วันนี้ผมจะพาทุกคนมารู้จักทฤษฏีหนึ่ง ซึ่งได้รับการพัฒนาต่อยอดมาใช้ในบริบทต่างๆ ทางสังคมญี่ปุ่น ทฤษฏีนี้ มีชื่อว่า “ฮานะ” หรือแปลเป็นภาษาไทยว่า “ดอกไม้” นั่นเอง
สำหรับคนที่สนใจเรื่องของประเทศญี่ปุ่น และหลงใหลไปกับความงามทั้งด้านของตัวบุคคลตลอดจนข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ จนเผลอคิดขึ้นมาในใจว่า คนญี่ปุ่นเค้าคิดรูปแบบเหล่านี้ขึ้นมาด้วยทฤษฏีหรือไปสำรวจมาอย่างไรนะ ถึงทำให้วัฒนธรรมของตนเองกลายเป็นที่ถูกใจของคนทั่วทั้งโลกแบบนี้
วันนี้ผมจะพาทุกคนมารู้จักทฤษฏีหนึ่ง ซึ่งแต่เดิมเป็นทฤษฏีละครโน (能) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในรูปแบบละครขั้นสูงสุดของญี่ปุ่น ก่อนที่จะได้รับการพัฒนาต่อยอดมาใช้ในบริบทอื่นๆ ทางสังคม ทฤษฏีนี้ มีชื่อว่า “ฮานะ” หรือแปลเป็นภาษาไทยว่า “ดอกไม้” นั่นเอง

ก่อนอื่นเราต้องมองว่าทำไม “ฮานะ” ถึงกลายเป็นศาสตร์สำคัญของการละครและถูกหยิบยกมาใช้ในบริบททั่วไปทางสังคม กล่าวคือทฤษฏีนี้สร้างขึ้นเพื่อจับต้องความเป็นไปของสังคม เราต้องเข้าใจภาพรวมของคนรอบข้าง นั่นทำให้เราต้องศึกษาความเปลี่ยนแปลงของสังคมและพยายามรู้ให้ทันว่าคนรอบ ข้างเราต้องการอะไร ซึ่งไม่ใช่แค่ “เข้าใจ” แต่เราต้อง “คิดล่วงหน้า จนคอบรอบข้างเองก็ไม่คิดว่าเราจะทำให้” นั่นคือสาเหตุที่ทำให้หลายสิ่งหลายอย่างในญี่ปุ่นสามารถ “สร้างความประทับใจและตื่นตาตื่นใจตลอดเวลา” ให้กับคนที่พบเห็น ไม่ว่าจะเป็นตู้กดน้ำแบบแปลกๆ หรือการห่อของขวัญที่ผู้รับมีความสุขตั้งแต่ยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าสิ่งของ ภายในคืออะไร

นั่นรวมไปถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในวงการบันเทิงด้วย ผู้จัดและโปรดิวเซอร์ต่างก็พยายามนำศาสตร์ “ฮานะ” นี้มาใช้กับศิลปินในสังกัดตนเอง เพื่อทำความเข้าใจว่าแฟนคลับของตนต้องการอะไรและเราจะนำเสนออะไรแก่พวกเขาบ้าง “ฮานะ” ตามความหมายทางการละคร แปลว่า “ความสด – ความแปลกใหม่” และไม่ใช่ครั้งแรกที่เห็นเท่านั้น ผู้ชมควรจะสัมผัสถึงสิ่งเหล่านี้ทุกครั้งที่พบหน้ากัน
อย่างไรก็ตามการมี “ฮานะ” ไม่ใช่เรื่องง่าย กล่าวคือ “ฮานะ” จะแบ่งได้เป็น 2 ประเภท อย่างที่เราเห็นกันกลาดเกลื่อนในปัจจุบันเรียกว่า “ฮานะ” ชั่วคราว ซึ่งเกิดจากความพึงพอใจในรูปร่าง ภาพลักษณ์ภายนอกของสิ่งของ หรือความสดใหม่ซึ่งล้วนแต่ไม่จีรังยั่งยืน แต่สามารถสัมผัสและเข้าถึงได้ง่าย อย่างไรก็ตามการมีเพียง “ฮานะชั่วคราว” ไม่มีประโยชน์เท่าไรนัก เพราะหากเป็นศิลปินที่แก่ตัวลง หรือเป็นสิ่งของที่ทำมาเหมือนเดิมตลอดเวลา คนก็จะค่อยๆ เบื่อ การยอมรับก็จะลดลงตามลำดับ
ดังนั้นสิ่งที่คนควรจะมีก็คือ “ฮานะที่แท้จริง” สิ่งนี้คือการเรียนรู้ที่จะพัฒนาตนเอง ตลอดจนพยายามเข้าใจผู้อื่นตลอดเวลาตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น เพียงแต่เราต้องต่อยอดจากสิ่งที่เราประสบความสำเร็จด้วย “ฮานะชั่วคราว” อะไรดีก็ต้องเก็บไว้ เปรียบเสมือนเหล่านักแสดงอาวุโส รูปร่างหน้าตาของพวกเขาไม่ได้สวยสดงดงามดั่งที่เคยเป็น แต่เขามี “ฮานะ” จากการแสดงที่ยอดเยี่ยม ทำให้คนยังคงติดตามเขาเสมอ นอกจากนี้ทฤษฏีฮานะยังกล่าวอีกว่า แม้สิ่งที่ว่าดี ทำซ้ำไปก็ไม่ดี เปรียบเสมือนดอกไม้ เมื่อเรานึกให้ดีเรามีความสุขกับวัฏจักรของดอกไม้ เราหลงใหล “ช่วงเวลาของมัน” มากกว่าการรับรู้ว่าจะได้พบเห็นมันเมื่อไรก็ได้ อย่างเช่นเวลาที่เรารอคอยการกลับมาของดอกซากุระ สำหรับตัวเราเองก็เช่นกัน บางอย่างของเราเปลี่ยนไปไม่กลับมา แต่เราต้องพยายามถามตัวเองอยู่เสมอว่า “เรามีสิ่งใด ที่เมื่อหายไปแล้วคนเฝ้ารอรึเปล่า?” ถ้าไม่มี เราก็ต้องพยายามสร้างมันขึ้นมา ส่วนนี้คือส่วนที่สำคัญที่สุดเลยนะครับ

แต่วิธีที่จะได้มาซึ่งฮานะนั้นคืออะไร? คำตอบนี้ถูกอธิบายด้วยการแบ่งช่วงระยะเวลาของการเรียนรู้ศาสตร์อันเป็น ที่รักเอาไว้เป็นช่วงๆ กล่าวคืออายุ 7 ขวบ เป็นวัยที่เหมาะสมต่อการเริ่มต้นมากที่สุด เรื่อยไปจนถึงอายุ 12-13 ช่วงอายุนี้ “ไม่ว่าจะทำอะไรก็ดูดี ดูงดงามไปเสียหมด” จากนั้นช่วงวิกฤติแรกก็จะมาถึง นั่นคือตั้งแต่อายุ 17 ปีเป็นต้นไป ช่วงนี้ร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด ทั้งด้านน้ำเสียง ด้านสรีระ นี่คือจุดแรกที่เราต้องหันมาเรียนรู้เรื่องการปรับตัวให้อยู่ร่วมสังคมได้ ด้วยตนเอง เพื่อจะต่อยอดไปถึงช่วงสำคัญที่สุดของชีวิต นั่นคืออายุ 24 – 25 นี่คือช่วงที่เราจะเปิดรับศาสตร์ต่างๆ และฝึกฝนตนเองได้อย่างแท้จริง สิ่งที่ทุกคน “ควรจะทำให้ได้” ก็คือเริ่มมองหาอย่างอื่นที่ไม่ถูกจำกัดด้วยตัวตนของเรา คือไม่ได้ถูกจำกัดด้วยสภาพร่างกายซึ่งอาจด้อยคุณภาพลงเมื่อเวลาล่วงผ่าน นอกจากนี้ยังต้องหมั่นทบทวน ฝึกฝน และหาความรู้ใส่ตัวให้มากด้วย เพราะเมื่อเราอายุ 34-35 ร่างกายเราจะเริ่มเข้าสู่ช่วงนับถอยหลัง ความรู้ที่เราสะสมมาในช่วงวัยรุ่น จะเริ่มถูกนำมาใช้งานตั้งแต่ตอนนี้ และเมื่อเราอายุ 40 นี่คือบทพิสูจน์ว่าสิ่งที่เราทำมาตลอด “ใช้งานได้หรือไม่” ถ้าได้ นั่นคือฮานะที่แท้จริงที่จะทำให้เรายังคงโลดแล่น “เป็นที่รัก” ต่อไปอย่างภาคภูมิ
อย่างไรก็ตามถึงแม้เราอาจจะเกิดความผิดพลาดบางอย่างในชีวิตจนไม่สามารถมี “ฮานะ” ที่แท้จริง เราก็สามารถหาทางไปต่อให้ตนเองได้ นั่นเพราะผู้ที่รับชมตัวเรา หรือบุคคลรอบตัวเราที่เราอยากให้เขารักนั้น ก็มีทั้งคนที่ “ตาถึง” และ “ตาไม่ถึง” ดังนั้นเราสามารถมี “ฮานะชั่วคราว” เอาไว้ให้คนรักได้เสมอ นั่นคือการ “ประพฤติตนให้เหมาะสมกับกาลเทศะ” ศึกษาว่าเขาต้องการอะไร “และทำแค่สิ่งที่อยู่ในกรอบนั้น” ยกตัวอย่างสมมติดาราท่านหนึ่งรับบทเป็นพระเอกมาตั้งแต่อายุ 20 โด่งดังเป็นอย่างมาก แต่พอผ่านไปนานเข้า คนก็เริ่มเบื่อ คิดว่าเป็นพระเอกมานานเกิน เริ่มไม่อยากชม กรณีนี้หากเขายังดันทุรังเล่นบทพระเอกต่อไป ก็จะไม่มีคนสนใจแน่ๆ แต่ถ้าเขาเปลี่ยนมารับบทเป็นกระเทยหรือตัวร้ายบ้าง ก็จะเกิดความแปลกใหม่และอาจทำให้เขาเกิดใหม่ได้อีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้หากเป็นไปได้ ก็ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยวิธีการของตนเองให้ผู้อื่นรู้ เพราะต่างคนต่างมีเคล็ดลับเฉพาะตน การถูกขโมยไป อาจทำให้อนาคตของตนเองสูญหายได้
หวังว่าบทความชิ้นนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้อื่นนะครับ พบกันใหม่สัปดาห์หน้า หรือติดต่อผมโดยตรงได้ทางทวิตเตอร์ @pumiiiiiiiiii ครับ สวัสดีครับ