Kaki (Japanese Persimmon) – Fruit of The God แห่งฤดูใบไม้เปลี่ยนสีของญี่ปุ่น
Kaki หรือ ลูกพลับญี่ปุ่น ถือเป็นผลไม้ประจำบ้านที่ชาวอาทิตย์อุทัย โดยเฉพาะในย่านชนบทนอกเมืองใหญ่นิยมปลูกติดบ้านเอาไว้กันแบบถ้วนหน้า อารมณ์ประมาณคล้ายๆ กับการที่บ้านเรานิยมปลูกมะม่วงเอาไว้ในบ้านยังไงยังงั้นนั่นละ ใครมีแพลนเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นในช่วงฤดูใบไม้เปลี่ยนสีที่จะมาถึง ลองสอดส่องสายตาไปตามบ้านแต่ละหลังดูนะ เชื่อว่ายังไงก็ต้องเจอกันบ้างไม่มากก็น้อยแน่นอน
แม้จะฟังดูเหมือนไม่มีอะไร แต่ทำไมชาวญี่ปุ่นถึงให้ความสำคัญกับลูกพลับมากกว่าผลไม้ประจำฤดูกาลชนิดอื่น ถึงขนาดยกให้เป็นซิกเนเจอร์ของฤดูใบไม้เปลี่ยนสี เอ๊ะ..มันมีอะไรดี ไปดูกัน!
ลูกพลับนั้นเปรียบเสมือนสัญญาณเตือนของธรรมชาติ ให้เราได้รับรู้ร่วมกันว่าฤดูใบไม้ร่วงหรือฤดูใบไม้เปลี่ยนสีนั้นได้มาถึงอย่างสมบูรณ์แล้ว และแม้ว่าจะมีผลไม้ประจำฤดูกาลนี้ให้พบเจอกันได้หลากหลายไม่ว่าจะเป็นองุ่น ลูกแพร์ หรือแอปเปิ้ล แต่ลูกพลับนั้นกลับเป็นผลไม้ประจำฤดูใบไม้เปลี่ยนสีที่มีความสำคัญและได้รับการกล่าวถึงอย่างสม่ำเสมอมาตั้งแต่ยุคโบราณ ไม่ว่าจะเป็นในภาพวาด บทกวี บทกลอน บทความต่างๆ บทเพลงที่สื่อถึงความงดงามของฤดูใบไม้ร่วง หรือแม้กระทั่งในนิทานพื้นบ้านของชาวอาทิตย์อุทัย – – บางทฤษฎีนั้นเชื่อว่าต้นพลับมีถิ่นกำเนิดอยู่ในเอเชียตะวันออกแถบประเทศจีนและญี่ปุ่นมาตั้งแต่ยุคดั้งเดิมอยู่แล้ว ในขณะที่บางทฤษฎีเชื่อกันว่าต้นพลับน่าจะเดินทางจากประเทศจีนมายังญี่ปุ่นเมื่อราวๆ 1,400 ปีก่อน
และแม้ชาวญี่ปุ่นอาจจะรู้จักต้นพลับกันมาแล้วก่อนหน้านั้นอย่างยาวนาน แต่กลับไม่มีใครนำลูกพลับมารับประทานเลยจนกระทั่งในสมัยนารา (ประมาณ ค.ศ.710 – 784) ซึ่งลูกพลับสายพันธุ์แรกๆ ที่มีการนำมารับประทานกันในญี่ปุ่นนั้นคือสายพันธุ์ Gosho Kaki ที่นับเป็นลูกพลับสายพันธุ์ท้องถิ่นของจังหวัดนารา ซึ่งในยุคแรกลูกพลับจะนิยมนำมารับประทานกันในหมู่ชนชั้นสูงเท่านั้น โดยที่มาของฉายา Fruit of The God ของลูกพลับเกิดจากการที่ Carl Peter Thunberg ซึ่งเป็นนักพฤกษศาสตร์ชาวสวีเดนที่ได้เดินทางเข้ามายังญี่ปุ่นในช่วงประมาณปี ค.ศ.1775 และเขาได้สังเกตเห็นว่าต้นพลับนั้นมักจะพบได้ทั่วไปเป็นประจำตามวัดหรือศาลเจ้าต่างๆ นั่นเอง
ลูกพลับหรือ Kaki ของญี่ปุ่นนั้นแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือชนิดที่มีรสฝาด (Shibu – Kaki) และไม่ฝาด (Ama – Kaki) ซึ่งว่ากันว่าในญี่ปุ่นนั้นมีต้นพลับทั้งหมดกว่า 1,000 สายพันธุ์ โดยแต่ละสายพันธุ์ล้วนมีรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งราว 60% ของทั้งหมดนั้นเป็นลูกพลับที่มีรสฝาด และแม้ว่าในอดีตนั้นสายพันธุ์ Gosho Kaki จะเป็นที่นิยมนำมารับประทานกัน แต่ด้วยความที่เป็นสายพันธุ์ซึ่งให้ผลผลิตน้อยและหลุดร่วงจากต้นค่อนข้างง่าย ทำให้ในปัจจุบันลูกพลับสายพันธุ์ Fuyu และ Jiro ได้ขึ้นมากลายเป็นสองสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในญี่ปุ่นแทน
นอกจากจะเป็นผลไม้ที่มีรสหวานฉ่ำเนื้อนุ่มละมุนชื่นใจยามได้ชิมแล้ว ในยุคมูโรมาจิ (ช่วงราว ค.ศ.1336 – 1568) ชาวนารายังมีวัฒนธรรมที่สุดแสนจะโรแมนติกด้วยการที่ผู้คนนิยมเขียนบทกวีที่เกี่ยวข้องกับความรักลงบนใบ Kaki แล้วปล่อยให้ลอยไปตามลำธาร นอกจากนั้นยังมีการนำใบ Kaki มาเป็นส่วนหนึ่งของ Kakinoha Sushi ซึ่งนับเป็นเมนูซูชิฉบับท้องถิ่นของภูเขา Yoshino ในเมืองนารา ที่นำปลาและข้าวมาห่อด้วยใบพลับ นับเป็นอีกหนึ่งเมนูหาชิมยากที่น่าสนใจและอยากแนะนำให้รู้จักกัน โดยเหตุผลที่ทำให้อาหารจานนี้น่าสนใจก็เพราะเมนูนี้เป็นซูชิหน้าปลาแมคเคอเรลที่ดันกลายมาเป็นจานเด็ดของเมืองซึ่งไม่ได้อยู่ใกล้กับทะเล! แต่เนื่องจากในยุคโบราณ การนำเนื้อปลาสดเข้ามายังเมืองนี้ต้องใช้เวลาในการเดินทางไม่น้อย จึงมีการนำเนื้อปลามาหมักด้วยเกลือและห่อด้วยใบพลับเพื่อเป็นการถนอมอาหารโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน เนื่องจากใบพลับนั้นมีคุณสมบัติในการต้านแบคทีเรียได้เป็นอย่างดี จึงทำให้เนื้อปลาซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางมายังเมืองนี้ไม่เกิดการเน่าเสียนั่นเอง ซูชิชนิดนี้จึงเป็นเมนูที่ได้รับความนิยมในหมู่นักบวชซึ่งมักจะซื้ออาหารพกติดตัวไปในระหว่างที่ต้องเดินทางไปยังวัดต่างๆ เพื่อแสวงบุญในยุคก่อนอีกด้วย
สำหรับใครที่เดินทางไปในย่านชนบทของญี่ปุ่นในช่วงฤดูใบไม้เปลี่ยนสี ยังมีลูกพลับอีกหนึ่งรูปแบบนอกจากพลับสดที่มีรสหวานฉ่ำกินง่าย ซึ่งคุณน่าจะมีโอกาสได้เห็นเส้นสายที่มีผลไม้สีส้มร้อยต่อกันแล้วถูกแขวนเรียงไปตามหน้าต่างบ้านหรือชายคาราวกับผ้าม่าน และนั่นคือการนำลูกพลับมาตากให้แห้งเพื่อใช้รับประทานในอีกรูปแบบ โดยลูกพลับแห้งแบบนี้จะมีชื่อเรียกว่า Hoshi kaki ซึ่งจะนำลูกพลับสายพันธุ์ Hachiya ที่มีลักษณะผลเรียวแหลมคล้ายลูกโอ๊กและมีรสฝาดขมมาปอกเปลือกอย่างเบามือโดยไม่ให้เนื้อช้ำ ก่อนจะนำเชือกไปผูกโยงที่ก้านของผลพลับแล้วเอาไปแขวนในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสลับกับการตากแดดจัดบ้างเป็นเวลาราว 4 – 6 สัปดาห์ โดยระหว่างที่แขวนไว้จะต้องมีการนวดผลลูกพลับอย่างสม่ำเสมอในทุกวัน จนได้ลูกพลับแห้งที่มีผิวเหี่ยวย่นและมีผงน้ำตาลธรรมชาติสีขาวเคลือบอยู่ด้านนอก มีเนื้อนุ่มเหมือนพุดดิ้ง รสหวานจัด ซึ่งสามารถนำไปกินเป็นของว่างคู่กับน้ำชา ใส่ในสลัด เค้ก ไอศกรีม หรือนำไปทำขนมญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมที่เรียกว่าวากาชิก็ยังได้ – – ในบางท้องถิ่นยังนิยมแขวนพวงลูกพลับแห้งเหล่านี้เอาไว้ในบ้านเมื่อถึงวันส่งท้ายปี ด้วยความเชื่อว่าจะช่วยทำให้โชคดีและอายุยืนยาวนั่นเอง
ประโยชน์ของลูกพลับสำหรับชาวญี่ปุ่นนอกจากการนำมารับประทานทั้งสดและแห้งแล้ว ในบางพื้นที่ยังมีการนำส่วนต่างๆ ของต้นพลับมาทำเป็นยาแนวสำหรับไม้ ใช้ในการก่อสร้าง ทำงานฝีมือต่างๆ รวมถึงนำมาทำเป็นชาลูกพลับได้อีกด้วย ถ้าคุณมีโอกาสเดินทางไปญี่ปุ่นในช่วงฤดูใบไม้เปลี่ยนสี และอยากลองชิมลูกพลับที่หอมหวาน แนะนำให้ลองมองหาลูกพลับสายพันธุ์ Taishu ซึ่งเป็นลูกพลับที่ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากเกษตรกรผู้ปลูก และจะมีช่วงเก็บเกี่ยวภายใน 3 สัปดาห์ของฤดูใบไม้ร่วงเท่านั้น หรือจะลองสายพันธุ์ Fuyu จากเมือง Ukiha จังหวัด Fukuoka ที่ว่ากันว่าจะมีรสหวานเหมือนน้ำผึ้งและมีกลิ่นหอมอ่อนๆ เหมือนอบเชยร่วมอยู่ด้วยก็น่าสนใจ นอกเหนือจากรสชาติหวานชื่นใจแล้ว ลูกพลับยังเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยเส้นใยและวิตามินหลากหลายชนิดอีกด้วย
ปลายปีนี้ถ้าได้ไปชมความงามของใบไม้แดงที่ญี่ปุ่นกันแล้วทั้งที ก็อย่าลืมมองหาลูกพลับรสหวานฉ่ำที่มีให้เลือกทั้งสดและแห้งมาชิมกันดูนะ คุณจะได้ฟินกับความสวยของทิวทัศน์และรสชาติหวานหอมของฤดูใบไม้เปลี่ยนสีกันอย่างเต็มที่ รับรองว่าจะแฮปปี้จนลืมไม่ลงไปอีกนาน!
เรื่องแนะนำ :
– อัพเดท 11 แอพพลิเคชั่นปี 2024 – – มีติดไว้ เที่ยวญี่ปุ่นง่ายขึ้นแน่นอน!
– 9 เดือน 9 ปีนี้ คุณมีดอกเบญจมาศกันรึยัง?
– ‘สาเก’ เครื่องดื่มประจำชาติที่ไม่ควรพลาดเมื่อไปเจแปน
– เมื่อผู้คนในดินแดนแห่งอุตสาหกรรม AV กลับหันหลังให้ SEX มากขึ้นทุกทีในชีวิตจริง!
– Pigeon อยากดูด … ต้องได้ดูด … และต้องดูดได้เหมือนจริงที่สุด!!
อ้างอิงข้อมูลและรูปภาพจาก:
https://ikigaifruits.com/blogs/news/beginner-s-guide-to-japanese-persimmons/
https://kokorocares.com/blogs/blog/kaki-japanese-persimmon
https://artsandculture.google.com/story/persimmon-the-fruit-of-the-gods
#Kaki (Japanese Persimmon) – Fruit of The God แห่งฤดูใบไม้เปลี่ยนสีของญี่ปุ่น