ปัจจุบันนักมวยปล้ำญี่ปุ่นพยายามใช้โซเชียล เน็ทเวิร์คให้เป็นประโยชน์ เพื่อให้คนสนใจ และนำมาซึ่งเม็ดเงินสนับสนุน! ทีนี้เชื่อไหมครับว่าสำหรับค่ายมวยปล้ำน้องใหม่แล้ว ร้านอาหารถือเป็นสปอนเซอร์สำคัญที่สุด ทั้งเลี้ยงข้าวฟรีตลอดจนการติดโปสเตอร์
ก่อนอื่นที่ผมพาดหัวข้อไว้ว่า “เมื่อมวยปล้ำญี่ปุ่นอยู่ในช่วงขาลง?” นั่นเพราะผมได้มีโอกาสพูดคุยกับนักธุรกิจมวยปล้ำหลายๆ ท่านในช่วงเดือนสองเดือนที่ผ่านมาเกี่ยวกับทิศทางและการวางแผนเพื่ออนาคตของวงการมวยปล้ำ
คำพูดว่า “มวยปล้ำขาลง” เป็นประเด็นหลักที่เราใช้พูดคุยครับ แน่นอนจากภาพรวมที่เราเห็นเมื่อก่อนนั้นแม้กระทั่งในไทย มวยปล้ำญี่ปุ่นยังสามารถจัดการแสดงได้ในระดับคนดูกว่าหมื่นคน (ในญี่ปุ่นเองนั้นไม่ต้องพูดถึง เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว) แต่จริงๆแล้ว มวยปล้ำอยู่ในขาลงจริงรึเปล่า? อะไรคือสาเหตุที่ทำให้คนคิดเช่นนี้ และพวกเขาจะแก้ปัญหาอย่างไร?

1. ยอดคนดูน้อยลง
มวยปล้ำนั้นไม่มีฉายทางฟรีทีวีเท่าไรนัก จะมีก็คือคนที่ซื้อเคเบิ้ล อย่างไรก็ตามวงการมวยปล้ำก็เกิดการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย กล่าวคือค่ายใหม่ๆ ก็ไม่ได้วางสถานะของตัวเองไว้สูงส่ง บางค่ายยังไม่จดทะเบียนทางการด้วยซ้ำโดยจัดโชว์ในลักษณะของงานพิเศษเพื่อตัด รายจ่ายที่ไม่จำเป็นออก ดังนั้นพวกเขาต้องการยอดคนดูไม่มาก ก็จะสามารถคืนทุนได้ (เน้นการสร้างมิตรสหายในวงการเพื่อหยิบยืมมากกว่า ปัจจุบันวงการมวยปล้ำมักมีสถานที่ฝึกร่วมกัน แบ่งกันใช้ มากกว่าที่แต่ละค่ายจะสร้างเป็นของตัวเอง) ดังนั้นยอดคนดูถึงจะน้อยลง แต่พวกเขาก็เอาตัวรอดได้สบายๆ ครับ

2. แบ่งค่าย!
จากที่เราพูดว่ายอดคนดูน้อยลง มันก็โยงมาถึงเรื่องนี้ครับ ผมขอยกตัวอย่างค่ายมวยปล้ำหญิงเป็นหลัก ในช่วงยุค 90 ต้นๆ ที่มวยปล้ำหญิงญี่ปุ่นดังมากๆๆ ในไทย มันมีค่ายหลักๆ อันเดียวคือ AJW แต่พอปลายยุค90 นักมวยปล้ำดังๆของ AJW ก็แยกออกไปทำค่ายของตัวเอง รวมๆ แล้วก็เกือบสิบค่าย รอดบ้าง เจ๊งบ้าง ทีนี้ปัญหาที่เกิดก็คือพอคนดังๆ แยกค่ายไปแล้ว แฟนคลับของพวกเขาก็จะตามไปด้วย ดังนั้นจากโชว์ที่รวมคนไว้ 1 หมื่นคน มันก็จะแยกไปเป็น 2,000 2,000 2,000 2,000 2,000 เป็นต้น ทำให้เราอาจจะเสียดายที่ไม่ได้เห็นโชว์ใหญ่ๆ คนดูเยอะๆ แต่ถ้ามองตามความเป็นจริงแล้วคนดูก็ยังมีอยู่ไม่ต่างจากเดิมเท่าไรนักครับ

3. หันไปหาสื่ออื่นๆ
เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจครับ วงการมวยปล้ำตอนนี้ถูกมองว่ากำลังเกิด gap อย่างใหญ่หลวงระหว่างค่ายใหญ่และค่ายเล็ก กล่าวคือค่ายใหญ่นั้นในญี่ปุ่นโดดเด่นโผล่มาอยู่เจ้าเดียวแบบเห็นได้ชัดคือ New Japan Pro Wrestling ที่จับมือกับสื่อมากมายทั้งในส่วนของเล่น หรือกระทั่งสื่อโทรทัศน์ จุดนี้เองทำให้เขาเติบโตจนทำให้สมาคมอื่นๆ ดูอ่อนไปเลย โดยเฉพาะในสายตาของคนที่ไม่ได้ดูมวยปล้ำ เขาจะมีภาพจำคนละแบบกับแฟนมวยปล้ำทั่วไปนั่นเองครับ ทั้งนี้ทั้งนั้นสาเหตุก็คือเม็ดเงินและแผนการตลาดนั่นแหละ
4. สมาคมใหม่ๆ?
ตอนนี้มีสมาคมมวยปล้ำใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะเลยครับ ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นนักมวยปล้ำวัยร่วงโรยทั้งหลายที่อยากจะพักการปล้ำแล้วหัน มาหาธุรกิจทำ ซึ่งแน่นอนว่าการเปิดค่ายของตัวเองย่อมเหมาะสมที่สุด ทีนี้สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่ามวยปล้ำเป็นขาลงก็คือ เมื่อรุ่นเก่าค่อยๆ เลิกต่อสู้ คนรุ่นใหม่กลับพัฒนาตนเองมารับช่วงต่อไม่ทัน ทีนี้พอมันเกิดความแตกต่างชัดเจนขึ้น ก็เกิดการเปรียบเทียบโดยปริยาย และนำไปสู่ความผิดหวังจนอาจเลิกสนใจในที่สุด

5. สปอนเซอร์!
ในฐานะที่เป็นค่ายเล็กๆ ดังนั้นลืมนึกถึงสื่อกระแสหลักได้เลย ปัจจุบันนักมวยปล้ำพยายามใช้โซเชียล เน็ทเวิร์คให้เป็นประโยชน์ เพื่อให้คนสนใจ และนำมาซึ่งเม็ดเงินสนับสนุน! ทีนี้เชื่อไหมครับว่าสำหรับค่ายมวยปล้ำน้องใหม่แล้ว ร้านอาหารถือเป็นสปอนเซอร์สำคัญที่สุด ทั้งเลี้ยงข้าวฟรีตลอดจนการติดโปสเตอร์ ตอนนี้ผมเองในฐานะคนในวงการ ผมคิดว่าวงการมวยปล้ำคึกคักกว่าเดิมด้วยซ้ำครับ =)
พบกันใหม่สัปดาห์หน้าหรือทางทวิตเตอร์ @pumiiiiiiiiii ครับ