ปีนฟูจิ..เอาล่ะ! ได้เวลามาลุยกันในช่วงสุดท้ายของทริปการเดินทางพิชิตยอดภูเขาไฟฟูจิ เส้นทางช่วงที่น่าจะเรียกได้ว่าลำบากลำบน และทรมานของใครหลายๆ คน (ดูจากสีหน้าและอาการของนักปีนเขาคนอื่นนะ) นั่นคือเส้นทางขาลงจากภูเขาไฟฟูจิ แต่เราขอบอกว่ารู้วิธีแล้วจะ…สนุก!
สนับสนุนโดย :
หลังจากผ่านการหาข้อมูล การเตรียมตัว และฝ่าฝันความยากลำบาก จนในที่สุดเราก็ได้มาถึงยอดภูเขาไฟฟูจิ แล้วเดินเล่นบนยอดเขาที่สูงที่สุดในญี่ปุ่น รวมถึงได้เห็นพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้าจากบนยอดเขาฟูจิด้วย เอาล่ะ! ได้เวลามาลุยกันในช่วงสุดท้ายของทริปการเดินทางพิชิตยอดภูเขาไฟฟูจิ เส้นทางช่วงที่น่าจะเรียกได้ว่าลำบากลำบน และทรมานของใครหลายๆ คน (ดูจากสีหน้าและอาการของนักปีนเขาคนอื่นนะ) นั่นคือเส้นทางขาลงจากภูเขาไฟฟูจิ แต่เราขอบอกว่ารู้วิธีแล้วจะ…สนุก!


สำหรับเส้นทาง Yoshida Trail ของฟูจิ ขาขึ้นกับขาลงนั้นจะใช้คนละเส้นทางกัน โดยเส้นทางขาลงจะมาบรรจบกับเส้นทางขาขึ้นราวสถานีที่ 6 และเดินต่ออีกไม่นานก็จะถึงสถานที่ 5 ที่ซึ่งเราจะสามารถได้ใช้รถโดยสารสาธารณะเดินทางกลับเข้าเมืองกันได้…
สิ่งที่ต้องใส่ใจมากเป็นพิเศษในเส้นทางขาลงก็คือ ระวังไม่ให้เกิดอาการบาดเจ็บ
หลายคนอาจจะคิดว่า เส้นทางขาขึ้นเราต้องยกขาขึ้นบ่อยๆ และใช้กล้ามเนื้อส่วนบน (ไบเซ็ป) เยอะ ดังนั้นเส้นทางขาลง เราอาจจะได้ใช้กล้ามเนื้อขาส่วนล่าง (ไตเซ็ป) กันบ้าง น่าจะถัวๆ กันไป แบบพอดีๆ ที่ไหนได้ละจ้ะ.. อันที่จริงเราต้องใช้กล้ามเนื้อทั้งสองส่วนพอๆ กันนั่นแหล่ะ แถมขาลงยังต้องระวังช่วงข้อต่อต่างๆ มากเป็นพิเศษด้วย ไม่ว่าจะเป็นข้อเข่าหรือข้อเท้า เนื่องจากพื้นดินนั้นค่อนข้างร่วน ไม่แน่น ลื่นล้มได้ง่าย ถ้าเดินเร็วเกินไปและไม่ระวังก็อาจจะเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้ ดังนั้นอย่าคิดว่าเป็นเส้นทางขาลงที่น่าจะง่าย จึงไม่ระวังล่ะ

เคล็ดลับของการเดินลงฟูจินั้นก็คือ “ลงส้นเท้าและปล่อยเข่า” ท่องไว้ให้แม่น แล้วการเดินลงเขาจะง่ายจนคุณกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญภายใน 1 นาที แต่ถ้าไม่ทำอย่างนั้น คุณจะทุกข์ทรมานไปอีกหลายสัปดาห์ ขอบอก!
เนื่องจากดินที่ร่วนและเป็นเส้นทางลาดลง เวลาเหยียบจึงควรลงส้นเท้าก่อน เมื่อฝ่าเท้าสัมผัสพื้นดินแบบเต็มๆ แล้วจึงค่อยๆ ปล่อยปลายเท้าลง ฝ่าเท้าก็แทบจะอยู่ในแนวระนาบที่สมดุลพอดี เพียงแต่เราจะไม่ค่อยรู้สึก เพราะเราจะต้องก้าวเท้าข้างต่อไปทันที ไม่งั้นอาจจะเสียการทรงตัวได้ นี่ถือเป็นการล็อคข้อเท้า และหากเราจะล้ม เราก็ล้มไปข้างหลัง ซึ่งจะพยุงตัวได้ง่าย และลดโอกาสที่จะบาดเจ็บหนักได้ด้วย

ส่วนการปล่อยเข่านั้น ลำบากนิดหน่อย จะเมื่อยต้นขาพอสมควรเลยทีเดียว โดยเราจะเดินด้วยการแยกเท้าออกเล็กน้อย กว้างประมาณหัวไหล่ ย่อตัวนิดๆ หัวเข่าก็จะไม่ตึงเกินไป (เวลาเดินช้าๆ จะคล้ายหุ่นยนต์ Humanoid เลย ฮะ ฮะ) การทำแบบนี้ก็คือการไม่ล็อคหัวเข่าไว้นั่นเอง เนื่องจากเวลาเดินลงเขาผู้คนส่วนใหญ่จะกลัวล้มหรือลื่นไถลจึงพยายามเกร็งเข่าไว้ จนเกิดอาการปวดบวมในภายหลัง และอาการนี้จะเป็นต่อเนื่องไปนานหลายสัปดาห์ ถ้าโชคร้ายล็อคเข่าไว้จนเกินไป จะทำให้ร่างกายต้องหยุดชะงักในจังหวะที่ไม่เหมาะสม ในขณะที่เดินลงอาจจะทำให้เราล้มคว่ำไปข้างหน้า และเกิดอุบัติเหตุรุนแรง ถึงเลือดตกยางออกกันเลยทีเดียว อย่าได้ประมาทการล็อคหัวเข่าเด็ดขาด เพราะจากประสบการณ์ตรง เห็นผู้คนได้รับบาดเจ็บล้มจนเลือดออกกันนับสิบ แม้จะเป็นเส้นทางที่ดูไม่น่าจะล้มกันได้ก็ตามที
ถ้าเพื่อนๆ ไม่ล็อคข้อเท้า หรือไม่บังคับตัวเองให้ลงส้นเท้าก่อน รวมทั้งไม่ปล่อยหัวเข่าให้ฟรีๆ เข้าไว้ เพื่อนๆ จะเหนื่อยยากกับการเดินทางลงจากฟูจิมาก เพราะท่าเดินลงทางลาดของผู้คนส่วนใหญ่จะทำให้มีโอกาสบาดเจ็บได้ง่าย รวมทั้งจะเหนื่อยมากทั้งกายและใจทีเดียว แล้วยังอาจจะต้องใช้เวลาในการเดินทางลงนานกว่าที่ควรอีกด้วย (มิน่า.. หลายๆ คนถึงบ่นว่าเส้นทางขาลงนี้ลำบากลำบนนัก)
โดยเส้นทางขาลงนั้นใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง แหม..ช่างแตกต่างกับความลำบากลำบนที่ต้องตะเกียกตะกายปีนขึ้นไปทั้งกลางวันกลางคืนถึง 8 ชั่วโมงจริงๆ (^-^)”


เอาล่ะ..ลองมาจินตนาการเพื่อทดสอบการเดินลงภูเขาไฟฟูจิกัน (ลองของจริงจะเห็นภาพมากกว่า ดังนั้นปีหน้าเพื่อนๆ ก็อย่าพลาดไปปีนฟูจิกันจริงๆ ล่ะ)
เริ่มจากค่อยๆ วางส้นเท้าลงบนพื้นเส้นทางขาลงของฟูจิ ซึ่งมีความลาดเอียงประมาณ 25 – 50 องศา พอสัมผัสพื้นแข็งๆ แล้วก็ปล่อยปลายเท้าตามลงมาจนเกือบจะเป็นระนาบ จากนั้นก็ก้าวเท้าอีกข้างไปข้างหน้าในลักษณะเดียวกัน ทำแบบนี้สักสองสามก้าวก่อน เพื่อให้ชินกับจังหวะ และเนื่องจากเป็นการก้าวลงแถมพื้นก็ค่อนข้างร่วน จึงเหมือนเป็นการสไลด์ลงกลายๆ เราจะรู้สึกเหมือนหล่นวูบลงไปเลยทีเดียวในแต่ละก้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราก้าวยาวๆ
ความลาดเอียงของเส้นทางขาลงก็มีผลกับการก้าวเท้าเช่นกัน เพราะถ้าทางลง ลาดเอียงน้อย เราก็จะสามารถวางเท้าอย่างที่บอกได้ง่าย ไม่ต้องก้าวยาวมาก แต่พอเดินลงไปเรื่อยๆ ถึงประมาณสถานีที่ 8 และสถานีที่ 7 ความลาดเอียงก็จะมีมากขึ้นถึงประมาณ 45 – 50 องศา ดินก็ร่วนมากขึ้นด้วย เดินยากจริงๆ ถ้าเราก้าวเท้าแบบพอดีๆ เหมือนเดิมก็ได้แต่จะเหนื่อยและช้ามาก หากเราชินกับจังหวะการก้าวเท้าดีแล้ว (ต้องชินจริงๆ นะ) แนะนำว่าให้ลองก้าวเท้ายาวขึ้น ซึ่งจะเป็นการบังคับให้เราเดินเร็วขึ้นจนเกือบวิ่งไปโดยอัตโนมัติ จะรู้สึกเหมือนสไลด์ลงมาโดยใช้เท้าแทนสโนว์บอร์ดเลยทีเดียว เนื่องจากเป็นเส้นทางลาดลงเขานั่นเอง แต่! โปรดใช้สมาธิและความระมัดระวังอย่างสูงหากท่านวิ่งลงมาในลักษณะเช่นนี้ เพราะเส้นทางขาลงก็เป็นเส้นทางซิกแซกเช่นเดียวกับขาขึ้น หากท่านหยุดในจังหวะเลี้ยวไม่ทันละก็ ไม่อยากจะคิดเลย…



หากค่อยๆ ก้าวเท้าในจังหวะปกติตามวิธีที่บอก ก็จะทำความเร็วได้ค่อนข้างเหมาะสม ซึ่งก็แทบจะแซงคนส่วนใหญ่ (ซึ่งไม่ค่อยรู้วิธีการเดินลง) ได้เยอะทีเดียว แต่ถ้าเพิ่มความเร็วด้วยการก้าวยาวๆ เราก็จะแซงเกือบทุกคนในเส้นทางขาลงเลยแหล่ะ จากคำปรึกษาของคุณไกด์ วิธีก้าวยาวๆ ซึ่งดูเหมือนจะดูหวาดเสียวไปนิด และดูน่าจะอันตรายสำหรับบางคน (ต้องลอง แล้วจะรู้ ^^”) เพราะเป็นการเดินลงทางลาดชันที่ใช้ความเร็วสูง แต่กลับเป็นวิธีที่ไกด์แนะนำเพราะจะทำให้เราไม่เหนื่อยมาก และร่างกายก็ได้รับผลกระทบน้อย เพราะรับน้ำหนักไม่มากแล้วยังใช้เวลาในการเดินทางไม่นานนั่นเอง
โดยส่วนตัวแล้ว เมื่อชินกับการสไลด์ลงแบบมนุษย์ Humanoid ที่ต้องย่อเข่าตลอดเวลาแล้ว การเดินลงฟูจิที่ทุกคนบอกว่าน่ากลัว และเหนื่อยสุดๆ กลายเป็นเรื่องสนุกไปเลย เพราะเหมือนกับเรากำลังเล่นสเก็ตสไลด์ลงภูเขา ตอนเด็กๆ ชอบสไลด์โคลนเละๆ ตอนฝนตกบ่อยๆ เอาวิธีการมาปรับใช้ได้นะ ขนาดมือใหม่อย่างเรายังล้มแค่ 2 ครั้งเอง แล้วก็ล้มไปข้างหลังจริงๆ ด้วย แถมล้มไม่ถึงพื้นอีกต่างหาก เพราะทรงตัวได้ง่ายจริงๆ ตอนล้มนั้นลงมาเร็วไปหน่อย ดินมันร่วนน่ะ เหยียบเท่าไรก็ไม่ถึงพื้นแข็งๆ ซะที ก็เลยหงายเงิ๊บ (ส่วนคนอื่นน่ะ..ล้มกันแทบทุกเลี้ยว ไม่ก็..ช้ามากกกกกก) ขอบอกว่าการลงภูเขาไฟฟูจิที่ถูกวิธีนี่ มัน..สนุกมาก


พอมาถึงสถานีที่ 6 เราจะเจอเส้นทางราบ และเส้นทางหินมากขึ้น ซึ่งก็สามารถกลับมาเดินแบบมนุษย์ปกติได้แล้ว แต่ถ้าเจอเส้นทางตรงไหนลาดเอียงและดินร่วนๆ เหมือนที่ผ่านมาก็ใช้วิธีสไลด์แบบมนุษย์ Humanoid นั่นแหล่ะ เวิร์กสุดๆ


สำหรับเวลาที่ต้องเดินลงจากฟูจิ ก็ยังคงมีความแออัดหนาแน่นของประชากรนักปีนฟูจิอยู่มากเช่นเดียวกับตอนขาขึ้น ช่วงแรกๆ ที่ทุกคนมุ่งหน้าลงมาจากฟูจิ (ประมาณสถานที่ 9) คนจะเยอะมาก แต่เส้นทางช่วงนี้ไม่ค่อยลาดเอียงมากนัก และถึงดินจะร่วนไปบ้าง แต่ก็ยังค่อนข้างแน่นพอเหยียบได้ง่ายๆ จึงสามารถสไลด์โดยการก้าวเท้าแบบไม่ต้องยาวมากได้ และก็ไม่ต้องรีบแซงคนโน่นคนนี้ ถือเป็นการซ้อมจังหวะการเดินลงไปในตัว พอชินแล้วค่อยเร่งสปีดเอา..



ช่วงเวลาที่ฟ้าใสแดดอ่อนแบบนี้ เราจะได้เห็นวิวอันสวยงามของพื้นที่ราบรอบฟูจิยามเช้าที่งามจับใจจริงๆ (ถ้าอากาศดีนะ) แต่ก็อาจจะได้สัมผัสความหวาดเสียวของการยืนริมหน้าผาเพื่อหยุดหลบรถที่บรรทุกสินค้าขึ้นยอดเขาและ Mountain Huts ที่อยู่ๆ ก็ขับสวนขึ้นมาในเส้นทางที่เรากำลังเดินๆ กันอยู่ อย่างเร็วเสียด้วย นักปีนเขาทั้งหลายต้องรีบหลบกันเป็นพลวัน และขอแนะนำว่า ถ้าเจอรถบรรทุกสวนขึ้นมาแบบนี้ อย่าหยุดตรงทางเลี้ยว (ขาลงเป็นเส้นทางซิกแซก ซ้ายขวา จึงมีทางเลี้ยวหักมุมอยู่ตลอดเส้นทางคล้ายกับเส้นทางขาขึ้น) เพราะรถบรรทุกต้องใช้พื้นที่ในการหักเลี้ยวมาก เดี๋ยวจะกวาดเราไปกองที่ด้านล่างก่อนเวลาอันควร คุณไกด์บอกว่าถ้าเจอรถบรรทุกขึ้นเขามาอย่างนี้ เขาจะบังคับให้เราไปยืนหลบเป็นแถวตอนเรียงหนึ่งกันที่ทางเดินริมหน้าผา แทนที่จะหลบกันที่ทางเดินฝั่งที่อยู่ติดภูเขาซึ่งดูน่าจะปลอดภัยกว่า นัยว่ารถบรรทุกมันหนักจะได้ไม่พลาดตกเขาไปไง เอ่อ…


แต่แสงสว่างยามเช้าเนี่ยก็เปิดเผยธาตุแท้บางอย่างนะ..
มันร้ายกาจสุดๆ ที่ได้เห็นฝุ่น สาเหตุที่ทำให้เราต้องจามฟุดฟิดตลอดคืน กว่าสิบชั่วโมงที่ใช้เวลาอยู่บนฟูจินั้น ตัวเราและเสื้อผ้ามีฝุ่นเกาะอยู่เต็มไปหมด น่าจะเพราะช่วงขึ้นสถานีที่ 7 – 10 นั้น คนเยอะ ต้องเดินใกล้ๆ กัน ทำให้ฝุ่นตลบอบอวลโดยเราไม่ทันได้สังเกต ก็มันมืดเลยมองไม่เห็น แต่พอเช้าได้เห็นดินแดงๆ บนภูเขาไฟฟูจิที่กลายเป็นฝุ่นมาแปะอยู่ตามตัวเรานั้นชัดมากๆ ถ้าเอาเสื้อมาเช็ดหน้า ก็เหมือนกับเอาฝุ่นมาป้ายฝุ่นให้หนาขึ้นเลยล่ะ เนื้อตัวสกปรกแบบนี้เดินๆ ไปก็เขินๆ อยู่เหมือนกัน แต่ยังดีใจได้ว่าไม่ใช่เราคนเดียวที่มอมแมมขนาดนี้ ฮะ ฮะ แล้วเจ้าเสื้อผ้าชุดที่ใช้ปีนฟูจินี่ก็ต้องซักสักถึง 3 ครั้ง กว่าจะหมดฝุ่นและดินแดงเลยด้วย ตอนแรกว่าจะโยนทิ้งซะแล้ว…แต่แอบเสียดาย



เอาล่ะ..ในที่สุดเราก็พาเพื่อนๆ ชาว marumura ไปทำภารกิจ ขอพรกับพระอาทิตย์ยามเช้าบนฟูจี ภูเขาไฟที่สูงที่สุดในญี่ปุ่น และกลับลงมาที่สถานที่ 5 อย่างปลอดภัยแล้ว ไม่ยากจนเกินไปใช่มั้ยล่ะ นอกจากวิธีการขึ้นและลงฟูจิที่เล่ามาแล้วนี้ ปัจจัยที่สำคัญและละเลยไม่ได้เลยอีกประการก็คือ “อากาศ” จะสนุก จะประทับใจหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับอากาศจริงๆ เราโชคดีที่เจอท้องฟ้าปลอดโปร่ง ตอนกลางวันแดดไม่ร้อนจัด ตอนกลางคืนอากาศก็ไม่หนาวมาก ฝนก็ไม่ตก พายุก็ไม่เข้า ลมก็ไม่แรง ถือว่าเป็นโชคดีมากๆๆๆๆๆ เลยทีเดียว (จากคำบอกเล่าของคนญี่ปุ่นที่รู้จักกันทั้งหลายนะ) เราก็ได้แต่หวังว่าในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมปีหน้า เพื่อนๆ ที่ตัดสินใจจะไปปีนฟูจิ นอกจากจะเตรียมทั้งอุปกรณ์ ร่างกาย และจิตใจพร้อมแล้ว ก็ขอให้เจอแต่อากาศที่ปลอดโปร่ง ได้รับประสบการณ์ที่ดีกลับมานะจ้ะ เป็นกำลังใจให้..แล้วเจอกันใหม่ในโอกาสต่อๆ ไป สวัสดี ^^
