Minamoto no Yoshitsune ตอนที่ 2 : ฝึกปรือวิชาดาบกับเทงงุ
ในยามเด็กนั้นนามของ Minamoto no Yoshitsune (源義経: ค.ศ. 1159 – 1189) นั้นคือ
牛若丸
うしわかまる
[อุชิวะคะมะรุ]
ชื่อ อุชิวะคะมะรุ ประกอบด้วยคันจิดังนี้
牛 [อุชิ] แปลว่า “วัว”
若 [วะคะ] แปลว่า “อ่อนเยาว์”
丸 [มะรุ] แปลว่า “กลม”
เท่าที่จำได้ สังเกตได้ว่าชื่อคนญี่ปุ่นในสมัยก่อนมักมีลงท้ายว่า “มะรุ”
อย่างชื่อ “ชิชิมะรุ” ในการ์ตูนเรื่องนินจาฮัตโตะริ (เอาจริงๆ แล้วชื่อ “ชิชิมะรุ” เป็นชื่อตัวละครสุนัขในเรื่อง)
ส่วนการที่เด็กสักคนจะมีคันจิคำว่า “วัว” 牛 [อุชิ] ประกอบในชื่อก็เป็นเรื่องที่แปลกดี
อุชิวะคะมะรุในวัย 2 ขวบ ถูกโอบอุ้มโดยมารดาของตน โทะคิวะ โกะเซ็ง (常盤御前) หลบหนีจากการตามล่าของตระกูลไทระ
นอกเหนือจากอุชิวะคะมะรุ แล้วโทะคิวะ โกะเซ็ง ยังพาพี่ชายต่างพ่อของอุชิวะคะมะรุอีก 2 คนหลบหนีไปด้วย
พี่ชาย 2 คนนี้มีชื่อว่า
อิมะวะคะ (今若: ค.ศ. 1153- 1203)
โอะโตะวะคะ (乙若: ค.ศ. 1155- 1181)
ชื่อลูกของคุณแม่โตะคิวะ โกะเซ็น ต่างประกอบไปด้วยคันจิ 若 [วะคะ] กันทุกคน โดยที่
今 [อิมะ] แปลว่า “ขณะนี้”
乙 [โอะโตะ] เป็นคันจิที่แสดงถึง “ลำดับที่สอง” จาก 10 Heavenly stem (十干 [จิคคัง] )
ในขณะที่โตะคิวะ โกะเซ็ง พยายามหลบหนี กลับถูกคนของตระกูลไทระจับตัวไว้ได้
โตะคิวะ โกะเซ็ง ยอมตกเป็นนางสนมให้กับไทระ คิโยะโมะริ แลกกับการไว้ชีวิตลูกๆ ของนางด้วยเงื่อนไขว่าเด็กเหล่านี้ต้องไปบวช
เมื่ออุชิวะคะมะรุ อายุได้ 6 ขวบก็ถูกส่งไปวัดคุรามะเดะระ (鞍馬寺) ที่เกียวโต และออกบวชโดยใช้ชื่อว่า ชะนะโอ (遮那王)
วัดคุรามะเดะระ
ชื่อวัดคุรามะดะเระ (鞍馬寺) นั้นคันจิแต่ละตัวมีความหมายดังนี้
鞍 [คุระ] แปลว่า “อาน”
馬 [อุมะ] แปลว่า “ม้า”
寺 [เทะระ] แปลว่า “วัด”
ส่วนชื่อของนักบวชชะนะโอ (遮那王) นั้น
遮 [ชะ] เป็นคันจิที่แปลว่า “ห้าม” “ชัดขวาง”
那 [นะ] เป็นคันจิที่แปลได้ทั้ง “ความสวยงาม” หรือเป็นได้ทั้งคันจิที่แสดงถึง “ความสงสัย”
การตั้งชื่อผู้หญิงก็มีใช้คันจิตัวคำว่า 那 [นะ] ด้วยเพราะเนื่องจากความหมายความสวยงาม และคันจิคำว่า 那 [นะ] นั้นยังเป็นคันจิที่ใช้แทนคำว่า なんぞ [นันโซะ] ที่แสดงถึงความสงสัย
王 [โอ] แปลว่า “กษัตริย์”
คันจิตัว 王 [โอ] ก็ค้นพบได้ตามชื่อของพระนะครับ (ถ้าจำไม่ผิด)
เมื่อครั้งอายุ 11 ขวบ ชะนะโอ ได้ค้นพบแผนผังตระกูลและได้ทราบว่าตนเองเป็นคนของตระกูลมินาโมะโตะ เป็นบุตรคนที่เก้าของ มินาโมะโตะ โนะ โยะชิโตะโมะ(源義朝: 1123 – 1160) จึงปฏิญาณตนว่าจะจัดการตระกูลไทระซึ่งกำลังมีอำนาจปกครองในเมืองหลวงขณะนั้นให้จงได้
ในช่วงเวลากลางวัน ชะนะโอ ศึกษาพระธรรม เพื่อบังหน้าผู้คน
ในช่วงเวลากลางคืน ชะนะโอ ศึกษาเพลงดาบ เพื่อที่จะล้างแค้น
ในตำนานมีคำกล่าวเล่าขานว่าผู้ฝึกฝนเพลงดาบให้กับนักบวช ชะนะโอ
เป็นภูติเทงงุ ปีศาจจมูกยาว ในจินตนาการของชาวญี่ปุ่น
เท่าที่ผมลองไปค้นหาเรื่องราวของเทงงุ กับ ชะนะโอ เจอบทบันทึกมา 2 แบบ
– แบบที่ 1 –
ลึกเขาไปในเขาคุรามะ มีสถานที่แห่งหนึ่งที่เรียกว่า โซโจกะตะนิ (僧正谷)
僧 [โซ そう] พระภิกษุในศาสนาพุทธ
正 [โช しょう] ถูกต้อง
谷 [ทะนิ たに] หุบเขา
ณ ที่แห่งนั้นเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของเทงงุของเขาคุรามะ โดยมีหัวหน้าใหญ่ของเหล่าเทงงุที่ชื่อว่า “โซโจโบ” (僧正坊) เป็นผู้ฝึกฝนกลยุทธ์การรบรวมถึงวิชาดาบให้กับนักบวช ชะนะโอ ในทุกราตรี
ชื่อ “โซโจโบ” [僧正坊] ของหัวหน้าเทงงุนั้น คงเดาได้ไม่ยากว่า
โซโจ 「僧正」คงมาจากชื่อสถานที่ โซโจกะตานิ 「僧正谷」
ส่วนคันจิคำว่า “โบ” [坊] มีความหมายว่า
1.พระ 2. คำเรียกเด็กผู้ชายด้วยความเอ็นดู

หัวหน้าเทงงุ :โซโจโบ
ในพงศาวดาร “โยะชิซึเนะคิ” (บันทึกแห่งโยะชิซึเนะ: 義経記) กล่าวไว้ว่า นักบวชชะนะโอ ได้ไปสักการะที่ศาลเจ้าคิฟุเนะ (貴船明神: คิฟุเนะเมียวจิน) และสมมติเอาต้นไม้ทางทิศตะวันตกเป็นครอบครัวตระกูลไทระ และพยายามฟาดฟันต้นไม้ให้ล้มลง และตั้งชื่อให้กับต้นไม้ที่สูงที่สุดสองต้นว่า “คิโยะโมะริ” และอีกต้นว่า “ชิเกะโมะริ” และพยายามที่จะตีต้นไม้ให้ลู่เอนลงไม่ขยับไปไหน
ชื่อของต้นไม้สองต้นที่ว่านี้มาจากชื่อของคนในตระกูลไทระ
ไทระ โนะ คิโยะโมะริ (平清盛:ค.ศ.1118-1181) จอมทัพในช่วงปลายยุคสมัยเฮอัน
ไทระ โนะ ชิเกะโมะริ (平重盛: ค.ศ.1138-1179) บุตรคนโปรดของ คิโยะโมะริ
ส่วนอีกเรื่องเล่าหนึ่งที่กล่าวถึงการพบเจอเทงงุของชะนะโอ ในแบบที่ 2 กล่าวไว้ว่า
– แบบที่ 2 –
มีวันหนึ่ง พระภิกษุแห่งฮิกาชิยะ (東谷) และชะนะโอ ได้รับคำเชิญชวนให้ไปชมดอกซากุระที่นิชิตานิ (西谷) แต่ไปถึงแล้วเจอฤาษีภูเขาที่ไม่รู้จักก็มาด้วย (ยามะบุชิ 山伏:ฤาษีภูเขา) พระภิกษุแห่งฮิกาชิยะจึงอารมณ์เสียกลับไป ทิ้ง ชะนะโอ ไว้ตัวคนเดียว
เรามาดูคำว่า 山伏 [ยามะบุชิ] กัน
山 [ยามะ] แปลว่า “ภูเขา” (ใครหลายๆ คนคงรู้จักคำนี้ดี)
伏 [ฟุชิ] แปลว่า “หลบซ่อน”
ฤาษีภูเขา : ยะมะบุชิ
ฤาษีภูเขาปริศนานี้ จึงพาชะนะโอ ไปยังที่ชมซากุระอันมีชื่อเสียง เปิดเผยตนเองว่าเป็น เทงงุและบอกว่าตนเองจะมาสอนวิชาดาบให้กับชะนะโอเพื่อที่จะโค่นล้มตระกูลไทระ
หลังจากที่ชะนะโอ อดทนผ่านการฝึกฝนวิชาดาบมาได้ เทงงุก็สัญญากับชะนะโอว่า “เราจะเจอกันอีกครั้ง” แล้วก็จากไป
– Minamoto no Yoshitsune (源義経) ซามุไรผู้ถูกกล่าวขาน ตอนที่ 1
ภาพ อุชิวะคะมะรุ ฝึกฝนวิชาดาบกับเทงงุ มุมขวาบนคือ อุชิวะคะมะรุ
ในตอนหน้าเราจะมาเจาะลงในรายละเอียดสถานที่ที่ ชะนะโอ กับ เทงงุ ฝึกฝนวิชากันที่วัดคุรามะเดระ
ทักทายพูดคุยกับวสุ ได้ที่ >>> Facebook Wasu’s thought on Japan
เรื่องแนะนำ :
– Minamoto no Yoshitsune (源義経) ซามุไรผู้ถูกกล่าวขาน ตอนที่ 1
– เมื่อสิ้นสุดอายุความ
– Kimura Takuya’s Instragram คนญี่ปุ่นบอกว่า “โพสต์ยังกะลุงเลยย”
– ซาซากิ มะคิ : ผู้วาดหน้าปกนวนิยายของมุราคามิเล่มแรกๆ
– Uber eats กับปัญหาในญี่ปุ่นช่วงสถานการณ์โรคระบาด Covid-19
อ้างอิง
– หนังสือเรื่อง 源平合戦・あの人の「その後」: 伝説・伝承にみる「それから」の人間模様 โดย 日本博学倶楽部
– books.google.co.th
– thekyotoproject.org
– kajipon.sakura.ne.jp
– blog.goo.ne.jp
– histrip.jp
– kyototravels.com
– www.nichibun.ac.jp
– ja.wikipedia.org
#Minamoto no Yoshitsune ตอนที่ 2 : ฝึกปรือวิชาดาบกับเทงงุ