Asadora…สำหรับประเทศที่เจ็บหนักเพราะสงครามและประสบภัยพิบัติอยู่หลายครั้งอย่าง ประเทศญี่ปุ่นนั้น เค้ามีวิธีให้กำลังใจผ่านผู้คนทางสื่อสารมวลชนต่างๆ ได้อย่างไร หมายเลขสิบเก้ามีทางเลือกหนึ่งมาแนะนำให้ได้รู้จักกันกันขอรับ
สำหรับประเทศที่เจ็บหนักเพราะสงครามและประสบภัยพิบัติอยู่หลายครั้งอย่างประเทศญี่ปุ่นนั้น เค้ามีวิธีให้กำลังใจผ่านผู้คนทางสื่อสารมวลชนต่างๆ ได้อย่างไร หมายเลขสิบเก้ามีทางเลือกหนึ่งมาแนะนำให้ได้รู้จักกันกันขอรับ นั่นก็คือ ละครที่ออกอากาศเพียงไม่กี่นาทีในตอนเช้าถึงหกวันในหนึ่งสัปดาห์ เรียกว่า Asadora นั่นเอง
Asadora (朝ドラ) ความหมายก็คือ Asa แปลว่า ตอนเช้า และ Dora มาจาก Drama (ญี่ปุ่นเรียก Dorama) รวมแล้วแปลได้ตรงตัวก็คือ Morning Drama หรือละครช่วงเช้านั่นแหละขอรับ

Asadora เป็นละครแนวครอบครัวแบบต่อเนื่อง ดำเนินบทความโดยตัวละครผู้หญิงตั้งแต่วัยเด็กไปจนโต ซึ่งออกอากาศทางช่อง NHK ในช่วงเช้าถึงหกวันต่อสัปดาห์ ตั้งแต่วันจันทร์ถึงเสาร์ ตอนละ 15 นาที เฉลี่ยเรื่องละ 150 ตอน (ในอดีตอาจจะเยอะกว่านี้) ปัจจุบันออกอากาศตั้งแต่เวลา 8:00 ถึง 8:15 น. และออกอากาศรีรันซ้ำอีกครั้งในช่วง เวลา 12:45 ถึง 13:00. น. อำนวยการผลิตโดยสถานีโทรทัศน์ NHK ในปีหนึ่งจะมี 2 เรื่อง ครึ่งแรกของปี NHK ฝั่ง Tokyo เป็นฝ่ายจัดการ และครึ่งปีหลัง NHK ฝั่ง Osaka เป็นฝ่ายรับผิดชอบไปขอรับ
ละครช่วงเช้าของญี่ปุ่น เริ่มขึ้นในปี 1961 เป็นปีที่ญี่ปุ่นทำสัญญาสิ้นสุดการเข้ามายึดอำนาจจากสหรัฐฯ เป็นช่วงที่ญี่ปุ่นกำลังฟื้นตัวจากสงครามโลกครั้งที่สอง เพลงดังที่มีทำนองติดหูเนื้อกินใจผู้คนอย่าง Sukiyaki หรือ Ue o muite arukou ผลงานของนักร้องดังในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นอย่าง Kyu Sakamoto ก็เริ่มวางจำหน่ายในปีนี้ด้วยเช่นกัน

ละครช่วงเช้ามีพัฒนาการมากจากละครวิทยุ เนื้อเรื่องนั้นจะนำเสนอเรื่องราวของผู้หญิงที่เก่งและแกร่งในแต่ละยุค มีการเลือกสรรบุคคลในอดีตที่จะดัดแปลงมาทำเป็นละครให้สมกับสภาพสังคมและ เศรษฐกิจในช่วงนั้นๆ เช่นหลังสงครามผู้คนต้องการกำลังใจในการมีชีวิตอยู่ต่อไป ต่อมาสังคมเริ่มฟื้นฟูเข้าที่เข้าทางเป็นยุคที่ผู้หญิงสามารถประสบความ สำเร็จในด้านอาชีพอื่นๆ ได้นอกจากการเป็นแม่บ้านเลี้ยงลูกอย่างเดียว และในปัจจุบันเมื่อสังคมเจริญเติบโตเต็มทีและมีความกดดันสูงแม่บ้านก็สามารถ เป็นกำลังสำคัญในการผลักดัน ให้กำลังใจแก่ครอบครัวได้ด้วยเช่นกัน ส่วนเรื่องแรกที่ออกอากาศชื่อว่า Musume to Watashi จนถึงปัจจุบันขึ้นเรื่องที่เก้าสิบเข้าแล้วขอรับ

จริงๆ หลายคนในประเทศไทยก็เคยดู Asadora ของญี่ปุ่นอย่างน้อยก็เรื่อง สงครามชีวิตโอชิน (Oshin) เรื่อง หนึ่งละขอรับ เนื้อเรื่องการต่อสู้ชีวิตด้วยความยากลำบากของโอชินจนประสบความสำเร็จในภาย หลัง ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในญี่ปุ่น จนเรียกเรตติ้งสูงสุดถึง 62.9% และมีค่าเฉลี่ยรวม 52.6 % เลยทีเดียว

นักแสดงหญิงที่ได้รับบทหลักของเรื่องจะถูกคัดสรรอย่างพิถีพิถัน ให้เหมาะสมกับบทที่สุด ไม่เน้นหน้าตาสวยเริศ แต่เน้นรอยยิ้มที่สดใส การแสดงที่เป็นธรรมชาติสูง นักแสดงวัยเด็กโด่ดเด่นก็ไม่แพ้นักแสดงรุ่นที่โตกว่า อาจจะเป็นนักแสดงหน้าใหม่หรือนักแสดงที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว มีชื่อเสียงมากน้อยแค่ไหนไม่สำคัญเพราะอีกหน่อยจะดังเป็นผลุแตกทุกคน อีกบทสำคัญก็คือนักแสดงที่เป็นคู่ชีวิตของนางเอกแต่ละคนล้วนดูมีเสน่ห์และสม บทบาท ไม่เน้นหล่อเช่นกัน เดี๋ยวศักยภาพทางการแสดงจะเค้นเสน่ห์ของพวกเค้าออกมาเอง ดูแล้วจะติดใจกันทุกคนอย่างแน่นอน
ในละครประเภทนี้เหมือนเรานั่งดู เรื่องราวการดำเนินชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งตั้งแต่เด็กจนโต แต่ละคนมีสภาพแวดล้อมในการเติบโตต่างกัน แล้วตัวนางเอกมักจะเป็นศูนย์กลางของเหล่าผู้คน มักแสดงตัวตนอย่างจริงใจ นิสัยตรงไปตรงมา คิดต่างแต่ไม่ผิดศีลธรรม พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ขยันมั่นเพียร มองโลกในแง่ดีถึงแม้จะเจออุปสรรคก็ยังฮึดสู้อยู่เสมอ มีความมุ่งมั่นไม่แพ้ใคร ดูเหมือนจะเป็นละครโลกสวย แต่เป็นละครที่เป็นตัวอย่างที่ดีและให้กำลังใจคนในสังคมทุกเพศทุกวัยได้ อย่างดี

อย่างเช่นเรื่อง Gegege no Nyobo (2010) เรื่องราวของภรรยาของนักเขียนการ์ตูนชื่อดังอาจารย์ ชิเงรุ มิซึกิ ที่คอยสนับสนุนสามีของตัวเองจนมีชื่อเสียงในที่สุด ยามมีก็มีด้วยกัน ยามอดก็อดด้วยกัน, เรื่อง Carnation (2011) สร้างมาจากชีวิตของดีไซเนอร์หญิงอายาโกะ โคชิโนะ, เรื่อง Umechan Sensei (2012) เป็นเรื่องราวของแพทย์หญิงในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง, เรื่อง Amachan (2013) สร้างโดยพูดถึงอาชีพ อามะจัง ผู้หญิงดำน้ำหาหอยเม่นในแถบโทโฮขุ, เรื่อง Gochisousan (2013) ผู้หญิงที่เติบโตมาครอบครัวร้านอาหารที่โตเกียวแต่ต้องย้ายมาอยู่บ้านสามี ที่โอซาก้าด้วยความที่ชอบทานอาหารเป็นอย่างมาก จึงหันมาเรียนรู้ในการทำอาหารให้อร่อยด้วยตัวเอง เป็นต้น
สำหรับหมายเลขสิบเก้าชื่นชอบละคร Asadora ของประเทศญี่ปุ่นอยู่พอตัว ไม่เพียงแต่มีเนื้อหาที่ให้กำลังใจผู้คนแล้ว ยังสอดแทรกความรู้สาระในเรื่องต่างๆ อยู่มากมาย เพลงประกอบก็น่าสนใจไม่น้อย อาจจะยาวซักหน่อยสำหรับร้อยกว่าตอนแต่ก็เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพที่น่าติดตามด้วยเช่นกัน อย่างน้อยก็ทำให้เราได้รู้ว่าสื่อสารมวลชนที่มีจรรยาบรรณและเจตนาที่ดีก็สามารถมีส่วนช่วยขัดเกลาผู้คนในสังคมได้เหมือนกัน แล้วเจอกันใหม่ในโอกาสหน้านะขอรับ