ใครๆ ก็ว่าละครญี่ปุ่นเข้าใจยาก ดูยาก ดูแล้วไม่เก็ท แต่จริงๆ แล้ว ละครญี่ปุ่นดูไม่ยากอย่างที่คิดค่ะ
ใครๆ ก็ว่า “ละครญี่ปุ่น” เข้าใจยาก ดูยาก ดูแล้วไม่เก็ท แต่จริงๆ แล้ว ละครญี่ปุ่นดูไม่ยากอย่างที่คิดค่ะ เพราะผู้สร้างได้ใส่เทคนิคต่างๆ ที่เป็นตัวช่วยให้คนดูเข้าใจเรื่องราวได้มากขึ้น เพื่อความสนุก ได้รับอรรถรส และประโยชน์จากละครได้อย่างเต็มที่จากละคร มาดูกันว่าละครญี่ปุ่นเขาจะใช้เทคนิคอะไรบ้าง ที่ช่วยให้คนดูเข้าใจละครได้มากขึ้นค่ะ
1. มี Narrator เล่าเรื่องราวประกอบฉาก
ใครเคยดูละครญี่ปุ่น อาจจะเคยได้ยินเสียงคนบรรยายระหว่างที่ละครกำลังเล่นไปเรื่อยๆ ซึ่งนั่นก็คือ Narrator หรือคนเล่าเรื่องนั่นเองค่ะ Narrator ในละครญี่ปุ่นจะมีหน้าที่เล่าเรื่องราวความเป็นมาของละคร และข้อมูลยิบย่อย เพื่อสร้างความเข้าใจกับคนดูมากขึ้น เช่น เรื่อง Hanzawa Naoki เราจะได้ยินเสียงคนบรรยายอธิบายถึงศัพท์เฉพาะ และเรื่องราวของธนาคารที่ยากๆ ให้เราเข้าใจได้ง่ายๆ
หรือจะเป็นเรื่อง Amachan เรื่องนี้จะเห็นได้ชัดเลยค่ะ เพราะไม่ว่าตัวละครจะทำอะไร ก็จะมีเสียงผู้หญิงคนหนึ่งคอยอธิบายการกระทำของตัวละคร รวมไปถึงความคิด ความรู้สึก พร้อมข้อมูลที่เป็นประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ ด้วย ซึ่ง Narrator จะช่วยทำให้คนดูเกิดความเข้าใจต่อเนื้อหาของละครมากขึ้นค่ะ
2. ก่อนจะเริ่มตอนใหม่ มีเล่าถึงเรื่องราวตอนที่แล้วแบบย่อๆ
เผื่อว่าบางคนพลาดละครตอนที่แล้วไป หรือว่าดูไปเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว รู้สึกลืมๆ เนื้อหาไปบางส่วน หรือทิ้งช่วงไปนาน ความอินเริ่มหายๆ ก็ไม่ต้องห่วงค่ะ ละครญี่ปุ่นจะปะติดปะเรื่องราวด้วยการเล่าถึงเนื้อหาตอนที่แล้วแบบคร่าวๆ ก่อน ต่อให้พลาดตอนที่แล้ว พอกลับมาดูอีกก็ยังรู้เรื่อง และขอบอกว่า เป็นการเล่าย้อนที่กระชับจริงๆ ไม่ยืดเยื้อจนคนทำให้คนดูรู้สึกรำคาญหรือหงุดหงิดสักเท่าไหร่
3. มีชาร์ตแสดงความสัมพันธ์ของตัวละคร
ละครเรื่องไหนมีตัวละครเยอะๆ จะไม่ใช่เรื่องยากสำหรับการดูละครญี่ปุ่นค่ะ เพราะว่าละครญี่ปุ่นทุกเรื่องจะมีชาร์ตแสดงความสัมพันธ์ของตัวละคร ลักษณะของชาร์ตก็คือ จะมีรูปตัวละครพร้อมชื่อในเรื่อง และอายุ แล้วมีลูกศรโยงความสัมพันธ์ ว่าใครมีความเกี่ยวข้องกับใคร และเกี่ยวข้องกันในลักษณะไหน มีความรู้สึกนึกคิดต่อกันอย่างไร ใครเป็นพวกใคร ใครไม่ถูกกับใคร เรียกได้ว่า ต่อให้ละครเรื่องนั้นมีตัวละครเยอะขนาดไหน ก็เข้าใจได้ง่ายๆ ด้วยชาร์ตเดียวค่ะ
4. ละครจบในตอน ต่อให้พลาดไปสักตอน ก็ยังเก็ท
ลักษณะพิเศษของละครญี่ปุ่นอีกอย่างหนึ่งก็คือ ละครแต่ละตอนจะจบได้ในตอนค่ะ เหมือนเป็นตอนย่อยๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงเรื่องใหญ่อีกทีหนึ่ง อย่างเช่นพวกละครแนวสืบสวนสอบสวน เขาก็จะมีเนื้อเรื่องหลักๆ ที่เป็นโครงเรื่องใหญ่ แล้วในแต่ละตอนก็จะประกอบไปด้วยเรื่องราวของแต่ละคดีที่ไขปริศนาได้ในตอน (อารมณ์แบบโคนันแหละค่ะ จบในตอน แต่ก็มีพล็อตหลักที่ต้องติดตามไปทั้งเรื่อง) ต่อให้เราพลาดตอนใดตอนหนึ่งไป ก็ยังดูรู้เรื่องค่ะ เพราะตอนเก่ามันก็จบในตอน พอตอนใหม่ มันก็ขึ้นเนื้อเรื่องตอนใหม่ แล้วก็อยากที่บอกไปว่า ละครญี่ปุ่นจะมีเล่าเรื่องราวของตอนที่แล้วให้ด้วย เลยทำให้แม้เราจะพลาดไปตอนหนึ่ง ก็ยังตามมาดูได้ทันค่ะ
5. มีภาพประกอบ อธิบายเรื่องราวเพิ่ม
สมัยนี้เราคงจะเห็นหนังสือในท้องตลาดเราหลายเล่ม มักจะมีภาพวาดประกอบมาอธิบายเนื้อเรื่องในหนังสือให้เข้าใจง่ายขึ้น หรือภาพแนว Info Graphic ที่ย่อยเนื้อหายากๆ ให้เข้าใจได้ง่ายๆ ในภาพเดียว ซึ่งละครญี่ปุ่นบ้างเรื่องก็มีแบบนี้ค่ะ! เห็นได้เยอะมากๆ ในละครแนวหมอ เหตุผลก็เพราะว่าละครแนวอาชีพหมอ มักมีเรื่องราวที่เข้าใจยากนิดนึง
เช่น เรื่องรายละเอียดเกี่ยวกับโรค หรือเรื่องราวเกี่ยวกับการผ่าตัด ว่าทำไมถึงเลือกใช้การผ่าตัดแบบนี้ ผ่าแล้วจะเกิดกลไกอะไรในร่างกาย ซึ่งการพูดด้วยบทพูดอย่างเดียวเข้าใจได้ยากแน่ๆ ค่ะ หรือถ้าจะเล่าผ่านภาพผ่าตัดแบบเรียลๆ บางทีมันก็ฮาร์ดคอไป และอาจดูไม่เข้าใจ เพราะเราจะเห็นแต่สีแดงๆ มีแต่เลือด อวัยวะอะไรไม่รู้เต็มไปหมด ละครเลยหาทางแก้ ด้วยการทำเป็นภาพอธิบายประกอบค่ะ อย่างในภาพนี้จากเรื่อง Doctor X เป็นการอธิบายถึงการใช้ไฮโดรเจนในการผ่าตัด จะช่วยการหยุดไหลเวียนของเลือดในระหว่างการผ่าตัดได้นานขึ้น เมื่อเลือดกลับมาไหลเวียนอีกครั้ง ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้หลอดเลือดหัวใจบาดเจ็บค่ะ
6. อะไรที่ยากต่อการเข้าใจก็ไม่ต้องเล่า เลือกวิธีที่ง่ายต่อการเข้าใจให้มากที่สุด
เชื่อไหมคะว่า ละครญี่ปุ่นสามารถทำละครแนวกฎหมายให้ออกมาได้เข้าใจได้ง่ายมากๆ สามารถทำให้คนดูเข้าใจถึงแก่นหลักของกฎหมายได้ ทั้งๆ ที่มันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก มีรายละเอียดยิบย่อย และมีความละเอียดอ่อน แต่ละครญี่ปุ่นทำได้ค่ะ อย่างเช่นละครเรื่อง Legal High เห็นเรื่องย่อให้ชวนปวดหัว แต่พอมาดูจริงๆ แทบจะหยุดดูไม่ได้เลยค่ะ และที่สำคัญมันเป็นละครที่ทำให้คนดูเข้าใจเรื่องที่ถูกเรื่องที่ผิดในสังคมได้ดีขึ้นด้วย วิธีการของละคร Legal High ก็คือ อะไรที่ยากจะเข้าใจก็ไม่ต้องเล่า อย่างเช่น ชื่อมาตรา หรือตัวบทกฎหมายว่า ละครไม่ได้ยกทฤษฎีจ๋าออกมาเล่าเลย แต่จะประยุกต์ ปรับให้เข้าใจมากขึ้น ด้วยการเล่าเป็นเรื่องราว อธิบายเหตุผลจริงๆ ว่า คนนี้พ้นความผิดได้เพราะอะไร เอาหลักฐานที่จับต้องได้มาให้เห็นจริงๆ อีกทั้งมีการใส่มุกตลกเข้าไป มันเลยทำให้เรื่องยากๆ อย่างกฎหมายเข้าถึงประชาชนได้ไม่ยาก และมีความสนุกด้วยค่ะ
7. เล่าเรื่องที่สมจริง ใกล้ตัวคนดู
แม้ละครญี่ปุ่นส่วนใหญ่ จะมีการพูดถึงเรื่องนามธรรมบ้าง หรือแนวเครียดๆ บ้าง อะไรบ้าง แต่เรื่องราวพวกนั้นกลับไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไปที่เราจะเข้าใจ เพราะว่าเนื้อเรื่องส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องที่ใกล้กับโลกความเป็นจริง เป็นเรื่องที่เราเห็นได้ในชีวิตประจำวันค่ะ อย่างเช่น ละครแนวอาชีพ ก็เป็นเรื่องราวของมนุษย์เงินเดือนที่ทำงานไปในแต่ละวันด้วยอุดมการณ์ต่างๆ เรื่องราวชีวิตของคนในครอบครัว เรื่องชีวิตของเด็กวัยรุ่นที่เตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย ก็เป็นอะไรที่คนญี่ปุ่น หรือตัวเราเองก็เคยเจอ คุ้นเคยในชีวิตจริงเป็นอย่างดี ไม่ได้เล่าถึงเรื่องเกิดขึ้นได้ยากในชีวิตอะไรประมาณนั้นค่ะ เลยทำให้ในบางทีละครญี่ปุ่นก็เป็นละครที่ดูแล้วเข้าใจง่าย เข้าถึงได้ไม่ยากอย่างที่เห็นในตอนแรก
และนี่ก็คือเทคนิคบางส่วนจากละครญี่ปุ่น ที่แฟนละครส่วนใหญ่จะเห็นกันอยู่เป็นประจำค่ะ แม้ละครญี่ปุ่นจะชอบนำเสนอเรื่องราวที่เคร่งเครียด จริงจังเกินไปบ้าง แต่ละครกลับมีความน่าสนใจ น่าติดตาม และไม่เป็นเรื่องที่ยากเกินจะเข้าใจ เพราะมีตัวช่วยที่เพิ่มความเข้าใจได้มากขึ้น และนี่อาจถือว่าเป็นความพิถีพิถันอย่างหนึ่งของละครญี่ปุ่นก็ได้ค่ะว่า ที่ใส่ใจถึงความเข้าใจของคนดูไม่น้อยไปกว่าว่าจะทำยังไงละครถึงจะสนุกและมีเรตติ้งที่ดี
เรื่องแนะนำ :
– ประโยชน์จากซีรีส์สืบสวนญี่ปุ่น ที่ได้มากกว่าความสนุก
– ศิลปินญี่ปุ่นที่มาพร้อมกับเพลงที่ฟังแล้ว Feel Good
– มารู้จักทีม Perfume หนึ่งในเบื้องหลังงานส่งต่อเจ้าภาพโอลิมปิค
– ทำไมเราถึงรักไอดอลญี่ปุ่น
– ทำไมญี่ปุ่นไม่ค่อยมีละครรัก
ขอขอบคุณรูปภาพและข้อมูล :
http://wiki.d-addicts.com/File:Hanakimi_chart.jpg
http://film-enthusiast.blogspot.com/2012/06/legal-high.html
http://www.nippon.com/en/currents/d00094/