คั่นรายการ โดย Lordofwar Nick
บูชิโด: จิตวิญญาณของญี่ปุ่น (17) บูชิโดไม่มีวันตาย
สวัสดีครับท่านผู้อ่าน ใกล้จะจบซีรี่ส์ “บูชิโด” เข้าไปทุกทีแล้วนะครับ ประเทศญี่ปุ่น ก็เฉกเช่นเดียวกับประเทศทั้งหลายในบูรพทิศในศตวรรษที่ 19 ที่ต้องเจอกับการ “บุก” ของชาติตะวันตก ที่มีอำนาจปืนและอำนาจเทคโนโลยีสูงกว่า (ซึ่งไทยเองก็เจอ) การต้องยอม “เปิด” นำไปสู่ความคิดอ่านในการ “ปรับ” ปรับตัวยอมรับเอาเทคโนโลยีและวัฒนธรรมอะไรต่างๆ เข้ามาเพื่อไม่ให้ฝรั่งมันชี้หน้าว่าเอาได้ว่า “ล้าหลัง” ใช้การทูตเป็นเครื่องมือนำพาชาติพ้นภัย ไม่ต้องเป็นเมืองขึ้นเขาให้ต้องเสียความภาคภูมิใจ ถึงจะต้อง “เจ็บตัว” ยอมเฉือนเนื้อก็เถอะ อย่างไรก็ดี ในกระบวนการพาชาติให้รอด เมื่อเราเอาเทคโนโลยีและวัฒนธรรมต่างๆ ของฝรั่งเข้ามา โดยถือว่า “ดีกว่า เหนือกว่า” แล้วเรายังจะมีความยึดมั่นในคุณความดีที่เรามีในชนชาติเราหรือไม่? หรือเราจะเห็นว่าคุณความดีของชนชาติเราที่เคยมี กลายเป็นเลวทรามไร้ค่าไป? วันนี้ เราจะมาอ่านด้วยกันถึงทัศนะด้านนี้จากท่านผู้เขียนครับ
บูชิโดยังมีชีวิตอยู่ไหม?
หรือว่าอารยธรรมตะวันตกที่เคลื่อนทัพไปทั่วดินแดน ได้กวาดล้างวินัยโบราณของตนไปหมดแล้ว?
มันเป็นเรื่องน่าเศร้าถ้าวิญญาณของชาติจะตายเร็วขนาดนี้ นั่นเป็นวิญญาณที่น่าสงสารที่อาจพ่ายแพ้ต่ออิทธิพลจากภายนอกได้อย่างง่ายดาย องค์ประกอบทางจิตวิทยาที่รวมกันเป็นคุณลักษณะประจำชาตินั้นเหนียวแน่นพอๆ กับ “องค์ประกอบที่ไม่อาจลดทอนของสายพันธุ์ต่างๆ ครีบของปลา จงอยปากของนก ฟันของสัตว์กินเนื้อ”…
คุณลักษณะที่บูชิโดประทับตราต่อชาติของเราและโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อซามูไรนั้น ไม่อาจกล่าวได้ว่าก่อให้เกิด “องค์ประกอบที่ไม่อาจลดทอนลงได้ของสายพันธุ์” แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ในเรื่องของกำลังวังชาที่มันยังคงมีอยู่นั้นไม่มีที่ต้องสงสัยเลย หากบูชิโดเป็นเพียงพลังทางกายภาพ โมเมนตัมที่มันได้มีในช่วงเจ็ดร้อยปีที่ผ่านมาก็ไม่สามารถหยุดได้กะทันหันปานนั้น หากมันเพียงแค่ถ่ายทอดโดยพันธุกรรม อิทธิพลของมันจะต้องแพร่หลายอย่างกว้างขวาง ลองคิดดู ดังที่ M. Cheysson นักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศสได้คำนวณไว้ว่า สมมติว่าในหนึ่งศตวรรษมีคนสามรุ่น “เราแต่ละคนจะมีเลือดของผู้คนอย่างน้อยยี่สิบล้านคนที่อาศัยอยู่ในปีคริสตศักราช 1000 ในสายเลือดของเขา” ชาวนาแท้ๆ ที่ทำงานคลุกดิน “หลังงอด้วยน้ำหนักหลายศตวรรษ” มีเลือดของหลายชั่วคนอยู่ในสายเลือดของเขา และด้วยเหตุนี้จึงเป็นพี่น้องของเราพอๆ กับที่เป็นพี่น้องกับ “วัว”
พลังที่ไร้สำนึกและไม่อาจต้านทานได้ บูชิโดได้ขับเคลื่อนประเทศชาติและปัจเจกบุคคล เป็นการสารภาพอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับเชื้อชาติ เมื่อโยชิดะ โชอิน หนึ่งในผู้บุกเบิกที่ปราดเปรื่องที่สุดคนหนึ่งของญี่ปุ่นยุคใหม่ ได้เขียนโคลงต่อไปนี้ก่อนถูกประหารชีวิต
“ข้ารู้ว่าทางสายนี้จะต้องจบลงด้วยความตาย
มันเป็นจิตวิญญาณยามาโตะที่เร่งเร้าข้า
ให้กล้าเผชิญสิ่งใดที่จะเกิด”
โดยมีได้กะเกณฑ์ บูชิโดเคยเป็นและยังคงเป็นจิตวิญญาณที่มีชีวิต เป็นพลังขับเคลื่อนของประเทศของเรา
เอาล่ะครับ มาถึงตรงนี้ขอแทรกสักนิด โยชิดะ โชอิน (吉田松陰) เขาคือชนชั้นซามูไรในปลายยุคเอโดะ ที่ถูกประหารในคดีก่อกบฎต่อรัฐบาลโชกุน โดยมีเรื่องการที่รัฐบาลโชกุนไปเซ็นสัญญากับฝรั่งโดยที่มิได้มีพระบรมราชานุญาตจากพระจักรพรรดิ เป็นประเด็นสำคัญที่จุดเชื้อไฟ (ในยุคแห่งการรณรงค์ ซนโนโจอิ 尊王攘夷 “เทิดทูนจักรพรรดิ ขับไล่ต่างชาติ” ซึ่งสุดท้ายลามไปเป็น โทบาคุ 倒幕 “ล้มรัฐบาลโชกุน” ในที่สุด) สิ่งที่ไม่รู้จะฮาดีหรืออะไรดี คำสุดท้ายก่อนถูกประหารของโยชิดะที่ว่า
「身はたとひ武蔵の野辺に朽ちぬとも留め置かまし大和魂」
แม้กายข้าฯ จะเน่าเปื่อยที่ดินแดนแห่ง (แคว้น) มูซาชิ (กินพื้นที่โตเกียวกับบางส่วนของจังหวัดไซตามะและคานางาวะในปัจจุบัน) ยังอยากเหลือจิตวิญญาณยามาโตะไว้ (ในโลกนี้)
โยชิดะ โชอิน (吉田松陰) (ที่มา wikipedia)
“จิตวิญญาณยามาโตะ” งั้นเหรอ อืม…
นายแรนซัมกล่าวว่า “ทุกวันนี้ มีญี่ปุ่นที่แตกต่างกันอยู่สามอย่างที่ดำรงอยู่เคียงข้างกัน แบบเก่าที่ยังไม่ตายไปอย่างสิ้นเชิง แบบใหม่ซึ่งยังแทบจะไม่เกิดเว้นแต่ในจิตวิญญาณ และการเปลี่ยนผ่าน (transition) ซึ่งขณะนี้ได้ผ่านความรุนแรงที่วิกฤติสุดแล้ว” แม้ว่าสิ่งนี้จะเป็นจริงในทุกๆ ด้าน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับแบบแผนประเพณีที่จับต้องได้และเป็นรูปธรรม แต่ข้อความดังกล่าว หากจะนำไปใช้กับแนวคิดทางจริยธรรมขั้นพื้นฐาน จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนบางประการ สำหรับบูชิโด ผู้สร้างและผลผลิตของญี่ปุ่นเก่า ยังคงเป็นหลักการที่นำทางการเปลี่ยนผ่าน และจะพิสูจน์ให้เห็นถึงพลังแห่งการก่อรูปของยุคใหม่
นี่เป็นคำประกาศอันทรนงของท่านผู้เขียนเลยครับ ว่า แม้ชาติเราจะต้องถูกกระทบจากคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย (คือการรุกคืบจากชาติฝรั่งตะวันตก) และถึงต้องรับเอาเทคโนโลยี เอาอะไรต่างๆ จากชาติฝรั่งเข้ามา แต่ก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่า คุณความดีที่มีแต่เดิมในชนชาติ จะกลายเป็นของเลวทรามด้อยค่าไปอย่างใดเลย ตรงกันข้าม มันกลับเป็นพลังขับดันสร้างชาติให้พ้นภัยและเจริญวัฒนาขึ้นมาได้ต่างหาก! ดังที่จะพรรณนาต่อไปนี้
การเปลี่ยนโฉม (transformation) ของญี่ปุ่นนั้นเป็นเครื่องแสดงให้เห็นซึ่งข้อเท็จจริงแก่ทั้งโลก ในงานที่มีขนาดใหญ่โตเช่นนี้ แรงจูงใจต่างๆ เข้ามาตามธรรมชาติ แต่ถ้าใครคิดจะตั้งชื่อหลักการดังกล่าว เขาย่อมไม่ลังเลที่จะตั้งชื่อว่า บูชิโด เมื่อเราเปิดทั้งประเทศเพื่อรับการค้ากับต่างประเทศ เมื่อเรานำเอาสิ่งปรัชปรุงล่าสุดเข้ามาในทุกๆ ภาคส่วนของชีวิต เมื่อเราเริ่มศึกษาการเมืองและวิทยาศาสตร์ของตะวันตก แรงจูงใจที่เป็นเครื่องนำทางของเรามิใช่การพัฒนาทรัพยากรทางกายภาพของเราและการเพิ่มขึ้นของความมั่งคั่ง ยิ่งป่วยการที่พูดว่าเป็นการเลียนแบบประเพณีตะวันตกอย่างมืดบอด ผู้สังเกตการณ์อย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับแบบแผนประเพณีและชนชาติตะวันออกเขียนว่า
“เราได้รับคำบอกเล่าทุกวันว่ายุโรปมีอิทธิพลต่อญี่ปุ่นอย่างไร และลืมไปว่าการเปลี่ยนแปลงในหมู่เกาะเหล่านั้นล้วนกำเนิดขึ้นเอง ว่าชาวยุโรปไม่ได้สอนญี่ปุ่น แต่ญี่ปุ่นเองนั่นแหละเลือกที่จะเรียนจากยุโรป ซึ่งวิธีการจัดตั้งองค์กร ทั้งพลเรือนและทหาร ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าประสบความสำเร็จ ญี่ปุ่นนำเข้านำเข้าวิทยาศาสตร์เครื่องกลของยุโรป เช่นเดียวกับที่ชาวเติร์กนำเข้าปืนใหญ่ของยุโรปเมื่อหลายปีก่อน นั่นไม่ใช่อิทธิพลอย่างแน่นอน”
นายทาวน์เซนด์ (Meredith White Townsend นักหนังสือพิมพ์ชาวอังกฤษ) กล่าวต่อ “เว้นแต่ว่าจริงๆ แล้วอังกฤษจะได้รับอิทธิพลจากการซื้อชาจากจีน” ผู้เขียนถาม “ผู้เผยแพร่ลัทธิชาวยุโรป หรือนักปรัชญา หรือรัฐบุรุษ หรือผู้ปลุกปั่น ที่สร้างญี่ปุ่นขึ้นใหม่ อยู่ที่ไหนกันล่ะ?” นายทาวน์เซนด์ตระหนักดีว่า บ่อเกิดแห่งการกระทำที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในญี่ปุ่นนั้นล้วนเกิดขึ้นภายในตัวเราเอง และถ้าเขาเพียงแค่แหย่หยั่งเข้ามาในจิตของเรา พลังในการสังเกตอันเฉียบแหลมของเขาก็จะทำให้เขาเชื่อมั่นได้อย่างง่ายดายว่าบ่อเกิดนั้นไม่ใช่สิ่งใดอื่นนอกจากบูชิโด ความรู้สึกของความมีเกียรติ ซึ่งไม่สามารถทนได้เมื่อถูกมองว่ามีอำนาจด้อยกว่า นั่นคือแรงจูงใจที่แข็งแกร่งที่สุด ข้อพิจารณาเรื่องเงินหรืออุตสาหกรรมถูกปลุกให้ตื่นขึ้นในภายหลังในกระบวนการเปลี่ยนโฉม
เพราะหยิ่งในศักดิ์ศรี จึงต้องสู้ อย่าให้ใครเขาดูถูกดูแคลนได้
อิทธิพลของบูชิโดยังคงปรากฏชัดเจนจนผู้ที่วิ่งหนีสามารถอ่านได้ การได้สัมผัสชีวิตแบบญี่ปุ่นจะทำให้สิ่งนี้ปรากฏชัดขึ้น ขอให้อ่าน (งานของ) เฮิร์น นักแปลความคิดของญี่ปุ่นที่มีคารมคมคายและจริงใจที่สุด แล้วท่านจะเห็นการทำงานของจิตใจนั้นเป็นตัวอย่างหนึ่งของการทำงานของบูชิโด ความสุภาพที่เป็นสากลของผู้คน ซึ่งเป็นมรดกแห่งวิถีแห่งอัศวิน เป็นที่รู้กันดีเกินกว่าที่จะถูกทำซ้ำใหม่ ความอดทนทางกายภาพ ความทรหดและกล้าหาญที่ “เจ้ายุ่นตัวเล็ก” มี ได้รับการพิสูจน์อย่างเพียงพอแล้วในสงครามจีน-ญี่ปุ่น “มีชาติใดที่จงรักภักดีและรักชาติมากกว่านี้ไหม?” เป็นคำถามที่หลายคนถาม และสำหรับคำตอบที่น่าภาคภูมิใจว่า “ไม่มี” เราต้องขอบคุณศีลแห่งอัศวิน
ในอีกด้านหนึ่ง เป็นการยุติธรรมที่จะรับรู้ว่าสำหรับข้อบกพร่องและข้อตำหนิในอุปนิสัยของเรานั้น บูชิโดมีส่วนรับผิดชอบอยู่มาก การที่เราขาดปรัชญาอันเร้นลึก ในขณะที่ชายหนุ่มบางคนของเราได้รับชื่อเสียงระดับนานาชาติในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ แต่ไม่มีผู้ใดประสบความสำเร็จในสายปรัชญาเลย (เรื่องนี้) สามารถสืบย้อนไปถึงการละเลยการฝึกอบรมเชิงอภิปรัชญาภายใต้ระบบการศึกษาของบูชิโด ความรู้สึกของความมีเกียรติของเรามีส่วนรับผิดชอบต่อความอ่อนไหวง่าย (sensitiveness) และความอารมณ์เสียได้ง่าย (touchiness) ที่เกินปกติไปมากของเรา และหากมีความทะนงในตัวเราซึ่งชาวต่างชาติบางคนกล่าวหาเรา นั่นก็เป็นผลทางพยาธิสภาพแห่งเกียรติด้วยเช่นกัน
น่าคิด…ครับ แต่ผมว่า อาจจะไม่ใช่หรอก ผมเคยเขียนไว้ว่า ที่คนญี่ปุ่นเป็นคนเครียดง่าย ขี้ตื่น เจ้าระเบียบเนี่ย มันเป็นผลจากภูมิประเทศที่มีแต่แผ่นดินไหว และชีวิตชาวบ้านที่ต้องเจอโจรปล้นแบบโหดๆ ต่างหาก อย่างที่เคยเขียนใน บทความนี้ ก็ลองอ่านดูนะครับสำหรับใครที่ยังไม่เคยอ่าน
ผลกระทบของบูชิโดนั้น หยั่งรากลึกและทรงพลัง ข้าพเจ้าได้กล่าวไปแล้วว่ามันเป็นอิทธิพลที่ไร้สำนึกและไร้สุ้มเสียง หัวใจของประชาชนตอบสนอง โดยไม่ทราบเหตุผลว่าทำไม ต่อคำอุทธรณ์ใดๆ ที่มีต่อสิ่งที่ได้รับสืบทอดมา และด้วยเหตุนี้ แนวคิดทางศีลธรรมแบบเดียวกันที่แสดงออกมาในคำที่แปลใหม่และในคำบูชิโดแบบเก่า จึงมีระดับของสมรรถภาพที่แตกต่างกันอย่างมากมาย คริสเตียนผู้หันหลังคนหนึ่ง ซึ่งไม่มีแรงโน้มน้าวใจของผู้อภิบาลใดจะช่วยจากแนวโน้มที่ตกต่ำได้ ถูกเปลี่ยนกลับจากวิถีของเขาด้วยการอุทธรณ์ต่อความภักดีของเขา ซึ่งเป็นความซื่อสัตย์ที่เขาเคยสาบานไว้กับอาจารย์ของเขา
คำว่า “ความภักดี” ฟื้นความรู้สึกอันสูงส่งทั้งหมดที่ได้รับอนุญาตให้อบอุ่นขึ้น กลุ่มเด็กเกเรกลุ่มหนึ่งเข้าร่วมในการ “สไตรค์ของนักเรียน” อันต่อเนื่องยาวนานในวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เนื่องจากไม่พอใจครูคนหนึ่ง ถูกสลายด้วยคำถามง่ายๆ สองข้อที่ผู้อำนวยการตั้งไว้ “อาจารย์ของเธอเป็นคนไม่มีที่ติหรือเปล่า? ถ้าเป็นเช่นนั้น เธอควรเคารพเขาและเก็บเขาไว้ในโรงเรียน เขาขาดความสามารถหรือ? หากเป็นเช่นนั้น ก็ไม่เป็นลูกผู้ชายเลยที่จะผลักคนที่ล้มลง” ความไร้ความสามารถในศาสตร์ของอาจารย์ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา ได้ถูกทำให้หดลงจนไม่มีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับประเด็นทางศีลธรรมที่บอกเป็นนัย ด้วยการปลุกเร้าความรู้สึกที่ได้รับการหล่อเลี้ยงโดยบูชิโด การปรับปรุงศีลธรรมครั้งใหญ่จึงสามารถทำได้สำเร็จ
อืม…
แต่ไม่ว่าปัจเจกบุคคลจะกระทำความผิดพลาดอะไรก็ตาม มีข้อสงสัยเล็กน้อยว่าหลักการพื้นฐานของศาสนาที่พวกเขานับถือนั้นเป็นอำนาจที่เราต้องคำนึงถึงในการคำนวณ อนาคตของบูชิโด ซึ่งดูเหมือนวันเวลาของมันจะถูกนับไปแล้ว สัญญาณที่เป็นลางลอยอยู่ในอากาศ ซึ่งบ่งบอกถึงอนาคตของมัน ไม่เพียงแต่สัญญาณเท่านั้น แต่พลังที่น่ากลัวยังทำงานเพื่อคุกคามมันอีกด้วย
เอาล่ะครับ นี่เป็นการปูทางไปสู่ บทสุดท้ายของหนังสือ “บูชิโด” แล้ว (แต่สุดท้ายไม่ใช่จะท้ายสุดนะ อิๆๆ) อย่าลืมติดตามกันนะครับ สวัสดีครับ
เรื่องแนะนำ :
– บูชิโด: จิตวิญญาณของญี่ปุ่น (16) บูชิโดสร้างชาติ
– บูชิโด: จิตวิญญาณของญี่ปุ่น (15) ผู้หญิงกับบูชิโด
– บูชิโด: จิตวิญญาณของญี่ปุ่น (14) ดาบซามูไร จิตวิญญาณแห่งซามูไร
– บูชิโด: จิตวิญญาณของญี่ปุ่น (13) การล้างแค้นเพื่อคุณธรรม (คาตากิ-อุจิ 敵討ち)
– บูชิโด: จิตวิญญาณของญี่ปุ่น (12) ประเพณีการคว้านท้อง (เซปปุกุ 切腹)
#บูชิโด: จิตวิญญาณของญี่ปุ่น (17) บูชิโดไม่มีวันตาย