วันนี้ป้าจะมาพูดถึงเพลงพื้นบ้านโอกินาว่าที่มีชื่อเสียงมากเพลงหนึ่งที่นักซันชินต้องเล่นได้และมีที่มาน่าสนใจ เพลงนั้นคือ “อาซาโดยะ ยุนตะ” (安里屋 ユンタ Asadoya Yunta)
สวัสดีค่ะ จากที่ป้าหมวยยยแนะนำเครื่องดนตรีซันชินของชาวโอกินาว่าในบทความที่แล้ว วันนี้ป้าจะมาพูดถึงเพลงพื้นบ้านโอกินาว่าที่มีชื่อเสียงมากเพลงหนึ่งที่นักซันชินต้องเล่นได้และมีที่มาน่าสนใจ เพลงนั้นคือ “อาซาโดยะ ยุนตะ” (安里屋 ユンタ Asadoya Yunta) ค่ะ
“อาซาโดยะ” (安里屋 Asadoya) มาจากชื่อสาวงามชาวริวคิวคนหนึ่งที่เคยมีชีวิตอยู่เมื่อราวเกือบ 300 ปีก่อน ส่วน “ยุนตะ” (ユンタ Yunta) หมายถึง เพลงพื้นบ้านที่ชาวบ้านผู้ใช้แรงงานมักร้องขณะทำงานในไร่นาโดยไม่ต้องมีเครื่องดนตรีประกอบ เดิมเพลงนี้เป็นเพลงพื้นบ้านจากเกาะทาเคโทมิ (竹富島 Taketomi-jima) ในหมู่เกาะยาเอยามะ (八重山群島 Yaeyama-guntō) ที่อยู่ห่างจากเกาะโอกินาว่า (เมืองนาฮะ) ประมาณ 440 กิโลเมตร

เพลงอาซาโดยะ ยุนตะ มีสามเวอร์ชั่นหลัก ได้แก่
1. เวอร์ชั่นดั้งเดิมที่ร้องสดด้วยภาษาถิ่นโอกินาว่า หรือ 古謡安里屋 (Koyō Asadoya)
2. เวอร์ชั่นที่ใช้ร้องด้วยภาษาถิ่นโอกินาว่าประกอบเครื่องดนตรีซันชินหรือ 安里屋節 (Asadoya-bushi) แยกย่อยเป็นแบบเวอร์ชั่นที่ร้องเฉพาะบนเกาะทาเคโทมิ และเวอร์ชั่นที่ร้องบนเกาะใกล้เคียง
3. เวอร์ชั่นภาษาญี่ปุ่นที่เป็นที่รู้จักกันดีในปัจจุบันเรียกว่า “(ชิน) อาซาโดยะ ยุนตะ” ([新] 安里屋 ユンタ [Shin] Asadoya Yunta) หรือ อาซาโดยะ ยุนตะ (ใหม่)
เพลงอาซาโดยะ ยุนตะที่ร้องด้วยภาษาถิ่นโอกินาว่าในสองเวอร์ชั่นแรก มีเนื้อเพลงหลัก ๆ กล่าวถึงสาวชาวบ้านคนงามชื่อ อาซาโตยะ คุยามะ (安里屋クヤマ Asatoya Kuyama) ข้าราชการระดับรองที่ถูกส่งมาจากเมืองหลวงชูริ (โอกินาว่า) เพื่อดูแลเรื่องภาษีในพื้นที่แถบนี้ต้องตาต้องใจคุยามะในวัย 16 ปีและต้องการสู่ขอนางมาเป็น “แม่บ้าน” (หมายถึงภรรยาน้อยที่จะคอยดูแลในช่วงที่ทำงานที่นี่) แต่คุยามะปฏิเสธเพราะต้องการแต่งงานกับคนในเกาะมีชีวิตเรียบง่ายมากกว่าเป็นภรรยาน้อยข้าราชการที่ไม่นานก็ต้องย้ายไปที่อื่น แต่ในเวอร์ชั่นที่ร้องบนเกาะทาเคโทมิมีเนื้อหาต่อว่า คุยามะปฏิเสธเพราะจะรับคำสู่ขอจากข้าราชการอีกคนที่มีตำแหน่งสูงกว่า หลังจากนั้นข้าราชการผู้นั้นจึงได้ไปสู่ขอหญิงงามอีกคนชื่ออิสุเคมะ (イスケマ Isukema) เป็นแม่บ้านแทน
กล่าวกันว่า อาซาโตยะ คุยามะมีตัวตนจริงและอาศัยอยู่บนเกาะทาเคโทมิในช่วงปี 1722 – 1799 เมื่ออายุ 16 ปีเป็นแม่บ้านของข้าราชการระดับสูง (ยุนจู 与人 Yunchu) และได้รับที่ดินเป็นของตัวเอง เมื่อข้าราชการผู้นั้นพ้นหน้าที่ออกจากเกาะไปแล้ว คุยามะที่ไม่มีบุตรครองตัวเป็นโสดและคอยดูแลลูก ๆ ของชาวบ้านที่ยากจนจนสิ้นอายุขัย
ส่วนเวอร์ชั่นที่สาม ริเริ่มจากความคิดของบริษัทนิปปอนโคลอมเบีย ที่จะจัดทำแผ่นเสียงรวมเพลงจากโอกินาว่าในปี 1934 จึงได้มอบหมายให้กวีท้องถิ่นคุณโฮชิ คัทสึ (星 克 Hoshi Katsu, 1905-1977) แต่งเนื้อเพลงเป็นภาษาญี่ปุ่น และให้คุณมิยาระ โจโฮ (宮良 長包 Miyara Chōhō, 1883-1939) เรียบเรียงทำนองขึ้นใหม่ให้ทันสมัยขึ้น เพลงอาซาโดยะ ยุนตะเนื้อร้องภาษาญี่ปุ่นนี้ มีความหมายเนื้อเพลงแตกต่างจากต้นฉบับโดยสิ้นเชิง จากเดิมที่เป็นเพลงบรรยายเรื่องราวการสู่ขอของอาซาโตยะ คุยามะ กลายเป็นเพลงรักโต้ตอบระหว่างชายหญิง เพลงนี้ได้รับความนิยมมากและเป็นที่รู้จักกันดีจนถึงปัจจุบัน โดยมีเนื้อเพลงดังนี้
安里屋 ユンタ / Asadoya Yunta
さあ 君は野中の いばらの花か (サー ユイユイ)
Saa kimi wa nonaka no ibara no hana ka (Saa yui yui)
โอ้ เธอผู้เป็นดั่งดอกกุหลาบป่ากลางทุ่ง
暮れて帰れば やれほに ひきとめる (マタハーリヌ チンダラ カヌシャマヨ)
Kurete kaereba yarehoni hiki tomeru (Matahaarinu chindara kanushamayo)
ผมรั้งตัวเธอไว้ยามเธอต้องกลับบ้านเมื่ออาทิตย์อัสดง
さあ 嬉し恥ずかし 浮名を立てて (サー ユイユイ)
Saa ureshi hazukashi ukina o tatete (Saa yui yui)
โอ้ ฉันทั้งยินดีและเขินอายกับเรื่องของเราเป็นที่พูดถึงกันทั่ว
主は白百合 やれほに ままならぬ (マタハーリヌ チンダラ カヌシャマヨ)
Nushi wa shirayuri yarehoni mama naranu (Matahaarinu chindara kanushamayo)
คุณผู้เป็นดั่งดอกลิลลี่ขาวที่ฉันมิอาจจะควบคุมได้
さあ 田草取るなら 十六夜月よ (サー ユイユイ)
Saa tagusa toru nara izayoi tsukiyo (Saa yui yui)
โอ้ หากจะถางหญ้าล่ะก็ ขอให้เป็นตอนที่ดวงจันทร์สิบหกค่ำเถิด
二人で 気兼ねも やれほに 水いらず (マタハーリヌ チンダラ カヌシャマヨ)
Futari de kigane mo yarehoni mizu irazu (Matahaarinu chindara kanushama yo)
เพื่อที่จะได้อยู่กันตามลำพังโดยไม่ต้องเกรงใจกัน
さあ 染めてあげましょ 紺地の小袖 (サー ユイユイ)
Saa somete agemasho konji no kosode (Saa yui yui)
โอ้ ให้ฉันย้อมชุดกิโมโนนั้นให้เป็นสีกรมท่าเถิด
かけて おくれよ 情けの襷 (マタハーリヌ チンダラ カヌシャマヨ)
Kakete okureyo nasake no tasuki (Matahaarinu chindara kanushama yo)
งั้นช่วยรัดผ้าคาดเปี่ยมด้วยความรักของเธอให้ผมที
ต้นฉบับเพลงมีเท่าข้างบน แต่บางเพลงอาจจะมีท่อนเพิ่มมาอีกสำหรับโปรโมทการท่องเที่ยว
さあ 沖縄良いとこ 一度はめんそーれ (サー ユイユイ)
Saa Okinawa yoitoko ichido wa mensoore (Saa yui yui)
โอ้ โอกินาว่านั้นแสนดี โปรดมาเยี่ยมเยียนสักครั้ง
春夏秋冬 緑の島よ
Haru natsu aki fuyu midori no shima yo
เกาะเขียวขจี ทั้งวสันต์ คิมหันต์ สารท เหมันต์
สร้อยเพลง “Matahari nu chindara kanushama yo” ไม่มีคำแปลชัดเจน บ้างคาดเดาคำแปลว่า “แล้วพบกันใหม่แม่หญิงงาม” แต่บ้างคาดเดาว่า อาจเป็นสร้อยที่เลียนเสียงเพี้ยนมาจากภาษาอินโดนีเซีย matahari cinta kami semua หรือ matahari mencintai kami sama โดยคำว่า Mataharinu มีความหมายว่า เกาะแห่งพระอาทิตย์ ในภาษาบาหลีดั้งเดิม
ดูเนื้อเพลงแล้วเรามาฟังนักซันชินเล่นและร้องเพลงอาซาโดยะ ยุนตะกันค่ะ แต่ในคลิปตรงส่วนสร้อยจะต่างไปนิดนึงนะคะ
อย่างที่กล่าวไปแล้วในบทความก่อนว่า การเล่นซันชินจะใช้โน้ตที่เรียกว่าคุนคุนชี (工工四 Kunkunshii) สำหรับโน้ตของเพลงอาซาโดยะ ยุนตะจะเป็นอย่างนี้ค่ะ

https://www.youtube.com/watch?v=O7DR4kjWG_c
คลิปสอนเล่นเพลงอาซาโดยะ ยุนตะด้วยซันชิน
เพลงอาซาโดยะ ยุนตะกลายเป็นหนึ่งในตัวแทนเพลงพื้นบ้านโอกินาว่าที่มีการนำไปบรรเลงและขับร้องกันทั่วไปทั้งด้วยเครื่องดนตรีซันชินหรือเครื่องดนตรีสากลค่ะ ตัวอย่างนักร้องและนักดนตรีที่มีชื่อเสียงที่นำเพลงนี้ไปบรรเลงหรือขับร้อง เช่น นักร้องสาวชาวโอกินาว่า “นัตสึคาวะ ริมิ” (Natsukawa Rimi) หรือนักแต่งเพลงและนักดนตรีระดับโลก “ซากาโมโตะ ริวอิจิ” (Sakamoto Ryuichi) ก็เคยนำเพลงนี้ไปผสมผสานกับทำนองกลิ่นอายแอฟริกันในอัลบั้ม Beauty ในปี 1989
https://www.youtube.com/watch?v=3hYdI5o_klk
นักร้องเสียงหวาน นัตสึคาวะ ริมิ กับเพลงอาซาโดยะ ยุนตะ
ประกอบเครื่องดนตรีสากลและกลองเอซา
นอกจากนี้รถโมโนเรล Yui Rail ในเมืองนาฮาซึ่งเล่นทำนองเพลงโอกินาว่าสั้น ๆ ภายในรถก่อนถึงแต่ละสถานี จะเล่นท่อนเพลงอาซาโดยะ ยุนตะเมื่อถึงสถานีอาซาโตะ (安里駅 Asato-eki) ด้วย

ในด้านการท่องเที่ยว ปัจจุบันบริเวณที่กล่าวว่าเคยเป็นบ้านของอาซาโตยะ คุยามะกลายเป็นจุดท่องเที่ยวบนเกาะทาเคโทมิ นักท่องเที่ยวสามารถนั่งรถเทียมควายที่จะพาเดินไปตามถนนทรายปะการังในหมู่บ้าน ชมบ้านเรือนแบบดั้งเดิมที่มีหลังคาอิฐแดงและรั้วหินพร้อมฟังคำบรรยายและเพลงบรรเลงซันชินจากไกด์ท้องถิ่น
การเดินทางไปยังเกาะทาเคโทมินั้นนักท่องเที่ยวต้องนั่งเครื่องบินจากเมืองนาฮาไปลงที่เกาะอิชิงากิ (石垣島 Ishigaki-jima)ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง และขึ้นเรือต่อไปอีก 15 นาทีค่ะ ถ้าพักที่เกาะอิชิงากิสามารถเดินทางเช้าไปเย็นกลับเกาะทาเคโทมิได้
ถ้าไปโอกินาว่า ลองหาโอกาสสัมผัสจิตวิญญาณของชาวโอกินาว่าผ่านทำนองเพลงอาซาโดยะ ยุนตะกันดูนะคะ
เรื่องแนะนำ :
– ซันชิน (Sanshin) : เครื่องดนตรีจิตวิญญาณแห่งโอกินาว่า
– เปิบพิสดาร “ดาวทะเล” ที่เกาะอามาคุสะ จังหวัดคุมาโมโต้
– ขนมฮาคาตะโทริมง ของฝากที่ใครไปฟุกุโอกะต้องซื้อ
– 10 อันดับของฝากยอดนิยมจากฟุกุโอกะ
– กิจกรรมทำเมนไทโกะ (Mentaiko) ด้วยตัวเองที่ฟุกุโอกะ
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://ja.wikipedia.org/wiki/安里屋ユンタ
http://www.taketomijima.jp/blog/archives/000841.html
http://washimo-web.jp/Report/Mag-AsadoyaYunta.htm
https://library.osu.edu/blogs/japanese/2016/04/08/focus-on-rekion-okinawan-folk-music-asadoya-yunta-安里屋ユンタ/
ภาพจาก https://ameblo.jp/higuchi-tomomi/entry-11376018995.html