คั่นรายการ by Lordofwar Nick
Free Talk ต้อนรับปีใหม่ 2565 จากใจคน Gen X ที่โตมากับยุค JAPAN BOOM!!!
สวัสดีปีใหม่ 2565 กันนะครับท่านผู้อ่านทุกท่าน เนื่องในโอกาสปีใหม่นี้ผมเองก็ถือว่าเป็นช่วงของการพักสมอง ปล่อยวางจากกิจการงานหน้าที่ต่างๆ ที่เราต้องยุ่งอยู่กับมันตลอดทั้งปี พอเราปล่อยวางแล้ว มันก็เลยมีช่องว่างที่ทำให้เราควรมาคิดถึงสิ่งที่เคยผ่านมาในอดีต ก็คิดว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะทบทวนมันเพื่อที่จะมองไปข้างหน้าว่าจากนี้ไปมันจะไปทางไหน เราควรจะไปทางไหน นะครับ
ฉะนั้นวันนี้ผมก็ขอ Free talk สัก 1 วันนะครับมาพูดถึงเรื่องของชีวิตและแรงจูงใจและความรู้สึกต่างๆ สิ่งที่เข้ามาในชีวิต สิ่งที่รู้สึกต่างๆ จากการที่จุดเริ่มต้นของเราคือเป็นแค่ว่า เป็นเด็กคนหนึ่งซึ่งโตมากับกระแสวัฒนธรรมญี่ปุ่น ซึ่งก็ถูกกระแสพัดพาจนกระทั่งชีวิตก็มาเป็นอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่พูดเยอะและเข้าเรื่องเลยดีกว่าครับ
เด็ก 5 ขวบกับการ์ตูนโดราเอมอน
ผมจำได้ว่าตอนอายุ 5 ขวบผมชอบดูการ์ตูนเรื่องโดราเอมอนมาก (จริงๆ ต้องบอกว่าสมัยนั้นเขาเรียกเพี้ยนเป็น “โดเรม่อน” นะ) ซึ่งพ่อผมก็ไม่ได้ว่าอะไรแต่เขาจะชอบสอนว่าให้ดูโนบิตะเอาไว้ว่าเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี เป็นเด็กขี้เกียจไม่ตั้งใจเรียนแล้วก็จะเรียนห่วย แล้วก็จะกลายเป็นคนห่วยๆ ที่ต้องคอยพึ่งของวิเศษของโดเรม่อน (ซึ่งบางทีก็เป็นของวิเศษที่ทำให้สิ่งต่างๆ มันแย่ลงมากกว่าจะดีขึ้น) อย่าทำตัวแบบนั้น เพราะฉะนั้นคำสอนของพ่อผมเลยกลายเป็นตัวที่เปลี่ยนการ์ตูนจากการดูเพื่อความบันเทิงอย่างเดียว กลายเป็นแบบอย่างทางจริยธรรมไปซะอย่างนั้น!!!
(เรื่องราวในการ์ตูนโดราเอมอนนั้นไม่มีตอนไหนที่ฝังใจผมเท่ากับตอนที่พูดถึงขนมปังที่เอาไปแปะหน้าหนังสือแล้วกินเข้าไปคุณจะจำเนื้อหาในหนังสือหน้านั้นได้ ซึ่งโนบิตะก็ตั้งใจกินแบบว่าเอาขนมปังมาแปะหน้าหนังสือทั้งเล่มเพื่อจะได้ไปสอบวันรุ่งขึ้น ปรากฏว่ากินเยอะไปหน่อยขี้แตกเลย แล้วความรู้ที่กินมาก็หายลงโถส้วมหมด 555)
พอตัดกลับมาที่การ์ตูนอีกเรื่องต่อมา คือเรื่องอิคคิวซัง คราวนี้กลายเป็นหนังคนละม้วนเลยครับ พ่อบอกว่าเนี่ยเห็นไหมคนเราต้องใช้หมองนั่งสมาธิแล้วจะเกิดปัญญาจะคิดอะไรต่างๆ ออกว่าเราควรจะทำยังไงเวลาเจอปัญหา
พอโตมาอีกนิดเรียนประมาณป. 1 ป. 2 ผมชอบดูหนังพวกขบวนการ 5 สีมาก พ่อผม (อีกละ) ก็บอกว่าเนี่ยดูเอาไว้เป็นตัวอย่างนะ คนญี่ปุ่นเนี่ยที่เขาพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญได้ ก็เพราะเขารู้จัก “รวมพลัง” กัน
พออยู่ชั้นประถมปลายเริ่มประมาณ ป.5 ป.6 เด็กผู้ชายยุคผมต้องดูเรื่อง “หมัดเทพเจ้าดาวเหนือ” การ์ตูนเรื่องนี้สอนให้ผมรู้ว่า ในโลกที่ไม่มีความยุติธรรม มีแต่การใช้อำนาจกดขี่ ใช้ความรุนแรง เราต้องมี “พลัง” เพื่อปกป้องคนที่อ่อนแอกว่า ต้องมีวิชาต่อสู้ติดตัว การ์ตูนอีกเรื่องที่เพื่อนๆวัยเดียวกันกับผมชอบอ่านมากก็คือเรื่อง Black Angel ถึงพระเอกจะทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย ทำตัวเป็นศาลเตี้ย แต่มันก็คือการกระทำเพื่อทวงความยุติธรรมให้กับคนอ่อนแอ ที่ถูกผู้มีอำนาจ (บางทีก็เป็นคนที่ถือกฎหมายอยู่ในมือด้วย) ข่มเหงรังแก อีกเรื่องนึงก็ต้องนี่เลยครับ “วีรบุรุษจากลหุโทษ” พระเอกหนุ่มผู้ได้ชื่อว่าคนขี้คุกลุกขึ้นสู้กับอำนาจเถื่อนที่หวังครอบงำสังคม!!!
การ์ตูนเหล่านี้ถึงตอนนั้นยังเด็กอาจจะอ่านหรือดูเพียงเพื่อความบันเทิงเท่านั้น แต่เมื่อมองย้อนกลับไป ผมเชื่อว่าการ์ตูนเหล่านี้น่าจะมีส่วนในการสร้าง “ค่านิยม” อย่างหนึ่งซึ่งมีอิทธิพลต่อชีวิตผมมาถึงแม้กระทั่งตอนนี้นั่นคือ “การฝึกวิชาต่อสู้” มันอาจจะมีอิทธิพลเข้าไปถึงระดับจิตใต้สำนึก เลยทีเดียว
พอผมอยู่มอต้น เพื่อนเอาการ์ตูนเรื่อง Video girl มาให้อ่าน โอ้โห ทำไมช่างน่ารักอย่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นไอจัง โมเอมิจัง หรือโนบุโกะจัง คนไหนก็ได้ให้เป็นแฟนผมผมเอาหมด 55 เนื้อเรื่องที่มีพระเอกเป็นหนุ่มหล่อสาวไม่แลที่อยากจะหาความรักแท้สักทีเนี่ย มันก็ช่างโดนใจหนุ่มน้อยมอต้นที่ยังหาแฟนไม่ได้ (เพราะเ-ือกไปอยู่โรงเรียนชายล้วน) เสียจริงๆ มันเลยกลายเป็นว่าผู้หญิงสวยน่ารักในอุดมคติของผมต้อง ขาว หัวกลมๆ น่ารักสไตล์ญี่ปุ่น ซึ่งสเปกสาวในอุดมคติของผมนี่แหละมีผลต่อการเลือกเมียในอนาคตอีกหลายปีให้หลังได้จริงๆ นะครับ (ฮา)
Video Girl Ai สาวน่ารักในการ์ตูน ขาวๆ หัวกลมๆ
สาวน่ารักใน “ชีวิตจริง” ไม่ต้องพูดเยอะ (ฮา)
สรุปก็คือแค่การ์ตูนญี่ปุ่นอย่างเดียวนี่ก็มีอิทธิพลต่อชีวิตของผมมาถึงทุกวันนี้ ตั้งแต่เรื่องการที่ต้องเป็นคนตั้งใจศึกษาเรียนรู้สิ่งต่างๆ การพยายามทำใจเป็นสมาธิ การฝึกวิชาต่อสู้ ไปจนถึงการจีบหญิงมาเป็นเมีย เลยทีเดียว นี่แทบจะทุกด้านของชีวิตแล้วนะ (เหวอ)
ส่วนการ์ตูนเรื่องล่าสุดที่ได้มีโอกาสกลับไปอ่านผ่านๆ ใหม่คือการ์ตูน “ไข่กวน” ครับ 555
อันนี้การ์ตูน “ไข่กวน” ฮ่ะ เผื่อเด็กสมัยนี้ไม่รู้จัก 555 อันนี้เอาที่มันซอฟๆ หน่อยมาลงแล้วนะ เกรงใจ บก. 555
เล่นเกมมาริโอ้จนนิ้วโป้งห้อเลือด
สมัยตอนผมอยู่ราว ป. 5 ป. 6 ก็เป็นครั้งแรกที่ได้รู้จักเครื่องเล่นเกมส์แฟมิคอม แน่นอนเกมแรกที่เล่นในชีวิตก็ต้องมาริโอ้สิ ไม่อยากจะบอกว่าผมเคยเล่นทั้งวันทั้งคืนเสียจนนิ้วโป้งขวาที่เอาไว้กดปุ่ม A ปุ่ม B น่ะถึงกับห้อเลือดเลยทีเดียว
การเล่นวิดีโอเกมเนี่ยผู้ใหญ่สมัยนั้นเขาก็มองไม่ค่อยดีเหมือนกัน ก็พอๆ กับที่ผู้ใหญ่สมัยนี้มองเด็กที่เล่นเกมคอมพิวเตอร์นั่นแหละครับ ผู้ใหญ่บางคนก็บอกว่ามันเป็นของที่พวกญี่ปุ่นสร้างขึ้นมาเพื่อล้างสมองเด็ก (?) ถ้าผมจะมองจากมุมมอง ณ ปัจจุบันมองย้อนกลับไป ผมคิดว่าแค่การเล่นวิดีโอเกมมันไม่ใช่ปัญหานะ ปัญหาคือ “การเล่นไม่รู้จักหยุดหย่อนต่างหาก” จริงๆ เกมสมัยก่อนน่ะ ถ้าเล่นดีๆ เอาจริงๆ 1 ชั่วโมงครึ่งชั่วโมงก็เล่นจบแล้ว (สมัยผมเรียกว่า น๊อค knock) ผมว่าเกมคอมพิวเตอร์สมัยนี้โดยเฉพาะเกมออนไลน์น่ากลัวกว่าอีก เพราะมันเป็นเกมที่ “ไม่มีจุดจบ” ไม่มีเส้นชัย เล่นเรื่อยเปื่อยไปเรื่อยๆ Video game สมัยผมยังเด็กนั้นเล่นจบแล้วก็แล้วกัน (แล้วก็เอาตลับเกมเก่าไปเทิร์นเป็นเกมใหม่)
นี่แหละครับคือเหตุผลที่ว่า ทำไมทั้งๆ ที่ผมเองก็โตมากับวีดีโอเกมนะ แต่ผมก็แอนตี้และไม่เล่นเกมออนไลน์ครับ เกมที่ไม่มีจุดจบอ่ะเล่นไปก็เสียเวลาในชีวิตดึงเอาเวลาในชีวิต (ที่ควรจะเอาไปทำอย่างอื่นได้) เสียเปล่าๆ
ผมก็ยังเล่นวีดีโอเกมมาเรื่อยๆ ผ่านยุคสมัยต่อๆ มาทั้ง Mega drive ซุปเปอร์แฟมิคอม มาจนถึง Playstation ซึ่งพอหลังจากนั้นผมเองก็เริ่มเข้าสู่วัยผู้ใหญ่แล้วคืออายุเกิน 20 แล้ว จบ ป.ตรีแล้ว มันก็มีเรื่องอย่างอื่นให้ทำเยอะแยะเสียจนห่างหายไปจากการเล่นวิดีโอเกม แต่หนังสือการ์ตูนผมยังอ่านมาเรื่อยๆ จนถึงอายุ 30 กว่าๆ (อาศัยเช่าการ์ตูนอ่านเอา)
กระแส J-POP กับความรำคาญ “ติ่งญี่ปุ่น”
ผมจำได้ว่าตั้งแต่ช่วงรอยต่อระหว่างม.ปลายกับมหาลัยนั้น กระแส J-POP และ J-ROCK กำลังมาแรง เอาเท่าที่จำได้นะแน่ๆ ก็ X Japan แล้วก็นามิเอะ อามุโร่ แล้วก็นานาเซะ ไอคาวะ (ที่ผมจำได้มีแค่นั้นแหละ) สมัยนั้นจะมีรายการวิทยุที่เขาเปิดเพลงญี่ปุ่นตาม Oricon chart ด้วย ซึ่งผมชอบฟังเพลงญี่ปุ่นที่เขาเปิดนะ แต่ไม่ชอบพวกติ่งญี่ปุ่นที่โทรเข้ารายการมาหน้าไมค์ แสดงความวอนนาบีอยากเป็นญี่ปุ่นเสียจนต้องอุปโลกน์ชื่อญี่ปุ่นให้ตัวเองด้วย เช่น “มิชิโกะค่าาาา” อะไรประมาณนี้
ในช่วงผมอยู่มหาลัยถ้าพูดเรื่อง J-POP หรือ J-ROCK ข่าวไหนก็ไม่ดังเท่า HIDE แห่งวง X Japan เสียชีวิตกระทันหัน ติ่งเมืองไทยอาการหนักมากขนาดที่ว่าต้องเอารูปฮิเดะมาตั้ง จัดงานนิมนต์พระมาสวดให้เลยทีเดียว คนฟังสวดก็พนมมือฟังไปร้องไห้ไป (จริงๆ นะ ผมจำได้เพราะเป็นข่าวออกทีวีเลย) ส่วนที่ญี่ปุ่นมีข่าวว่ามีวัยรุ่นฆ่าตัวตายตามไปถึงสามคน (ถ้าจำไม่ผิดนะ) ผมไม่ติ่งขนาดนั้นแต่ก็ตกใจเหมือนกันเพราะที่ผ่านมาผมยังซื้อเทป (เด็กสมัยนี้ได้ยินแล้วต้องสบถแน่ๆ) อัลบั้ม DAHLIA อยู่เลย แถมนั่นแกะเนื้อร้องภาษาญี่ปุ่นแปลเป็นไทยให้เพื่อน (แก๊งโรงเรียนเก่า) ที่ชอบ X Japan อีก แค่เรื่องตอนนั้นยุบวงก็เหวอแล้ว ฮิเดะยังมาด่วนตายอีกนี่ โอ้ ชีวิต
หลังจากนั้นมาผมก็ไม่ได้ฟังเพลงญี่ปุ่นอย่างจริงๆ จังๆ เท่าไหร่ มาถึงวันนี้อาจจะฟังผ่านๆ บ้างตามยูทูปซึ่งโดยมากก็เป็นเพลงเปิดของอนิเมะ แน่นอน GURENGE ผมก็ฟังนะ ผมชอบอนิเมะเรื่องไหนก็ฟัง OP ของมันหมด ส่วนวงที่ทำเพลง OP ถ้าให้นึกสักหนึ่งชื่อ ก็คงเป็นวง Fear and Loathing in Las Vegas ที่โดนๆ ก็คงเป็น OP ในอนิเมะ “คิเซจู” (ปรสิตเดรัจฉาน) กับ “บากิ” นั่นหละครับ
“มองอย่างตะวันออก”
ช่วงที่ผมอยู่ ม. ปลายถึงตอนเพิ่งเข้ามหาลัย มีกระแสของการเห่อ “ภูมิปัญญาญี่ปุ่น” ขึ้นมาซึ่งในด้านหนึ่งก็เหมือนจะโผล่มาเพื่อเป็นคู่แข่งของ “ภูมิปัญญาฝรั่ง” (ซึ่งจริงๆ แล้วหมายถึงองค์ความรู้และวิธีการคิดและทำอย่างฝรั่ง หรือจะพูดให้เจาะจงคืออย่างฝรั่ง “อเมริกัน”) ตั้งแต่เรื่องการบริหารจัดการ เช่น KAIZEN หรือ LEAN ไปจนถึงเรื่องของสังคม บอกว่าเนี่ยคนไทยควรเอา “ญี่ปุ่น” เป็นแบบอย่างในเรื่องความเจริญ ญี่ปุ่นขยัน คนไทยขี้เกียจ ญี่ปุ่นทำงานเป็นทีมได้ดี คนไทยทำงานเป็นทีมไม่เป็นชอบตีกันเอง (บ้านเมืองถึงไม่เจริญ) ญี่ปุ่นมีระเบียบวินัย ตรงต่อเวลา คนไทยไม่มีระเบียบ ไม่รู้จักรักษาเวลา ฯลฯ บางคนแทบจะตีขลุมเลยว่าคนไทยเมืองไทยต้องทำตัวอย่างญี่ปุ่นแล้วจะได้เจริญอย่างญี่ปุ่นเขาบ้าง แต่เมื่อผมมองจากมุมของปัจจุบัน ซึ่งเทียบกับตอนนั้นคือ “อนาคตอีกยี่สิบกว่าปีข้างหน้า” ก็อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า เราอยากให้สังคมไทยเป็นสังคมที่….
…คนทำงานบริษัททำงานหนักหัวไม่วางหางไม่เว้น ตกเย็นก็ต้องกินเหล้ากับเจ้านาย จนไม่มีเวลาออกกำลังกาย พักผ่อน หรือให้เวลากับครอบครัว ทำงานจนหัวใจวายตายหรือฆ่าตัวตาย (เป็นประเทศที่ Work-life balance เลวมาก)
…ชีวิตในโรงเรียนกลั่นแกล้งกันจนถ้าคนโดนแกล้งไม่กลายเป็นไอ้บ้า ประสาทเสียจนเรียนหนังสือหรือทำการทำงานไม่ได้ ก็กลายเป็นตามไปล้างแค้นไปไล่ฆ่าคนอื่นกลับ
…คนอยู่อย่างไม่ไว้ใจกัน ปฏิสัมพันธ์ในฐานะเพื่อนมนุษย์หายาก มีแต่การเว้นระยะห่าง หาเพื่อนที่เชื่อใจกันยังยากเลย นับประสาอะไรกับหาคู่หาผัวหาเมีย อยู่เป็นโสดไปเถอะ
อยากให้สังคมไทย เป็นอย่างที่ว่ามา เหมือนสังคมญี่ปุ่น จริงเหรอครับ (แลกกับ “ความเจริญ” “ประสิทธิภาพ” ห่าเหวอะไรสักอย่าง) พวกคุณๆ “ด๊อกเตอร์” ทั้งหลาย?
ผมพอผ่านชีวิตมามากเข้า ได้ทุนไปเรียนต่อญี่ปุ่น เคยทำงานบริษัทญี่ปุ่น บอกตรงๆ จากเคยชอบทุกอย่างที่เป็นญี่ปุ่น ตอนนี้มีทั้งสิ่งที่ชอบและไม่ชอบครับ
วัฒนธรรมไอดอล
หลายคนอาจเข้าใจว่าวัฒนธรรมไอดอลเข้ามาในไทยตอนที่เมืองไทยมีวง BNK48 แต่ผมอยากจะบอกว่าวัฒนธรรมไอดอลน่ะเข้ามาในไทยก่อนหน้านั้นนานมาก เอาจริงๆ คือตั้งแต่เบเกอรี่มิวสิคตั้งค่ายเพลง DOJO CITY แล้วก็ออกนิตยสาร KATCH กับ MANGA KATCH ต่างหาก นั่นแหละครับคือจุดเริ่มของการนำเข้าวัฒนธรรมการเสพนักร้องไอดอล คือร้องเพลงไม่ต้องดีมาก แต่ต้องเน้นขายภาพความเด็ก ความน่ารักสดใส (ยิ่งต่ำกว่า 15 นะ แม่เจ้าโว้ย!!!) ให้คนไปดูภาพแล้วเสพความน่ารักให้ชื่นใจ (แต่ก็ต้องระวังสายตาสังคมด้วย ตอนนั้นเพื่อนที่มหาลัยบอกว่าเวลาถือนิตยสารต้องหาไรมาปิดปกไว้ กลัวคนเขาเห็นปกเขาจะนินทาได้ว่าเป็นพวกบ้าเด็ก 555) โดยส่วนตัวผมคิดว่าวัฒนธรรมไอดอลถูกสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองรสนิยมองคนที่รับเอาค่านิยมของ “ผู้หญิงสวยน่ารัก” มาจากการ์ตูน (คือต้องขาว น่ารัก ดูเป็นเด็กวัยรุ่น) นั่นแหละครับ
Katch เล่มแรก จริงๆ ผมเคยสะสม KATCH กับ MANGA KATCH หลายเล่มอยู่นะ แต่ยกให้เพื่อนไปหมดซะงั้น
คน Gen X เหลียวไปมองคน Gen Alpha
ผมเป็นคน Gen X ซึ่งมีลูกชายตอนนี้แปดขวบ เป็นคน Gen Alpha แน่นอน เมื่อมองแล้วเปรียบเทียบกัน ผมก็เห็นความแตกต่างในการรับเอาวัฒนธรรมหรือค่านิยมดังนี้
1. ลูกชายผมไม่ได้อินกับการ์ตูนญี่ปุ่นเท่ากับผมตอนที่อายุเท่ากันอีกแล้ว ลูกผมโตมากับพวกสัตว์ประหลาดน่าเกลียดน่ากลัวของ Trevor Henderson เช่นไซเรนเฮอด หนอนสะพาน อะไรงี้ ถึงจะเคยเห่อ “ดาบพิฆาตอสูร” ก็เถอะแต่ก็ไม่ได้มาจากการดูอนิเมะโดยตรง เห่อเพราะตามกระแสจากการนำเอาดาบพิฆาตอสูรมา “เล่าซ้ำ” ตามรายการในยูทูปต่างหาก (บวกกับกระแสเห่อของเพื่อนๆ ในห้องเรียนตอน ป. 1) และลูกผมก็ไม่ได้อินขนาดชอบดูอนิเมะต้นฉบับด้วยซ้ำ (เคยชวนลูกดูในเน็ตฟลิกซ์ตอนสองตอนก็เลิก ลูกดูพวกสปอยล์เนื้อเรื่องในยูทูปจนไม่สนใจดูต้นฉบับละ) และตอนนี้ก็เลิกเห่อไปแล้วเรียบร้อย ในขณะที่ผมคือนั่งดูการ์ตูนทีวีพากษ์ไทยช่อง 9 ทุกอาทิตย์ อ้อ ลูกผมก็ไม่ได้อินกับขบวนการห้าสีด้วย
2. ลูกชายผมไม่รู้จักเกมคอนโซล เล่นแต่เกมในไอแพด ชอบเล่น Among Us (แถมสอนให้ผมเล่นด้วย) ผมยังเคยเปิดคลิปที่เขาเล่นเกมคอนทร้าแล้วบอกลูกว่า “นี่คือเกมที่พ่อเล่นตอนเด็ก” โอ้ชีวิต
3. ลูกชายผมตอนเด็กๆ ชอบดูช่องยูทูปฝรั่ง เช่น Ryan Toys TV หรือ Extreme Toys TV แต่ตอนนี้ดูช่องละครสั้นแบบไทยๆ อย่าง Happy Channel แทน
ดูเหมือนว่าในยุคนี้วัฒนธรรมอะไรที่มาจากญี่ปุ่นจะไม่ใช่กระแสหลักอีกต่อไปแล้ว (หมดยุค JAPAN BOOM ไปแล้ว) ดูเหมือนฝรั่งจะกลับมาทวงพื้นที่การเผยแผ่วัฒนธรรมสำหรับเด็กๆ ไปละ ลูกๆ ผมทั้งลูกชายลูกสาวโตมากับเพลงเด็กฝรั่งจำพวก Wheel on the bus พร้อมๆ กับเพลงเด็กไทยๆ จำพวก ก เอ๋ย ก ไก่ ไปซะละ การที่ลูกๆ ของผมโตมากับกระแสวัฒนธรรมที่ต่างจากยุคของผม ก็จะทำให้มีรสนิยม ค่านิยม และทางเดินชีวิตที่ต่างไปจากผมแน่นอน
ฉะนั้นสรุปได้ว่ การที่เรารับอะไรเสพสื่ออะไร มันจะมีผลต่อชีวิตที่เหลือทั้งหมดของเราครับ แต่ไม่ว่าจะอะไรก็ตาม พึงเสพอย่างใช้วิจารณญาณ “ทิ้งสั้นหยิบยาว” (捨短取長 ฉะทันชุโจ) อะไรไม่ดีก็ทิ้งไป อะไรที่ดีก็เอาไว้ สัปดาห์หน้ามีคอนเทนต์แทรก (ขอลัดคิวลงก่อนเรื่องคำภีร์ห้าห่วงของมูซาชิ) ที่แบบว่าท่านที่ตามอ่านบทความของผมมานานต้องอึ้งและทึ่งกันแน่นอนครับ วันนี้ขอสวัสดีปีใหม่ท่านผู้อ่านทุกท่านนะครับ สวัสดีปีใหม่ 2565 ครับ
เรื่องแนะนำ :
– เซนกับบราซิลเลียนยูยิตสู (12) ถึงทุกสิ่งล้วนเป็น “อนิจจัง” (มุโจ 無常) ก็ยังต้องเดินหน้าต่อไป
– เซนกับบราซิลเลียนยูยิตสู (11) ฝึกวิชาต่อสู้เพื่อ “ชีวิต” ฝึกสมาธิจิตเพื่อ “เตรียมตัวตาย”
– เซนกับบราซิลเลียนยูยิตสู (10) “พลังลมปราณ” 気 (คิ) กับการจัดการกับความกลัว
– เซนกับบราซิลเลียนยูยิตสู (9) ว่าด้วยการฝึกฝน “กระบวนท่า” 形 (คาตะ) และการดำรงกายใจให้มั่นในโลกที่บูดๆ เบี้ยวๆ
– เซนกับบราซิลเลียนยูยิตสู (8) “ล้มให้เป็น” ว่าด้วยความหมายที่แท้ของคำว่า “สุเตมิ” 捨て身
#Free Talk ต้อนรับปีใหม่ 2565 จากใจคน Gen X ที่โตมากับยุค JAPAN BOOM!!!