คุณหมอเล่าว่า คนไข้ไทยกับคนไข้ญี่ปุ่นต่างกันมาก คนไข้ไทย ไม่ชอบฟังคำอธิบายเยอะ หากหมออธิบายเยอะ ๆ คนไข้จะบอกว่า พอแล้ว ๆ หรือทำสีหน้างง ๆ คุณหมอคนไทยเลยอธิบายสั้น ๆ กระชับ
(บทความนี้ ได้รับการสนับสนุนจาก Japanese Hospital โรงพยาบาลสมิติเวช)
ปรกติดิฉันมักจะสัมภาษณ์คนญี่ปุ่นที่ทำงานออฟฟิศ ชวนเม้าท์มอยเรื่อง Culture Shock เมื่อมาอยู่ไทย
ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ดิฉันได้คุยกับคุณหมอและคุณพยาบาลญี่ปุ่น ซึ่งมาทำงานที่โรงพยาบาลในไทย มีเรื่องความแตกต่างวัฒนธรรมที่ดิฉันเอง ก็ไม่เคยรู้มาก่อนเต็มไปหมด ต้องขอบคุณทางโรงพยาบาลสมิติเวช ที่เอื้อเฟื้อสถานที่และนัดค่ะ
คุณหมอมินามิ คุณหมอผู้ชายท่าทางใจดี จากโรงพยาบาลทากัตสึกิ โอซาก้า มาอยู่กรุงเทพฯ ได้ประมาณ 6 เดือน ท่านช่วยให้คำปรึกษาแก่คนไข้ญี่ปุ่น และคอยสอนคุณหมอไทยเกี่ยวกับเทคนิคและวิธีรักษาแบบญี่ปุ่น

คุณหมอมินามิเล่าว่า คนไข้ไทยกับคนไข้ญี่ปุ่นต่างกันมาก คนไข้ไทย ไม่ชอบฟังคำอธิบายเยอะ หากหมออธิบายเยอะ ๆ คนไข้จะบอกว่า พอแล้ว ๆ หรือทำสีหน้างง ๆ คุณหมอคนไทยเลยอธิบายสั้น ๆ กระชับ
ในทางกลับกัน พอคุณหมอไทย ไปรักษาคนญี่ปุ่น คนไข้ญี่ปุ่นจะชอบนั่งฟังเงียบ ๆ นิ่ง ๆ ไม่ค่อยกล้าถามอะไร แต่ลึก ๆ จะอยากรู้ข้อมูลโดยละเอียด เพราะฉะนั้นหากหมอไทยเล่าสั้น คนญี่ปุ่นจะรู้สึกว่าหมอไม่ค่อยใส่ใจ
คุณหมอมินามิ ก็ต้องไปสอนคุณหมอไทยว่าหากมีคนไข้ญี่ปุ่นมาให้รักษา คุณหมอต้องอธิบายสาเหตุของโรค ชื่อโรค อาการที่เกิด วิธีรักษา ชื่อยา และระยะเวลาที่คาดว่าจะหาย เพื่อให้คนไข้ได้ข้อมูลครบถ้วน
ดิฉันยังจำได้ว่า ครั้งหนึ่งเพื่อนคนญี่ปุ่นดิฉัน พาภรรยามาเที่ยวเมืองไทย คืนนั้นภรรยาท้องเสียต้องเข้าโรงพยาบาล คุณสามีก็ไลน์มาถามดิฉันว่า
“หมอบอกว่า ภรรยาผมติดเชื้อ Streptococcus agalactiae
ทานยารักษา เดี๋ยวก็หาย
ผมพยายามไปเสิร์ชชื่อแบคทีเรียนี้เป็นภาษาญี่ปุ่น
มันขึ้นว่าเชื้อ Agalactiae
ผมพยายามหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ทต่อ ก็ไม่มี
คุณเกตุพอจะทราบรายละเอียดของเชื้อชนิดนี้ได้ไหมครับ”
แม้หมอจะบอกว่าพัก 2-3 วันก็หาย แต่ฮีคงกลัวว่าภรรยาจะติดเชื้อแปลกปลอมอะไรในต่างแดนเข้าไป ดิฉันเลยต้องไปถามเพื่อนที่เป็นคนไทยแต่จบแพทย์ญี่ปุ่นมา
“มันคือเชื้อ Group B Streptococcus (GSB)”
เกิดมาเพิ่งรู้ว่าหมอไทยกับหมอญี่ปุ่นเรียกชื่อเชื้อโรคต่างกัน …
พอบอกคุณเพื่อน ฮีก็ตอบมาด้วยน้ำเสียงดี๊ด๊าว่า
“อ้อ ! เจอข้อมูลในเน็ทแล้วครับ!
มีข้อมูลเยอะเลย ขอบคุณมากครับ”
คืนนั้นคงไปนั่งอ่านประวัติแบคทีเรียต่อทั้งคืน …
การได้ข้อมูลเชื้อแบคทีเรียยาว ๆ นี้ทำให้เขารู้สึกอุ่นใจเหลือเกิน
ดิฉันกำลังแอบคิดว่าถ้าแฟนเราไปป่วยที่ต่างประเทศ ฉันจะทุ่มเทในการค้นหาชื่อไวรัสแบคทีเรียขนาดนี้ไหมนะ ซึ่งคงไม่ … ขอแค่รู้ว่าแฟนรอด เราก็พอใจแล้ว
ฝั่งคุณโทโมโกะ ผู้ประสานงานการรักษาที่สมิติเวช ก็เสริมว่า
“อีกเรื่องที่คนญี่ปุ่นมักจะตกใจมาก คือ เรื่องการผ่าตัดค่ะ”
คุณโทโมโกะเล่าว่าเธอไปทำงานมาหลายประเทศมาก ทั้งที่ญี่ปุ่นเอง และที่อเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส
พอมาทำงานที่สมิติเวช เธอตกใจมากที่จำนวนแพทย์และพยาบาลมีเยอะกว่าโรงพยาบาลที่ญี่ปุ่นมาก
เช่น ห้อง ICU ที่ญี่ปุ่น โดยเฉลี่ยพยาบาล 1 คน จะดูแลคนไข้ 2 คน ส่วนที่สมิติเวช พยาบาลจะดูคนไข้หนึ่งต่อหนึ่งเลย
จำนวนแพทย์เฉพาะทางก็มากกว่า อย่างที่ญี่ปุ่น เวลาหมอตรวจคนไข้เสร็จ แล้วพบว่าคนไข้ต้องผ่าตัด หมอญี่ปุ่นจะบอกคนไข้ว่าอีก 1 อาทิตย์ค่อยกลับมาผ่า คนไข้ญี่ปุ่นก็จะมีเวลา 1 อาทิตย์ในการไปนั่งทำใจบ้าง เตรียมลางานที่บริษัทบ้าง
ตัดภาพมาที่ไทย …
หมอไทยจะบอกคนไข้ว่า
“คุณต้องผ่าตัดนะ พรุ่งนี้เช้าเตรียมตัวเลย”
คุณโทโมโกะบอกว่า คนไข้ญี่ปุ่นจะช็อคมากกกกก ….
มันกะทันหันขนาดนั้นเลยหรือ ยังไม่ได้ทำใจเลย
ฉันป่วยอาการหนักมากหรือ
ทำไมโรงพยาบาลต้องรีบผ่าฉันขนาดนี้
คุณโทโมโกะก็ต้องมานั่งปลอบประโลมคนไข้ญี่ปุ่น และอธิบายไปว่าที่ญี่ปุ่นให้คนไข้รอเพราะจำนวนหมอน้อยกว่าจำนวนคนไข้มาก ผ่าให้ไม่ทัน ทำให้ต้องยืดระยะเวลารักษาออกไป
แต่ที่ไทยหมอเฉพาะทางมีเยอะมาก ผ่าได้ทันที รีบรักษากันเถอะ
ดิฉันพยายามถามทั้งคุณหมอมินามิ และคุณโทโมโกะว่าที่ Japanese Hospital มีอะไรที่แตกต่างหรือใช้เทคโนโลยีที่ล้ำ ๆ แบบญี่ปุ่นบ้างไหม
ทั้งสองท่านก็เล่าด้วยสีหน้าอิ่มเอม …เช่น เทคนิคการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ทำให้สามารถพบความผิดปรกติของติ่งเนื้อได้เร็วกว่าการส่องกล้องทั่วไป
แต่สิ่งที่ดิฉันสังเกตได้ คือ ทั้งคุณหมอมินามิ และคุณโทโมโกะจะพูดคำว่า “ความรู้สึกคนไข้” บ่อยมาก ๆ
ทำอย่างไรให้คนไข้สบายใจที่สุด
ทำอย่างไร จะสังเกตสีหน้า ท่าทางคนไข้ให้ได้
ทำอย่างไร ให้ครอบครัวคนไข้สบายใจ ไม่ต้องกังวลเรื่องภาษาไทย
คิดเผื่อแผ่ไปถึงครอบครัวและบริษัทที่คนไข้ทำงาน
ตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงความใส่ใจความรู้สึกคนไข้ในแบบญี่ปุ่น คือ การใช้แสงสีฟ้า Blue Light ในห้องตรวจลำไส้ใหญ่
เนื่องจากแสง Blue Light จะช่วยให้คนไข้รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งเทคนิคนี้เป็นเทคนิคที่เกิดจากความร่วมมือทางการแพทย์ของโรงพยาบาลซาโน่ ประเทศญี่ปุ่น
การดูแลรักษาทางกาย อาจใช้เทคโนโลยี เทคนิคทางการแพทย์ระดับสุดยอดได้
โรงพยาบาลไหน ๆ อาจซื้อเข้ามาใช้ก็ได้
แต่ความใส่ใจทั้งกับคนไข้และครอบครัว
การเข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน
การหมั่นสังเกตสีหน้าและความรู้สึก
ตลอดจนการส่งคำปลอบโยนที่เป็นมิตร
เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากความละเอียด ใส่ใจของคุณหมอและพยาบาลญี่ปุ่น
ขอบคุณคุณหมอมินามิและคุณโทโมโกะ ที่ทำให้ดิฉันเข้าใจถึงจิตวิญญาณการบริการแบบญี่ปุ่นค่ะ
เรื่องแนะนำ :
– เยือนโรงพยาบาลญี่ปุ่นในไทย … ความแตกต่างทางวัฒนธรรม ตอนที่ 2: เมื่อคุณแม่ญี่ปุ่น เลือก …ไม่ได้
– เยือนโรงพยาบาลญี่ปุ่นในไทย … ความแตกต่างทางวัฒนธรรม ตอนที่ 1: แค่โต๊ะ ก็แตกต่าง