“ไดโจ เทนโน” ( 太上天皇) หรือ “โจโค” (上皇) คือพระนามของจักรพรรดิที่สละราชสมบัติ คำๆ นี้เลียนมาจากการขานพระนามฮ่องเต้ของจีนที่สละราชย์ จะถูกเรียกว่า ไท่ซ่างหวง (太上皇) ซึ่งจักรพรรดิของญี่ปุ่นเคยมีการสละราชสมบัติมาแล้วหลายพระองค์
ไม่นานมานี้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวของเรา ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายและถวายพระราชสมัญญานามให้ ร.4 ว่า พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ซึ่งนับว่าเป็น “มหาราช” องค์ล่าสุดในประวัติศาสตร์ของชาติไทยเรา

เมื่อกล่าวถึง ร.4 ผู้เขียนก็นึกไปถึงตำแหน่ง “พระเจ้าหลวง” ตำแหน่งนี้เคยจะเกิดขึ้น เนื่องด้วยพระองค์ท่านเคยมีพระราชดำริจะทรงสละราชสมบัติให้พระราชโอรส และจะทรงขึ้นไปอยู่ในตำแหน่งพระเจ้าหลวงแทน
“พระเจ้าหลวง” จึงหมายถึงกษัตริย์ที่สละราชย์ จะด้วยพระชนมายุที่มากขึ้นหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ทรงมีพระประสงค์จะไม่ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินอีกต่อไป แต่สุดท้ายในรัชสมัยของ ร.4 ก็ไม่ได้เกิดตำแหน่งนี้ขึ้นจริง
ส่วน “พระเจ้าหลวง” ในประวัติศาสตร์ชาติอื่นๆ ก็เคยมีมา คำเรียกก็เป็นไปตามภาษาของแต่ละชาติ ยกตัวอย่างฮ่องเต้ของจีน ฮ่องเต้เฉียนหลงก็เคยสละราชสมบัติ เพราะไม่ต้องการครองราชย์ยาวนานกว่าพระอัยกาหรือฮ่องเต้คังซีจึงยกราชสมบัติให้พระราชโอรส และตนเองขึ้นเป็นพระเจ้าหลวง แต่แท้จริงอำนาจในการปกครองก็ยังคงอยู่ในมือของพระองค์ตราบจนสวรรคต

ตัวอย่างจากทางจีนก็ยังมีฮ่องเต้ถังเสวียนจง เอ่ยชื่อนี้คนอาจจะไม่คุ้น แต่ถ้าบอกว่าฮ่องเต้องค์นี้คือสวามีของหยางกุ้ยเฟย และลุ่มหลงนางจนแผ่นดินโกลาหล ทุกคนก็คงจะต้องร้องอ๋อขึ้นมาทันที และเพราะเหตุนี้ พระองค์จึงจำต้องขึ้นเป็นพระเจ้าหลวง และให้พระราชโอรสขึ้นเป็นฮ่องเต้แทน
ประเทศญี่ปุ่น เป็นเช่นเดียวกับอีกหลายๆ ประเทศที่รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมจีน ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรม ศิลปะวัฒนธรรม หรือแม้กระทั่งการเมืองการปกครอง
“ไดโจ เทนโน” ( 太上天皇) หรือ “โจโค” (上皇) คือพระนามของจักรพรรดิที่สละราชสมบัติ คำๆ นี้เลียนมาจากการขานพระนามฮ่องเต้ของจีนที่สละราชย์ จะถูกเรียกว่า ไท่ซ่างหวง (太上皇) ซึ่งจักรพรรดิของญี่ปุ่นเคยมีการสละราชสมบัติมาแล้วหลายพระองค์
และที่หลายคนไม่รู้อีกอย่าง ก็คือในญี่ปุ่นก็เคยมี “จักรพรรดินีนาถ” คือจักรพรรดิหญิงที่เป็นประมุขสูงสุดอยู่ด้วย และมีอยู่ถึง 2 พระองค์ที่สละราชสมบัติและถูกเรียกว่า “ไดโจ เทนโน” ด้วยเช่นกัน

สำหรับการเรียกขานพระปรมาภิไธยของพระจักรพรรดิและพระนามของจักรพรรดินีที่สละราชสมบัติในภาษาไทย ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แต่ทางราชสำนักญี่ปุ่นได้ยกตัวอย่างเอ่ยพระปรมาภิไธยของกษัตริย์ในประเทศอื่นที่สละราชย์อย่าง ภูฏาน เบลเยียม และสเปน ว่ายังคงเรียกแบบเดิม
ดังนั้นเราจึงยังสามารถเรียกทั้งสองพระองค์ได้ว่า “สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ” และ “สมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ” ดังเดิม
เรื่องแนะนำ :
– Inkan บริการทุกระดับประทับตรา
– ทำความรู้จัก Omikuji เซียมซีในแบบฉบับของญี่ปุ่น
– ประกาศเปิดตัวรายการ PRODUCE 101 JAPAN ค้นหากลุ่มไอดอลชาย เจาะตลาดเพลงญี่ปุ่นเตรียมเดบิวต์ปี 2020 นี้!!
– มาทำความรู้จักมาสคอตประจำ Tokyo Olympic และ Paralympic 2020 กันเถอะ
– ทำความรู้จัก 5 เครื่องดนตรีโบราณของประเทศญี่ปุ่น
ขอบคุณภาพประกอบจาก:
https://read01.com/E85dz5a.html#.Xa11nSU5rDs
https://www.posttoday.com/world/562246