การฝึกเขียนลายมือตามเส้นปะให้ตรงและสวยนั้นคงเป็นเรื่องยากสำหรับเด็กๆ และต้องใช้การฝึกฝนบ่อยครั้งเพื่อให้เขียนตัวหนังสือให้ออกมาได้อย่างสวยงาม แล้วเด็กๆ ที่ญี่ปุ่นเค้าฝึกเขียนลายมือกันอย่างไรไปติดตามชมกันได้เลยค่ะ
เรียบเรียงโดย : ทีมงานโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่น Jat
สวัสดีค่ะเพื่อนๆ ทุกคน กลับมาพบกันอีกครั้ง กับเกร็ดความรู้ดีๆ เกี่ยวกับภาษาญี่ปุ่น ที่พร้อมเสิร์ฟถึงหน้าจอให้กับเพื่อนๆ ทุกคนถึงที่เลยค่ะ เพื่อนๆ ทุกคนยังจดจำการเขียนลายมือเป็นครั้งแรกเมื่อวัยเด็กกันได้หรือเปล่าค่ะ ตอนสมัยนั้นการจับดินสอให้ถูกต้อง การฝึกเขียนลายมือตามเส้นปะให้ตรงและสวยนั้นคงเป็นเรื่องยากสำหรับเด็กๆ และต้องใช้การฝึกฝนบ่อยครั้งเพื่อให้เขียนตัวหนังสือให้ออกมาได้อย่างสวยงาม แล้วเด็กๆ ที่ญี่ปุ่นเค้าฝึกเขียนลายมือกันอย่างไรไปติดตามชมกันได้เลยค่ะ

Kakizome 「書き初め」หรือ Kissho-hajime 「吉書初め」 หมายถึง การเขียนลายมือของเด็กๆ เป็นครั้งแรกของช่วงปีใหม่ เป็นงานประจำปีในช่วงเริ่มต้นปีใหม่ที่เป็นที่นิยมกันมาก มักจะถูกจัดขึ้นในวันที่ 2-5 มกราคมของทุกปี (แล้วแต่กำหนดของแต่ละศาลเจ้า) โดยการเขียนตัวอักษรด้วยพู่กันนั้นมีต้นกำเนิดขึ้นเมื่อสมัยเอโดะ นำเข้าจากประเทศจีนโดยขุนนางราชสำนักและหมู่นักรบ อีกทั้งยังมีแพร่หลายในโรงเรียนวัด (Terakoya, 寺子屋) ต่างๆ เป็นวัฒนธรรมที่ถูกยกขึ้นให้อยู่ในชั้นศิลปะที่เรียกว่า การเขียนพู่กันแบบญี่ปุ่น (Shodoo, 書道) ชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยที่ฝึกฝนการเขียนลายมือให้สวยงามซึ่งเรียกว่า oshuuji (お習字) มาตั้งแต่วัยเด็ก โดยจะเขียนถ้อยคำที่มีความหมายเป็นศิริมงคลต่างๆ ด้วยหมึกสีดำที่ละลายกับน้ำแล้วใช้พู่กันเขียนลงบนกระดาษเขียนของจีน (Gasenshi, 画仙紙Gasenshi) หรือ กระดาษเขียนของญี่ปุ่น (Hanshi, 半紙) เป็นการต้อนรับสิ่งใหม่ๆ ที่กำลังจะเข้ามาในชีวิต
วิธีจับพู่กัน

ใช้นิ้วโป้ง นิ้วชี้และนิ้วกลางจับพู่กัน สามนิ้วนี้เป็นนิ้วหลักเวลาเขียน นิ้วนางกับนิ้วก้อยอยู่ด้านล่าง คอยประคองพู่กัน จับพู่กันช่วงกลางด้าม ให้ตัวพู่กันตั้งตรงเป็นเส้นฉากกับโต๊ะเสมอเวลาเขียน

เวลาเขียนใช้มืออีกข้างช่วยรองรับ หรือจะยกข้อมือสูงก็ได้
เส้นตัวอักษรคันจิมีหลักๆ ดังนี้
1. เป็นจุด
2. เส้นขีดจากซ้ายไปขวา
3. เส้นขีดจากบนลงล่าง
4. เส้นขีดเฉียงจากขวาไปซ้าย
5. ขีดเฉียงจากซ้ายไปขวา
6. ขีดตวัดจากล่างซ้ายขึ้นไปขวา
7. เส้นลากหักมุม

วิธีการเขียนลายมือ

สิ่งที่ต้องเตรียม : กระดาษเขียนของจีน (Gasenshi, 画仙紙) หรือ กระดาษเขียนของญี่ปุ่น (Hanshi, 半紙), แป้นฝนหมึก (Suzuri, 硯), พู่กัน (Fude, 筆), หมึกขวด (Bokujuu, 墨汁), แท่งฝนหมึก (Sumi, 墨), ที่ทับกระดาษ (Bunchin, 文鎮), แผ่นรองเขียน (Shitajiki, 下敷き), ภาชนะใส่น้ำ (Mizuire, 水入れ)



1. | จุ่มปลายพู่กันในน้ำจนขนนุ่มพอ |
2. | รินน้ำลงในแป้นฝนหมึก แล้วฝนแท่งฝนหมึกจนได้น้ำหมึกสีดำเข้ม |
3. | กางกระดาษวางบนแผ่นรองเขียน แล้วนำที่ทับกระดาษมาวางบนขอบด้านบนเพื่อทำให้กระดาษไม่ขยับเขยือน |
4. | จุ่มพู่กันในน้ำหมึกให้ชุ่ม แล้วเล็มปลายพู่กันให้แหลมด้วยการกดลงแป้นฝนหมึกเบาๆ |
5. | เขียนคำที่เกี่ยวกับปีใหม่หรือสิ่งดีๆ ที่เป็นศิริมงคลลงบนกระดาษ |
6. | เมื่อหมึกที่เขียนบนกระดาษแห้ง นำพู่กันขนาดกลางเขียนชื่อไว้ที่ด้านซ้ายของตัวอักษร |
การประกวดแข่งขันเขียนลายมือ Kakizome มี 2 แบบ คือ

1. | เด็กที่ต้องการประกวดแข่งขันเขียนลายมือจะส่งผลงานการเขียนลายมือ เพื่อคัดเลือกก่อนวันที่ 5 มกราคม โดยจะเขียนคำว่าอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับปีใหม่หรือสิ่งดีๆ ที่เป็นศิริมงคล และเมื่อตัดสินผู้ที่เขียนลายมือที่สวยที่สุดแล้ว จะส่งให้เข้าประกวดเป็นตัวแทนของโรงเรียนในการแข่งขันประกวดเขียนลายมือในวันที่ 5 มกราคมของปีนั้น |
2. | เด็กที่ต้องการประกวดเขียนลายมือสามารถเขียนด้วยตัวเองจากที่บ้านและส่งเข้าประกวดก็ได้ แต่ต้องเป็นคำที่เหมาะสม |
คำที่ใช้เขียนประกวดในวันที่ 5 มกราคมนั้น ขึ้นอยู่กับชั้นเรียนของเด็กแต่ละคน การแข่งขันมักจะจัดที่ Budookan ของเมืองโตเกียว หรือตามศาลาขนาดใหญ่ของแต่ละท้องถิ่น โดยจะมีผู้เข้าร่วมแข่งขันจำนวนมาก และจะกำหนดให้ทุกคนเขียนคำที่ระบุไว้ให้พร้อมๆ กัน โดยใช้เวลาภายใน 24 นาที ในการเขียนลายมือ เช่น
幼児 (อนุบาล) | こま (Koma) | ลูกข่าง |
小1 (ป.1) | はつひ (Hatsuhi) | พระอาทิตย์ขึ้นในวันปีใหม่ |
小2 (ป.2) | なかよし (Nakayoshi) | เพื่อนซี้ |
小3 (ป.3) | つよい心 (Tsuyoi kokoro) | หัวใจที่ยิ่งใหญ่ |
小4 (ป.4) | 明るい春 (Akarui haru) | ฤดูใบไม้ผลิที่สดใส |
小5 (ป.5) | 平和な朝 (Heiwana asa) | เช้าที่สงบสุข |
小6 (ป.6) | 自然の美 (Shizen no bi) | ความงามของธรรมชาติ |
中1 (ม.1) | 心の交流 (Kokoro no kooryuu) | แลกเปลี่ยนหัวใจ |
中2 (ม.2) | 力強い前進 (Chikara zuyoi zenshin) | ก้าวไปข้างหน้าอย่างมุ่งมั่น |
中3 (ม.3) | 温故知新 (Onko chishin) | การเรียนรู้จากอดีตที่ผ่านมา |
หลังจากการประกวดแข่งขันจบแล้ว มีการจัดนิทรรศการผลงาน Kakizome ที่เด็กๆ เขียนขึ้นด้วย

การเขียนลายมือเป็นอักษรภาษาญี่ปุ่นด้วยพู่กันนั้น ล้วนต้องใช้สมาธิและการฝึกฝนในการเริ่มลากเส้นพู่กัน การตวัดเส้น การลงเส้นหนักเบา การเว้นช่องว่าง อีกทั้งการเล็มปลายพู่กันก็ต้องละเอียดอ่อน หมึกเยอะมากไปจะทำให้การเขียนตัวอักษรไม่สวยงาม อาจจะเป็นเรื่องยากสำหรับผู้เริ่มเขียนครั้งแรก แต่ Azu เชื่อว่าเมื่อเราได้พยายามทำในสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจแล้ว ย่อมประสบความสำเร็จค่ะ ดั่งสุภาษิตไทยที่ว่า “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จย่อมอยู่ที่นั้น”
เรียบเรียงโดย : ทีมงานโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่น เจ.เอ.ที. (JAT)
เอื้อเฟื้อโดย :
โรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่นแจ๊ท Jat (JAT Japanese language school)
http://www.jatschool.com
อ้างอิงโดย :
(เครื่องหมาย * หมายถึง ที่มาจากหนังสือ วัฒนธรรมญี่ปุ่น)
โอคะโมะโทะ โทะมิ(ผู้แต่ง), แสวง จงสุจริตธรรม(ผู้แปล), รศ.ปราณี จงสุจริตธรรม(ผู้แปล). วัฒนธรรมญี่ปุ่น. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ภาษาและวัฒนธรรม, 2547
(เครื่องหมาย # หมายถึง ที่มาจากเวป http://www.bloggang.com)
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ :
http://www9.plala.or.jp/jss-sagara/shodo.html
http://www.com-adv.co.jp/present_01_c.html
http://www.misaki.rdy.jp/illust/child/gakkou/newyear/sozaitext/303.htm
http://store.shopping.yahoo.co.jp/dearpet/f00381-3.html
http://www.epochtimes.jp/jp/2011/01/html/d79162.html
http://www.osakakyouzai.com/index.html