Office lady หรือสาวออฟฟิศเป็นคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่ถูกสร้างโดยประเทศญี่ปุ่นนะครับ คุณๆ อาจจะเคยได้ยินกันบ้างนะครับจากการ์ตูนหรือดราม่า
เล่าโดย : วสุ มารุมุระ
Office lady หรือสาวออฟฟิศเป็นคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่ถูกสร้างโดยประเทศญี่ปุ่นนะครับ คุณๆ อาจจะเคยได้ยินกันบ้างนะครับจากการ์ตูนหรือดราม่า

เมื่อก่อนหากพูดถึงคำว่า OL ผมจะนึกถึงพนักงานผู้หญิงในเครื่องแบบของบริษัท (กระโปรงยาวระดับเข่า + เสื้อ) อายุอานามราว 20 – 30 ปลายๆ
เท่าที่ผมได้ทำงานที่ญี่ปุ่นและพอสัมผัสมา สิ่งที่ผมคิดเอาเองข้างบนเกือบจะเป็นจริงหมดครับยกเว้นเสียแต่ว่าจะเปลี่ยน upper limit ให้มากกว่า 30 ปลายๆ ก็ยังได้
โดยทั่วไป OL จะชี้ถึงพนักงานผู้หญิงในลักษณะดังต่อไปนี้คือ
1. ใส่เครื่องแบบที่กำหนดโดยบริษัท มักเป็นเสื้อกับกระโปรง ตรงที่เป็นกระโปรงนี่แสดงถึงความเป็น feminism
2. ทำงานธุรการทั่วไป (ไม่นับคนที่เป็นวิศวกร หมอ ทนายความ หรือต้องใช้ความรู้เฉพาะทาง) อันได้แก่ การทำงานที่เป็นลักษณะ routine ซึ่งหน้าที่การงานอาจจะคล้ายๆ กับ Administrative officer ระดับจูเนียร์ของประเทศไทยเรา หรือการช่วยคีย์ข้อมูลลง Excel การช่วยสรุปข้อมูลเป็นกราฟตามที่เจ้านายขอร้อง (การวิเคราะห์ความหมายของข้อมูลจะเป็นหน้าที่คนอื่น) งานถ่ายเอกสาร และงานสัพเพเหระอื่นๆ อีกมากมาย มากมาย… มากมาย…
3. ชงชา กาแฟให้เจ้านายกับลูกค้าบ้างในบางโอกาส ในบริษัทใหญ่ๆ ของญี่ปุ่นที่ผมเคยทำงานมา เจ้านายจะชงหรือซื้อกาแฟจากตู้กดเอง แล้วจะวานให้ OL ช่วยเตรียมชงชากาแฟให้สำหรับลูกค้าที่มาหาที่บริษัท
ในประสบการณ์ตรงของผมที่เคยทำงานในบริษัทด้านวิศวกรรมที่ญี่ปุ่น คนเป็นวิศวกรอย่างผมนั้นจะนั่งทำงานอยู่หลายชั่วโมง การทำล่วงเวลาเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับ OL เมื่อถึงเวลาเลิกงาน 18:00 ก็พอจะเก็บของกลับบ้านได้ทันที ซึ่งหากใครชอบไลฟ์สไตล์แบบนั้นก็เป็นข้อดี
OL จะมีอิมเมจว่าพอแต่งงานแล้วผู้หญิงก็ลาออกจากงานไปเลย แต่ว่าเท่าที่ผมพบ OL บางคนที่แต่งงานออกไปเลี้ยงลูกก็ยังกลับมาทำงานในบริษัทกันจนถึงอายุมากๆ ก็มีบ้าง แม้นจะไม่มากแต่ใช่ว่าไม่มีเลย
OL ถือได้ว่าเป็นบทบาทของผู้หญิงที่ถูกวางใน stereotype ของบริษัทของญี่ปุ่นแบบ “classic” ซึ่งผู้หญิงไม่เทียบเท่าผู้ชาย แต่ว่าในปัจจุบันนี้ผู้หญิงญี่ปุ่นที่อยากจะเอาดีในด้านการงานมีอยู่ไม่น้อยและอยากทำงานที่ใช้ความรู้ความสามารถที่เยอะกว่าการเป็น OL แต่สังคมญี่ปุ่นนั้นผู้ชายก็ยังทรงอิทธิพลในที่ทำงานมากกว่าอยู่ครับ ซึ่งทำให้ผู้หญิงที่มีความสามารถนั้นโอกาสการเติบโตในหน้าที่การงานยังน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นรวมถึงประเทศไทยเรา
ความรู้สึกของคำว่า OL อาจจะเป็นพนักงานธุรการ อย่างที่กล่าวไว้ในข้อ 1 – 3 ข้างบน ผมมีความรู้สึกว่าคำว่า OL แฝงความรู้สึกดูหมิ่นดูแคลนอยู่บ้าง และพอไปลองค้นหาตามอินเตอร์เนตดู ก็มีผู้หญิงญี่ปุ่นที่ทำงานธุรการแต่ไม่ชอบให้ใครเรียกตัวเองว่า OL เช่นกัน คำนี้มีความรู้สึกโบราณคร่ำครึ ให้ความรู้สึกว่าผู้หญิงไม่มีความสามารถอะไรเลย
ในกรณีนี้พวกเราคนต่างชาติอาจจะเรียกพวกเธอว่า business woman หรือใช้คำกลางๆ อย่าง company officer ก็ได้นะครับ
การจะเรียกพวกเขาเธอว่าอย่างไงก็เรื่องนึง และเราก็ควรให้เกียรติพนักงานหญิงกลุ่มนี้กับงานที่คอยสนับสนุนทุกคนในบริษัทด้วยนะครับ เป็นเรื่องสำคัญที่ควรยกย่องครับ
ในท้ายที่สุดนี้ หน้าที่การงานของ OL นี้อาจจะไม่ใช่เรื่องของ ชายหญิงไม่เท่ากัน แต่อาจเป็นอะไรที่เทียบกันไม่ได้แบบที่ฝรั่งเขาเรียกกันว่า apple and orange หรือเปล่า?
เล่าโดย : วสุ มารุมุระ
ทักทายพูดคุยกับ Wasu ได้ที่ >>> Facebook Wasu’s thought on Japan
เรื่องแนะนำ :
– “วิจัย/ค้นคว้า” ในภาษาญี่ปุ่น
– สุสานหิ่งห้อย : การ์ตูนแสนเศร้าที่ผู้ใหญ่ในสังคมควรดูสักครั้ง
– ซากุระในสวน Expo โอซาก้า
– สยามเมืองยิ้ม : [โฮะโฮะเอะมิโนะคุนิ] 微笑みの国
– คนญี่ปุ่นแอบคิดลึกๆ ว่า คำว่าการ์ตูน “มังงะ” นั้นไม่ดี
#Office Lady