โอมิโซคะ (Oomisoka, 大晦日) หมายถึง วันสิ้นปีหรือวันสุดท้ายของปี ในวันที่ 31 ธันวาคม คนญี่ปุ่นเชื่อว่าเทพเจ้าจะทรงมาเยือนทุกๆ บ้านในวันขึ้นปีใหม่ เพราะฉะนั้นทุกๆ คนจึงให้ความสำคัญกับวันนี้เป็นพิเศษ
สวัสดีค่ะเพื่อนๆ ทุกคน กลับมาพบกันอีกครั้ง กับเกร็ดความรู้ดีๆ เกี่ยวกับภาษาญี่ปุ่น ที่พร้อมเสิร์ฟถึงหน้าจอให้กับเพื่อนๆ ทุกคนถึงที่เลยค่ะ
สิ้นปีนี้ เพื่อนๆ จะไปเที่ยวไหนกันบ้างค่ะ บางคนอาจจะกลับบ้านเพื่อไปพบกับครอบครัว หรือจัดปาร์ตี้สังสรรค์กับญาติพี่น้อง หรือผองเพื่อน หรืออาจจะจัดทัวร์ไปพักตากอากาศที่ต่างจังหวัด เพราะเนื่องจากเป็นวันหยุดยาวประจำปี และบางคนอาจจะกำลังคิดว่าจะไปเคาท์ดาวน์ในวันสิ้นปีกับสถานที่ๆ กำลังจัดงานฉลองต้อนรับปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง ที่ประเทศญี่ปุ่นเค้าก็ให้ความสำคัญกับวันสิ้นปีของประเทศเค้ามากๆ เลยค่ะ อยากรู้กันแล้วใช่ไหมค่ะว่าประเทศญี่ปุ่นเข้าจะจัดงานฉลองกันอย่างไร งั้นไปติดตามชมกันได้เลยค่ะ

โอมิโซคะ (Oomisoka, 大晦日) หมายถึง วันสิ้นปีหรือวันสุดท้ายของปี ในวันที่ 31 ธันวาคม คนญี่ปุ่นเชื่อว่าเทพเจ้าจะทรงมาเยือนทุกๆ บ้านในวันขึ้นปีใหม่ เพราะฉะนั้นทุกๆ คนจึงให้ความสำคัญกับวันนี้เป็นพิเศษ

โดยเฉพาะคุณแม่บ้านจะยุ่งวุ่นวายกับการเตรียมอาหารไว้ให้เสร็จเพื่อต้อนรับปีใหม่กับอาหารแบบดั้งเดิมที่เรียกว่า โอเซะจิ (Osechi, おせち) ที่เป็นอาหารชุดปีใหม่แบบญี่ปุ่นนั่นเอง


ก่อนถึงเที่ยงคืน คนญี่ปุ่นของแต่ละครอบครัวจะร่วมกันรับประทานอาหารแห่งความโชคดีพร้อมกันก็คือ โทชิโคชิ โซบะ (Toshikoshi-soba, 年越そば) ที่เป็นบะหมี่ซึ่งทำจากแป้งโซบะชนิดหนึ่ง ใช้สำหรับรับประทานในวันสิ้นปีที่จะข้ามไปปีใหม่)
ทำไมถึงต้องรับประทาน Toshikoshi-soba กันนะ?
- ลักษณะของเส้นที่ยาวและยืด ยิ่งมีความยาวมากเท่าไรก็ยิ่งดี คนญี่ปุ่นเชื่อว่า ถ้าได้ทานแล้วจะอายุยืนยาว และเป็นศิริมงคลให้กับครอบครัว
- ลักษณะของเส้นที่ตัดง่าย คนญี่ปุ่นเชื่อว่า สามารถตัดความยากลำบาก ตัดหนี้สินและเคราะห์ร้ายๆ ที่ไม่ดีตลอดทั้งปีออกไปได้
- วัฒนธรรมที่สืบต่อกันมาเรื่องการรับประทาน Toshikoshi-soba เริ่มมีตั้งแต่สมัยเอโดะ โดยช่างฝีมือเกี่ยวกับทองคำเปลว (Kinpaku, 金箔) จะใช้แป้งโซบะซึ่งมีคุณสมบัติสามารถดูดซึมผงทองคำเปลวที่กระจัดกระจายได้ แล้วคนญี่ปุ่นก็เชื่อว่า ถ้าไม่ทานหรือทาน Toshikoshi-soba เหลือ โชคเกี่ยวกับด้านเงินทองจะไม่ดี เมื่อได้รับเงินมาแล้วก็จะใช้หมด ไม่เหลือเงินเก็บ

ทุกวัดทั่วประเทศจะตีระฆังในเวลาก่อนถึงเที่ยงคืนพร้อมๆ กัน คนญี่ปุ่นจะคอยฟังเสียงของระฆังวันสิ้นปี (Jyoya no Kane, 除夜の鐘) เนื่องจากตามหลักคำสอนของศาสนาพุทธ มนุษย์ล้วนมีกิเลสตัณหาอยู่ 108 ประการ จะมีการตีระฆัง 107 ครั้งก่อนถึงเที่ยงคืนและหลังเที่ยงคืนจะตีระฆังอีก 1 ครั้งเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งการฟังเสียงระฆัง 108 ครั้ง ก็เพื่อชำระล้างกิเลสตัณหา ล้างสิ่งชั่วร้าย และทำให้จิตใจบริสุทธิ์ อีกทั้งยังให้ระลึกถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา และหวังว่าปีใหม่ที่กำลังมาถึง จะได้พบเจอแต่สิ่งดีๆ เข้ามาในชีวิต

นอกจากนั้นคุณแม่บ้านทั้งหลายจะหมกหมุ่นกับการทำความสะอาดบ้านครั้งใหญ่ซึ่งเรียกว่าการทำความสะอาดบ้านต้อนรับปีใหม่ หรือโอโซจิ (Oosooji, 大掃除) โดยคนญี่ปุ่นเชื่อว่าการทำความสะอาดบ้านนั้น จะขจัดปัดเป่าสิ่งที่ไม่ดีออกไปให้หมดจากปีที่ผ่านมา และเริ่มต้นปีใหม่โดยประดับตกแต่งบ้านใหม่
เครื่องประดับตกแต่งบ้านแบบต่างๆ สำหรับปีใหม่ของคนญี่ปุ่น
1) โคโดมัทสึ (Kodomatsu, 門松) คือกิ่งสนหรือต้นสนสำหรับประดับหน้าประตูบ้าน

การตกแต่งจะประกอบด้วย : กิ่งสน (Matsu no eda, 松の枝) ต้นไผ่ (Take, 竹) ดอกกะหล่ำปลี (Ha-botan, 葉牡丹) ดอกบ้วย (Ume, 梅) ต้น Nandina domestica (Nanten, 南天) ต้น Sasa veitchii (Kumazasa, 熊笹) ต้น Daphniphyllum macropodum, (Yuzuriha, ユズリハ)


การตกแต่งนั้น ถ้าเป็นร้านค้าหรืออาคารขนาดใหญ่จะประดับ Kadomatsu ที่มีขนาดใหญ่ ลักษณะประณีตทำด้วยท่อนไม้ไผ่ความยาวต่างกัน 3 ท่อนปักไว้ที่กระถางฟางโดยมีกิ่งสนและดอกบ๊วยล้อมรอบมัดด้วยเส้นฟาง
การตั้ง Kadomatsu ไว้หน้าประตูบ้านนั้น คำว่า “Kado” หมายถึง ประตู และ “Matsu” หมายถึง ต้นสน แต่ “Matsu” ในภาษาญี่ปุ่นมีความหมายว่า “คอย” ด้วย คนญี่ปุ่นจึงเชื่อว่า การตั้ง “Kadomatsu” ไว้หน้าประตูบ้านของตนนั้น เพื่อเฝ้าคอยให้เทพเจ้าทรงมาเยือนที่บ้านเพื่อเป็นศิริมงคล โดยใช้ “Kadomatsu” เป็นสัญลักษณ์เพื่อเปิดทางให้เทพเจ้าท่านได้ผ่านเข้ามาทางประตู
2) ชิเมะคาซาริ (Shime-kazari, しめ飾り) เป็นพู่ห้อยที่ทำจากฟางตามแบบชินโตสำหรับแขวนไว้หน้าประตูบ้านหรือที่อื่นๆ

Shime-kazari มีลักษณะเป็นพู่ห้อยขนาดใหญ่ที่ทำด้วยฟางถัก โดยมีกระดาษขาวที่เรียกว่าชิเดะ (Shide, 四手/紙垂) ลำแสงของกระดาษสีแดงกับสีขาว ซึ่งใช้สำหรับพิธีกรรมของศาสนาชินโต พร้อมกับประดับตกแต่งด้วยกิ่งไม้ รวงข้าว ส้มไดได และอื่นๆ
การประดับตกแต่ง Shime-kazari คนญี่ปุ่นโดยส่วนมากมักจะนิยมประดับ Shime-kazari แขวนไว้ด้านนอกของประตูหน้าบ้าน หรืออาจจะแขวนไว้ที่ประตูหลังบ้าน หรือประตูห้องครัว หรือที่ด้านหน้าของรถ โดยใช้ Shime-kazari เป็นสัญลักษณ์เพื่อเปิดทางให้เทพเจ้าท่านได้ผ่านเข้ามาทางประตู สำหรับบางบ้านที่นับถือศาสนาชินโต อาจจะประดับตกแต่งด้วยเชือกศักดิ์สิทธิ์ หรือชิเมะนาวะ (Shime-nawa, しめ縄) เมื่อจบช่วงเทศกาลแล้วบางคนจะนำ Shime-kazari ไปเผาที่วัดหรือศาลเจ้าและเก็บขี้เถ้านำมาปั้นเป็นก้อนเล็กๆ จากนั้นนำไปวางไว้หน้าประตูทางเข้าบ้านเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้ายไม่ให้ย่างกายเข้ามา

3) โทโคโนมะ (Tokonoma, 床の間) เป็นส่วนที่ยกพื้นห้องขึ้นสูงมุมหนึ่งในห้องแบบญี่ปุ่น จะประดับด้วยแจกันดอกไม้ ภาพแขวนฝาผนัง และชุดเหล้าสาเก)

การประดับตกแต่ง Tokonoma นั้นมีหลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับบ้านของแต่ละคน ซึ่งจะจัดภายในห้องแบบญี่ปุ่นซึ่งเรียกว่าวะชิทสึ (Washitsu, 和室) ประดับตกแต่งแขวนไว้ตรงกลางของห้องด้วยม้วนภาพเขียนที่มีสัญลักษณ์ถึงความมีศิริมงคล เช่น นกกระเรียน เต่า ดวงอาทิตย์ ต้นสน หรือกระดาษเขียนด้วยพู่กัน ทางด้านซ้ายจัดวางดอกไม้ใส่แจกันสไตล์ญี่ปุ่นซึ่งเรียกว่าอิเคะบานะ (Ikebana, 生け花) ทางด้านขวาจัดวางชุดเหล้าสาเกที่ใช้ดื่มในช่วงปีใหม่เรียกว่าโอโทะโซะ เซ็ตโตะ (Otoso-setto, お屠蘇セット) พร้อมกับประดับขนมโมจิตั้งไว้ตรงกลางซึ่งเรียกว่าคางามิ โมจิ (Kagami-mochi, 鏡餅) ที่เป็นขนมโมจิวางซ้อนกัน 2 ชั้นรูปร่างคล้ายกระจกกลม และหลังจากวันที่ 11 มกราคมแล้วก็จะนำขนมโมจิมารับประทานกัน แต่ในปัจจุบันนี้แนวโน้มในการสร้างบ้านของชาวญี่ปุ่นเปลี่ยนไป ซึ่งมีปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความจำกัดทางด้านพื้นที่ ส่งผลให้พบเห็น Tokonoma น้อยลง

เครื่องประดับตกแต่งต่างๆ นั้นมักจะประดับให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 ธันวาคม หรือบางคนอาจจะประดับ Kadomatsu ไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ช่วงกลางเดือนธันวาคม และจะเอาออกในวันที่ 7 มกราคม หรือในบางพื้นที่อาจจะเอาออกประมาณช่วงกลางเดือนมกราคมก็ได้

เครื่องประดับตกแต่งในช่วงปีใหม่ที่มีผลิตออกมามากมายหลากหลายรูปแบบและเป็นที่นิยมของคนญี่ปุ่นมากก็คือ Shime-kazari เมื่อเริ่มเข้าช่วงสู่เดือนธันวาคมบรรดาร้านขาย Shime-kazari จะนำออกมาขายเป็นจำนวนมาก

เป็นอย่างไรกันบ้างค่ะกับวันสิ้นปีของประเทศญี่ปุ่นที่ยังคงอนุรักษ์ไว้ แล้วเพื่อนๆ ล่ะคะ วันสิ้นปีนี้จะไปที่ไหนกันบ้าง ก็ขอให้เดินทางโดยสวัสดิภาพนะคะ Azu ขอตัวไปหาซื้อกระเช้าปีใหม่นำไปมอบให้คุณพ่อคุณแม่ก่อนนะคะ แล้วพบกันใหม่ปีหน้าค่ะ สวัสดีปีใหม่ปี 2556 ขอให้เพื่อนๆ ทุกคนมีความสุขมากๆ นะคะ
เรียบเรียงโดย : ทีมงานโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่น เจ.เอ.ที. (JAT)
เอื้อเฟื้อโดย :
โรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่นแจ๊ท Jat (JAT Japanese language school)
http://www.jatschool.com
อ้างอิงโดย :
หนังสือ วัฒนธรรมญี่ปุ่น
โอคะโมะโทะ โทะมิ(ผู้แต่ง), แสวง จงสุจริตธรรม(ผู้แปล), รศ.ปราณี จงสุจริตธรรม(ผู้แปล). วัฒนธรรมญี่ปุ่น. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ภาษาและวัฒนธรรม, 2547
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ :
http://illust.atuikimoti.com/category/5746981-1.html
http://matome.naver.jp/odai/2129248159505920901
http://iseshima.keizai.biz/headline/photo/332/
http://ichiko.org/
http://blog.goo.ne.jp/szyu/e/ded565e94f3aa03b9d1771a7965f6051
http://blogkyoto.jp/cat6/cat10/
http://s0510552.cocolog-nifty.com/photos/uncategorized/2009/01/09/020c26f93abe9ee283fd73758f03f1e2.jpg
http://www.soba-yamasho.com/images/IMG_0917.JPG
http://www.misaki.rdy.jp/illust/kisetu/ivent/oomisoka/sozai/303.jpg
http://www.nedderpublishing.com/
http://iroha-japan.net/iroha/A01_event/13_omisoka.html
http://www.nichimen.or.jp/zatsugaku/21_01.html