แม้จะเป็นปาร์ตี้ งานสังสรรค์เล็กๆ แต่คนญี่ปุ่นเขาก็ยังมีการวางแผน จัดระบบระเบียบแบบแผนของเขา เขาตั้งใจฟังกัน ให้เกียรติกันและกัน ตอนสุดท้ายที่ทุกคนปรบมือพร้อมกัน ก็เหมือนการสร้างความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในระดับหนึ่งเลยทีเดียวค่ะ
คืนวันศุกร์ที่ผ่านมา เกตุวดีไปงานสังสรรค์ของชาวจังหวัดเฮียวโกะมาค่ะ พูดชื่อจังหวัดหลายคนอาจไม่คุ้น แต่ถ้าบอกเมืองโกเบ เมืองฮิเมจิ เพื่อนๆ คงจะร้องอ๋อกันนะคะ เกตุวดีเคยไปเรียนที่มหาลัยโกเบ เลยแอบเนียนเป็นคนจังหวัดนี้ไปร่วมแจมกับเขาด้วย คนญี่ปุ่นที่อยู่ในเมืองไทย เขาก็จะมีสมาคมของเขา คนบ้านเดียวกันก็มารวมตัวกัน ทานข้าวกันบ้าง ตีกอล์ฟกันบ้าง อย่างสมาคมคนเฮียวโกะนี่ มีสมาชิกกว่า 200 คนเลยค่ะ
คืนนั้นมีคนไปร่วมงานทั้งหมด 29 คน ดิฉันเป็นคนไทยเพียงคนเดียวค่ะ สมาชิกก็หลากหลายมาก บางท่านอยู่เมืองไทยมากว่า 20 ปี มีท่านหนึ่งเล่าให้ดิฉันฟังว่าลูกสาวแกเคยออก AF (Academy Fantasia) ด้วย แกให้ดูรูปลูกสาว หน้าลูกครึ่งญี่ปุ่นไทย ขาวๆ น่ารักมากค่ะ^^ ดิฉันได้คุยกับหนุ่มญี่ปุ่นคนหนึ่งซึ่งอยู่กรุงเทพฯมา 3 ปี แต่พี่สามารถคุยเรื่องการเมืองเป็นภาษาไทยกับดิฉันในระดับภาษาที่ไม่ธรรมดา แกรู้จักคำว่า “ปัญญาชน” “ประชาธิปไตย” “ประชาธิปัตย์” ค่ะ เสียดายที่ลืมถามว่ารู้จักศัพท์แสลงง่ายๆ อย่างคำว่า “ลุงกำนัน” ไหม 555… ถ้าพี่แกรู้จักอีกก็คารวะสามจอกแล้วค่ะ
คนญี่ปุ่นที่ดิฉันประทับใจที่สุดคือ โอโนะซังค่ะ โอโนะซังเป็นคุณลุงอายุ 76 ปี หน้าตาใจดีมาก ยิ้มตลอดเวลา แกบอกว่า แกอยู่เมืองไทยมา 50 ปี ครึ่งศตวรรษเลยค่ะ อยู่ตั้งแต่กรุงเทพฯ ยังมีรถรางวิ่ง น่าจะอยู่ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สองพอดี คุณพ่อแกมาทำธุรกิจที่นี่ แกเลยมาช่วยสืบสานธุรกิจต่อค่ะ ตอนทานข้าวเสร็จแล้วกล่าวอำลา แกก็โค้งให้ทุกๆ คนที่มาคุยกับแก โค้งต่ำมากๆ อย่างที่ทุกท่านทราบ ยิ่งเราโค้งมาก แปลว่าเรายิ่งให้เกียรติฝ่ายตรงข้ามมาก แม้ว่าโอโนะซังจะเป็นเจ้าของบริษัท (ชื่อดังที่หลายๆ คนน่าจะรู้จัก) แต่แกก็สุภาพและให้เกียรติผู้อื่นเสมอ คนเรายิ่งสูง ยิ่งอ่อนน้อมจริงๆ ค่ะ
ดิฉันสังเกตว่า ตั้งแต่ไปร่วมงานสังสรรค์ของกลุ่มคนญี่ปุ่นมาหลายกลุ่ม ทุกกลุ่มจะมีพิธีและลำดับเหมือนๆ กัน เป็นอะไรที่ตายตัวและคนไทยไม่น่าจะทำ ได้แก่
1. ป้ายแนะนำตัว
แม้ว่าคืนนี้ เราจะมีกันแค่ประมาณ 30 คน แต่ก็มีคนทำป้ายชื่อสติ๊กเกอร์มาให้ติดที่เสื้อเพื่อให้คนอื่นเรียกชื่อได้ถูกต้อง รวมถึงแจกตารางผู้เข้าร่วมงานคืนนี้ว่ามีใคร ชื่ออะไร ทำงานที่ไหนบ้าง


เจ้าสติ๊กเกอร์และกระดาษแผ่นนี้ จะเป็นประโยชน์มากเวลาเราคุยกับคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อน จะได้มีเรื่องคุยมากขึ้นค่ะ เช่น ทำงานที่บริษัทนี้ ธุรกิจอะไร บ้านเกิดเราอยู่ใกล้ๆ กันนะ บลาๆๆ
2. คัมไป สปีชท่านประธาน
เมื่อทุกคนมาครบแล้ว หรือถึงเวลาเริ่มแล้ว ท่านประธานของกลุ่มนั้นๆ ก็จะกล่าวทักทายหรืออัพเดทความเคลื่อนไหวและกิจกรรมกลุ่ม จากนั้นแน่นอนค่ะ สิ่งที่คนญี่ปุ่นต้องทำก่อนทานข้าว คือ การ “คัมไป” ชนแก้วกันนั่นเอง
3. แนะนำตัว
ลำดับถัดมา หลังจากคัมไปและทุกคนเริ่มทานอะไรกันนิดๆ หน่อยๆ แล้ว ก็จะเป็นการแนะนำตัวสมาชิกที่มา อย่างคืนนี้มากัน 29 คน ก็แนะนำตัวกันทุกคน ใครพูดจบ ทุกคนก็จะปรบมือให้ ให้เกียรติกันมากๆ กว่าจะแนะนำกันครบทุกคนก็กินเวลาไปเกือบชั่วโมงนึงพอดี
คนญี่ปุ่นชอบมีการจัดการแนะนำตัวต่อหน้าคนหรือในปาร์ตี้มากๆ สมัยเรียนมหาลัย เวลามีเด็กปี 1 หรือเด็กใหม่มาเข้าชมรม รุ่นพี่ก็ชอบให้เขาแนะนำตัวต่อหน้าทุกคน ตอนเกตุวดีอยู่ปี 1 แล้วต้องแนะนำตัวเป็นภาษาญี่ปุ่น จำได้ว่าตื่นเต้นมาก พูดคำว่า “ขอฝากเนื้อฝากตัวด้วยค่ะ (โยโรชิขุ โอเนไกชิมัส)” ผิดๆถูกๆ อยู่เลย
อาจารย์ที่ปรึกษาดิฉันเคยสอนว่า การแนะนำตัวที่ดีต้องให้เขาจดจำเราได้ ต้องบ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของเรา ไม่ใช่บอกแค่ชื่ออะไร เรียนที่ไหน หรือทำงานที่ไหนอย่างเดียว และเราต้องพูดเสียงดังฟังชัดด้วย อย่างเท่าที่ดูตัวอย่างเมื่อวาน เราจะจำคนที่แนะนำตัวได้เก่งหรือฮาค่ะ เช่น รุ่นพี่คนหนึ่งแนะนำตัวว่า กระผมเกิดที่ตำบลนี้ๆ ในจังหวัดเฮียวโกะ ย้ายเมืองที่ทำงานมาแล้ว 9 ครั้ง จากเฮียวโกะ ไปโอกายาม่า ไปฮิโรชิม่า ย้ายห่างจากเฮียวโกะไปเรื่อยๆ จนกระเด็นมาเป็นประธานบริษัทที่เมืองไทย อยู่มา 3 ปีแล้ว ต่อจากนี้ อาจโดนย้ายให้ไปไกลกว่าเดิมอีกครับ
พอเขาแนะนำตัวแบบนี้ เราก็จะจำเขาได้แล้วว่า อ๋อ คุณลุงที่ย้ายออฟฟิศบ่อยๆ นั่นเอง แล้วพอดีในโต๊ะเดียวกัน มีคุณลุงคนหนึ่งเคยไปทำงานที่จังหวัดฮิโรชิม่า ลุงกับลุงก็เลยคุยต่อกันได้อย่างเมามันส์ นี่คือตัวอย่างการแนะนำตัวที่ดีค่ะ

4. สังสรรค์จริงๆ เสียที
พอทุกคนแนะนำตัวกันเสร็จ ก็จะนั่งคุยกัน เราจะคุยกันได้ง่ายขึ้นเพราะมีข้อมูลพื้นฐานจากการแนะนำตัวของทุกๆ คนแล้ว ทานไปสักพัก ก็เริ่มลุกไปนั่งคุยกับคนอื่นๆ บ้าง วนๆกันไป
สิ่งสำคัญเวลาไปงานสังสรรค์คนญี่ปุ่นคือการพกนามบัตรไปเยอะๆ ค่ะ คนญี่ปุ่นชอบแลกนามบัตรกันมากๆ เวลาแนะนำตัวก็ยื่นนามบัตรไป อย่างคืนนี้ ดิฉันก็ได้มาหลายใบอยู่

5. เสร็จพิธี
งานคืนนี้เริ่มตอนทุ่มนึง พอสามทุ่มเป๊งปุ๊บ เลขาสมาคมก็เอาตะเกียบเคาะขวดเบียร์เป๊งๆๆ เอาล่ะทุกคน นี่ก็สามทุ่มแล้ว ใกล้ถึงเวลาปิดงานแล้ว แกไม่สนใจว่าพวกเรากำลังคุยอยู่อย่างเมามันส์ใดๆ หมด 2 ชั่วโมงก็คือหมด ไม่มีนั่งดื่มไปเรื่อยๆ สุดท้าย ท่านประธานก็กล่าวปิดเล็กๆ น้อยๆ แล้วก็ให้ทุกคนยืนขึ้นเพื่อทำ “อิปป่ง ชิเมะ (一本締め)” ค่ะ
อิปป่ง ชิเมะ คือ หัวหน้าหรือประธานจะพูด “โย๋วววว……” พอสิ้นเสียง ทุกคนจะตบมือพร้อมกันครั้งเดียว ปั้ง ใช้เมื่อสิ้นสุดงานสังสรรค์ต่างๆ แปลว่า “งานจบลงด้วยดี เราร่วมแรงร่วมใจกันมาดี ผู้จัดงานขอขอบคุณทุกท่าน” ประมาณนี้ค่ะ ถ้าเป็นงานมงคล เราจะเรียก “ซัมบ่ง ชิเมะ” คือปรบมือสามชุด 1-2-3/ 1-2-3/ 1-2-3/ 1 ปรบเป็นชุดใหญ่ค่ะ

แม้จะเป็นปาร์ตี้ งานสังสรรค์เล็กๆ แต่คนญี่ปุ่นเขาก็ยังมีการวางแผน จัดระบบระเบียบแบบแผนของเขา เขาตั้งใจฟังกัน ให้เกียรติกันและกัน ตอนสุดท้ายที่ทุกคนปรบมือพร้อมกัน ก็เหมือนการสร้างความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในระดับหนึ่งเลยทีเดียวค่ะ รู้สึกดีจังเลย ได้ทานอาหารญี่ปุ่นอร่อยๆ เจอคนญี่ปุ่นน่ารักๆ (ไม่ใช่หน้าตาอย่างเดียวนะคะ นิสัยค่ะ นิสัย) แถมมีมุขมาเขียน Japan Gossip ต่อ ข้อหลังนี่สำคัญที่สุด 555 แล้วพบกันอังคารหน้าจ้า
ทักทายพูดคุยกับเกตุวดี ได้ที่ >>> Japan Gossip by เกตุวดี Marumura