Origami : ญี่ปุ่นสามารถฝึกสมองและเสริมสร้างให้เด็กมีสมาธิ เสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการได้โดยสิ่งๆ หนึ่ง เพียงแค่ใช้กระดาษ ก็สามารถเปลี่ยนแปลงรูปร่างและและเสริมสร้างพัฒนาการด้านต่างๆ ได้อย่างไม่หยุดยั้ง
เรียบเรียงโดย : ทีมงานโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่น Jat
สวัสดีค่ะทุกท่านกลับมาพบกันใหม่อีกครั้ง กับเกร็ดความรู้ดีๆเกี่ยวกับภาษาญี่ปุ่นค่ะ
ทุกท่านทราบไหมค่ะ ว่าเด็กๆ ของประเทศญี่ปุ่นเค้าใช้อะไรในการฝึกสมองและเสริมสร้างให้เด็กมีสมาธิ เสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการได้โดยสิ่งๆ หนึ่ง เพียงแค่ใช้กระดาษ ก็สามารถเปลี่ยนแปลงรูปร่างและและเสริมสร้างพัฒนาการด้านต่างๆ ได้อย่างไม่หยุดยั้ง ไม่ใช่แค่เด็กเท่านั้นผู้ใหญ่ก็สามารถทำได้ นั่นก็คือ การพับกระดาษ กระดาษที่พวกเราใช้กันอยู่ทุกวันนั้นมีประโยชน์อย่างไร ไปติดตามชมกันเลยค่ะ ^-^

การพับกระดาษ(折り紙)(Origami)
คำว่า “พับ” ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า โอะรุ「折る」(Oru) “กระดาษ” ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า คะมิ「紙」 (Kami) จึงเป็นที่มาของคำว่า การพับกระดาษ(折り紙)(Origami) นั้นเองค่ะ




การพับกระดาษเป็นงานฝีมือที่ใช้กระดาษพับเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพของกระดาษให้เป็นรูปสามมิติ ขึ้นอยู่กับความคิดและการจินตนาการของผู้ประดิษฐ์ จะแสดงสภาพของกระดาษให้เป็นรูปร่างของคน สัตว์ หรือสิ่งของต่างๆ ทั้งนี้ยังช่วยบำบัดและเสริมสร้างทักษะการใช้กล้ามเนื้อมือสำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อมืออ่อนแรง และทำให้เกิดสมาธิ เสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์และการจิตนาการในการออกแบบ (สังเกตได้จากเมื่อสมัยวัยเด็ก คุณครูมักจะให้เด็กพับกระดาษเพื่อต้องการให้เด็กรู้จักจดจำและพัฒนาสมองทางด้านความคิด สติปัญญา และทำให้เกิดความสุขอีกด้วย)

(เคยสังเกตกันไหมค่ะ เวลาเราพับกระดาษ จะทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ไม่มีความเครียดเลย มีแต่จะยิ้มแย้ม อารมณ์ดี สนุกสนาน เพลิดเพลิน และภูมิใจเมื่อเราพับเสร็จ และต่างคนต่างก็ชื่นชมว่าของใครพับสวยกว่ากัน เสริมสร้างความสุขเล็กๆ น้อยๆ อีกด้วย นี่ก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของการพับโอริงามิค่ะ)

![]() |
การพับกระดาษรูปอะไรที่เป็นยอดนิยมมากที่สุด ก็คือ นกกระเรียนพับ ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า โอะริซุรุ「折り鶴」(Orizuru) 「折り」(Ori) แปลว่า พับ 「鶴」(Tsuru) แปลว่า นกกระเรียน* คนญี่ปุ่นมีความเชื่อว่า นกกระเรียนถือเป็นสัญลักษณ์ของความโชคดี หน้าที่การงานราบรื่นไม่มีอุปสรรค สุขภาพแข็งแรงและมีอายุยืนยาว คนญี่ปุ่นมักนิยมวาดลายนกกระเรียนลงบนชุดกิมโมโนและยูคาตะของสตรี นอกจากนี้ยังมีวาดลงประตูบุกระดาษ (ที่เป็นประตูเลื่อนที่ใช้กั้นระหว่างห้องในบ้านแบบญี่ปุ่น) ซึ่งเรียกว่า ฟุสุมะ「襖」 (Fusuma) อีกด้วย* |



(เคยเห็นกันบ้างไหมค่ะ ที่มีคนร้อยนกกระเรียนพับเป็นจำนวนมากบนเส้นด้าย แล้วมัดรวมกันแขวนห้อยจากเพดาน สิ่งนี้เรียกว่า นกกระเรียนพันตัว ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า เซ็มบะซุรุ「千羽鶴 」(Senba-zuru) 「千羽」(Senba) แปลว่า พันตัว 「鶴」(Tsuru) แปลว่า นกกระเรียน ใช้เพื่อประดับเมื่อจะอธิษฐานสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น ขอพรให้หายจากอาการเจ็บไข้ได้ป่วยโดยเร็ว มีแต่ความสุขและโชคดี หรือภาวนาให้เกิดสันติภาพ)*

วันนี้ดิฉันจะให้ทุกท่านได้มารู้จักกับเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งซึ่งเธอได้ตกเป็นเหยื่อจากการโดนระเบิดนิวเคลียร์จากสงครามโลกครั้งที่ 2
「佐々木禎子」(Sadako Sasaki)เกิดเมื่อวันที่ 7 มกราคม ค.ศ.1943 ขณะนั้นเธอมีอายุเพียงแค่ 2 ขวบ เธอเป็นเด็กที่ขยัน ร่าเริง และยังเป็นนักวิ่งของโรงเรียน อาศัยอยู่เมืองฮิโรชิม่า「広島」 (Hiroshima) ในช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกาได้ยิงระเบิดปรมาณูถล่มเมืองฮิโรชิม่า ซึ่งบ้านของเธอก็อยู่ไม่ห่างไกลจากสงครามมากนัก แต่เธอและครอบครัวสามารถหลบหนีจากระเบิดปรมาณูได้อย่างปลอดภัย หลังจากสงครามได้หมดลง เธอก็ใช้ชีวิตเหมือนเด็กประถมทั่วไป
จนกระทั่งเมื่อเธออายุ 11 ปี ในขณะที่เธอกำลังซ้อมวิ่งแข่งซึ่งเป็นกีฬาที่เธอรักมากที่สุดนั้น เธอก็มักจะมีอาการวิงเวียนศีรษะและอาเจียนแต่เธอก็เก็บความลับนี้ไม่บอกผู้ใด จนกระทั่งจู่ๆ เธอก็หมดสติลง เธอได้ถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาล ผลตรวจออกมาว่าเธอล้มป่วยเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือที่เรียกว่า “ลูคิเมีย”ผลสืบเนื่องมาจากการที่เธอได้รับสารกัมมันตภาพรังสีจากระเบิดนิวเคลียร์ ความฝันที่อยากเป็นนักวิ่งแข่งประจำจังหวัดก็สลายลง
แพทย์ได้แจ้งกับทางครอบครัวของเธอทราบว่า เธอจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 1 ปีเท่านั้น ชิซูโกะเพื่อนสนิทของซาดะโกะได้มาเยี่ยม พร้อมกับเล่าตำนานของนกกระเรียนพับว่า ถ้าพับนกกระเรียนครบ 1,000 ตัว ถ้าหวังสิ่งใดจะได้ในสิ่งที่ปรารถนา เธอก็หวังว่าการพับนกกระเรียนครั้งนี้จะทำให้เธอหายป่วยได้โดยเร็ว
ในขณะที่เธอพับนกกระเรียนนั้น เธอได้เขียนคำว่า สันติภาพ 「平和」(Heiwa) ลงไปในกระดาษ เธอได้รวบรวมแรงกายแรงใจทั้งหมดเพื่อสู้กับความเจ็บปวดของร่างกาย เธอบรรจงพับออกมาได้อย่างสวยงามเปี่ยมไปด้วยความหวังและมุ่งมั่น รวมทั้งเด็กมัธยมที่จังหวัดนาโงย่าก็ได้ส่งนกกระเรียนที่พับอย่างสวยงามมาเพื่อเป็นการเยี่ยมไข้และให้กำลังใจ อีกทั้งคนไข้ที่พักฟื้นอยู่ในโรงพยาบาลเดียวกัน ต่างก็เริ่มพับนกกระเรียนด้วยเช่นกัน ด้วยความเชื่อที่ว่าหากสามารถพับนกกระเรียนได้ถึง 1,000 ตัว ก็จะสามารถหายจากอาการเจ็บป่วยได้ ทุกคนต่างมุ่งมั่นพับนกกระเรียนอย่างไม่ย่อท้อ และสามารถพับได้เกิน 1,000 ตัว แต่ว่าถึงแม้จะพับได้เกิน 1,000 ตัว แต่ซาดาโกะก็จากโลกนี้ไปอย่างสงบในวันที่ 25 ตุลาคม ด้วยวัยเพียง 12 ปี

หลังจากที่ซาดาโกะเสียชีวิตแล้ว เรื่องราวของเด็กผู้หญิงพับนกกระเรียนก็ได้ถูกถ่ายทอดออกมาจากทางสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ โทรทัศน์ การ์ตูน หนังสือ และอื่นๆอีกมากมาย ก็ได้มีการบริจาคเงินเพื่อสร้างอนุสรณ์รำลึกถึงซาดาโกะ ซึ่งลักษณะรูปปั้นเป็นหินแกรนิต เป็นรูปซาดาโกะชูนกกระเรียนพับชูไว้เหนือหัวด้วยมือทั้งสองมือ อยู่บนแท่งสูงใหญ่ โดยอนุสรณ์แห่งนี้ตั้งอยู่ที่เมืองฮิโรชิม่า บ้านเกิดของซาดาโกะ สร้างเสร็จเมื่อปี ค.ศ. 1958 อนุสรณ์แห่งนี้ เรียกว่า「原爆の子の像」(Genbaku no ko no zoo) สร้างเพื่อให้คนตระหนักถึงการเกิดสงคราม “สงครามไม่เคยทำให้ใครมีความสุข” ขอให้โลกนี้จงมีแต่ความสงบ…ไม่ทำลายล้างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน…รักและสามัคคีกันไว้เถิด# วันที่ 6 สิงหาคม จึงเป็นวันรำลึกถึงการทิ้งระเบิดปรมาณูถล่มเมืองฮิโรชิมา ตั้งแต่นั้นมา
เรียบเรียงโดย : ทีมงานโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่น เจ.เอ.ที. (JAT)
เอื้อเฟื้อโดย :
โรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่นแจ๊ท Jat (JAT Japanese language school)
http://www.jatschool.com
อ้างอิงโดย
1. (เครื่องหมาย * หมายถึง ที่มาจากหนังสือ วัฒนธรรมญี่ปุ่น)
โอคะโมะโทะ โทะมิ(ผู้แต่ง), แสวง จงสุจริตธรรม(ผู้แปล), รศ.ปราณี จงสุจริตธรรม(ผู้แปล). วัฒนธรรมญี่ปุ่น. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ภาษาและวัฒนธรรม, 2547
2. เครื่องหมาย # หมายถึง http://ja.wikipedia.org/wiki/%E4%BD%90%E3%80%85%E6%9C%A8%E7%A6%8E%E5%AD%90
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ :
http://family.truelife.com/content/detail/111895
http://www.thaigoodview.com/node/86280
http://www.thaigoodview.com/node/84820
http://www.arunsawat.com/board/index.php?topic=1468.0
http://play.kapook.com/photo/showfull-117400-14
http://ponsawan.bravehost.com/Origami%20Paper.html
http://www.kjn.ac.th/web/node/2013
http://g-gush.blogspot.com/2010/11/origami.html
http://www.jat-languagecafe.com/newsite/highlight/display.php?id=31
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=29798
http://www.fwdder.com/topic/24298
http://th.wikipedia.org