ชื่อคณะแปลก ๆ ในมหาวิทยาลัยของญี่ปุ่น
การจัดการชื่อคณะและชื่อวิชาเอกของมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นนั้นมีเอกลักษณ์แตกต่างจากของไทยมาก เช่น คณะ A, คณะ B, และคณะ C ทั้งหมด 3 คณะ เมื่อกลายเป็นบัณฑิตวิทยาลัย (ป. โท และ ป. เอก) คณะ A, B, C อาจกลายเป็นบัณฑิตวิทยาลัยเดียวกันก็ได้ หรือคณะ ๆ เดียวเมื่อเป็นบัณฑิตวิทยาลัยอาจแตกตัวออกเป็น 2-3 บัณฑิตวิทยาลัยก็ได้
นอกจากนี้อาจจะเกิดปรากฏการณ์ เช่น คณะบริหารธุรกิจแต่วิชาเอกเป็นสาขาเศรษฐศาสตร์ หรือคณะสถาปัตยกรรมแต่วิชาเอกเป็นสาขาวิศวกรรมศาสตร์เข้าไปอยู่ในคณะสถาปัตยกรรม หรือคณะอักษรศาสตร์แต่วิชาเอกเป็นสาขานิติศาสตร์ ก็มีให้เห็นบ่อย ๆ
ในคอลัมน์นี้จะกล่าวถึงเฉพาะคณะในระดับปริญญาตรีเป็นหลักที่ดูแปลกและมีเอกลักษณ์ในทัศนะของผู้เขียนเท่านั้น ไม่ได้กล่าวถึงหมดทุกคณะในทุกมหาวิทยาลัย
- ม. โตเกียว – มีเอกลักษณ์คือ มีทั้งคณะอักษรศาสตร์ (文学部) และ คณะศิลปศาสตร์ (教養学部) อยู่ในมหาวิทยาลัยเดียวกัน ซึ่งถ้าเป็นเมืองไทยจะต้องแยกกันไปเลยว่าเป็นคณะอักษรศาสตร์หรือศิลปศาสตร์หรือมนุษยศาสตร์กันแน่ แต่ ม. โตเกียวสามารถมีทั้ง 2 คณะพร้อมกันได้
- ม. เกียวโต – คณะที่มีเอกลักษณ์คือ มีคณะที่ชื่อ ‘คณะบูรณาการมนุษย์ (総合人間学部)’ ซึ่งภาษาอังกฤษแปลว่า Faculty of Integrated Human Studies ฟังดูเท่มากเลย
- ม. คิวชู – คณะที่มีเอกลักษณ์คือ มีคณะที่ชื่อ ‘คณะร่วมสร้างสรรค์ (共創学部)’ แต่ภาษาอังกฤษแปลว่า School of Interdisciplinary Science and Innovation ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าแปลอังกฤษไม่ค่อยโดนใจเท่าไร
-
ม. โอซาก้า – มีเอกลักษณ์ที่พิเศษมากจริง ๆ คือมีคณะแนวเดียวกันถึง 3 คณะในมหาวิทยาลัยเดียวกัน ซึ่งถ้าแค่ดูชื่อคณะก็คงจะงงว่าต่างกันอย่างไร คือ
a. คณะอักษรศาสตร์ (文学部)
b. คณะภาษาต่างประเทศ (外国語学部)
c. คณะมนุษยศาสตร์ (人間科学部) -
ม. เคโอ – มีจุดเด่นอยู่ 2 คณะที่แปลกและมีเอกลักษณ์ ซึ่งถ้าอ่านชื่อคณะแล้วคงไม่เข้าใจเลยว่าเรียนอะไรกัน
a. คณะบูรณาการยุทธศาสตร์ (総合政策学部)
b. คณะสิ่งแวดล้อมและข้อมูลข่าวสาร (環境情報学部) -
ม. วะเซะดะ – วะเซะดะนี่มีหลายคณะเลยที่มีเอกลักษณ์ ซึ่งจัดว่าเป็นขั้นโหดสุดในบรรดาคณะแปลกของญี่ปุ่น มีคณะดังต่อไปนี้
a. คณะรัฐเศรษฐศาสตร์ (政治経済学部) คือ เหมือนเป็นคณะรัฐศาสตร์รวมอยู่กับคณะเศรษฐศาสตร์ไปเลย
b. คณะวิศวกรรมศาสตร์ แยกออกเป็น 3 คณะด้านวิศวกรรมคือ
i. คณะวิศวกรรมศาสตร์รากฐาน (基幹理工学部)
ii. คณะวิศวกรรมศาสตร์เชิงสร้างสรรค์ (創造理工学部)
iii. คณะวิศวกรรมศาสตร์ล้ำยุค (先進理工学部)
c. คณะสายมนุษยศาสตร์ ก็แยกออกเป็น 3 สายมนุษยศาสตร์คือ
i. คณะอักษรศาสตร์ (文学部)
ii. คณะมนุษยศาสตร์ (人間科学部)
iii. คณะวัฒนธรรมและการสร้างสรรค์ (文化構想学部) -
ม. ริวกิว – ในอดีตเคยมีคณะที่ชื่อ ‘คณะนิติอักษรศาสตร์ (法文学部)’ คือเป็นนิติศาสตร์และอักษรศาสตร์อยู่ด้วยกันในคณะเดียวกัน แต่ปัจจุบันคณะนิติอักษรศาสตร์แตกออกเป็น 2 คณะคือ
a. คณะสร้างสรรค์อาณาบริเวณศึกษานานาชาติ (国際地域創造学部)
b. คณะมนุษย์และสังคมศาสตร์ (人文社会学部)
เรียกว่าค่อนข้างปรับตัวตามสถานการณ์สังคมกันได้เร็ว ในแง่ดีก็คือปรับตัวเร็วทันยุค แต่ในแง่ร้ายก็คือชื่อคณะแปลกขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งไม่รู้ว่าเรียนอะไรกัน เรียนจบมาแล้วทำอะไร ก็อาจจะเป็นปัญหาได้เช่นกัน ชาวไทยเราก็ดูไว้เป็นกรณีศึกษาก็พอ
ติดตามผลงานเขียนทั้งหมดของวีรยุทธได้ที่ >> https://www.facebook.com/Weerayuths-Ideas
เรื่องแนะนำ :
– การทำกระบวนการ ‘ชินโต (浸透)’ ในบริษัทเพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กร
– ประเทศญี่ปุ่นมีอาชีพ ‘นักสู้’
– จำนวนผู้เรียนภาษาญี่ปุ่นเริ่มลดลงทั้งในไทยและต่างประเทศ
– ทำไมวัยรุ่นญี่ปุ่นจำนวนมากเขียนคันจิไม่ได้?
– บ่อเกิดและการจัดหมวดหมู่ของคาราเต้
ขอบคุณรูปภาพจาก
https://www.sfc.keio.ac.jp/admissions/pmei/
#ชื่อคณะแปลก ๆ ในมหาวิทยาลัยของญี่ปุ่น