ละครรีเมคแบบญี่ปุ่น!…วันนี้จะมาแนะนำละครรีเมคญี่ปุ่นให้รู้จักกัน ว่าจะมีลักษณะยังไงบ้าง? รีเมคกันบ่อยหรือเปล่า? ตามมาดูกันเลย
ช่วงนี้ละครรีเมคบ้านเรากำลังมาแรง ละครเก่าในอดีต เริ่มต่อคิวทยอยกลับมาสร้างใหม่เรื่อยๆ สำหรับละครญี่ปุ่นเอง ก็มี “ละครรีเมค” เช่นกันค่ะ วันนี้ก็เลยจะมาแนะนำละครรีเมคญี่ปุ่นให้รู้จักกัน จะมีลักษณะยังไงบ้าง? รีเมคกันบ่อยหรือเปล่า? ตามมาดูกันเลยค่ะ
1. ประเภทของละครรีเมคญี่ปุ่น
ละครรีเมคญี่ปุ่นจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ก็คือ
1.) ละครที่รีเมคจากละครเก่าของญี่ปุ่นเอง ประเภท นี้ก็จะเป็นการนำละครเก่าในอดีตของญี่ปุ่นมารีเมค ทำใหม่ค่ะ ถ้าเทียบกับละครไทยก็แบบที่เอาเรื่อง “ลำยอง” “ทายาทอสูร” “แรงเงา” ฯลฯ มา รีเมคนั่นเอง
2.) ละครที่รีเมคจากละครต่างประเทศ ก็จะเป็นการนำละครชื่อดังของต่างประเทศมาทำใหม่ในเวอร์ชั่นญี่ปุ่น เช่น เรื่อง You’re Beautiful ละครเกาหลี ที่ญี่ปุ่นนำมารีเมคค่ะ และในขณะเดียวกัน ประเทศอื่นๆ ก็นำละครญี่ปุ่นไปรีเมคด้วยเช่นกัน เช่น Hana Kimi, Liar Game, JIN เป็นต้น สำหรับในบทความนี้ขอเล่าถึงละครรีเมคที่สร้างจากละครญี่ปุ่นด้วยกันเองค่ะ
2. ทิ้งช่วงเวลาค่อนข้างนานถึงค่อยรีเมค
ละครญี่ปุ่นที่จะนำมารีเมคอีกทีนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเรื่องที่จบไปแล้วหลายปี บางเรื่องก็จบไปนานมาก ชนิดที่ว่าคนดูแทบจะจำไม่ได้ค่ะว่ามันเคยสร้างไปแล้ว รอบนึง

อย่างเช่น เรื่อง “Kazoku Game” ที่ถูกนำมารีเมคอีกครั้งในปี 2013 ได้ Sakurai Sho สมาชิกของวง Arashi มารับบทเป็นครูโยชิโมโต้ ซึ่งละครเรื่องนี้เคยสร้างและฉายไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 1983 เป็นรูปแบบของภาพยนตร์ค่ะ

คนที่รับบทเป็นครูโยชิโมโต้ หรือบทเดียวกับ Sakurai Sho ก็คือ “Yusaku Matsuda” ค่ะ จะเห็นว่ากว่าจะเอากลับมารีเมคใหม่อีกทีก็เป็นเวลานานถึง 30 ปีเลยทีเดียว!

หรือจะเป็นเรื่อง “I’m Home” ละครแนวครอบครัวลึกลับ นำแสดงโดย “ทาคุยะ คิมูระ” ที่ฉายไปเมื่อต้นปี 2015 นอกจากละครเรื่องนี้จะสร้างมาจากมังงะแล้ว ก็ยังเป็น “ละครรีเมค” อีกด้วย

“I’m Home” ฉายออกอากาศเป็นครั้งแรกในปี 2004 เมื่อ 11 ปีที่แล้ว ในครั้งนั้น “I’m Home” นำแสดงโดย Tokito Saburo และ Konno Misako เป็นละครที่ฉายในช่วงตอนดึกๆ ประมาณ 5 ทุ่ม มีทั้งหมด 20 ตอน แบ่งออกเป็น 5 พาร์ท พาร์ทนึงฉาย 1 อาทิตย์ ความยาวตอนละ 15 นาทีค่ะ
[ad id=”61″]หรือจะเป็นเรื่อง GTO ละครแนวโรงเรียนขวัญใจวัยรุ่น เวอร์ชั่นแรกฉายในปี 1998 คนที่รับบทเป็นครู Onizuka ก็คือ “Takashi Sorimachi” นักแสดงมากฝีมือของญี่ปุ่น ที่มีผลงานด้านการแสดงมากมายจนถึงปัจจุบัน แล้ว GTO ก็กลับมาสร้างใหม่ในฉบับรีเมคอีกครั้งในปี 2012 ครู Onizuka รับบทโดย Akira สมาชิกในวง Exile ค่ะ มีความโหด ความเก๋าในสไตล์ที่ต่างกัน ซึ่งก็ใช้เวลานานถึง 14 ปีเลยทีเดียว กว่าจะกลับมารีเมคอีกครั้ง

แต่ก็มีบางเรื่องที่ทิ้งช่วงเวลาไปไม่นานเท่าไรค่ะ แต่ขั้นต่ำก็ต้องประมาณ 4-5 ขึ้นไป อย่างเช่น เรื่อง Hana Kimi ฉายครั้งแรกเมื่อปี 2007 เรื่องนี้นำกลับมารีเมคอีกครั้งในปี 2011 ห่างกัน 4 ปี
3. ตีความใหม่
แม้จะเป็นละครรีเมค แต่เมื่อนำมาถ่ายทำใหม่ ก็ต้องมีสิ่งที่แปลกใหม่ สะดุดตากว่าเดิมค่ะ เช่น ฉาก บรรยากาศของเรื่อง พล็อตบางจุดที่มีความต่างจากเวอร์ชั่นก่อนๆ อย่างเรื่อง Hana Kimi เวอร์ชั่น รีเมคปี 2011 เปิดฉากมาด้วยบรรยากาศโรงเรียนโอซาก้าที่มีสภาพร้างๆ ค่ะ เป็นโรงเรียนที่จะถูกปิดตัวลงในอีก 3 เดือนข้างหน้าที่จะถึง ทั้งๆ ที่ “อาชิยะ มิซึกิ” กำลังย้ายเข้ามาแท้ๆ เธอก็เลยต้องมาต่อสู้กับภารกิจนี้ และใช้เวลาที่เหลือในรั้วโรงเรียนแห่งนี้ให้คุ้มค่าที่สุด

ส่วนภาพของ Hana Kimi เวอร์ชั่นแรกนั้น โรงเรียนจะมีสภาพไม่เก่า แล้วก็ไม่มี Mission เรื่องโรงเรียนกำลังจะปิดตัวในตอนต้นเรื่อง (แต่จะเป็นเพียงตอนๆ หนึ่งในเรื่อง ที่พวกนักเรียนมันเข้าใจผิดกันไปเอง)

อีกทั้งฉบับรีเมคจะมีเด็กโรงเรียนอื่นๆ เข้ามาร่วมแข่งขันกับแก็งเด็กเกรียนในโรงเรียนโอซาก้าด้วยค่ะ รวมถึงสาวๆ จากโรงเรียนหญิงล้วน St. Blossom ในฉบับรีเมคพอเปิดเรื่องมาจะไม่มี “ฮิบาริ” ในแก๊งค่ะ เพราะฮิบาริบินไปเรียนที่ฝรั่งเศสจะมี “จูริ” รองประธานนักเรียน รับหน้าที่หลักแทนในช่วงที่ฮิบาริไม่อยู่ และเป็นศัตรูหัวใจของ “มิซึกิ” แทนฮิบาริ ส่วนคนที่รับเป็นฮิบาริก็คือคนเดิมที่รับบทนี้ใน Hana Kimi เวอร์ชั่นแรก แต่ก็ให้ลุคที่ต่างกันหน่อย เพราะว่าเป็นคนละเวอร์ชั่นกัน

หรือจะเป็นเรื่อง “Death Note” ที่รีเมคอีกครั้งในปี 2015 แต่ครั้งนี้กลับมาพร้อมการตีความใหม่ ทั้งการดำเนินเรื่อง ฉาก พล็อตบางจุด ที่เด่นสุดๆ เห็นทีจะเป็นตัวละครค่ะ ทั้ง “ไลท์” และ “แอล” อย่าง “ไลท์” ก็จะมีลักษณะนิสัยที่ต่างจากไลท์คนเดิม เป็นคนธรรมดา ไม่ใช่ยอดอัจฉริยะ หวั่นกลัวต่อความผิดบาปมากกว่า ส่วน “แอล” ก็มีบุคลิกที่ต่างไปจากแอลคนเดิมตรงที่เป็นคนสะอาดขึ้น เนี้ยบขึ้น คุณหนูมากขึ้นค่ะ
การตีความใหม่ หรือการสร้างความแตกต่างให้กับละครรีเมค ก็จะทำให้ละครมีความน่าสนใจมากขึ้น ตรงที่ว่ามันก็จะไม่ออกมาในแนวเดิมๆ มากไป ไม่ใช่แค่เปลี่ยนนักแสดง แต่ต้องเปลี่ยนจุดอื่นๆ ของละครด้วย นอกจากนี้ยังลดปัญหาการเปรียบเทียบว่าเวอร์ชั่นไหนดีกว่ากัน (แต่ก็อดไม่ได้ทู้กกกที ที่จะเผลอเปรียบเทียบ แต่ก็จะรู้สึกนอยด์น้อยลง ด้วยเหตุผลที่ว่า ก็เขาตีความใหม่อ่ะเธออ~ มันก็ต้องมีความแตกต่างกันบ้าง) เพราะในเมื่อตีความใหม่ มันก็ย่อมไม่ใช่เรื่องเดิมเสียทีเดียว เมื่อมีความแตกต่าง เลยทำให้เกิดความรู้สึกว่าในแต่ละเวอร์ชั่นต่างมีเอกลักษณ์เป็นตัวของตัวเอง แม้จะเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกันค่ะ
4. รีเมคไม่บ่อย
เราจะพบเจอละครแนวรีเมคน้อยมากในบรรดาละครญี่ปุ่นค่ะ มีไม่กี่เรื่องเท่านั้นที่จะถูกนำกลับมาสร้างใหม่ แล้วก็ยังไม่นิยมมารีเมค ทำใหม่กันหลายตลบ รีเมคถึงรอบที่สองนี่ก็ถือว่าสุดๆ แล้ว ถ้าทำใหม่รอบที่ 3 ผู้จัด ผู้สร้างคงต้องคิดหนักกันหน่อย เพราะเขาต้องคิดต่อค่ะว่า ทำยังไงถึงจะเกิดความแตกต่าง และแน่ใจไหมว่า ถ้าทำออกมาอีกคนจะเบื่อหรือเปล่า รสนิยมการดูละครของคนญี่ปุ่นมักจะชอบดู “เรื่องใหม่” มากกว่า “เรื่องเก่า” ค่ะ ชอบความรู้สึกแปลกใหม่ ไม่ค่อยย้อนไปดูสิ่งที่เคยดูมาแล้ว ทำให้ละครรีเมคญี่ปุ่นไม่ค่อยนิยมนำมารีเมคซ้ำแล้วซ้ำเล่ากันบ่อยนัก
5. นิยมทำ “ละครภาคต่อ” มากกว่า “ละครรีเมค”

“ละครรีเมค” ไม่ใช่แนวที่จะมาเรียกเรตติ้งได้แบบพุ่งกระฉูดได้ค่ะ ถ้าไม่ใช่ละครแนวรีเมค แล้วจะเป็นละครแนวไหนกันล่ะ? ถ้านอกจากละครแนวใหม่ๆ แล้ว เห็นที่จะเป็น “ละครภาคต่อ” ค่ะ ถ้าไม่แน่ใจว่าแนวใหม่จะมีใครหันมาสนใจไหม ก็ลองหยิบของเก่ามา “ต่อยอดใหม่” ให้เป็นละครภาคต่อก็ได้ เราอาจจะเห็นละครรีเมคได้น้อยมากในละครญี่ปุ่น แต่ถ้าพูดถึง “ละครภาคต่อ” ล่ะก็…มีเยอะมากเลยค่ะ! ละครภาคต่อบางเรื่องทำออกมาเป็น 3-4 ภาค ดูกันให้เบื่อไปข้างเลยก็มี ละครที่จะนำมาทำเป็นภาคต่อนี้ก็มักจะเป็นละครที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างดี ยังคงยึดตัวละครเดิม Theme เดิม แต่มีเรื่องราวใหม่ เพิ่มเติมจากภาคก่อนๆ เลยเป็นเหตุผลที่ว่า…ทำไมละครญี่ปุ่นจบไม่เคลียร์ ก็เพราะจะได้ทำภาคต่อนั่นเอง ที่สำคัญเรื่องไหนได้ทำภาคต่อ รับประกันได้เลยว่าเรื่องนั้นต้องเป็นเรื่องที่สนุกแน่นอน!
ละครภาคต่อหลายเรื่องที่คว้าเรตติ้งไปแบบสวยๆ ก็เช่น Legal High, Dr.X, Team Dragon, Keizoku2 SPEC, Aibou หรือจะเป็นเรื่อง HERO ที่เพิ่งฉายเวอร์ชั่นภาพยนตร์ไปหมาดๆ หลัง จากฉายไปได้ใน 5 วัน (วันที่ 18 – 22 กรกฎาคม 2015 ) ก็กวาดผู้ชมได้ถึง 1,026,290 คนจาก 443 โรงทั่วประเทศ สร้างรายได้ผ่านบ็อกซ์ออฟฟิศ รวม 1.3 พันล้านเยน ทำให้เรื่อง “HERO” เป็นภาพยนตร์ที่กวาดจำนวนผู้เข้าชมเกินล้านคนได้เร็วที่สุดในปี 2015 เลยค่ะ!
สำหรับละครภาคต่อนี้ บางเรื่องก็จะเป็นละครภาคต่อที่ทำต่อจากละครด้วยกันเอง บางเรื่องก็จะทำภาคต่อในรูปแบบของภาพยนตร์ก็มีค่ะ
ข้อดีของละครภาคต่อก็คือ ละครจะมีแง่มุมใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาค่ะ มันจะไม่ใช่เป็นเรื่องเก่า ซ้ำเรื่องเดิมอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องเก่า ที่มีเนื้อเรื่องใหม่ ให้ความรู้สึกได้อยู่กับตัวละครที่เคยประทับใจ ในสถานการณ์ใหม่ๆ และการเติบโตไปกับตัวละครโปรดของเรา
และนี่ก็คือ ละครรีเมคญี่ปุ่นค่ะ ถ้าจะทำทั้งทีก็ต้องมีความแปลกใหม่ ตีความใหม่ หรือตีความเพิ่มเติมจากเดิมด้วย ให้ความรู้สึกประมาณว่า แม้จะเป็นเรื่องเก่า แต่ก็ไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียวนะ เวอร์ชั่นใครเวอร์ชั่นมัน มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง
แต่ละครรีเมคก็ยังไม่ถือว่าได้รับความนิยม หรือทำบ่อยเท่ากับ “ละครภาคต่อ” เรื่องไหนสนุกๆ เนี่ย แทนที่จะรีเมค เอามาเล่าต่อใหม่ซะเลย จะว่าเป็นเรื่องเก่าก็ไม่ใช่ จะว่าเป็นเรื่องใหม่ก็ไม่เชิง เป็นแนวละครที่เอาของเก่ามารวมกับของใหม่ ถ้าบ้านเรารีเมคละครกันจนเบื่อเมื่อไร “ละครภาคต่อ” ก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ ให้ความสนุกไปอีกแบบค่ะ
ตามติดบทความ ของ ChaMaNow ทั้งหมด คลิ๊ก >>> Sakura Dramas
ทักทายพูดคุยกับ ChaMaNow ได้ที่ >>> Facebook Sakura Dramas