ภาพของละครญี่ปุ่นจะออกแนวเครียดๆ จริงจัง มีข้อคิด สะท้อนปัญหาสังคมนู่นนี่นั่น หลายคนเลยให้คำจำกัดความไว้ว่า “ละครญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นละครน้ำดี” แต่ก็มีข้อเสีย…
ถ้าให้นึกถึง “ละครญี่ปุ่น” แล้วล่ะก็…คนส่วนใหญ่จะมองว่า ภาพของละครญี่ปุ่นจะเป็นละครที่ออกแนวเครียดๆ จริงจัง มีข้อคิด สะท้อนปัญหาสังคมนู้นนี่นั่น หลายคนเลยให้คำจำกัดความไว้ว่า “ละครญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นละครน้ำดี” แต่มีข้อเสียคือ บางเรื่องพระเอกก็ไม่ได้หล่อ เพอร์เฟ็กต์สักเท่าไรนัก และด้วยความมีสาระนี่แหล่ะ มันก็ชวนให้เราเครียด ปวดหัวไปกับละคร…
แต่ในอีกมุมหนึ่ง ละครแนวๆ นี้กลับเป็นละครที่ได้รับความนิยมมากในสังคมญี่ปุ่น! (บางเรื่องได้เรตติ้งสูงถึง 40% เลยนะคะ) สงสัยไหมคะว่า ญี่ปุ่นเขามีวิธีทำละครกันอย่างไร จึงทำให้ละครแนวนี้กลายมาเป็นละครแนวยอดนิยมแล้วไม่แป้ก ตามมาไขข้อสงสัยไปพร้อมๆ กันเลยค่ะ
*ก่อนอื่นขอจำกัดความคำว่า “ละครน้ำดี” ก่อนนะคะ ละครน้ำดีในที่นี้หมายถึง ละครที่ให้สาระ แง่คิด สะท้อนสังคม พร้อมชี้นำสังคมไปในทิศทางที่ดีขึ้น นอกเหนือไปจากความสนุกสนาน เพลิดเพลิน ทั้งนี้บทความนี้ไม่ได้ต้องการสะท้อนว่าละครชาติใดมีคุณภาพดีหรือไม่ดีไป กว่ากัน เป็นเพียงแค่การนำเสนอมุมมองของละครญี่ปุ่นอีกมุมหนึ่งเท่านั้นค่ะ
1. สิ่งที่ขายได้ ไม่จำเป็นต้อง “แมส”

ละครที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในญี่ปุ่น มักไม่ใช่ละครที่ซ้ำทางเดิม ไม่จำเป็นต้องเป็นแนวความรัก ที่ว่ากันว่าเป็นแนวสากลที่ใครๆ ก็เข้าถึง แต่ละครญี่ปุ่นจะเต็มไปด้วยเรื่องราวชีวิตที่ไม่คุ้นเคย มีความแปลกใหม่ หรือชีวิตในแบบที่เราไม่รู้จัก เช่นเรื่อง “บันทึกน้ำตา 1 ลิตร” เนื้อ เรื่องทั้งเรื่องดราม่ามาก ไม่มีความรักฟรุ้งฟริ้งแบบชีวิตดี๊ดีมาให้เราเห็นเลย แต่มันทำให้เราเห็นมุมมองชีวิตของคนที่ต้องต่อสู้ไปกับโรคร้ายที่รักษาไม่ หายและน้อยคนที่จะเจอ ได้กำลังในอีกแบบหนึ่ง
เรื่อง “Clinic on the Sea” ชีวิตของหมอล่องเรือไปรักษาคนตามเกาะต่างๆ รูปแบบชีวิตของหมอที่ไม่ได้อยู่แค่โรงพยาบาลอย่างเดียว
“Priceless” ชีวิตของหนุ่มอนาคตดี มีเงินมีทอง แต่วันหนึ่งต้องกลายมาเป็นคนยากจน ไม่มีแม้แต่ที่จะซุกหัวนอน ล้างขนบที่ว่าพระเอกต้องรวย ฐานะดีแบบที่สาวๆ ฟินไปเลยค่ะ
หรือจะเป็นเรื่อง “JIN” ซีรีส์แนวหมอๆ เป็นการผสมละครแนวหมอกับแนวย้อนยุคให้มีความน่าสนใจขึ้นมา
อีกอย่างเรื่องแนวนี้ มันจะทำให้เกิดสิ่งๆ หนึ่งตามมาก็คือ “เดาทางไม่ได้” ค่ะ อาจเป็นความชอบส่วนตัวของคนญี่ปุ่น ที่ชอบดูละครแบบ “คาดเดาไม่ได้” ด้วย เลยทำให้ละครแนวแปลกใหม่ยังมีคนรอคอย เฝ้าติดตามอยู่เสมอ
2. แคสติ้งนักแสดงให้เข้ากับบท เอาแบบตีบทให้แตก!
เวลาเราดูละครญี่ปุ่น แม้ว่าหน้าตานักแสดงบางคนอาจจะไม่หล่อเป๊ะอะไรมากมาย หลายคนอาจจะรู้สึกผิดหวัง ห่อเหี่ยวไปบ้าง แต่พอเลือกดูต่อ เราจะค้นพบค่ะว่า สิ่งหนึ่งที่นักแสดงญี่ปุ่นไม่ทำให้เราผิดหวังก็คือ “การแสดง” ค่ะ มันจะเป็นความรู้สึกที่ว่า…บทแบบนี้ต้องนักแสดงคนนี้เล่นเท่านั้นจริงๆ
อย่างเช่น Oguri Shun บท ที่หนุ่มชุนได้รับบ่อยๆ มักจะเป็นผู้ชายมาดเท่ เก๊ก ขรึมๆ เพราะเป็นคนที่มีออร่าในด้านนี้ค่ะ ใครเล่นก็ไม่ฟินเท่าคนนี้จริงๆ เลยทำให้หลายเรื่องที่มีบทพระเอกมาดเท่ มาดนิ่ง หนุ่มชุนจะกวาดเรียบ คือแค่ยืนเฉยๆ ก็เท่แล้ว (เท่ยังไงต้องลองติดตามชมในละครนะคะ) ซึ่งมันไม่ใช่ทุกคนที่จะยืนเฉยๆ แล้วเท่ค่ะ เลยทำให้ถึงบางอ้ออีกอย่างค่ะว่า บางทีมันก็ขึ้นอยู่กับบุคลิก คาแร็กเตอร์ของคนๆ นั้นด้วย

การคัดนักแสดงของละครญี่ปุ่นจะพิถีพิถันมากค่ะ อย่างละครช่วงเช้าช่อง NHK สำหรับนักแสดงหน้าใหม่ จะมีการออดิชั่นแบบเข้มข้นมาก คัดจากคนเป็นพันให้เหลือเพียงแค่คนเดียว และต้องเป็นคนที่หน้าตาโอเค มีเสน่ห์ไม่รู้เบื่อ ความสามารถหลากหลาย เล่นละครดี และเหมาะกับคาแร็กเตอร์ของบทในละครนั้นๆ ปัจจัยนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ละครเรื่อง “AmaChan” ได้รับความนิยมอย่างสูงในญี่ปุ่น

บางเรื่องในกรณีที่ตัวละครเองมีความสามารถพิเศษบางอย่าง เช่น ต้องเล่นดนตรีเป็น เขาก็จะคัดนักแสดงที่เล่นเป็นจริงๆ ด้วย อย่างเช่นเรื่อง “Nodame Cantabile” สาวจูริจังที่รับบทเป็น “โนดาเมะ” ที่ต้องมาโชว์ลวดลายการบรรเลงเปียโนเนี่ย โดยพื้นเพแล้ว จูริจังก็เล่นเปียโนเป็นเช่นกันค่ะ

รวมถึงคาแร็กเตอร์ภายนอก เช่น บทบอกว่า “หญิงสาวหน้าตาธรรมดาคนหนึ่ง” ก็ต้องมีหน้าตาในกลุ่มที่เรียกว่า “ธรรมดาจริงๆ” ค่ะ ไม่ใช่เป็นแบบว่ามาอย่างสวยเลย แต่มาแต่งให้ดูเป็นสาวธรรมดา

นักแสดงมากฝีมือก็มีความสำคัญเช่นกันค่ะ คนดูละครญี่ปุ่นจะไม่ใช่อารมณ์แบบว่า…คนนี้หล่อ คนนี้สวยฉันจะดูนะ แต่จะเป็นในลักษณะที่ว่า โห้…เรื่องนี้นักแสดงแต่ละคนฝีมือระดับเมพเลยนะ พลาดไม่ได้จริงๆ เพราะเขาเชื่อกันว่า นักแสดงที่ตีบทแตกจะนำมาซึ่งความอินค่ะ!
3. พลังของผู้สร้างและผู้เขียนบทละคร
ละครแต่ละเรื่องจะเกิดขึ้นมาได้ก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้สร้างและผู้แต่งเป็นสำคัญว่า เขาจะตัดสินใจอยากสร้างละครแบบไหน

เรื่อง “Ashita Mama ga Inai” เรื่องที่ถูกข้อครรหาว่าเสนอแง่มุมชีวิตของเด็กกำพร้าในมุมที่โหดร้ายเกิน แต่ในทางกลับกันทางผู้จัดเองก็เชื่อมั่นว่า เรื่องนี้จะช่วยทำให้สังคมขับเคลื่อนไปในทางที่ดีได้ และลดปัญหาเด็กกำพร้าที่ต้นเหตุอย่างแท้จริง แม้เรื่องนี้จะไม่มีสปอนเซอร์สนับสนุนละครแม้สักรายเดียว แต่ก็ฉายต่อไปจนจบเรื่องค่ะ อารมณ์แบบแม้พวกเธอจะคว่ำบาตรฉัน ฉันก็จะฉาย เพราะฉันมั่นใจว่าละครดี!

หรือจะเป็นเรื่อง “Kaseifu no Mita” ที่ผู้เขียนบทละครมีความตั้งใจว่า อยากจะแต่งเรื่องนี้มาเพื่อเรียกขวัญและกำลังใจคนญี่ปุ่นที่ประสบภัยพิบัติ สึนามิ ถ้าเราดูตรงๆ เราจะไม่รู้ค่ะ เพราะเนื้อเรื่องของละครมันไม่ได้เกี่ยวกับภัยพิบัติอะไรทั้งสิ้น แต่เป็นละครแนวสะท้อนปัญหาครอบครัว พอเราดูจบ แล้วตีความออกมาเท่านั้นแหละ เราจะเห็นว่า…ตัวละคร “แม่บ้านมิตะ” เหมือนเป็นตัวแทนของคนที่ยัง มีชีวิตอยู่ท่ามกลางความเจ็บปวด เปรียบเสมือนคนญี่ปุ่นที่มีชีวิตอยู่รอดต่อไปท่ามกลางความสูญเสีย แล้วเขาก็ได้แฝงข้อคิดในการมีชีวิตอยู่ต่อไปผ่านตัวละครนี้ได้อย่างแนบเนียน สุดๆ
รวมถึงละครแนว “อาชีพ” ถ้าใครเคยดูจะเห็นว่า ละครแนวอาชีพของญี่ปุ่นเนี่ย ข้อมูลด้านอาชีพแน่นมาก รายละเอียดต่างๆ เรียกได้ว่าเกือบใกล้เคียงกับของจริงเลยทีเดียว ความลับในการเขียนบทแนวนี้ ชามะนาวเองก็กำลังศึกษาอยู่ค่ะว่า พวกเขามีวิธีการเขียนบทละครแนวนี้อย่างไร แต่ทีแน่ๆ จากการดูละครมันทำให้เรารู้เลยว่า…พวกเขาทำงานกันหนักและละเอียดมาก ความถูกต้องของข้อมูลอาจจะมาจากการรีเสิร์ช หรือมีที่ปรึกษาด้านอาชีพนั้นจริงๆ

เคสอย่างหลังนี้ก็อย่างเช่น เรื่อง “Attention Please” ละครแนวอาชีพแอร์โฮสเตส ร่วมมือสร้างกับสายการบิน JAL เรียกได้ว่าได้ผู้เชี่ยวชาญตัวจริงมาทำงานด้วยเลยค่ะ
4. พล็อตละครที่ต้องสนุก เอาอยู่หมัด และกินใจ
ก่อนอื่นก็ต้องอ่านให้ออกค่ะว่า “อะไรกันนะที่เรียกว่าสนุก” สนุกแบบญี่ปุ่นอาจจะไม่เหมือนแบบของเราก็ได้ค่ะ แต่ที่แน่ๆ ละครญี่ปุ่นจะมีวิธีการเล่าเรื่องที่น่าสนใจ อย่างละครดีมีสาระของญี่ปุ่นจะไม่ได้ทำออกมาในแนวที่ว่า ต้องยัดเยียดคำสอนยาวพรืดลงในบทพูดของตัวละคร บางเรื่องตัวละครพูดน้อยมาก แต่จะสร้างเรื่องราวขึ้นมา และสะท้อนให้เห็นแง่คิดต่างๆ ผ่านการกระทำของตัวละครแทน อย่างเช่น ละครแนวครอบครัว อยากส่งเสริมสถาบันครอบครัวก็แน่นแฟ้น ถ้านำเสนอเป็นเรื่องครอบครัวแบบเน้นคำสอนตรงๆ เหมือนพ่อกับแม่มานั่งเทศน์อยู่หน้าจอก็คงไม่น่าติดตาม ก็เลยปรับด้วยการมาผสมกับแนว Mystery ซะเลย

อย่างเรื่อง “I’m Home” เอาให้ลึกลับ น่าติดตาม สร้างพล็อตขึ้นมาให้ “อิเอจิ” (พระเอกของเรื่อง) มองเห็นหน้าลูกกับเมียเป็นคนใส่หน้ากากตลอดเวลา เพื่อที่จะเป็นปมปริศนาในการเดินเรื่องให้คนดูได้เชื่อมโยงถึงปัญหาของ ครอบครัวอันเรื้อรังจนนำมาสู่ปัญหาในปัจจุบันที่อิเอจิรวมถึงตัวละครอื่นๆ กำลังเผชิญ
หรือจะเป็นพวกเรื่องสืบสวนสอบสวน ที่มีไม้เด็ดอยู่ที่ “ความหักมุมของเรื่อง” ที่คาดเดาไม่ได้ แม้ในวินาทีสุดท้าย ส่วนนี้ก็จะทำให้เนื้อเรื่องน่าติดตาม พร้อมๆ ไปกับการซึมซับข้อคิดจากละครสืบสวน ได้เห็นคุณค่าของชีวิตแต่ละชีวิตมากขึ้น แล้วทำให้เห็นว่า เราไม่ควรไปทำร้ายใครเลยจริงๆ อาจเรียกได้ว่าเป็นการใช้ “ความชวนสงสัย” “ความหักมุม” ของละครแนวนี้ ดึงความสนใจให้คนเห็นถึงโลกอีกด้านที่โหดร้าย

“Last Friends” ก็เป็นละครอีกเรื่องที่มีพล็อตที่น่าสนใจ เป็นเรื่องราวชีวิตที่เป็นตัวแทนของกลุ่มคนในญี่ปุ่น เป็นเรื่องที่เน้นถ่ายทอดเรื่องราวผ่านการกระทำและความรู้สึกของตัวละคร ทำให้เห็นว่า ทำไมคนบางคนถึงเลือกจะอยู่เคียงข้างใครสักคน แม้เขาไม่ได้รัก ตอนจบของเรื่องตัวละครพูดกันแค่ไม่กี่คำ แต่ภาพในช่วงเวลานั้นมันบอกทุกอย่างจริงๆ ค่ะ ถ้าดูผ่านๆ จะรู้สึกถึงออร่าความเครียดของชีวิตค่ะ แต่มันจะมีปมบางอย่างที่นำไปสู่ความหมายหนึ่งของความรักที่เราอาจคาดไม่ถึง

หรือจะเป็นซีรีส์เด็ด “Hanzawa Naoki” ที่มีจุดพีคของเรื่องแทรกอยู่แทบทุกตอนของเรื่อง แม้จะเป็นเรื่องการเงิน ชีวิตนายธนาคาร มนุษย์เงินเดือนที่เคร่งเครียดจนแทบบ้า แต่คนดูเยอะมาก และติดกันงอมแงม แถมยังเป็นละครที่ได้เรตติ้งมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ในวงการละครญี่ปุ่น
สิ่งที่ละครญี่ปุ่นทำก็คือ การสอดแทรกสาระ สะท้อนปัญหาสังคมในแบบที่คนดูไม่รู้ตัวหรอกค่ะ จะมารู้ตัวอีกทีก็หลังจากติดละครเรื่องนี้ไปแล้ว!
5. ความชอบส่วนตัวของคนญี่ปุ่น
การที่ละครญี่ปุ่นแนวเครียดๆ หรือแนวน้ำดี มีสาระ จะได้รับการตอบรับที่ดีขนาดนี้ สิ่งหนึ่งที่ขาดไปไม่ได้เลยก็คือ “ความชอบ” ของคนดูค่ะ เพราะความชื่นชอบละครแนวนี้ของคนญี่ปุ่น เลยทำให้ไม่ว่าจะสร้างละครเครียดขนาดไหนออกมา ก็ไม่แป้ก แถมยังเป็นแนวที่โกยเรตติ้งได้ดีอีกต่างหาก เมื่อคนในสังคมยอมรับ และเลือกที่จะบริโภคกับละครแนวๆ นี้ ผู้สร้างก็จะมีกำลังใจในการสร้างละครออกมา และมั่นใจในระดับหนึ่งว่า ทำออกมาแล้วมีคนดูแน่ๆ มันจึงไม่ใช่เรื่องยากกับการที่จะสร้างละครที่ทั้งสนุก มีสาระ และให้ข้อคิดออกมา จนกลายเป็นว่าสิ่งนี้คือ “จุดเด่น” และ “จุดแข็ง” ของละครญี่ปุ่นไปแล้วค่ะ
นี่คือปัจจัยคร่าวๆ ที่ส่งผลให้ละครญี่ปุ่นน้ำดีได้รับความนิยมมากในญี่ปุ่นค่ะ สมัยก่อนละครญี่ปุ่นเองก็ไม่ได้เป็นแบบนี้เลยนะคะ จะเต็มไปด้วยแนว Soap Opera รักสามเศร้าเยอะมากค่ะ แต่ยุคหลังๆ ในช่วงที่ญี่ปุ่นประสบกับปัญหาเศรษฐกิจ ในยุคฟองสบู่แตก ละครก็เริ่มเปลี่ยนเข้าสู่แนว “Trendy Dramas” อย่างที่เห็นกันทุกวันนี้ เพื่อตอบโจทย์คนดู และชี้แนวทางให้คนในสังคม จะเห็นได้ว่า ในช่วงหนึ่งของละครญี่ปุ่นก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เช่นกัน สิ่งสำคัญที่สุดส่วนตัวคิดว่าพลังของคนสร้างและพลังของคนดูต้องเป็นไปใน ทิศทางเดียวกัน ต่างคนต่างต้องช่วยเหลือกันค่ะ และที่สำคัญต้องกล้าที่จะลงมือทำในสิ่งที่เราเชื่อมั่นด้วย
แม้ละครญี่ปุ่นจะถูกมองว่าเป็นละครแนวเครียด อัดแน่นด้วยข้อคิดมากเกินไป แต่ในอีกทางหนึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่คนดู “คาดหวัง” ว่าจะได้จากละครญี่ปุ่นเช่นกันค่ะ ประมาณว่า… ถ้าคิดจะหยิบละครญี่ปุ่นมาดูสักเรื่อง…ฉันว่า…ต้องได้ข้อคิดและแรง บันดาลใจอะไรบางอย่างจากละครเรื่องนั้นบ้างแหละนะ!
ตามติดบทความ ของ ChaMaNow ทั้งหมด คลิ๊ก >>> Sakura Dramas
ทักทายพูดคุยกับ ChaMaNow ได้ที่ >>> Facebook Sakura Dramas