แม้การ์ตูนของเขาจะดู “แตกต่าง” ไปจากการ์ตูนฮิตเรื่องอื่นๆ แต่ “โจโจ้ล่าข้ามศตวรรษ” ที่เขาวาดนั้น ก็เรียกได้ว่า มี “คุณสมบัติร่วม” บางอย่างที่เหมือนกับการ์ตูนเหล่านั้น…
เล่าโดย : วสุ มารุมุระ
“เพราะนี่เป็นการเผยความลับทางการค้า
บอกตามตรงเลยว่า สำหรับผมแล้ว
หนังสือเล่มนี้จะทำให้ผมเสียเปรียบ”
ส่วนหนึ่งของคำนำในหนังสือเรื่อง…
– เทคนิคการ์ตูนมังงะของฮิโระฮิโกะ อารากิ –
(荒木飛呂彦の漫画術) [อารากิ ฮิโระฮิโกะ โนะ มังงะจุซึ]
ฮิโระฮิโกะ อารากิ เป็นนักวาดการ์ตูนมังงะที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่น
ผลงานการ์ตูนฮิตที่ถือว่าเป็น Lifework ของเขาเลยคือการ์ตูนเรื่อง…
โจโจ้ล่าข้ามศตวรรษ (ジョジョの奇妙な冒険)
ที่ตีพิมพ์มาตั้งแต่ปี 1986
และมีภาคต่อมาเรื่อยๆ จนปัจจุบันอยู่ที่ภาค 8
อารากิวาดการ์ตูนมายาวนานถึง 30 ปี
เขาจึงเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาเพื่อที่จะกลั่นกรอง
ถ่ายทอดประสบการณ์การเขียนการ์ตูนของตัวเอง
ว่าทำอย่างไรเขียนการ์ตูนอย่างไรให้คน “อยากอ่าน”
เขายืนยันว่า แม้การ์ตูนของเขาจะดู “แตกต่าง” ไปจากการ์ตูนฮิตเรื่องอื่นๆ
อาทิ เช่น ดราก้อนบอล เซนต์เซย่า หมัดเทพเจ้าดาวเหนือ กัปตันซึบาสะ คินนิคุแมน ฯลฯ
แต่การ์ตูนมังงะเรื่อง “โจโจ้ล่าข่ามศตวรรษ” ที่เขาวาดนั้น ก็เรียกได้ว่า มี “คุณสมบัติร่วม” บางอย่างที่เหมือนกับการ์ตูนเหล่านี้
เขาจึงได้รวบรวมคุณสมบัติร่วมเหล่านั้น เขียนลงในหนังสือเล่มนี้ที่ชื่อว่า “เทคนิคการ์ตูนมังงะของฮิโระฮิโกะ อารากิ”
เขาบอกว่าหนังสือเล่มนี้ที่เขาเขียน
ให้พูดกันจริงๆ แล้ว
ก็คือหนังสือ How-to ดีๆ นั่นเอง
อย่างที่เขียนตรงคำนำไว้ว่า
เทคนิคต่างๆ ในการเขียนการ์ตูนมังงะนี้
ถือได้ว่าเป็นการเอาความลับทางการค้ามาเผยแพร่
ราวกับนักมายากล เผยเคล็ดลับในกลของตนเอง
แต่การที่เขายังเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา
เพราะอยากทดแทนบุญคุณให้กับวงการ์หนังสือการ์ตูนมังงะ
และหวังว่าสักวันจะมีการ์ตูนเรื่องใหม่
ที่ยอดเยี่ยมขึ้นไปยิ่งกว่าเดิม
+++++
อารากิบอกว่า การ์ตูนจะฮิต มีคนอ่านมากมายได้นี้
มีโครงสร้างหลักอยู่ 4 อย่าง และเครื่องมือสำคัญอยู่ 1 อย่าง
โครงสร้างหลัก 4 อย่างคือ…
1. ตัวละคร = Character
2. เนื้อเรื่อง = Story
3. โลก = World = 世界観 : [เซะไคคัน]
4. ธีม = Theme หรือ แก่นสำคัญ
และเครื่องมือสำคัญ 1 อย่างที่ว่านั้นคือ “รูปวาด” ซึ่งสามารถสรุปทุกสิ่งทุกอย่างไปได้ดั่งรูปนี้
ส่วนหนึ่งจากหนังสือ :
1. ตัวละคร
ตัวละครนี้ถือได้ว่าเป็นเสาหลักสำคัญที่สุด
อารากิบอกว่า การ์ตูนสักเรื่องนั้น ขอแค่มีตัวละครที่ “สตรอง” พอก็ขายได้แล้ว
ยกตัวอย่างเช่น โดราเอมอน ครับ
โดราเอมอนจบเป็นตอนๆ ไป ไม่ได้มีเนื้อเรื่องต่อยาว
แต่ ตัวละครในเรื่องอย่าง โดราเอมอน โนบิตะ ชิซูกะ ซูเนโอะ ไจแอ้นท์ …ต่างมีความสตรอง ลักษณะเฉพาะแต่ละตัว
อย่างเช่น โดราเอมอน เป็นหุ่นยนต์แมวจากอนาคต
แต่กลัวหนูและไม่มีหู แถมชอบกินแป้งทอด
มีของวิเศษต่างๆ มากมายในกระเป๋าสี่มิติ
พอถึงเวลาคับขันแล้วจะตื่นตระหนก ค้นหาของวิเศษที่อยากได้ไม่เจอ
เพียงแต่ละตอน คนวาดโดราเอมอนนึกถึงของวิเศษชิ้นใหม่
และจับลักษณะพิเศษของตัวละคร อย่างเช่น …
โนบิตะที่ได้ของวิเศษแล้วเหลิง
ซูเนโอะผู้โอ่อวด
และไจแอ้นท์จอมอันธพาล
เอามายำๆ รวมกัน
ก็สามารถวาดการ์ตูนต่อไปเรื่อยๆ
อารากิได้บอกว่า ควรต้องออกแบบตัวละครไว้แต่เนิ่นๆ
สูงเท่าไร น้ำหนักเท่าใด ชอบกินอะไร ไม่ชอบกินอะไร
อะไรเป็น “แรงผลักดัน” หรือ “Motivation” ในตัวพวกเขา
การช่วยเหลือคนที่เรารัก?
ความอยากรู้อยากเห็น?
ตัวละครที่ “สตรอง” เหล่านี้
จะทำให้ผู้อื่นจดจำได้
เหมือนว่าเป็นคนจริงๆ คนหนึ่ง
และเป็นกุญแจสำคัญในการเขียนการ์ตูน
ให้ผู้อ่านอยากติดตามตัวละครเหล่านี้
++++
เครื่องมือที่ชื่อว่า “รูปวาด”
สำหรับการ์ตูนแล้ว
รูปวาดนี่เปรียบได้ดั่งพระเจ้า
ซึ่งการวาดรูปนั้นมีสองแบบคือ
1. วาดให้สมจริง
2. วาดให้เป็นสัญลักษณ์
ไม่ต้องวาดสวยเสมอ
แต่รูปวาดต้องมีเอกลักษณ์
เห็นแล้วรู้เลยว่าใครวาด
รูปนี้ คนวาดดราก้อนบอลนะ
รูปนี้ คนวาด Slam Dunk นะ
ซึ่งนักวาดการ์ตูนทุกคน
ต้องหารูปของ “ตัวเอง” ให้ได้
+++
2. เนื้อเรื่อง
เนื้อเรื่องนั้นมักจะมีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปแบบดังนี้
เริ่มต้น ทะยาน พลิกผัน และ บทสรุป
(ภาษาญี่ปุ่นจะใช้คำว่า 起承転結 : คิโชเทนเคะซึ)
สมมติตัวอย่างเช่น
เริ่มต้น คือ การปูพื้นว่าพระเอกเป็นอย่างไร มีความฝันจะออกเดินทาง
ทะยาน คือ พระเอกออกเดินทางไปยังที่แห่งหนึ่ง
พลิกผัน คือ พระเอกประสบกับอุปสรรค
บทสรุป คือ พระเอกถึงจุดหมาย
เวลาเล่าเรื่องจะต้องเป็นบวกเสมอ ไม่ใช่ว่ามีขึ้นมีลง
แน่นอนว่าชีวิตจริงๆ ของคนเรามีขึ้นมีลง
แต่มันไม่เหมาะสมกับเนื้อหาการ์ตูน
เพราะผู้อ่านไม่ได้ต้องการอ่านชีวิตจริง
ผู้อ่านต้องการความบันเทิง
ยกตัวอย่างเช่นมีเรื่องเริ่มต้นโดย
พระเอกถูกจับจำคุกด้วยเหตุผลอะไรสักอย่าง
แล้วพระเอกหนีออกมาจากได้
แต่หากเนื้อเรื่องดำเนินต่อไป
ให้พระเอกพลาด ถูกฝ่ายผู้ร้ายจับเข้าคุกอีก
คนอ่านก็จะรู้สึกเหมือนว่าเนื้อหาย้อนกลับมาที่เดิม
ไม่มีการพัฒนา
คนวาดการ์ตูนอาจจะอยากวาดให้พระเอกแพ้บ้าง
แต่นี่คือเรื่องต้องห้าม
พระเอกจะต้องเดินไปสู่เส้นทางที่ “บวก” อยู่เสมอ
+++
3. โลก
ในการ์ตูนเรื่องต่างๆ ก็ต้องมีโลกต่างที่เป็นของตนเอง
โลกของทะเลและโจรสลัด
โลกของนินจา
โลกในอวกาศ
หรือว่าอาจจะเป็นโลกในยุคปัจจุบันก็ได้
โลกเหล่านี้จะเป็นสถานที่
ที่จะชักจูงให้ผู้อ่านเข้าไปอยู่ที่นั่น
แม้ว่าโลกเหล่านี้จะเป็นโลกในจิตนาการ
ก็ต้องมีความสมเหตุสมผลของมัน
ในการวาดรูป “โลก” เหล่านี้
เราสามารถหาข้อมูลมาอ้างอิง
เช่นตึกสถาปัตยากรรมต่างๆ นานา
แม้ว่าจะเป็นโลกอินเตอร์เนต
ที่ Google อะไรก็เจอแล้วก็ตาม
แต่เวลาหาข้อมูลของเหล่านี้
ควรไปสถานที่จริง
“ของจริงเล็กกว่าที่คิดแฮะ”
“ระยะทางไกลพอควรเลยเนอะ”
สัมผัสของจริงให้รับรู้
เพื่อที่จะได้ข้อมูลที่สมจริง
ได้โลกที่สม “จริง”
ที่ผู้อ่านอยากเข้าไปในนั้น
+++
4. ธีม
เมื่อโครงสร้างหลักสามอย่าง อันได้แก่ตัวละคร เนื้อเรื่อง และ โลก มารวมกัน
สิ่งที่เกิดขึ้นมาคือ ธีม หรือ แก่นแท้ของเรื่อง
ยกตัวอย่างเช่นเรื่อง Frozen ที่เล่าถึงความโดดเดี่ยวของราชินี
ซึ่ง “โลก” แห่งน้ำแข็งเหมือนจะช่วยส่งเสริมความรู้สึกโดดเดี่ยวนี้ยิ่งขึ้น
แต่ในดินแดงน้ำแข็งแห่งนี้ มีธีมของเรื่องที่ต้องการจะสื่อ
ซึ่งก็คือความรักของพี่สาวกับน้องสาว
แก่นแท้ที่ว่านี้คือข้อความที่คนเขียนต้องการจะสื่ออะไร
ซึ่งไม่ได้ระบุออกมาตรงๆ
แต่สื่อผ่าน ตัวละคร เรื่องราว โลก
โดยใช้เครื่องมือก็คือ รูปภาพ
สิ่งสำคัญคือว่าในการวาดการ์ตูน
ไม่ใช่สักแต่ว่าเลือก “ธีม” ที่น่าจะขายออก น่าจะฮิต
แต่ต้องเป็นสิ่งที่ผู้วาดอยากจะวาด
อยากจะถ่ายทอดออกมาจริงๆ
ธีมเหล่านั้นเปรียบดั่ง
ปรัชญาของคนวาดการ์ตูน
+++
และนี่คือทั้งหมดที่เป็นเนื้อหาหลักของหนังสือเล่มนี้
ผมอยากจะบอกว่าที่ผมเขียนมานี้ยังพึ่งแค่ 10 % ของเนื้อหาจริงๆ
เพราะคุณ อารากิ มีการอธิบาย ยกตัวอย่างการ์ตูนเป็นรูปประกอบ
ให้เราเข้าใจอย่างถ่องแท้เลย ว่า ทุกรูป ทุกช่อง
มีเหตุผลตาม โครงสร้างหลักทั้ง 4 ของ ตัวละคร เนื้อเรื่อง โลก ธีม
โดยมีเครื่องมืออันทรงพลังซึ่งคือ “รูปวาด”
หากใครสนใจออยากรู้รายละเอียดเกี่ยวกับโครงหลักในการเขียนการ์ตูน
ในด้านใดด้านหนึ่งให้มากขึ้น
ก็สอบถามได้นะครับ
How-to ที่คุณอารากิ น่าจะพอมีประโยชน์ต่อตัวเรา
แม้เราจะไม่ได้วาดการ์ตูน
แต่อย่างน้อยในเรื่องการเขียนนิยาย เล่าเรื่องราว
ก็ช่วยได้ครับ
สุดท้ายนี้ก็หวังว่า
ขอให้คุณผู้อ่านค้นหา
เจอ “ธีม” ของตัวคุณ
ได้นะครับ

เล่าโดย : วสุ มารุมุระ
ทักทายพูดคุยกับ Wasu ได้ที่ >>> Facebook Wasu’s thought on Japan
เรื่องแนะนำ :
– เที่ยวโตเกียวไปกับสถาปัตยกรรมของ Kengo Kuma
– หัวโจก [กะคิไทโช] ガキ大将
– การกินเลี้ยงหลังเลิกงานของคนญี่ปุ่น : ไม่ได้ช่วยเรื่อง Communication
– การขว้างลูกเบสบอล : ครั้งแรกที่ได้เล่น รู้สึกยังไง
– เชื่อถือในอดีต เชื่อมั่นในอนาคต : คำว่า “เชื่อ” สองแบบของภาษาญี่ปุ่น