“ภัยพิบัติ x PTSD: ญี่ปุ่นรับมือกันอย่างไร”
ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2021 ที่ผ่านมาประเทศไทยต้องประสบกับภัยพิบัติหลายอย่างทั้งที่เกิดจากธรรมชาติและเกิดจากมนุษย์ เช่น โรค COVID-19 ที่ยังไม่สามารถควบคุมการระบาดได้, ฝุ่น pm 2.5 ที่มีมากอยู่ในระดับอันตราย, โรงงานพลาสติกแถวกิ่งแก้วเกิดการระเบิดอย่างรุนแรงทำให้เกิดไฟไหม้และสารเคมีลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศ ถ้าใครติดตามข่าวจะเห็นว่าประเทศไทยยังขาดการวางแผนรับมือกับภัยพิบัติ (เกือบจะไม่มี)
ภัยพิบัติเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเราและอาจจะเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ แต่ละครั้งที่เกิดทำให้มีการสูญเสียทั้งชีวิตคน เจ็บป่วยทางกายใจ และทรัพย์สินเสียหาย ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ผู้ที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติของไทยต้องออกมาปรับระบบการจัดการรับมือใหม่ เพื่อลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นและมีมาตรการป้องกันให้ดีกว่าที่เป็นอยู่
ประเทศญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีของการจัดการกับภัยพิบัติ เนื่องจากตำแหน่งที่ตั้งของประเทศอยู่ระหว่างแนวไต้ฝุ่นแปซิฟิกและวงแหวนแห่งไฟ ทำให้ต้องเผชิญภัยธรรมชาติรุนแรง เช่น แผ่นดินไหว, สึนามิ, ภูเขาไฟระเบิด, ไต้ฝุ่น ทำให้คนญี่ปุ่นเตรียมพร้อมรับมือเพื่อกับภัยธรรมชาติตลอดเวลา และเมื่อเกิดเหตุสามารถให้การช่วยเหลือและฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
ทุกวันที่ 1 ก.ย. ของทุกปีประเทศญี่ปุ่นจัดให้เป็น “วันป้องกันภัยพิบัติแห่งชาติ” เพราะในปี 1923 วันนี้เป็นวันที่เกิดแผ่นดินไหวความรุนแรง 7.9 แมกนิจูดถล่มในแถบคันโตจนมีผู้เสียชีวิตราว 100,000 คน จนเกิดการเรียนรู้ว่าจะต้องเตรียมตัวรับมือล่วงหน้าก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์จริง ชาวญี่ปุ่นจะได้รับการอบรมเรื่องวิธีการเอาตัวรอดกรณีที่เกิดภัยพิบัติประเภทต่างๆ ตั้งแต่ยังเด็ก มีทั้งการให้ความรู้และจัดการซ้อมอพยพกันอย่างจริงจัง ทุกครั้งที่เกิดภัยพิบัติประชาชนจะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลอย่างเคร่งครัด ไม่แค่เพียงทำให้คนมีความตระหนักรู้ที่จะเอาตัวรอด แม้แต่ระบบโครงสร้างที่เป็นรูปธรรม เช่น บ้านเรือน ตึก อุโมงค์ หรือสิ่งก่อสร้างต่างๆ ต่างมีการออกแบบมาเพื่อให้สามารถรับมือกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นได้
ก่อนหน้าปี 1995 ที่จะเกิดภัยพิบัติ “ฮันชินอาวะจิ” เป็นแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขนาด 7.2 ริกเตอร์ที่เมืองโกเบ มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 6,000 คน ประชาชนหวังพึ่งพาการช่วยเหลือจากทางรัฐบาลเป็นหลัก แต่หลังจากเกิดเหตุครั้งนั้นประเทศญี่ปุ่นได้มีการปรับปรุงระบบการรับมือกับภัยพิบัติขนานใหญ่เป็นระบบ “จิโจะ-เคียวโจะ-โคโจะ” ระบบนี้ได้แนวคิดมาจากการสำรวจคนที่รอดชีวิตพบว่าร้อยละ 67 เกิดจากการช่วยเหลือตัวเอง ร้อยละ 31 มาจากการช่วยเหลือของเพื่อนบ้าน และมีเพียงร้อยละ 2 ที่รอดชีวิตจากการช่วยเหลือของภาครัฐ
>> “จิโจะ-เคียวโจะ-โคโจะ”
เป็นรูปแบบการเอาตัวรอดจากภัยพิบัติฉบับคนญี่ปุ่น ซึ่งถูกออกแบบมาให้สอดคล้องกับลักษณะภูมิประเทศ ทรัพยากร และระบบการปกครอง การเอาไปประยุกต์ใช้ในประเทศอื่นต้องดูตามความเหมาะสมอีกที
@ จิโจะ (自助): การช่วยเหลือตนเอง
ประชาชนต้องมีความรู้เกี่ยวกับภัยพิบัติชนิดต่างๆ มีวิธีการติดตามประเมินสถานการณ์และเตรียมพร้อมรับมือเบื้องต้นด้วยตัวเอง เช่น เตรียมถุงยังชีพอย่างน้อย 3 วัน, ร่วมซ้อมรับมือภัยพิบัติอย่างเคร่งครัด, ติดตั้งอุปกรณ์ในบ้านให้เหมาะสม (กรณีแผ่นดินไหว)
@ เคียวโจะ (共助): การช่วยเหลือกันและกัน
ส่วนใหญ่เมื่อเกิดภัยพิบัติเส้นทางการคมนาคมจะถูกตัดขาด ทำให้ความช่วยเหลือจากรัฐเข้าถึงได้ยาก ดังนั้นการช่วยเหลือกันเองระหว่างเพื่อนบ้าน ชุมชน และเครือข่ายต่างๆจะทำได้รวดเร็วที่สุด ดังนั้นชุมชนของคนญี่ปุ่นจะมีการส่งเสริมสัมพันธภาพในชุมชนด้วยการจัดกิจกรรมให้ทำร่วมกัน เพิ่มความสามัคคี เช่น จัดวันร่วมกันเก็บขยะ, มีระบบเวรยามช่วยเตือนเรื่องอัคคีภัย
@ โคโจะ (公助): การช่วยเหลือจากภาครัฐ
เนื่องจากรัฐต้องให้ความช่วยเหลือกับผู้ประสบภัยที่เร่งด่วนร้ายแรงอันตรายถึงแก่ชีวิตก่อน ดังนั้นหากรอความช่วยเหลือจากรัฐแต่เพียงอย่างเดียวอาจสายเกินไป โดยส่วนใหญ่การช่วยเหลือจากส่วนกลางมักจะตามมาภายใน 3 วันหลังจากเกิดเหตุไปแล้ว
ตัวอย่างการช่วยเหลือของภาครัฐ เช่น พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ขุดลอกคูคลอง เสริมแนวกั้นน้ำ, กำหนดศูนย์ช่วยเหลืออพยพ แนวทางและอุปกรณ์ช่วยเหลืออย่างชัดเจน, ให้องค์กรปกครองท้องถิ่นจัดทำแผนที่เสี่ยงภัยและแนวทางการหนีภัยเผยแพร่สู่ประชาชน, ให้ความรู้ภัยพิบัติกับประชาชนผ่านสื่อต่างๆอย่างต่อเนื่อง
>> สภาพจิตใจหลังเกิดภัยพิบัติ
หลังจากที่คนได้รับความช่วยเหลือจนปลอดภัยทางด้านกายภาพแล้ว สิ่งหนึ่งที่คนมักลืมกัน คือ การปลอบโยนและให้ความมั่นทางจิตใจ เพราะการที่ต้องประสบกับภัยพิบัติเป็นเรื่องสะเทือนขวัญเพราะอาจทำให้เสียชีวิตได้ (life threatening) โรคทางจิตเวชที่มีเกี่ยวข้องกับเรื่องภัยพิบัติโดยตรง คือ PTSD (Post Traumatic Stress Disorder) หรือ “โรคเครียดหลังประสบภัยรุนแรงในชีวิต” โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนที่ต้องเจอกับภัยพิบัติโดยตรง หรืออาจเป็นผู้เห็นเหตุการณ์/เสพข่าวแล้วอินมาก จนรู้สึกเหมือนเป็นคนที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วยตัวเอง
@ อาการของ PTSD
อาการมักเกิดตามมาภายหลังจากเกิดเหตุไม่นาน แบ่งเป็น 3 กลุ่มอาการหลัก ๆ
“Re-experience” คือ อาการที่เสมือนกับว่าย้อนกลับไปอยู่ในเหตุนั้นซ้ำๆ แม้เรื่องจะเกิดและจบไปแล้ว เช่น เหมือนวาร์ปย้อนกลับไป (Flash back), ฝันร้าย, รู้สึกเครียดเวลานึกถึงพูดถึง หรือเจอตัวกระตุ้นที่ทำให้นึกถึงเหตุการณ์นั้น ทำให้มีอาการทางกาย
“Avoidance” เป็นการหลีกเลี่ยงการคิดความรู้สึก หรือการพูดถึงสิ่งที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ เช่น หลีกเลี่ยงกิจกรรม/สถานที่/บุคคลที่คล้ายกับที่เกิดในเหตุการณ์นั้น, ภาพตัดความจำหายนึกถึงจุดสำคัญของเรื่องไม่ออก, แยกตัวออกจากคนอื่น/ไม่สนใจทำกิจกรรม, นิ่งเฉยไม่ตอบสนอง, ไม่คิดถึงอนาคต ไม่วางแผนสิ่งที่ต้องทำต่อ
“Hyperarousal” มีอาการของความตื่นตัว เตรียมพร้อมที่จะสู้/หนี เช่น มีปัญหาการนอน, หงุดหงิดง่าย, สมาธิไม่ดี, แสดงท่าทีหวาดกลัวต่อสิ่งกระตุ้นแม้เพียงเล็กน้อย
ถ้าอาการเกิดขึ้นใน 4 สัปดาห์แรกหลังเหตุการณ์ เรียกว่า Acute Stress Disorder ส่วนใหญ่อาการจะค่อยๆลดลงและมักหายได้เอง แต่หากหลังจาก 4 สัปดาห์แล้วยังมีอาการเหล่านี้อยู่ หรือมีอาการเหล่านั้นเกิดขึ้นในภายหลังเรียกว่า PTSD ซึ่งบางคนรักษาแล้วหายขาด แต่บางคนเป็นไปตลอดชีวิต
นอกจากอาการของ PTSD แล้วคนที่อยู่ในเหตุการณ์ภัยพิบัติอาจมีโรคทางจิตใจอย่างอื่นตามมาได้ เช่น โรคซึมเศร้า (Depression), โรควิตกกังวล (Anxiety)
ในเด็กอาจพบพฤติกรรมถดถอย (Regression) เช่น ปัสสาวะรดที่นอน, กัดเล็บดูดนิ้ว, ติดพ่อแม่, งอแงกว่าปกติหรือมีปัญหาการเรียน ปัญหาความสัมพันธ์กับคนอื่น
โรคนี้มีความสำคัญที่ต้องได้รับการวินิจฉัย เพราะอาการของโรคจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตอย่างมาก เช่น เจอกับเหตุการณ์ระเบิดทำให้กลัวเสียงดัง จนไม่สามารถทำงานในโรงงานที่มีเครื่องจักรเสียงดังได้, มีปัญหาการนอน สมาธิความจำไม่ดี, หลีกเลี่ยงการเข้าสังคม ดังนั้นคนที่ต้องเจอกับภัยพิบัติต้องสังเกตตัวเอง หากรู้สึกว่ามีอาการผิดปกติแนะนำให้พบผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์, นักจิตวิทยา เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและการรักษาต่อไป
หากดูจากวิธีการ “จิโจะ-เคียวโจะ-โคโจะ” นอกจากผู้ประสบภับจะได้รับความล่วยเหลือทางกายภาพแล้วยังได้รับการเยียวยาทางจิตใจไปในเวลาเดียวกันด้วย เช่น
. จิโจะ (การช่วยเหลือตนเอง): เมื่อรู้ว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้นและรู้วิธีที่จะปกป้องตัวเอง เป็นการเพิ่มความมั่นใจ ช่วยลดความกังวลได้
. เคียวโจะ (การช่วยเหลือกันและกัน): การที่ได้รับความเห็นอกเห็นใจและการช่วยเหลือจากคนอื่นทำให้เรามีความรู้สึกว่ายังมีความหวังและยังมีคนที่พร้อมจะช่วยเราอยู่ ลดความหวาดกลัวจากการคิดถึงที่เลวร้าย
. โคโจะ (การช่วยเหลือจากภาครัฐ): เมื่อภาครัฐมีความเข้มแข็ง ปฏิบัติจริง ให้ความเชื่อ่นกับประชาชน จะช่วยให้คนเกิดความมั่นคงทางใจมากขึ้น
เมื่อย้อนกลับมาดูที่ประเทศไทย ยังมีอีกหลายสิ่งอย่างที่ต้องพัฒนา แต่ข้อดีอย่างหนึ่งที่หมอเห็น คือ ประชาชนไม่ทิ้งกัน พร้อมให้ความช่วยเหลือเต็มที่ แม้ภาครัฐจะไม่ค่อยได้ช่วยอะไรเลยก็ตาม อย่างน้อยเราก็ยังมีความหวังค่ะ:))
ทักทายพูดคุยกับหมอแมวน้ำเล่าเรื่องได้ที่ www.facebook.com/sealpsychiatrist
เรื่องแนะนำ :
– “ทานาบาตะ: แม้รักแค่ไหนแต่ไม่สามารถอยู่เคียงกันได้”
– “การจัดโอลิมปิกของญี่ปุ่นในยุคโควิด: ยืดหยุ่นหรือยึดติด?”
– “Berserk: อยู่อย่างไรในวันที่ถูกทรยศ”
– ชุดนักเรียนญี่ปุ่น x ชุดนักเรียนไทย: จำเป็นต้องมีหรือไม่
– พลังแห่งการรับฟังจะยับยั้งการเข้าป่าอาโอกิกาฮาระแห่งความตาย
คลินิก JOY OF MINDS
ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลรักษาปัญหาด้านสุขภาพจิตโดยเฉพาะ
https://www.facebook.com/Joyofminds/
Tel: 090-959-9304
#ภัยพิบัติ x PTSD: ญี่ปุ่นรับมือกันอย่างไร