สุดท้ายแล้ว โตเกียวก็ได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพโอลิมปิคปี 2020 ห่างจากโตเกียวโอลิมปิคครั้งที่แล้วในปี 1964 เป็นเวลา 56 ปี ประชาชนคนญี่ปุ่นต่างดีใจโตเกียวและญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าภาพ…เหรอ?
เล่าโดย : วสุ มารุมุระ
กาลครั้งหนึ่งในปี 2013
ตอนพรีเซนเทชั่นเพื่อจะคัดเลือกว่าใครจะได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิคในปี 2020
お・も・て・な・し
Omtenasi
โอะโมะเทะนะชิ*
รอยยิ้มของผู้ประกาศข่าวสาว Takigawa Christel
ได้สะกดคณะกรรมการและผู้ชมให้อยู่หมัด
สุดท้ายแล้ว โตเกียวก็ได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพโอลิมปิคปี 2020
ห่างจากโตเกียวโอลิมปิคครั้งที่แล้วในปี 1964 เป็นเวลา 56 ปี
ประชาชนคนญี่ปุ่นต่างดีใจโตเกียวและญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าภาพ
เหรอ?
แน่นอนว่าก็ต้องมีคนญี่ปุ่นที่ไม่เห็นด้วยกับการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิค
เพราะเขามองกันว่า การจัดงานมหกรรมกีฬาขนาดนี้ย่อมตามมาด้วย ค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาล และคงไม่พ้น ภาษี ที่ทุกคนต้องจ่ายเพื่อบำรุงรัฐ
ก็มีเสียงบ่นอุบอิบกันบ้าง
เอาละ
โอลิมปิคครั้งใหม่ก็ต้องมีสนามกีฬาแห่งชาติอันใหม่
และสนามกีฬาแห่งชาตินี้ได้ก่อให้เกิดดราม่าตามมาครับ
+++
นั่งไทม์แมชชีนของโดราเอมอนย้อนกลับไปปี 2012
องค์กรส่งเสริมการกีฬาของญี่ปุ่น(JSC)ได้จัดประกวดออกแบบสนามกีฬาแห่งชาติใหม่
บริษัทออกแบบสถาปัตยากรรมของชาวอังกฤษ Zaha Hadid ชนะเลิศจากผู้เข้าประกวด 46 ราย

สนามกีฬาแห่งชาตินี้มีลักษณะพิเศษเป็นเส้นโค้งสองด้านหันหน้าเข้าหากัน กะจะจุคนได้ทั้งหมด 80,000 ที่นั่ง
ดีไซน์นี้หลังคาสามารถเปิดและปิดได้ด้วย ไว้กันฝน สำหรับเจ้าสาวที่กลัวฝน
++++
ปี 2013
มกราคม: สภาได้รับรองงบประมาณประจำปีสำหรับโครงการเป็นเงินจำนวน
1,300 x 100,000,000 เยน (1300億円)
กันยายน: โตเกียวได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพโอลิมปิคปี 2020
ตุลาคม: มารู้กันภายหลังในที่ประชุมของสมาชิกวุฒิสภาร่างงบประมาณ กันว่าค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างจะอยู่ที่
3,000 x 100,000,000 เยน (3000億円)
ทางรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบเรื่องโอลิมปิคเลยแสดงสั่งให้หาทางลดค่าก่อสร้างโดยให้ลดจำนวนของสิ่งอำนวยความสะดวกรอบๆ
++++
ปี 2014
พฤษภาคม: มีการปรับลดขนาดพื้นที่ใช้สอยลงไปจากดีไซน์เดิม 20% และลดขนาดถนนหนทางและสิ่งอำนวยความสะดวกจนงบก่อสร้างลงมาอยู่ที่
1,625 x 100,000,000 เยน (1625億円)
++++
ปี 2015
5 มิถุนายน:
JSC เลือกผู้รับเหมาให้เป็นบริษัท Taisei และบริษัท Takenaka (ดูแลในการสร้างหลังคาที่เปิดปิดได้)
พอผู้รับเหมาคำนวณค่าก่อสร้างจากดีไซน์จริงๆออกมาได้
3,000 x 100,000,000 เยน (3000億円)
JSC เลยบอกกับทางผู้รับเหมาทั้งสองรายว่าให้ปรับงบก่อสร้างให้เหลือสัก
2,500 x 100,000,000 เยน (2500億円)
โดยให้ปรับที่นั่ง 15,000 ที่นั่ง (จาก 80,000) ให้เป็นแบบถอดใส่ออกได้
หลังคาแบบเปิดปิดได้ก็เอาไว้ก่อน ค่อยไปติดตั้งตอนหลังมหกรรมกีฬาโอลิมปิคเสร็จสิ้น
แต่ก็ดููๆยังเถียงๆกันอยู่ การเซ็นสัญญาณกับผู้รับเหมาก็ยังไม่แล้วเสร็จ และการเริ่มต้นก่อสร้างก็ล่าช้าลง
8 กรกฎาคม:
JSC เปิดประชุมกับบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้อง และได้รับการรับรองว่ายังคงจะสร้างสนามกีฬาแห่งชาติแบบเดิม ด้วยงบก่อสร้าง
2520 x 100,000,000 เยน (2520億円)
17 กรกฎาคม:
ตูม!!!!!
白紙に戻す
[ฮะคุชินิโมะโดะสุ]
= เอากลับไปยังกระดาษแผ่นขาว (หมายความว่า “ทำใหม่ตั้งแต่แรก”)
นายกอะเบะ บอกว่าขอให้ยกเลิกแผนเดิมให้หมดและสั่งประมูลใหม่รวมถึงดีไซน์ของสนามกีฬาด้วย
จนมีคนญี่ปุ่นบางคนล้อเลียนว่า
มันไม่ใช่
お・も・て・な・し
Omtenasi
โอะโมะเทะนะชิ
แต่เป็น
や・り・な・お・し
Yarinaosi
ยะรินะโอะชิ
ที่แปลว่า “(เอ็ง)ไปทำใหม่มาให้หมด”
+++
22 ธันวาคม:
มีการคัดเลือกสนามกีฬาแห่งชาติแบบใหม่จากสองแบบ แบบ A และ แบบ B ในรอบสุดท้าย

สุดท้ายแล้วแบบ A ชนะไปด้วยคะแนนฉิวเฉียดที่ 610 ต่อ 602 แต้ม
แบบ A นี่ออกแบบโดยสถาปนิกชื่อว่า Kengo Kuma และบริษัทผู้รับเหมา Taisei (บริษัทเดียวกับที่ตอนแรกจะสร้างสนามกีฬาแห่งชาติแบบเดิม)
แบบ A ได้รับการรับเลือกด้วยเหตุผลว่ามี “ความเป็นไปได้สูง” ในการที่จะ”ย่นระยะเวลาในการก่อสร้าง” และ “ลดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง”

สนามแบบ A มีจุดเด่นจุดหนึ่งคือไม่พยายามทำให้ไม่สูงมาก เพราะทาง Kengo ไม่ต้องการทำลายวิวทิวทัศน์ของประชาชนรอบข้าง
และด้วยเนื่องจากสนามกีฬาตั้งใกล้อยู่กับศาลเจ้าเมจิจินกุ
สนามกีฬาแห่งชาตินี้ก็จะเปรียบเสมือนเป็น “สนามกีฬาของศาลเจ้า”
ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างสนามกีฬาแห่งชาติใหม่จะอยู่ที่
1,550 x 100,000,000 เยน (1550億円)
+++
การประมูลจบแต่คนยังไม่จบ
– Zaha Hadid เจ้าของดีไซน์สนามกีฬาอันแรกเริ่มบอกว่า โครงสร้างใต้หลังคา (ที่นั่ง ตัวอัฒจรรย์) ของแบบ A โดย Kengo Kuma มีความคล้ายคลึงกับดีไซน์ของตัว Zaha เองมาก และบอกจะฟ้องว่า ลอกเลียนแบบหรือเปล่า
– อาจารย์มหาวิทยาลัยผู้เชียวชาญด้านการก่อสร้าง บอกว่าตามแบบ A มีการประดับต้นไม้สีเขียว ซึ่งจะเป็นตัวเรียกแมลง ซึ่งค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาของสนามกีฬาต่อปีน่าจะสูงตามมา
– สถาปนิกเจ้าของแบบ B ชื่อว่า Ito Toyo มีความเคลือบแคลงสงสัยในกระบวนการให้คะแนน โดยที่่คะแนนแพ้ชนะกันเพียงนิดเดียว แต่คะแนนหมวดย่นระยะเวลาการก่อสร้างต่างกันถึง 30 แต้ม
– ประชาชนคนทั่วไปก็ชี้ว่าทำไมบริษัท Taisei ถึงได้ชนะประมูลก่อสร้าง มีการล๊อคสเปคบริษัทตั้งแต่แรกหรือไม่ ฮั้วกันว่าแบบ A จะชนะตั้งแต่แรก
– ประชาชนก็บอกว่า “ไอ้พวกนักการเมืองดีแต่จะจะจัดโอลิมปิคเพื่อจะเอาหน้า
– และสุดท้ายแล้วสร้างไปสร้างมาแก้ไขแบบอีก เดี๋ยวค่าก่อสร้างก็เพิ่มอีกมากกว่าที่ตั้งไว้แต่แรก
โอลิมปิคยังไม่เริ่ม
สนามกีฬายังไม่สร้าง
คงต้องดูว่า จะเป็นยังไงกันต่อไปครับ
ส่วนตัวผู้เขียนเองเชียร์แบบ A ครับ
และก็หวังลึกๆว่า Kengo Kuma จะจัดการสร้างสนามกีฬาแห่งชาตินี้ได้ให้ทุกคนภูมิใจกับสิ่งก่อสร้างนี้
ตบท้ายด้วยภาพผลงานของ Kengo Kuma ครับ Bamboo wall house ในประเทศจีนครับ
เล่าโดย : วสุ มารุมุระ
ทักทายพูดคุยกับ Wasu ได้ที่ >>> Facebook Wasu’s thought on Japan
เรื่องแนะนำ :
– โตเกียวโอลิมปิคครั้งที่ 2 สู่ครั้งที่ 3 จากเศรษฐกิจ สู่วัฒนธรรมและอุลตร้าแมน
– การเดิมพันของโตโยต้า : รถยนต์แห่งอนาคต “Mirai”
– สีแดงสองแบบที่มี ”ความหมาย” ในญี่ปุ่น “อะคะ” [赤] และ “คุเระไน [紅]
– สีแดงและสีขาวในญี่ปุ่น
– Cool Japan!? ญี่ปุ่น…. เท่