากครบรอบ 90 ปีของสถานีโทรทัศน์ NHK ค่ะ เรามาดูกันค่ะว่า งานดนตรีสุดยิ่งใหญ่ของญี่ปุ่นนี้เริ่มมาจากอะไร
“Kouhaku ga Umareta Hi” เรื่องเริ่มต้นด้วยคุณยายคนหนึ่งเดินทางมาดูงานมหกรรมขาวแดง ซึ่งเธอคนนี้ก็คือคนที่อยู่ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การสร้างรายการมหกรรมขาว-แดงร่วมกับ “ชินโด” (รับบทโดย Matsuyama Kenichi ) ชายหนุ่มที่เป็นคนต้นคิดสร้างรายการนี้ขึ้นมา หลังจากนั้นละครก็พาเราย้อนเรื่องราวไปยังจุดเริ่มต้นของรายการนี้…
ละครได้ย้อนไปในช่วงปี ค.ศ. 1945 ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และนี่คือจุดเริ่มต้นของรายการมหกรรมขาว-แดงค่ะ หลังจากญี่ปุ่นผ่านพ้นสงครามก็ถูกสหรัฐอเมริกาส่งกองกำลังทหารเข้ามายึดครองสถานีวิทยุกระจายเสียงโตเกียว เพื่อควบคุมสื่อก่อนเผยแพร่ให้ประชาชน รายการที่มีเนื้อหาสุ่มเสี่ยง ปลุกเร้าประชาชนให้ลุกฮือจะถูกห้ามให้ออกอากาศอย่างเด็ดขาด จะหลุดออกมาแค่ประโยคเดียวก็ไม่ได้
ซึ่งทหารอเมริกันก็ได้ให้เหตุผลว่า “อยากจะเข้ามาร่วมมือสร้างรายการที่มีคุณภาพมากขึ้น ต่อจากนี้เลยจำเป็นต้องตรวจสอบเนื้อหาก่อนการกระจายเสียง และเพื่อให้แน่ใจว่าการกระจายเสียงทางวิทยุจะมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ประชาธิปไตย”
เลยทำให้ในสมัยนั้นสื่อเองก็นำเสนอข้อมูลได้ไม่ค่อยสะดวกสบาย และทุกอย่างที่จะออกอากาศต้องผ่านกองเซ็นเซอร์ของทหารอเมริกันทั้งหมด และเนื้อหาต้องออกแนวลักษณะที่ทำให้คนญี่ปุ่นซึมซับกับความเป็น “ประชาธิปไตย” ด้วยค่ะ
หลังจากวันที่กองกำลังทหารเข้ายึดครองสถานี ทหารก็เข้ามามีบทบาทสำคัญในการดูแลและควบคุมการผลิตค่ะ เริ่มตั้งแต่การสอนความเป็นประชาธิปไตย ดูความเรียบร้อยต่างๆ ในสถานี
รวมไปถึงสอนหลักการทำรายการวิทยุในแบบชาวตะวันตก เช่น การส่งสัญญาณว่า “คิว” พร้อมชี้นิ้วไปข้างหน้า หมายถึง เริ่มรายการ หรือการขยายเวลาให้ยืดออกไป ก็ให้เอามือทั้งสองข้างขึ้นมาทำท่าเหมือนกำลังดึงหนังยางขยายออกไปข้างๆ และถ้าอยากให้ร่นเวลาเข้ามาอีก ก็ใช้นิ้วชี้วาดหมุนเป็นวงกลม ถ้าอยากร่นเวลามากขึ้นเท่าไร ก็ให้หมุนเร็วเท่านั้น เป็นต้น
ไอเดียมาจากต้องการสร้างรายการที่เป็นประชาธิปไตย
วันหนึ่งทางสถานีก็ได้รับโจทย์ใหม่จากทหารอเมริกันก็คือ ให้สร้างรายการใหม่ เพื่อจับใจประชาชนอย่างทั่วถึง และควรเป็นรายการที่เป็นสัญลักษณ์ของ “ประชาธิปไตย” ในขณะนั้น “ชินโด” ผู้รอดชีวิตจากรอดชีวิตจากสงครามก็ได้กลับเข้ามาทำงานที่สถานีวิทยุกระจายเสียง
แต่เขาในวันนี้ได้แตกต่างออกไป ชินโดเต็มไปด้วยความเศร้า และความสิ้นหวัง ด้วยสภาพจิตใจที่บอบช้ำทำให้ยากที่จะสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาได้อีก คงไม่ต่างอะไรกับคนญี่ปุ่นคนอื่นๆ ในสมัยนั้น ที่ต้องเผชิญกับความโหดร้ายของสงคราม สูญเสียบ้านเรือนและญาติพี่น้องไป…
แต่วันหนึ่ง เขาก็ปิ๊งไอเดียขึ้นมา หลังจากเดินไปรอบๆ เมือง แล้วบังเอิญไปเห็นเด็กชายและหญิงกำลังฟันดาบไม้ไผ่สู้กันค่ะ
ชินโดเลยรีบกลับไปที่สถานีและพรีเซ็นต์รายการใหม่ที่เขาคิดได้เมื่อสักครู่นี้ให้กับเพื่อนร่วมงาน รายการที่ว่าก็คือ “งานมหกรรมประชันเพลงขาวแดง” รายการนี้จะแบ่งออกเป็นทีมหญิงและชาย แล้วมาร้องเพลงประชันกัน เหมือนกับทีมขาว ทีมแดงในการแข่งเคนโด้
ที่ต้องแยกทีมเป็นชาย หญิงก็เพราะว่า การแบ่งทีมออกเป็นชายกับหญิง ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงให้มาประชันกันอย่างเดียว แต่เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียมทางเพศด้วย ไม่ใช่ว่าผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแอกว่าจะมาแข่งกับเพศชายที่แข่งแกร่งกว่าไม่ได้ แต่ทุกเพศเท่าเทียมกัน เลยมาสู้กันได้อย่างใสๆ
และที่ต้องมาประชันกันก็เพราะว่า ถ้ามาร้องเพลงเฉยๆ มันก็ดูน่าเบื่อไปหน่อย ฉะนั้น ถ้าเราลองปรับมาแข่งประชันกันเป็นกีฬาล่ะ ต้องสนุกแน่ๆ และในท้ายรายการก็จะมีการโหวตให้เลือกฝ่ายที่ชนะโดยคณะกรรมการ นี่คือรายการที่สื่อให้เห็นถึงความเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์แบบ!!
กว่าจะมาเป็นงานมหกรรมขาว-แดง
แม้ชินโดและทีมในสถานีวิทยุกระจายเสียงจะคิดไอเดียรายการวิทยุสุดบรรเจิดได้แล้ว แต่ก็ยังเต็มไปด้วยอุปสรรคมากมายค่ะ อุปสรรคที่ว่าก็คือ
1.) การหาศิลปินมาร่วมรายการ
ความยากของรายการนี้ก็คือ ต้องไปเชิญชวนเหล่าศิลปิน นักแสดงจำนวนมากให้มาร่วมรายการให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้เข้าแข่งขันในแต่ละทีม หัวหน้าทีมแดงและทีมขาว แค่นี้ยังไม่พอค่ะ ต้องมี “พิธีกรดำเนินรายการ” ที่ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งด้วย เพื่อให้รายการดูมีความยุติธรรมมากที่สุด
และที่ยากยิ่งกว่าก็คือ ในสมัยนั้น นี่คือรายการใหม่แกะกล่อง ไม่มีใครรู้เลยว่า รายการที่ว่าเนี่ยจะสร้างออกมาได้จริงๆ หรือเปล่า เลยต้องสร้างความเชื่อมั่น และพรีเซ็นต์ต่อเหล่าศิลปิน นักแสดง ให้เขาสนใจและตกลงร่วมรายการเราให้ได้
2.) ปัญหาภาพลักษณ์ของเหล่าดารา
แม้จะหาศิลปิน-นักแสดงให้มาร่วมรายการได้แล้ว แต่ก็ต้องพบกับปัญหาจุกจิก และเงื่อนไขสารพัดของเหล่าดาราค่ะ เช่น “ต้องเอาชื่อฉันขึ้นก่อนเขานะ” ออกแนวอยากมีชื่อนำหน้า เป็นจุดสนใจแรก และได้รับความสำคัญก่อน
หรือจะเป็นเรื่อง “การเสียหน้ากัน” ในกรณีที่แพ้ค่ะ จะเกิดคำถามตามมาว่า ถ้าฉันแพ้ขึ้นมา จะไม่เสียหน้า เสียภาพลักษณ์เหรอ มันส่งผลต่อความนิยม และการป้อนงานของดาราเลยนะ แต่ด้วยสิ่งนี้แหละค่ะ ทำให้เหล่าศิลปิน-นักแสดง รู้สึกสนุกกับรายการนี้อย่างจริงจัง ชนิดที่ว่า “ห้ามแพ้” เชียวนะ
3.) ทหารอเมริกัน
แน่นอนค่ะว่า รายการนี้ก็ต้องผ่านกองเซ็นเซอร์ของทหารอเมริกันด้วย แม้จะเป็นรายการที่คิดออกมาตรงคอนเซ็ปต์ที่ทหารอเมริกันยื่นโจทย์มาให้ แต่มันก็มีปัญหาตรงที่ “ชื่อรายการ” ค่ะ ชินโดตั้งชื่อรายการว่า “มหกรรมประชันเพลงขาวแดง”
โดยแปลคำว่า “ประชัน” เป็น “Battle” ซึ่งตรงนี้ทหารอเมริกันให้ความเห็นว่า การใช้คำว่า “ประชัน” กับ “Battle” มันชวนให้คิดถึงสงคราม และเป็นการปลุกจิตวิญญาณของนักสู้ขึ้นมา (โอยยย เอามือกุมขมับแปป…) ก็เถียงกันอยู่นาน เลยหาทางออกด้วยการเปลี่ยนคำให้ซอฟต์ๆ ลงกว่านิด นั่นก็คือคำว่า “แข่งขัน” นั่นเอง
พอชื่อรายการจบไปแล้ว ก็ยังมีข้อแม้อีกค่ะว่า รายการที่ทำต้องส่งบทให้ตรวจสอบก่อน และต้องเล่นไปตามบท ห้ามตุกติก หรือด้นสดเด็ดขาด…
กว่าจะได้มาเป็นงานมหกรรมขาว-แดงอย่างทุกวันนี้ ช่างผ่านมาได้อย่างลำบากเสียเหลือเกิน แต่ด้วยการฝ่าฟัน พยายามอย่างหนัก และเชื่อมั่นว่าสิ่งที่คิดจะมอบความสุขต่อคนญี่ปุ่นได้จริงๆ เลยทำให้เกิดรายการนี้ขึ้นมาในประเทศญี่ปุ่นค่ะ
งานมหกรรมขาว-แดงครั้งแรก
เริ่มแรกเลยรายการมหกรรมขาว-แดงเป็นรายการวิทยุค่ะ แล้วค่อยมาฉายผ่านทางโทรทัศน์ ในละครเรื่องนี้ได้เล่าว่า หัวหน้าทีมแดงในครั้งนั้นก็คือ “Takiko Mizunoe” นักแสดงหญิงผู้โด่งดังสุดๆ แห่งยุค ส่วนหัวหน้าทีมขาวก็คือ “Roppa Furukawa” นักแสดงตลกชื่อดังในสมัยนั้นค่ะ และผลการตัดสินครั้งแรก เป็นการตัดสินจากคณะกรรมการค่ะ
แต่…ชินโด ก็เกิดความรู้สึกว่า มันจะดีเหรอที่จะให้ผลการตัดสินเป็นแบบนี้ ผลการตัดสินใจที่มาจากคนกลุ่มนึง ทำให้ในโค้งสุดท้ายในรายการครั้งแรก ชินโดเลยตัดสินใจฉีกใบผลการตัดสินทิ้ง แล้วให้พิธีกรเป็นผู้ตัดสินแทน ผู้ชนะในงานมหกรรมขาว-แดงในครั้งนั้นก็คือ
และนี่เป็นที่มาที่ทำให้รายการมหกรรมขาว-แดงถูกตัดสินผลโดยเหล่าคณะกรรมการ และคนดูด้วยค่ะ เรียกได้ว่าเป็นผลการตัดสินของคนญี่ปุ่นทั่วประเทศ เป็นรายการแห่งประชาธิปไตยโดยแท้จริง!!
งานมหกรรมขาว-แดงในปัจจุบัน

สำหรับปีนี้ งานมหกรรมขาว-แดงก็ยังมามอบความสุขให้คนญี่ปุ่นเช่นเดิม ในปี 2018 นี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 69


และนี่ก็คือเรื่องราวของรายการ “Kohaku Uta Gassen” หรือ “มหกรรมขาว-แดง” งานดนตรีครั้งใหญ่ที่จะมาส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของญี่ปุ่นผ่านละครเรื่อง “Kouhaku ga Umareta Hi”
รายการเพลงเริ่มต้นมาจากความโศกเศร้า สิ้นหวังของผู้คนในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ยังมีความมุ่งมั่นที่สรรค์สร้างสิ่งดีๆ เรียกขวัญและกำลังใจให้กับคนญี่ปุ่นต่อไป และด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจนี้เอง ทำให้มีรายการดีๆ นี้ขึ้น และสืบทอดกันมาอย่างยาวนานจนถึงยุคปัจจุบันนี้
“ผมอยากต้อนรับปีใหม่ไปพร้อมกับทุกคน
ปีที่แตกต่างจากปีก่อนหน้า ผมอยากมอบเพลงให้พวกเขาลืมเรื่องเลวร้ายเหล่านั้น”…
สามารถติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับละครญี่ปุ่น และพูดคุยกับ ChaMaNow ได้ทาง FB: Sakura Dramas
เรื่องแนะนำ :
– “Biri Gal” ภาพยนตร์จากเรื่องจริงของเด็กห้องบ๊วยที่สอบติดม.ญี่ปุ่นชื่อดัง!
-แนะนำ 5 ละครญี่ปุ่นสาย “สตรวอง” ที่หยุดดูไม่ได้!
– รีวิว 5-ji Kara 9-ji Made เมื่อพระมาตกหลุมรักฉัน!
– ละครที่ถูกเข้าใจผิดว่าไม่ใช่ละครญี่ปุ่น!
– วิธีจัดการฉากต้องห้ามในละครญี่ปุ่นแบบไม่ต้องเซ็นเซอร์
ขอบคุณรูปภาพและข้อมูลจาก:
https://www.nhk.or.jp/kouhaku/