ผมพอทราบว่าชื่อศาสตร์ศิลปะต่างๆ ของชาติญี่ปุ่นมักจะมีคำลงท้ายว่า “โด” กัน อย่างเช่นคำว่า เคนโด จูโด เลยตัดสินใจว่า เอาหล่ะวันนี้ผมจะลองมาพูดถึงที่มาของคำว่า “โด” คำนี้ดู
ภาพประกอบโดย เฮีย Sorat Aunh
ช่วงนี้ละครเรื่องกลกิโมโนกำลังเป็น talk of the (marumura) town จนตอนแรกทำให้ผมคิดว่าผมควรเขียนอะไรเกี่ยวกับละครเรื่องนี้สักหน่อยน่าจะดี แต่คิดไปคิดมาแล้วผมไม่เขียนดีกว่าเพราะไม่ใช่เรื่องที่ผมถนัด แต่จะอาศัยบางอย่างในละครเรื่องนั้นมาเป็น “แรงบันดาลใจ” ให้กับบทความในวันนี้แล้วกันครับ
เพื่อเป็นการค้นหาแรงบันดาลใจ ผมเลยลองอ่านบทความของเกตุวดีเซนไป ที่พูดถึงละครเรื่องกลกิโมโน ผมเลยได้เห็นภาพประกอบจากละครเรื่องนี้ที่เป็นฉากการแข่งขันกีฬาเคนโด และตรงนี้ผมพอทราบว่าชื่อศาสตร์ศิลปะต่างๆ ของชาติญี่ปุ่นมักจะมีคำลงท้ายว่า “โด” กัน อย่างเช่นคำว่า เคนโด จูโด เลยตัดสินใจว่า เอาหล่ะวันนี้ผมจะลองมาพูดถึงที่มาของคำว่า “โด” คำนี้ดู

แต่ก่อนอื่นขออธิบายถึงคำว่าเคนโดในภาษาญี่ปุ่นก่อนซึ่งเขียนได้ว่า
剣道 {けんどう} [เคนโด]
คำว่าเคนโดประกอบไปด้วยตัวอักษรคันจิดังต่อไปนี้
剣 {けん} [เคน] แปลว่า ดาบ
道 {みち or どう} [มิจิ หรือว่า โด] แปลว่า ถนน เส้นทาง
รวมๆ กันได้ความว่า “เส้นทางแห่งดาบ” หรือแปลสวยๆ ได้ว่า “วิถีแห่งดาบ”
คำว่า 道 [โด] นั้น มิได้จำกัดไว้เพียงแต่ศิลปะการต่อสู้เท่านั้นแต่ยังมีการนำเอาคำนี้มาใช้กับศิลปะสาขาอื่นอีกด้วย ซึ่งตัวอย่างของคำศัพท์ลักษณะนี้มีดังต่อไปนี้
武士道 [บุชิโด] บุชิโด หรือ วิถีนักสู้
柔道 [ยูโด] วิถีแห่งความอ่อนนุ่ม
空手道 [คะระเทะโด] วิถีแห่งมือเปล่า หรือ คาราเต้
弓道 [คิวโด] วิถีแห่งธนู
茶道 [สะโด] วิถีแห่งชา หรือ การชงชา
華道 [คะโด] วิถีแห่งดอกไม้ หรือ การจัดดอกไม้
書道 [โชะโด] วิถีแห่งการเขียน หรือ การเขียนตัวอักษรคันจิให้ดูสวยงาม
การริเริ่มใช้คำว่า 道 [โด] กับชื่อศาสตร์ศิลปะต่างๆ นั้นมีมาตั้งแต่สมัยยุคเมจิซึ่งถือว่าเป็นยุคที่ญี่ปุ่นเริ่มต้นเปิดประเทศไปยังโลกภายนอกมากขึ้น หากเราลองสอบถามอาจารย์สอนศาสตร์ศิลปะเหล่านี้ในยุคสมัยนั้นว่าทำไมถึงใช้คำว่า 道 [โด] ในชื่อวิชาของตนกัน เราน่าจะได้คำตอบประมาณนี้
– คำอธิบายที่ 1
「การที่เราใช้คำศัพท์คำว่า 道 [โด] ที่แปลว่า “ถนน” “เส้นทาง” นั้นเพื่อต้องการเน้นย้ำว่าสิ่งที่เราเล่าเรียนนี้ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ “เทคนิค” แต่เราสอนรวมไปถึงวิถีการดำรงชีวิตอยู่กับมัน อย่างเช่นคำว่า 剣道 [เคนโด] ก็ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่เทคนิคการใช้ดาบแต่รวมไปถึง การฝึกสภาพจิตใจการใช้ชีวิตอยู่ร่วมไปกับดาบคู่กาย ด้วยแนวคิดลักษณะนี้จึงมีการแพร่หลายใช้คำว่า 道 [โด] ไปยังศาสตร์สาขาอื่นๆ ด้วย」
สิ่งที่เขียนข้างบนเป็นความเข้าใจที่ผมเคยอ่านเจอจากหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่ง แต่มาวันนี้ผมลองค้นหา google ดูได้คำตอบมาอีกอย่างว่า
– คำอธิบายที่ 2
「ความเป็นจริงแล้ว การริเริ่มใช้คำว่า 道 [โด] นั้นมาจากเหตุผลทางด้านการตลาด
เมื่อก่อนวิชาการชงชา จัดดอกไม้ มีแต่บุคคลชั้นสูงเรียนกันเท่านั้นในกลุ่มเจ้าขุนมูลนาง วิชาการใช้ดาบก็จำเป็นสำหรับนักสู้ผู้ใช้ดาบเท่านั้น วิชาเหล่านี้จำกัดเฉพาะในกลุ่มบุคคลเล็กๆ เพียงกลุ่มเดียว ชาวบ้านทั่วไปไม่มีโอกาสที่จะได้เรียนรู้
ต่อมาเมื่อประเทศญี่ปุ่นเริ่มพัฒนามาถึงยุคสมัยเมจิ ระบบเจ้าขุนมูลนางเริ่มแตกสลาย จำนวนคนชนชั้นสูงที่จะมาเรียนเล่าวิชาอย่างการจัดดอกไม้ หรือการชงชา เริ่มลดน้อยลง หากลองมองมาถึงด้านการรบ การพัฒนาการทางด้านยุทโธปกรณ์ทำให้การทำสงครามเปลี่ยนแปลงจากการใช้ดาบฆ่าฟันกันมาเป็นการใช้ปืนและปืนใหญ่ยิงใส่กัน
ด้วยเหตุนี้ความจำเป็นในการใช้ดาบก็ย่อมลดตามลงไป เมื่อความต้องการของตลาดเดิมในกลุ่มเจ้าขุนมูลนายเริ่มลดลง เหล่าอาจารย์ผู้สอนศาสตร์ศิลปะต่างๆ จึงต้องเริ่มมองหาตลาดลูกค้าในกลุ่มใหม่ซึ่งก็คือ “ประชาชนคนทั่วไป” นั่นเอง
เมื่อมองจากประชาชนคนทั่วไป หรือชาวบ้านตาดำๆ แล้ว เหล่าซามุไร บุชิโดนั้นเป็นอะไรที่ดูเท่และเป็นความใฝ่ฝันมาตลอด การที่คนทั่วไปจะสามารถมีโอกาสได้เรียนรู้วิธีการใช้ดาบนั้นราวกับฝันที่เป็นจริง แล้ว ณ ตอนนี้ ไหนๆ เหล่าอาจารย์เจ้าของวิชาจะจะขายของทั้งทีแล้ว เขาเลยเริ่มเอาคำว่า 道 [โด] ที่อยู่ในคำว่า บุชิโด มาใส่ต่อท้ายตามศาสตร์ศิลปะต่างๆ เป็นการ “เพิ่มคุณค่า” ของสินค้า พร้อมกับคำบรรยายสรรพคุณว่า
“เราไม่ได้สอนคุณแค่เพียงเทคนิค เราสอนคุณรวมไปถึงจิตวิญญาณของมันด้วย”
เมื่อคำว่า 道 [โด] ช่วยเพิ่มคุณค่าของสินค้าอย่างเช่นการสอนใช้ดาบอย่าง เคนโดหรือการชงชา [จะโด] การจัดดอกไม้ [คะโด] จึงเริ่มมีนำศัพท์คำว่า 道 [โด] นี้ไปประกอบใช้ในแขนงวิชาศิลปะอื่นๆ แพร่หลายอีกต่อไป
เมื่อผมได้ยินเหตุผลของการใช้คำว่า 道 [โด] ตรงนี้ อะไรที่ผมเคยเข้าใจมาตลอดนี้ทำให้ผมต้องลองมองในแง่มุมอื่นดู
เมื่อก่อนตอนที่ผมได้ยินที่มาของคำว่า 道 [โด] ตามคำอธิบายที่ 1 นี้ผมรู้สึกว่าเหตุผลนี้แม่งโคตรเท่เลย ไม่ได้เรียนรู้แค่เทคนิคแต่เรียนรู้ถึงวิถีการใช้ชีวิตด้วย
แต่ต่อมาวันนี้ผมได้ยินคำอธิบายที่ 2 จากอีกมุมมองนึงว่า คำว่า 道 [โด] นั้นลึกๆ แล้วนั้นเป็นคำศัพท์ทางการตลาด ทำเอาผมรู้สึกถึงความแยบยลของภาษาตรงจุดนี้
สุดท้ายนี้ผมไม่ได้ต้องการจะบอกว่าศาสตร์ต่างๆ อย่าง เคนโด จูโด และอื่นๆ ที่กล่าวมาด้านบนเป็นเพียงแค่สินค้ามาร์เกตติ้งนะครับ การเรียนรู้ศิลปะเหล่านั้นล้วนมีคุณค่าของมันตามแต่มุมมองของผู้ที่ศึกษามัน แต่เราลองมองอีกมุมนึงว่าการตั้งชื่อสินค้าก็ล้วนมีผลต่อความคิดของผู้บริโภคด้วยซึ่งเรื่องเหล่านี้ก็มีมานานแล้วหลายร้อยปีนับตั้งแต่ยุคเมจิ หรืออาจจะนับได้ตั้งแต่ประวัติศาสตร์มนุษยชาติเริ่มต้นมาเลยก็เป็นได้
สุดท้ายนี้คำว่า 道 [โด] ที่แปลว่า “ถนน” นั้นทำให้เรานึกถึงชีวิตคนเราที่เปรียบเหมือนถนนเส้นนึง เราเลือกจะเดินไปตามถนนสายไหน ไม่ใช่แค่เพียงต้องการไปให้ถึงเส้นชัย แต่เราควรรู้สึกเพลิดเพลินไปตามเส้นทางที่เราก้าวเดินไปด้วยนะครับ
ภาพประกอบโดย เฮีย Sorat Aunhทักทายพูดคุยกับ Wasu ได้ที่ >>> Facebook Wasu’s thought on Japan
เรื่องแนะนำ :
– ชื่อดนตรีฝรั่งฮิตตลอดกาล อมตะ… ในภาษาญี่ปุ่น
– โทริชิม่า : ข้อคิดการทำงานน่าสนใจจากบ.ก.ผู้อยู่เบื้องหลัง ด็อกเตอร์สลัมป์ และ ดราก้อนบอล
– คำว่า “มนุษย์” ที่มีความหมายลึกซึ้งในภาษาญี่ปุ่น
– เจ๊ะ เจ๊ะ เจ๊ะ คำอุทานสุดฮิปของอามะจัง ที่สร้างปรากฎการณ์ให้กับสังคม
– เคล็ดลับวาดการ์ตูนให้คนติดตาม ของผู้วาด “โจโจ้ล่าข้ามศตวรรษ”