พยากรณ์อากาศญี่ปุ่น..ท่ามกลางรายการทีวีญี่ปุ่นที่มีหลากหลาย แน่นอนว่าหนึ่งในนั้นมันต้องมีช่วงการรายงานพยากรณ์อากาศ ซึ่งเป็นอะไรที่ผม “ไม่ได้รอดู” แต่จะ “หยุดดู”
สมัยผมเรียนอยู่ที่ญี่ปุ่น การฝึกฝนภาษาญี่ปุ่นวิธีหนึ่งที่ทำบ่อยๆ คือการดูทีวี รายการทีวีนั้นมีหลากหลาย แต่สำหรับผู้เริ่มต้นเรียนภาษาอย่างผมก็จะดูมันไปทุกรายการ แต่จะเรียกว่า “ดู” ทีวีก็ไม่ถูกสักทีเดียวนัก เพียงแค่เปิดทีวีเอาให้เราได้ยิน “เสียง” เป็นพอ เสียงจากทีวีที่เปิดทิ้งไว้จะเสมือนเป็นเพื่อนเรา ก่อให้เกิดความรู้สึกว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียวในห้องพักของเรา และเป็นการฝึกฝนฟังภาษาญี่ปุ่นไปในตัวด้วย
ท่ามกลางรายการทีวีที่มีหลากหลาย แน่นอนว่าหนึ่งในนั้นมันต้องมีช่วงการรายงานพยากรณ์อากาศ ซึ่งเป็นอะไรที่ผม “ไม่ได้รอดู” แต่จะ “หยุดดู”
ขณะที่ผมกำลังเล่นเนต อ่านการ์ตูน หรือทำอะไรไปเรื่อยๆ นั้น หากผมได้ยินเสียงว่ารายการพยากรณ์อากาศกำลังมาเมื่อไร ผมจะหยุดกิจกรรมที่ทำอยู่และหันมาดูทีวี เพื่อเช็คว่าสภาท้องฟ้าอากาศว่าจะเป็นเช่นไรและจะได้วางแผนได้ถูก ในหนึ่งวันนั้นจะมีรายงานพยากรณ์อากาศฉายอยู่หลายช่วงอย่างเช่นเช้าตรู่ ช่วงกลางวัน เย็นและดึกๆ จะขี้หมูขี้หมาอย่างไร เปิดทีวีทิ้งไว้ได้ดูแน่ๆ
อย่างที่มีคนใน marumura เคยกล่าวไว้ว่าผลการพยากรณ์อากาศที่ประเทศญี่ปุ่นมีความแม่นยำประมาณหนึ่ง ผมดูผลการพยากรณ์อากาศเป็นเครื่องมือตัดสินใจว่าจะพกร่มติดตัวไปดีไหมจะไปเที่ยวสถานที่แบบไหนดี เน้นอยู่ข้างนอกตัวอาคาร หรือเที่ยวอยู่ในตึก ควรจะไปเดินช้อปปิ้งไหมเดี๋ยวมืออีกข้างหนึ่งถือร่มแล้วจะช้อปไม่สนุก
ผมให้ความสำคัญผลการพยากรณ์พอๆ กับการแหงนหน้ามองดูท้องฟ้า
ในรายการพยากรณ์อากาศจะมีแผนที่ประเทศญี่ปุ่นแสดงขึ้นมาบนจอทีวี ผมมองดูแผ่นที่ของเกาะใกล้แผ่นดินใหญ่แล้วไล่หาพื้นที่จุดสนใจอันได้แก่ โอซาก้า โตเกียวหรือนาโกย่า บนแผนที่อาจจะมีรูปการ์ตูนเป็น พระอาทิตย์ส่องแสงจ้า เมฆครึ้มหรือฝน ลอยอยู่เพื่อเป็นข้อมูลสื่อสารให้เรารู้ว่าอากาศมันจะเป็นอย่างไร
เสียงที่พากย์ประกอบรายงานสภาพอากาศนั้นเราอาจจะได้เห็นเจ้าของเสียงบนทีวีด้วย หรือถ้าเขาโชคไม่ดีเราก็จะได้ยินแต่เสียง
ผมเฝ้ารอดูพื้นที่บริเวณจังหวัดโอซาก้า มองเห็นรูปพระอาทิตย์ขึ้นมาหราเลย เอาหล่ะอากาศดีชัวร์ เสียงพากย์ก็ยังบรรยายไปเรื่อยๆ ผมสามารถฟังออกได้ซะส่วนใหญ่เพราะรูปแบบการพูดจะซ้ำๆ กันเป็น pattern ในลักษณะแบบนี้
大阪、晴れでしょう
{おおさか、はれでしょう}
[โอซาก้า ฮะเระเดะโช]
แปลได้ความว่า โอซาก้าอากาศ “น่าจะ” แจ่มใส
คำว่า でしょう [เดะโช] ลงท้ายประโยคมีความหมายว่า “น่าจะ” สมกับเป็นการ “พยากรณ์” อากาศจริงๆ ไม่ฟันธงตรงๆ ว่าอากาศดี “แน่นอน” มีการแทงกั๊กไว้ว่า “น่าจะ” ดี และเนื่องจากภาษาญี่ปุ่นกิริยาจะอยู่ท้ายประโยค การกระทำทุกสิ่งทุกอย่างจะชัดเจนหรือไม่นั้นเราต้องฟังตั้งแต่ต้นจนจบ จึงจะรู้ว่าผลการพยากรณ์อากาศมันเป็นเพียงความน่าจะเป็น หากเขาพูดลงท้ายว่า です [เดะสุ] แทนหล่ะก็นี่มั่นใจได้เลยว่า อากาศแจ่มใส 100%
การดูรายการพยากรณ์อากาศทางโทรทัศน์และฟังประโยคที่ลงท้ายว่า でしょう [เดะโช] ทำให้ผมนึกถึงลักษณะพิเศษของภาษาญี่ปุ่นที่สามารถพลิกแพลงสิ่งที่เราต้องการจะสื่อในระหว่างที่เรากำลังพูดกลางคัน สมมติว่าตอนแรกเรากะจะพูดลงท้ายด้วย です [เดะสุ] แต่เมื่อเรามองสีหน้าของผู้ฟังหรือเราเกิดเปลี่ยนใจกลางคันเราอาจจะพูดว่า ではありません [เดะวะอะริมะเซน] ซึ่งเป็นรูปปฏิเสธก็เป็นได้
การฟังพยากรณ์อากาศและได้ยินคำลงท้ายว่า でしょう [เดะโช] อยู่เรื่อยไป ว่าที่ตรงนี้ “น่าจะ” แดดออก ที่ตรงนี้ “น่าจะ” ฝนตก ฟังแล้วก็เพลินๆ ดีเหมือนกัน
[โตเกียววะ คุโมะริเดะโช] [โอซาก้าวะ คุโมะริโตะคิโดะคิ ฮะเระเดะโช] [นาโกย่าวะ อะเมะเดะโช]นี่ก็เป็นลักษณะภาษาญี่ปุ่นแบบนึง “でしょう” ในความคิดของผม
ทักทายพูดคุยกับ Wasu ได้ที่ >>> Facebook Wasu’s thought on Japan
เรื่องแนะนำ :
– ชื่อดนตรีฝรั่งฮิตตลอดกาล อมตะ… ในภาษาญี่ปุ่น
– โทริชิม่า : ข้อคิดการทำงานน่าสนใจจากบ.ก.ผู้อยู่เบื้องหลัง ด็อกเตอร์สลัมป์ และ ดราก้อนบอล
– คำว่า “มนุษย์” ที่มีความหมายลึกซึ้งในภาษาญี่ปุ่น
– เจ๊ะ เจ๊ะ เจ๊ะ คำอุทานสุดฮิปของอามะจัง ที่สร้างปรากฎการณ์ให้กับสังคม
– เคล็ดลับวาดการ์ตูนให้คนติดตาม ของผู้วาด “โจโจ้ล่าข้ามศตวรรษ”