ได้ยินรุ่นน้องหลายๆ คนบ่นอยากเปลี่ยนงาน แต่ก็ยังหางานใหม่ไม่ได้…วันนี้เลยจะมาแนะนำวิธีการหางานบริษัทญี่ปุ่นค่ะ ^^
สวัสดีค่ะคุณผู้อ่าน พบกันตามนัดทุกวันอาทิตย์ ช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ค่อยจะดีสักเท่าไร บริษัทเพื่อนของดิฉันซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นต้องปิดกิจการลง เนื่องจากทนรับต่อการขาดทุนในไทยไม่ไหว เลยถอดใจย้ายเครื่องมือการผลิตกลับบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น ส่วนพนักงานก็ถูกจ้างออกและต้องไปหางานใหม่กันค่ะ ยังมีรุ่นน้องอีกหลายๆ คนที่บ่นอยากเปลี่ยนงาน แต่ก็ยังหางานใหม่ไม่ได้ ดิฉันเลยจะมาแนะนำวิธีการหางานค่ะ

ในปัจจุบันมีระบบอินเตอร์เน็ตที่ทันสมัย ทำให้การหางานง่ายขึ้นกว่าสมัยก่อนมากๆ สำหรับตัวดิฉันเองไม่เคยประสบปัญหาว่าหางานไม่ได้ปกติพอส่งประวัติการทำงานไปไม่นาน บริษัทนั้นๆ ก็จะเรียกสัมภาษณ์ในเวลาเพียงไม่ถึงอาทิตย์ วิธีการหางานก็มีหลายวิธีค่ะ เช่น สมัครโดยใช้เว็บไซต์หางาน ที่ยอดนิยมก็ได้แก่ jobsdb, jobtopgun, jobthai
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา Linkedin ยังเป็นที่นิยม จากเมื่อก่อนที่เราสามารถฝากโปรไฟล์การทำงานเพียงอย่างเดียว แต่เดี๋ยวนี้บริษัทดังๆ มาประกาศรับสมัครงานใน Linkedin มากขึ้น รวมถึงบริษัทจัดหางานทั้งหลายที่จะมาล่าผู้สมัครจากโปรไฟล์ที่ฝากไว้ใน Linkedin นอกจากนี้ Linkedin ยังมีกลุ่มต่างๆ เหมือนใน Facebook ที่สามารถหาเครือข่ายงานและเป็นศูนย์รวมข้อมูลเกี่ยวกับวงการที่เราสนใจ เช่น กลุ่ม HR (ฝ่ายบุคคล) กลุ่ม Supply Chain and Logistics (กลุ่มซัพพลายเชน และโลจิสติกส์) กลุ่มการเงิน กลุ่มบัญชี เป็นต้น ซึ่งผู้สมัครสามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มและหาคอนเน็คชั่นได้ การใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัว เช่น ให้เพื่อนแนะนำก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่อาจจะหางานได้เร็ว บางบริษัทยังมีการแจกของรางวัลเล็กๆ น้อยกับพนักงานที่สามารถหาผู้สมัครให้กับบริษัทได้เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ แต่บางครั้งหากผู้สมัครเข้าไปทำงานแล้วไม่ชอบ อาจสร้างความลำบากใจให้กับทั้งผู้แนะนำและผู้ถูกแนะนำ

บริษัทญี่ปุ่นโดยมากยังนิยมรับสมัครงานโดยผ่านบริษัทจัดหางาน เรียกได้ว่าเป็นวัฒนธรรมการหางานที่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของญี่ปุ่นเลยค่ะ ด้วยความเป็นชาตินิยม บริษัทญี่ปุ่นจึงมักใช้บริษัทจัดหางานสัญชาติญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่มีบริษัทแม่อยู่ที่ญี่ปุ่น บริษัทจัดหางานในไทยนั้นผุดขึ้นเร็วราวกับดอกเห็ด ผู้สมัครต้องเลือกดูว่าบริษัทไหนมีความเป็นมืออาชีพและไว้ใจได้แค่ไหน เพราะบางบริษัทเปิดมาเดี๋ยวเดียวก็ปิดไป ทำให้เราเสียเวลาในการติดต่อบริษัทจัดหางานใหญ่ๆ ยังมีคอนเน็คชั่นดีๆ กับบริษัทที่มีชื่อเสียงมากกว่า บริษัทจัดหางานจะแบ่งทั่วไปเป็นสองประเภทคือแบบจัดหางานในตำแหน่งธรรมดา กับอีกแบบคือหาเฉพาะตำแหน่งผู้บริหารหรือตำแหน่งที่ต้องใช้ความสามารถพิเศษ (Executive Search)
ดิฉันได้สอบถามเพื่อนที่ทำงานที่บริษัทจัดหางานญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่ง เธอเล่าว่า บริษัทจัดหางานญี่ปุ่นจะแบ่งการทำงานเป็น 2 ทีม คือ Business Development (พัฒนาธุรกิจ) ในทีมนี้จะเป็นชาวญี่ปุ่นทั้งหมด ทำหน้าที่ในการหาลูกค้าไปรับตำแหน่งงานมาให้ Recruitment Consultant (ที่ปรึกษาการจัดหางาน) ทีม Recruitment Consultant จะมีหน้าที่ในการหาผู้สมัครสำหรับตำแหน่งนั้นๆ ที่แต่ละคนรับผิดชอบอยู่ ในบางครั้งจะติดต่อกับฝ่ายบุคคลของบริษัทที่ว่าจ้างที่เป็นคนไทยโดยตรง หรืออาจจะส่งผ่าน Business Development คนญี่ปุ่นเพื่อส่งต่อให้ลูกค้าพิจารณาต่อไป

บริษัทจัดหางานก็จะหาผู้สมัครจากเว็บไซต์ต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ได้แก่ Jobsdb, Linkedin, Jobthai, Facebook page หลังจากที่ทางจัดหางานได้อ่านประวัติผู้สมัครแล้วเห็นว่าน่าสนใจก็จะทำการ สัมภาษณ์ อาจเป็นทางโทรศัพท์หรือเชิญมาสัมภาษณ์ที่ออฟฟิศ หากเป็นตำแหน่งสำคัญมากๆ ก็จะต้องเชิญมาออฟฟิศ เพราะทางจัดหางานต้องการเห็นบุคลิกภาพท่าทาง การแต่งกายของผู้สมัครด้วย เมื่อจัดหางานสัมภาษณ์แล้วเห็นว่าเหมาะสม ก็จะทำการส่งประวัติให้ลูกค้าซึ่งเป็นบริษัทที่เปิดรับสมัครพิจารณาในขั้น ต่อไป เพื่อนดิฉันบอกว่า ลูกค้าหลักๆ ของบริษัทจัดหางานส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานหรือบริษัทญี่ปุ่น บางบริษัทที่เป็นบริษัทตั้งใหม่ก็อาจให้หาทั้งทีมเลยทีเดียว เมื่อจัดหาผู้สมัครได้และบริษัทรับผู้สมัครนั้นๆ เข้าทำงาน บริษัทจัดหางานก็จะได้ค่าบริการซึ่งอาจคิดเป็นเงินเดือน แคนดิเดท 13 เดือน X 20%
ข้อดีของการใช้บริการบริษัทจัดหางาน ในแง่บริษัทคือ บริษัทไม่ต้องเสียเวลาค้นหาผู้สมัครเองจากแหล่งต่างๆ เพราะฝ่ายบุคคลในบริษัทขนาดเล็กหรือกลางอาจจะยังไม่มีทีมรับสมัครเป็นของตัว เอง และอาจต้องทำงานหลากหลายอย่างในขณะเดียวกัน เช่น ทำเงินเดือน ทำเบิกจ่ายค่าสวัสดิการ หาคอร์สอบรมให้พนักงาน ในแง่ของผู้สมัคร การใช้บริษัทจัดหางานก็เป็นการง่ายที่จะเข้าถึงบริษัทที่ต้องการรับสมัคร และประหยัดเวลาในการหา
บางบริษัทอาจยังประกาศรับสมัครให้บริษัท จัดหางานเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ประกาศในเว็บไซต์ทั่วไป ผู้สมัครสามารถบอกได้เลยว่าอยากได้งานแบบไหน อย่างไร เงินเดือนเท่าไร สิ่งที่บริษัทจัดหางานคาดหวังก็คือ อยากให้ผู้สมัครให้ข้อมูลที่เป็นความจริงและไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เช่น การแต่งประวัติการทำงานที่ไม่เป็นความจริง และอาจมีการโดนตรวจเช็คในภายหลัง หรืออาจมีการให้กรอกเงินเดือนที่คาดหวังในตอนแรก แต่พอคุยๆ ไปอาจเปลี่ยนเงินเดือนที่คาดหวังให้สูงขึ้น ทำให้บริษัทจัดหางานทำงานลำบาก และอาจต้องเสียเวลาไปคุยกับบริษัทที่จะจ้างหลายรอบค่ะ เทคนิคการหางานให้ได้งาน นอกจากจะเข้าถึงแหล่งงานที่มีการประกาศรับสมัครแล้ว การสมัครงานในตำแหน่งที่ผู้สมัครมีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องยังมีโอกาสเป็นไป ได้มากกว่า

จากประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยเป็นผู้รับสมัครเอง เข้าใจว่าในหลายๆ ครั้งที่ผู้สมัครงานแล้วไม่ได้งานนั้นก็เพราะผู้สมัครไม่มีคุณสมบัติที่ตรงตามที่ประกาศรับสมัครงานเลย เช่น อาจประกาศรับตำแหน่งคนที่พูดภาษาญี่ปุ่น และคนที่สมัครไม่มีความรู้ภาษาญี่ปุ่น หรือเคยประกาศรับผู้จัดการฝ่ายส่งออก แต่ผู้สมัครไม่ได้มีประสบการณ์ด้านส่งออกมาก่อนเลย
การสมัครงานที่ไม่ตรงตามคุณสมบัติที่ผู้รับสมัครแจ้งไว้ก็จะทำให้หางานยากกว่า เดิมค่ะ แต่หากเรามีความมั่นใจในความสามารถของเราที่เหมาะสมกับงานตำแหน่งนั้นๆ การหางานก็ไม่ใช่เรื่องยากเลยค่ะ