คั่นรายการ โดย Lordofwar Nick
บูชิโด: จิตวิญญาณของญี่ปุ่น (16) บูชิโดสร้างชาติ
สวัสดีครับ เราเข้าสู่ โค้งสุดท้ายของหนังสือ “บูชิโด” กันแล้วนะครับ (อีกไม่กี่ตอนก็จบซีรี่ส์แล้วนะ) เอ้า อย่ารอช้า ไปกันเล้ย
เราได้นำมาสู่สายตาแล้วซึ่งยอดเขาที่โดดเด่นเพียงไม่กี่แห่งผุดขึ้นเหนือขอบเขตคุณธรรมของอัศวิน โดยในตัวมันเองนั้นสูงส่งกว่าระดับทั่วไปของชีวิตประจำชาติของเรามาก เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นในจุดแรกทิ่มยอดเขาที่สูงที่สุดสีสันแดงอมน้ำตาล จากนั้นจึงค่อยๆ ฉายแสงไปยังหุบเขาเบื้องล่าง ดังนั้นระบบจริยธรรมซึ่งแรกเริ่มให้ความรู้แจ้งแก่ระเบียบแบบแผนอย่างทหาร จึงดึงผู้ติดตามจากมวลชนมาตามกาลเวลา ประชาธิปไตยอุ้มชูเจ้าชายโดยธรรมชาติให้เป็นผู้นำ และคณาธิปไตยก็ซึมซาบจิตวิญญาณอย่างเจ้าชายในหมู่ประชาชน คุณธรรมนั้นแพร่เชื้อได้ไม่น้อยไปกว่าความชั่วร้าย“ขอเพียงมีคนฉลาดเพียงคนเดียวในวงสมาคม แล้วทุกคนจะกลายเป็นฉลาด การแพร่ระบาดจึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว” เอเมอร์สันกล่าว ไม่มีชนชั้นทางสังคมหรือวรรณะใดสามารถต้านทานอำนาจการเผยแผ่ของอิทธิพลทางศีลธรรมได้
เปิดมาได้อย่าง ยิ่งใหญ่ อลังการ จริงๆ ครับ แต่ก็เป็นธรรมดาอยู่แล้วที่วัฒนธรรมอะไรหลายอย่างนั้น มักเกิดขึ้นก่อนในหมู่ชนชั้นสูง แล้วค่อยแพร่ออกไปยังมหาชนคนหมู่มาก ก็เหมือนกับวัฒนธรรมการดื่มชาของคนอังกฤษนั่นแหละ ทีแรกก็ยังอยู่เพียงในหมู่ผู้ลากมากดี อย่างที่เรียกว่า afternoon tea นั่นแหละ (กินของแกล้มน้ำชาพอกระจุ๋มกระจิ๋มอย่างผู้ดี) พอตอนหลังการดื่มชาจึงแพร่หลายไปถึงชนชั้นแรงงาน แล้วคลี่คลายกลายเป็น high tea (กินอาหารแกล้มน้ำชาแบบกินเอาอิ่ม จัดหนักจัดเต็มไปเลย ทำงานมาเหนื่อย หิว)
ญี่ปุ่นเป็นหนี้ต่อซามูไรอะไรเช่นนี้ พวกเขาไม่เพียงแต่เป็นดอกไม้ของชาติเท่านั้น แต่ยังเป็นรากฐานของชาติอีกด้วย พรอันสง่างามจากสวรรค์ทั้งหมดไหลผ่านพวกเขา แม้ว่าพวกเขาจะทำตัวอยู่ห่างจากประชาชน แต่พวกเขาก็ได้กำหนดมาตรฐานทางศีลธรรมสำหรับพวกเขาและชี้นำพวกเขาด้วย (การทำตัวเป็น) แบบอย่างของพวกเขา ข้าพเจ้ายอมรับว่าบูชิโดมีคำสอนทั้งที่เป็นของสำหรับวงใน (esoteric) และสำหรับวงนอก (exoteric) คำสอนเหล่านี้ (exoteric) เป็นไปเพื่อความผาสุข (eudemonistic) คอยดูแลสวัสดิภาพและความสุขของส่วนรวม ในขณะที่คำสอนเหล่านั้น (esoteric) เป็นไปเพื่อความดีเลิศ (aretaic) เน้นการปฏิบัติคุณธรรมเพื่อประโยชน์ของตนเอง
บอกตรงๆ นั่งแปลนี่อึ้งแป๊บ ท่านผู้เขียนใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษได้แบบ ศัพท์ปรัชญาเอามากๆ แต่ถ้าจะให้เทียบกับบริบทที่คนไทยน่าจะเก็ทง่ายที่สุด (ถ้าไม่ชิงทำตัวเป็น “คนไม่มีศาสนา” เพราะมองว่ามีศาสนามันไม่ดีก็ตามแต่ไปเสียก่อน) ก็คงเทียบได้กับ “โลกียธรรม” กับ “โลกุตรธรรม” ในพุทธศาสนานั่นแล คำสอนในพุทธศาสนาถ้าเอาแบบระดับโลกียธรรม ก็คือพอให้ครองตนอยู่ในสังคม (โลกภายนอก) ได้อย่างสงบสุข ไม่ทำตัวเองหรือคนอื่นเดือดร้อน (เช่นมีความเมตตา เอื้อเฟื้อเจือจานแก่ผู้ตกทุกข์ได้ยาก ทำมาหากินสุจริตไม่คดโกงทำร้ายใคร) แต่ถ้าเอาระดับโลกุตรธรรม คือต้องฝึกจิตเพาะสติปัญญา ให้เห็นความเป็นจริงของโลกจนอยู่ในจุดที่เรียกว่า “อยู่เหนือโลก” (พ้นไปจากโลก) มันก็เป็นยกระดับจิตใจและทัศนะของตัวเราเอง (ข้างใน) ผมว่าน่าจะเทียบเคียงได้ดังนี้นะครับ
หนทางมากมายของความบันเทิงและคำสั่งสอนของชาวบ้าน อาทิเช่น โรงละคร ซุ้มนักเล่านิทาน เวทีนักเทศน์ การแสดงดนตรี นวนิยาย ได้นำเรื่องราวของซามูไรมาเป็นธีมหลัก ชาวนารอบกองไฟในกระท่อมของพวกเขาไม่เคยเบื่อที่จะเล่าซ้ำความสำเร็จของโยชิทสึเนะกับเบ็งเคย์ ข้ารับใช้ผู้ซื่อสัตย์ของเขา หรือของสองพี่น้องโซงะผู้กล้าหาญ เด็กน้อยเนื้อตัวมอมแมมฟังจนอ้าปากค้างกระทั่งฟืนท่อนสุดท้ายไหม้หมดไฟดับมอดในกองเถ้า หัวใจของพวกเขายังคงสว่างไสวไปกับเรื่องราวที่เล่าขาน เสมียนกับเด็กในร้าน หลังจากงานในแต่ละวันจบลง และอามาโดะ (雨戸 บานเลื่อน) ของร้านก็ปิดลง ก็มาชุมนุมกันเพื่อเล่าเรื่องราวของโนบุนางะและฮิเดโยชิไปไกลในยามค่ำคืน จนกระทั่งความหลับใหลเข้าครอบงำดวงตาอันอ่อนล้า และพาพวกเขาไป จากงานจำเจที่เคาน์เตอร์ สู่วีรกรรมอันหาญกล้าในสนามรบ เด็กน้อยเพิ่งหัดเดินถูกสอนให้เล่าเรื่องการผจญภัยของโมโมทาโร่ ผู้หาญพิชิตดินแดนยักษ์ แม้แต่เด็กผู้หญิงก็ยังตื้นตันใจกับความรักในพฤติการณ์และคุณธรรมของอัศวิน ซึ่ง เหมือนอย่างเดสเดโมนา (Desdemona ตัวละครสาวงามที่หนีตาม Othello ทหารชาวเวนิส ในวรรณกรรมของเชกสเปียร์) พวกหล่อนโน้มเอียงอย่างจริงจังที่จะกลืนกินความโรแมนติกของซามูไรด้วยหูอันหิวกระหาย
ครับ ไม่ว่าชนชาติใดก็ย่อมมีเรื่องราวของวีรบุรุษผู้กล้า แน่นอนว่า เรื่องเล่าเหล่านี้ ย่อมมีอิทธิพลต่อความคิดจิตใจของเยาวชนมิใช่น้อย ในเรื่องความภาคภูมิใจในชนชาติของตน เราเองแต่ก่อนก็เคยมีประวัติศาสตร์ของวีรบุรุษผู้กล้า กษัตริย์ผู้กอบกู้เช่นกัน น่าเสียดายที่ทุกวันนี้พวกฝ่ายซ้ายพยายามด้อยค่าสิ่งนี้ ถ้าญี่ปุ่น “สร้างชาติ” ได้ ด้วยแรงบันดาลใจจากเรื่องราวของวีรบุรุษผู้กล้า การคิดทำลาย ด้อยค่า สิ่งนี้ ก็อาจคิดได้ว่าเทียบเท่ากับเป็นกระบวนการตรงกันข้าม คือการ “ทำลายชาติ” นั่นเอง
เอารูปโยชิทสึเนะปะทะเบ็งเคย์มาให้ดูเท่ๆ ครับ (วาดโดย ทสึคิโอะ โยชิโตชิ ภาพนี้วาดในยุคเมจิ ที่มา sothebys.com)
ส่วนนี่ภาพนี้ผมเพิ่งเคยเห็นเหมือนกัน ภาพพระนเรศวรตีค่ายของนรธาเมงสอ (วาดโดย พระยาอนุศาสนจิตรกร เมื่อปี พ.ศ. 2474 ทีมา wikipedia)
อ่ะ ดูรูปเสร็จแล้ว มาอ่านกันต่อนะครับ
การที่จิตวิญญาณของบูชิโดซึมแทรกไปทั่วทุกชนชั้นทางสังคมนั้น แสดงให้เห็นเช่นกันในการพัฒนาระเบียบแบบแผนอย่างหนึ่งของลูกผู้ชาย ที่เรียกว่า โอโตโกะ-ดาเตะ (男伊達) ซึ่งเป็นผู้นำโดยธรรมชาติของประชาธิปไตย พวกเขาเป็นคนที่เด็ดเดี่ยว ทุกตารางนิ้วของพวกเขาแข็งแรงด้วยความแข็งแกร่งของความเป็นลูกผู้ชายมหาศาล เป็นโฆษกและผู้พิทักษ์สิทธิประชาชน พวกเขาต่างมีวิญญาณ นับร้อยนับพันดวงที่ถวายในลักษณะเดียวกับที่ซามูไรทำกับไดเมียว การรับใช้ด้วยความเต็มใจของ “แขนขาและชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน และเกียรติยศทางโลก ” ได้รับการสนุนหลังจากชายผู้ใช้แรงงานผู้หุนหันและบุ่มบ่าม จำนวนมหาศาล บรรดา “เจ้านาย” ที่มีมาแต่กำเนิด ได้ก่อรูปการตรวจสอบที่น่าเกรงขามต่อการแผลงฤทธิ์ของระเบียบแบบแผนอันเป็นดาบสองคม
ด้วยวิธีต่างๆ มากมาย บูชิโดได้กรองเอาชนชั้นทางสังคมที่เป็นต้นกำเนิดของมันออกไป และทำตัวเหมือนหัวเชื้อในหมู่มวลชน เพื่อจัดให้มีซึ่งมาตรฐานทางศีลธรรมให้กับประชาชนทั้งมวล ศีลของอัศวิน ซึ่งเริ่มแรกเป็นดั่งเกียรติยศของชนชั้นสูง เมื่อเวลาผ่านไปกลายเป็นความทะเยอทะยานและแรงบันดาลใจให้กับประเทศชาติส่วนรวม และถึงแม้ว่าประชาชนจะไม่สามารถบรรลุถึงความสูงส่งทางศีลธรรมของจิตวิญญาณที่เลิศลอยกว่าเหล่านั้นได้ แต่ ยามาโตะ ดามาชิอิ (大和魂) จิตวิญญาณแห่งญี่ปุ่นก็ได้มาแสดง Volksgeist (“จิตวิญญาณประชาชาติ”) แห่งอาณาจักรเกาะในที่สุด หากศาสนามิได้เป็นอะไรมากไปกว่า “ศีลธรรมที่สัมผัสได้ด้วยอารมณ์” ดังที่แมทธิว อาร์โนลด์ (Matthew Arnold กวีและนักวิจารณ์วัฒนธรรมชาวอังกฤษ) ให้คำจำกัดความไว้ มีจริยธรรมเพียงไม่กี่ระบบเท่านั้นที่มีสิทธิได้ได้ถูกจัดอันดับว่าเป็นศาสนามากกว่าบูชิโด
อื้อหือ เรามาอธิบายศัพท์กันก่อนดีกว่าครับ
โอโตโกะ-ดาเตะ (男伊達) คือ ความประพฤติอันเป็น “หน้าตา” ของลูกผู้ชาย คือการปราบผู้เข้มแข็ง ช่วยเหลือผู้อ่อนแอ แม้เสียชีพก็ต้องไม่ยอมเสียสัตย์ (強きをくじき、弱きを助け、命を捨てても信義を重んじること) ถ้าเป็นสมัยนี้ก็คงประมาณ “ลูกผู้ชายตัวจริง” อะไรประมาณนั้น 555 ถึงจะไม่ได้เกิดมาเป็นซามูไร เป็นแค่คนใช้แรงงาน ถ้าคุณประพฤติตนเยี่ยงนี้ คุณก็เป็น “ฮีโร่” ได้ หล่อไหม 555
แต่เดี๋ยวก่อน ท่อนสุดท้าย คุ้นๆ ว่าเหมือนคำว่า “เสียชีพอย่าเสียสัตย์” ของลูกเสือไหมครับ ครับ ท่านลอร์ดเบเดน พาวเวลล์ ผู้ก่อตั้งลูกเสือ ก็อ่าน “บูชิโด” เหมือนกันนะครับ
ลอร์ดเบเดน พาวเวลล์ ผู้ก่อตั้งลูกเสือ (ที่มา wikipedia)
ยามาโตะ ดามาชิอิ (大和魂) “จิตวิญญาณยามาโตะ” มันคืออะไรหว่า? ถ้าจะเอาความหมายอย่างรวบรัดที่สุด ก็คงจะบอกได้ว่า มันคือ จิตวิญญาณอันเป็นลักษณะจำเพาะของชนชาติญี่ปุ่น คือมีความหาญกล้า (勇敢 ยูคัน) และเด็ดเดี่ยวไม่อาลัยอาวรณ์ต่อสิ่งใด (潔い อิสะกิโยอิ)
อ่ะ อธิบายเสร็จแล้ว อ่านต่อกันครับ
เมื่อพระผู้สร้างทรงถูกวาดภาพว่าได้ตั้งดำริใหม่ในพระทัยเมื่อได้กลิ่นหอมอันหอมหวาน (ปฐมกาล 8: 21 พระยาห์เวห์ทรงได้กลิ่นที่พอพระทัยแล้ว ทรงดำริในพระทัยว่า “เราจะไม่สาปแผ่นดินอีกต่อไป แม้ว่ามนุษย์ไม่ดี เพราะเค้าความคิดในใจของมนุษย์ล้วนแต่ร้ายมาตั้งแต่เด็ก เราจะไม่ทำลายสิ่งมีชีวิตทั้งปวงอีก ดังที่เราได้ทำแล้วนั้น) น่าแปลกใจไหมที่ฤดูดอกซากุระที่หอมหวานจะเรียกคนทั้งชาติออกจากที่อยู่เล็กๆ ของพวกเขา? อย่าโทษพวกเขาเลย ถ้าแขนขาของพวกเขาลืมความเหนื่อยยากตรากตรำ และหัวใจของพวกเขาลืมความเจ็บปวดโศกเศร้าไปชั่วขณะหนึ่ง ความสุขสั้นๆ ของพวกเขาสิ้นสุดลง พวกเขากลับไปสู่งานประจำวันด้วยกำลังและปณิธานใหม่ ด้วยเหตุนี้ซากุระจึงเป็นมากกว่าดอกไม้ประจำชาติ
ถ้าอย่างนั้น ดอกไม้นี้ ช่างหอมหวานและจางหายไป พัดไปทุกที่ตามสายลม และเมื่อกลิ่นหอมฟุ้งกระจาย มันก็พร้อมที่จะหายไปตลอดกาล ดอกไม้นี้คือจิตวิญญาณยามาโตะหรือเปล่า? จิตวิญญาณของญี่ปุ่นนั้นช่างอ่อนแอนักหรือ?
โอโห งานนี้ ดอกซากุระ ก็มาครับ 5555
พูดถึงดอกซากุระแล้ว สำหรับผมที่เคยไปอยู่ที่ญี่ปุ่น มันเป็นสัญลักษณ์ของฤดูใบไม้ผลิครับ เมื่อฤดูหนาวหมดไป การได้ชมดอกไม้บานก็ช่างน่ายินดี ถึงมันจะบานแค่เจ็ดวันก็เถอะ 555 ถ้าท่านผู้อ่านอยากชมภาพดอกซากุระที่ผมถ่ายเองเมื่อเกือบๆ ยี่สิบปีก่อน แบบบ้านๆ เรียลๆ คือถ่ายแถวหอพักที่เคยอยู่ล่ะก็ เชิญชมกันได้ ที่นี่ นะครับ
อ้อ สำหนับเรื่องของพอตแคสต์นั้น ตอนนี้ก็กำลังรออยู่เรื่องที่เขาจะปิด Google Podcast และย้ายทุกอย่างไปอยู่ใน Youtube Music ผมเองตอนนี้ก็อ่าน “คัมภีร์ห้าห่วง” แบบทีละตอนๆ (แบบที่เป็นคำแปลต้นฉบับล้วนๆ สำหรับคนที่อยากศึกษาในรูป Audio Book) ลง Spotify ได้ยินว่าในเดือนมิถุนยนนี้แอป Spotify for Podcaster จะปิดฟีเจอร์การบันทึกเสียง พูดง่ายๆ คือผมคงต้องไปหาแอปมาบันทึกเสียงแล้วนำเข้าไฟล์เสียงเอาเอง 555 ยังไม่รู้อนาคตจะเป็นไง แต่ก็เอาเถอะ จะพยายามทำ “คัมภีร์ห้าห่วง” เวอร์ชั่นอ่านออกเสียง (แปลงเอง อ่านเอง) ให้ครบทุกบทนะครับ
ชีวิตก็ต้อง สู้ๆ กันไป ใครสนใจก็อย่าลืมติดตามรับฟังนะครับ
สำหรับวันนี้ก็จบเนื้อหาตอนนี้แต่เพียงเท่านี้ก่อน พบกันใหม่สัปดาห์หน้าสวัสดีครับ
เรื่องแนะนำ :
– บูชิโด: จิตวิญญาณของญี่ปุ่น (15) ผู้หญิงกับบูชิโด
– บูชิโด: จิตวิญญาณของญี่ปุ่น (14) ดาบซามูไร จิตวิญญาณแห่งซามูไร
– บูชิโด: จิตวิญญาณของญี่ปุ่น (13) การล้างแค้นเพื่อคุณธรรม (คาตากิ-อุจิ 敵討ち)
– บูชิโด: จิตวิญญาณของญี่ปุ่น (12) ประเพณีการคว้านท้อง (เซปปุกุ 切腹)
– บูชิโด: จิตวิญญาณของญี่ปุ่น (11) การควบคุมตนเอง
#บูชิโด: จิตวิญญาณของญี่ปุ่น (16) บูชิโดสร้างชาติ