ขอแบ่งปันประสบการณ์เล็กๆ น้อยๆ จากการไปงานแต่งงานของคนญี่ปุ่นมาเล่าสู่กันฟังบ้างนะคะ สิ่งที่ดิฉันชอบเกี่ยวกับงานแต่งงานญี่ปุ่นมีดังต่อไปนี้ค่ะ

ช่วงนี้ดิฉันได้รับซองไปงานแต่งงานเยอะมาก และไปงานแต่งงานบ่อยมาก สิ่งที่ได้ยินคือ
ฝั่งเจ้าบ่าวเจ้าสาว:
– ไม่รู้แขกจะมาเยอะหรือเปล่า
– เตรียมโต๊ะเยอะเกิน/น้อยเกิน
– ของชำร่วย/อาหาร จะพอแขกไหม
แขก:
– งานเข้า ไปไม่ได้แล้ว
– รถติดมาก ไปไม่ทัน
– อาหารไม่พอ
– ในกรณีผู้ใหญ่วีไอพี อาจเกิดการต้องเวียนงานแต่ง 2-3 งานในช่วงฤกษ์งามยามดี
ดิฉันเลยขอแบ่งปันประสบการณ์เล็กๆ น้อยๆ จากการไปงานแต่งงานของคนญี่ปุ่นมาเล่าสู่กันฟังบ้างนะคะ สิ่งที่ดิฉันชอบเกี่ยวกับงานแต่งงานญี่ปุ่นมีดังต่อไปนี้ค่ะ
1. เชิญคนที่สนิทจริงๆ

คนญี่ปุ่นจะเชิญแค่คนที่สนิทจริงๆ มางานแต่งงาน เช่น ครอบครัว เพื่อนสมัยชมรม เพื่อนสมัยมัธยมหรือมหาลัยที่สนิทด้วยเท่านั้น งานจึงไม่ใหญ่มาก อย่างมากแขกก็ประมาณ 200 คนเท่านั้นเองค่ะ ไม่ต้องเกรงใจเหล่าเพื่อนคุณพ่อคุณแม่ เจ้าบ่าวเจ้าสาวไม่ต้องยืนฝืนยิ้มถ่ายรูปไปแล้วงงๆ ว่า สุภาพสตรีตีผมโป่งท่านนี้เป็นใคร
สิ่งที่น่ารักจากการจำกัดจำนวนคน คือเราสามารถทำอะไรให้แขกได้มากขึ้น อย่างงานหนึ่งที่ดิฉันไป ตรงหลังป้ายชื่อแขกที่ติดตรงที่นั่ง จะเป็นการ์ดข้อความขอบคุณที่เจ้าสาวหรือเจ้าบ่าวเขียนถึงคนคนนั้นด้วยตัวเอง เราจะรู้สึก Exclusive นิดๆ ดีเลยค่ะ
2. มีการส่งใบตอบรับ
เจ้าบ่าวเจ้าสาวญี่ปุ่นจะโทรศัพท์หรือเกริ่นด้วยวาจาล่วงหน้าก่อน แล้วค่อยส่งบัตรเชิญไปทางไปรษณีย์ค่ะ ในบัตรเชิญจะแนบไปรษณียบัตรติดแสตมป์สำหรับตอบกลับ อารมณ์คล้ายๆ ใบตอบรับ ผู้ตอบก็ต้องคิดอย่างจริงจังว่าจะไปหรือไม่ไป เพราะค่าใช้จ่ายต่อแขก 1 คนนั้นสูงมาก เนื่องจากอาหารที่เสิร์ฟเป็นอาหารหรู ของชำร่วยก็จริงจัง มูลค่าประมาณ 3-4 พันบาท เขาถึงต้องทราบจำนวนคนอย่างแน่นอนค่ะ
เนื่องจากอาหารงานแต่งของญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นอาหารคอร์ส 1 คน 1 ที่ ไม่ค่อยมีค็อกเทลหรือบุฟเฟ่ต์ อาหารจึงจะจริงจังมาก แพงมาก เขาเลยต้องกะจำนวนแขกให้เป๊ะๆ เพื่อจะได้เตรียมอาหารได้ทัน การเตรียมเป๊ะถึงขนาดที่ว่าล็อคที่นั่งไว้เลยว่า ใครนั่งโต๊ะไหน และลงรายละเอียดถึงขั้นนั่งข้างใคร
ดิฉันเคยลาภลอย ได้ไปงานแต่งงานของลูกศิษย์ภาษาไทยคนหนึ่งกะทันหัน คือลูกสาวคุณป้าแกแต่งงาน แต่เผอิญเพื่อนเขาที่บอกว่าจะมา มางานไม่ได้แล้ว ไม่สบาย 2 วันล่วงหน้า คุณป้าเลยให้ดิฉันไปแทน เพราะเสียดายคอร์สอาหารฝรั่งเศสสุดหรูในงานแต่ง คือ … มันเป็นเรื่องซีเรียสมาก ถ้าไปไม่ได้ก็ต้องรีบแจ้งเจ้าภาพ เขาจะได้สั่งลดอาหาร ปรับอะไรได้ทันค่ะ
ส่วนของไทยดิฉันเคยถามแม่ แม่บอกว่าถ้าทำอย่างนั้นเหมือนเป็นการไปคาดคั้นผู้ใหญ่ ดูเสียมารยาท อืม….มองกันคนละแบบจริงๆ ค่ะ
3. เริ่มเวลาที่แน่นอน
เจ้าบ่าวเจ้าสาวจะไม่มีการมายืนรอถ่ายรูปหน้างาน พอแขกมาถึงงานปุ๊บ รับของชำร่วย เซ็นสมุดเซ็นอวยพร แล้วก็จะถูกเชิญเข้าไปนั่งที่โต๊ะเลยค่ะ ไม่มีการทยอยๆ เข้างาน พอถึงเวลาเริ่มปุ๊บ เจ้าบ่าวเจ้าสาวก็จะเดินเข้ามาพร้อมกัน อารมณ์เปิดตัว อาหารก็จะเสิร์ฟตามเวลา เสิร์ฟให้ทุกคนพร้อมๆ กัน แถมเสิร์ฟคนละจาน ไม่มีการตักทานร่วมกัน ทุกอย่างจะเป๊ะๆๆ ตามกำหนดการ
4. เจ้าบ่าวเจ้าสาวง่ายต่อการเข้าถึง

สืบเนื่องจากข้อ 3. เจ้าบ่าวเจ้าสาวไม่ต้องยืนแช่หน้างานเพื่อคอยรอถ่ายรูปกับแขกที่ค่อยๆ ทยอยมาเหมือนงานแต่งไทย เจ้าบ่าวเจ้าสาวจะนั่งอยู่หน้าสุดของงาน เป็นโต๊ะเล็กๆ นั่งกันสองคน แล้วมีเวทีข้างๆ ให้คนขึ้นไปพูดสุนทรพจน์ได้ พอผู้ใหญ่กล่าวอวยพรจบ เราก็เริ่มทานอาหารกัน แขกก็สามารถเข้าไปถ่ายรูปกับบ่าวสาว หรือยืนพูดคุยได้ตรงนั้นเลย
นอกจากนี้เจ้าบ่าวเจ้าสาวก็เดินวนถ่ายรูปกับทุกโต๊ะด้วย ไอเดียหนึ่งที่ดิฉันชอบมาก คือเขาจะมีกล่องจับฉลาก ตอนเจ้าบ่าวเจ้าสาวมาถึง แต่ละโต๊ะก็จะจับฉลากว่า ตัวเองต้องโพสท์ท่าอะไร เช่น กดไลค์ ชูมือไอเลิฟยู ภาพก็จะออกมาขำๆ น่ารักๆ ดีค่ะ
5. ใช้พิธีกรมืออาชีพ
จริงๆ งานแต่งไทยก็น่ารักนะคะ ให้เพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาวเป็นพิธีกร ก็จะแซวบ่าวสาวหรือคุยเรื่องลึกซึ้งได้ แต่ของญี่ปุ่นจะใช้พิธีกรมืออาชีพ คือพนักงานที่ประจำ ณ โรงแรมนั้นๆ ข้อดีประการหนึ่ง คือพิธีกรเหล่านี้น้ำเสียงจะนุ่ม น่าฟังมาก และเขาจะมีวิธีการพูดให้แขกหยุดเม้าท์มอยแล้วหันมาฟัง หรือพูดไม่ติดๆ ขัดๆ แถมสามารถแซวอย่างสุภาพได้
6. มีโชว์เซอร์ไพรส์จากเพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาว
โชว์เซอร์ไพรส์ซึ่งก็อาจไม่ค่อยเซอร์ไพรส์เท่าไร เพราะไปกี่งานก็เห็นเพื่อนๆ เจ้าบ่าวเจ้าสาวเตรียมการแสดงอะไรกันมาทุกงาน แต่ไปลุ้นเนื้อหาการแสดงดีกว่า คือ พอหลังผู้ใหญ่กล่าวสุนทรพจน์จบ คนทานอาหารจนถึงคอร์สท้ายๆ พิธีกรก็จะประกาศว่า
“เอาล่ะค่ะ มีเพื่อนเจ้าบ่าวต้องการมาเซอร์ไพรส์เจ้าบ่าวเล็กๆ น้อยๆ ขอสละไมค์ให้คุณ … เลยค่า”
เนื้อหาโชว์ก็จะหลากหลาย เช่น การเต้นเพลงตลกๆ เพื่อนดิฉันอยู่ชมรมกีต้าร์ เพื่อนในชมรมก็จะมาเล่นกีต้าร์กันเป็นวง แล้วชวนเจ้าสาวมาเล่นด้วยกันตอนท้ายๆ ด้วยความที่เขาเชิญแต่เพื่อนสนิทกันด้วยมั้งคะ เราจะรู้สึกอบอุ่นมาก เพราะเพื่อนๆ ก็ตั้งใจซ้อมจริงๆ ทำเพื่อเจ้าบ่าวเจ้าสาวจริงๆ ตลกจริงๆ บรรยากาศเล็กๆ น่ารักมากๆ ค่ะ
7. การอ่านจดหมายขอบคุณ
ช่วงเวลาที่คนญี่ปุ่นร้อยละร้อยฟันธงว่า ซึ้งมาก อินมาก น้ำตาไหล คือช่วงท้ายสุดของงานค่ะ หลังจากเพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาวเซอร์ไพรส์ไปแล้ว ทานอาหารจะหมดแล้ว (เสิร์ฟของหวานแล้ว) เจ้าสาวญี่ปุ่นจะออกมาอ่านจดหมายที่ตัวเองเขียนเอง ถึงคุณพ่อคุณแม่ตัวเอง เนื้อหาจะประมาณว่า ขอบพระคุณที่พ่อแม่เลี้ยงดูมา ตอนเด็กๆ อาจไม่ค่อยเชื่อฟังอย่างไร ประกอบวีรกรรมอะไร แต่มีวันนี้ได้เพราะพ่อแม่
แต่ขอบอกว่าบรรยากาศตอนนั้นเงียบมาก แขกทุกคนเงียบ พนักงานเสิร์ฟหยุดเสิร์ฟ ทุกอย่างหยุดหมด และทุกคนตั้งใจฟัง ฟังแล้วก็ซึ้งน้ำตาไหลค่ะ ไปมาหลายงานน้ำตาซึมทุกงานเลย เจ้าสาวเองก็อ่านไปร้องไห้ไป มีเจ้าบ่าวคอยซับน้ำตาขี้มูกให้ข้างๆ เป็นภาพที่อบอุ่นดีจริงๆ ค่ะ

และนี่คือ 7 ไอเดียงานแต่ง ซึ่งจริงๆ ก็สะท้อนความเป๊ะ ความวางแผน การรู้จักขอบคุณกันและกันของคนญี่ปุ่นนะคะ สำหรับเกตุวดีตอนนี้ในหัวกลมๆ ของดิฉัน ก็มีธีมงานแต่งเรียบร้อยแล้ว มีสไตล์ชุดเจ้าสาวที่ชอบแล้ว มีลิสท์แขกในหัวแล้ว เหลือแค่เจ้าบ่าวเท่านั้น ใครสมัครวันนี้ โปรโมชั่นแถมฟรีไม่คิดค่าสินสอดค่ะ
ทักทายพูดคุยกับเกตุวดี ได้ที่ >>> Facebook เกตุวดี
เกตุวดีมีหนังสือเล่มใหม่แล้วจ้า ชื่อ “สุโก้ย Marketing-ทำไมใครๆ ก็ติดใจญี่ปุ่น”

เคยสงสัยกันไหมคะ ทำไมเราไปญี่ปุ่นกี่รอบๆ ก็ยังติดใจอยู่ ทำไมใครๆ ก็ไปเที่ยวดิสนีย์แลนด์ ทำไมเราถึงชอบแบรนด์ MUJI
นอกจากนี้ ดิฉันจะเล่าเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับญี่ปุ่นที่คุณผู้อ่านอาจไม่เคยมาก่อน เช่น หากแงะแพ็คเกจจิ้งกล่องน้ำผลไม้ของญี่ปุ่นมา จะเจอข้อความน่าประทับใจอะไรบางอย่าง ^^ ตั๋วรถไฟญี่ปุ่น สามารถใส่เครื่องตรวจพร้อมกัน 2 ใบได้ หรือกลยุทธ์การจัดร้านของร้านร้อยเยน
ใครสนใจ ลองหาดูได้ตามแผงหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ เช่น ซีเอ็ด นายอินทร์ ศูนย์หนังสือจุฬาฯ แต่บางร้านอาจของหมด Stock ที่ร้านคิโนะคุนิยะที่พารากอน และเซ็นทรัลเวิลด์ จะเยอะและมีขายแน่ๆ ค่ะ ☺ มาสุโก้ยไปด้วยกันนะคะ