ลูกกะจ๊อก ในภาษาญี่ปุ่น…ในสังคมใดใด ล้วนแล้วมีระดับชั้น เป็น hierachy มีคนที่อยู่ในที่สูงกว่า ก็มีคนอยู่ในที่ต่ำกว่า ภาพเหล่านี้ก็สะท้อนมาในการ์ตูน ผมก็อ่านการ์ตูนมามาก ก็สังเกตคำที่มีความหมายในลักษณะของ “คนที่อยู่ข้างล่าง” คับแค้นใจกันไหม…
รวบรวมและเล่าโดย วสุ มารุมุระ

ในสังคมใดใด ล้วนแล้วมีระดับชั้น เป็น hierachy มีคนที่อยู่ในที่สูงกว่า ก็มีคนอยู่ในที่ต่ำกว่า
ภาพเหล่านี้ก็สะท้อนมาในการ์ตูน
ผมก็อ่านการ์ตูนมามาก ก็สังเกตคำที่มีความหมายในลักษณะของ “คนที่อยู่ข้างล่าง”
คับแค้นใจกันไหม…
ผมสังเกตเห็นคำว่า เหล่า “ลูกกะจ๊อก” หลายๆ แบบทั้งในภาษาไทยและญี่ปุ่น เลย จะเขียนถึง แต่ล่ะคำแตกต่างไป ตามมุมมองที่ผมสังเกตเห็นครับ
เริ่มเลยดีกว่า
1. “เบ๊” パシリ [ปะชิริ]
ใครทำงานเป็น GA หรือ ทำงานระดับใดก็ตามอาจจะรู้สึกว่า “อะไรๆ ก็ตู” จนมีคำติดตลกว่า General เบ๊ หรือ เบ๊ทั่วไป
ในภาษาญี่ปุ่น มีคำในลักษณะนี้ แต่ไม่ตรงสะทีเดียวคือคำว่า…
パシリ [ปะชิริ] เบ๊
คำนี้มีที่มาจากคำว่า 使い走り[ซึไคฮาชิริ] ที่หมายถึง “ถูกใช้ให้วิ่งไปทำอะไรสักอย่าง”
“เฮ้ยช่วยไปเซเว่นซื้อ…มาให้หน่อยสิ”
ฟีลลิ่งประมาณนี้ต้องวิ่งไปซื้อ เป็นเบ๊ ทำทุกอย่างตามที่สั่ง นี่คือลักษณะของ パシリ [ปะชิริ]
“เอ้าเอ๋ วิ่งสิ” “เอ้าพี่ตูนวิ่งสิ” (ไปซื้อของให้หน่อย)

ในการ์ตูนเรื่อง Lucky man มีตัวละครชื่อ Speedman เป็นยอดมนุษย์ที่มีความเร็ว แต่ถูกเพื่อนๆล้อว่าเป็น パシリ1号 [ปะชิริ อิจิโก] หรือ “เบ๊หมายเลข 1” ถูกล้อให้ไปซื้อของที่เซเว่นมาให้เพราะด้วย “ความเร็ว” ของ Speedman
ฟีลคำว่า パシリ [ปะชิริ] จะมีคำว่า “วิ่งไปโน่นทำนี่ให้” ก็จะคล้ายๆ กับคำว่า “เบ๊” แต่คำว่า “เบ๊” จะไม่ได้แฝงกิริยาการ “วิ่ง” มาด้วย แต่ถือว่าน่าจะใกล้เคียงที่สุดครับ
2. “เบี้ยล่าง” 下っ端
“ต้องตกเป็นเบี้ยล่างเขา”
คำตัดพ้อลักษณะนี้ มิทราบว่าเคยได้ยินกันไหมครับ
คำว่าเบี้ยล่าง ประเด็นก็อยู่ที่คำว่า “ข้างล่าง” ที่สื่อถึงระดับชั้น เป็น Hierachy
ทีนี้ภาษาญี่ปุ่นก็มีคำที่ความหมายคล้ายๆกันนั่นคือ
下っ端 [ชิตับปะ] ที่แปลตรงๆ ได้ว่า “ล่างติดขอบ”
下 [ชิตะ] ข้างล่าง
端 [ฮะชิ] ขอบ
เรียกว่าถ้าอยู่ใน Hierachy แล้วฉันนี้อยู่ล่างสุดติดขอบ
ส่วนคำว่าเบี้ยล่างนั้น เท่าที่ลองค้นๆดู มาจากเบี้ยบน กับ เบี้ยล่าง ในหมากรุก
เบี้ยบน เป็นฝ่ายได้เปรียบ
เบี้ยล่าง เป็นฝ่ายเสียเปรียบ
คำว่า 下っ端 [ชิตับปะ] นั่นมีคำว่า 下 [ชิตะ] ข้างล่าง
คำว่า เบี้ยล่าง ก็มีคำว่า “ล่าง” เช่นกัน
ความรู้สึกคล้ายๆ กันว่า คนที่อยู่ข้างล่าง คือผู้เสียเปรียบ
3. “ลูกสมุนของเจ้าพ่อ” 子分 [โคะบุน]
ลูกสมุน ที่ว่านี้คือ…
ขอให้นึกถึง แก๊งลูกหมี เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ Godfather แก๊งมาเฟีย ยากุซ่า
ทีนี้เราก็มีลูกสมุนผู้ภักดี ลูกสมุนของเจ้าพ่อ
ภาษาญี่ปุ่นเลยจะมีคำว่า ลูกสมุน ว่า
子分 [โคะบุน]
โดยที่คำว่า
子 [โคะ] ลูก
分 [บุน] ส่วน
“ส่วนของลูก”
เมื่อมี “ส่วนของลูก” แล้ว ในภาษาญี่ปุ่นก็มีคำว่า “ส่วนของพ่อกับแม่” คือ “เจ้าพ่อ”, “เจ้าแม่” นั่นเอง
親分 [โอยะบุน] เจ้าพ่อ (เจ้าแม่)
親 [โอยะ] พ่อแม่
分 [บุน] ส่วน
เราจะเห็นได้ว่าในภาษาญี่ปุ่นหรือภาษาอังกฤษหรือภาษาไทย เราจะเห็นคำที่แสดงถึงความเป็นพ่อ อย่างคำว่า เจ้าพ่อ godfather หรือ 親分 [โอยะบุน]
ส่วนคำที่เป็น “ลูกสมุน” นั้นในภาษาญี่ปุ่นก็มีคำว่า “ลูก” อย่าง 子分 [โคะบุน]
親分 [โอยะบุน] เจ้าพ่อ (เจ้าแม่)
子分 [โคะบุน] ลูกสมุน
ทั้งสองคำว่ามีคำว่า 分 [บุน] ส่วน ราวเสมือนสองส่วนที่เติมเต็มให้กันและกัน
4. “ลูกกะจ๊อก” “ปลาซิวปลาสร้อย” 雑魚 [ซะโกะ]


เมื่อเหล่าร้ายต่อกรกับฝ่ายธรรมะ ก็ใช้จำนวนที่มากกว่าเข้าสู้ เหล่าตัวกี้ๆ ที่เข้าสู้ไอ้มดแดง ถูกโดดถีบล้มลง ก็รีบวิ่งเข้ามาในฉากอีกรอบ เข้าต่อกรกับพระเอกอีก
พวกเขาเหล่านี้ได้ชื่อสมกับเป็น “ลูกกะจ๊อก” หรือ “ปลาซิวปลาสร้อย”
คำนี้ในภาษาญี่ปุ่นว่า
雑魚 [ซะโกะ] “ลูกกะจ๊อก” “ปลาซิวปลาสร้อย”
โดยที่
雑 [ซะซึ] หมายความว่า “หยาบ” (ตรงข้ามละเอียด) หรือ “ไม่ระมัดระวัง” (careless)
魚 [ซะกะนะ] ปลา
雑魚 [ซะโกะ] นี้ให้อิมเมจของ ปลาซิวปลาสร้อย ปลาตากแห้งตัวเล็กๆ ที่โดนเหยียบให้แหลกลาญได้ง่าย
เราก็อาจเป็น ลูกกะจ๊อก หรือ 雑魚 [ซะโกะ] เพื่อไปต่อกรกับ Boss ใหญ่ของอีกฝ่าย
เวลาอ่านการ์ตูน เราก็อาจจะเห็น ตัวละครที่เราดูออกว่า เดี๋ยวคนเขียนการ์ตูนวาดให้แพ้พระเอกง่ายๆ เราก็เรียกตัวละครพรรณนี้ว่า
雑魚キャラ [ซะโคะ แคะระ] ตัวละครลูกกระจ๊อก
โดยที่ キャラ [แคะระ] มาจาก Character ที่เป็นตัวละคร
เหล่า “ลูกกะจ๊อก” “ปลาซิวปลาสร้อย” 雑魚 [ซะโกะ] นั้นใช้จำนวนที่มากกว่าเข้าแลก
หวังว่าสักวันจะทำให้พระเอกเหน็ดเหนื่อย
สักวันจะหาจังหวะเผลอโค่นล้มพระเอกลงจนได้
+++
โดยบทสรุป Moral ของสตอรี่นี้ ไม่ว่าภาษาญี่ปุ่น หรือ ภาษาไทย ภาษาไหนๆ ก็มี คำศัพท์ที่คล้ายๆ กัน ในแง่ของคำศัพท์ว่า “ลูกกะจ๊อก”
พวกเราคนไทยคนญี่ปุ่นต่างก็ไต่บันไดจากชั้นล่างสุด แต่ก็ระลึกถึงจิตใจของคนที่อยู่ข้างล่าง
คนไทย คนญี่ปุ่น ไม่ว่าชาติไหน ในฐานะคนข้างล่างเราต่างมีหัวอกหัวใจเดียวกัน
รวบรวมและเล่าโดย วสุ มารุมุระ
ทักทายพูดคุยกับ Wasu ได้ที่ >>> Facebook Wasu’s thought on Japan
เรื่องแนะนำ :
– ภาษาโปรแกรมมิ่ง Java กับคนญี่ปุ่น
– รีวิว TV people ..รวมเรื่องสั้นของ Murakami Haruki จาก 1989
– เกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับเบียร์อาซาฮี
– จาก ไฮยู สู่ ยะคุฉะ : ว่าด้วยคำว่าดารานักแสดงในภาษาญี่ปุ่น
– 深い愛情 [ฟุไค่ไอโจ] ความรักที่ลึกซึ้ง