แม้ว่าละครญี่ปุ่นจะไม่ได้เป็นกระแสหลักหรือดังเปรี้ยงปร้างในไทยสักเท่าไร แต่ถือได้ว่าเป็นกระแสที่ค่อนข้างอยู่ในไทยมาอย่างยาวนานมาก วันนี้เลยจะมาเล่าว่าทำไม “ละครญี่ปุ่น” ถึงทำให้แฟนๆ สายเจคลั่งไคล้กันได้ขนาดนี้ค่ะ
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาได้มีงาน J-Series ให้แฟนๆ ละครญี่ปุ่นได้ฟินกันอย่างถ้วนหน้า เป็นงานที่สร้างความสุขให้กับแฟนซีรีส์ได้ไม่น้อยเลยทีเดียว จะเห็นได้ว่าปัจจุบันละครญี่ปุ่นเริ่มเข้ามาในไทยเยอะขึ้น แม้ว่าจะยังไม่ได้เป็นกระแสหลักหรือดังเปรี้ยงปร้างในไทยสักเท่าไร แต่ถือได้ว่าเป็นกระแสที่ค่อนข้างอยู่ในไทยอย่างยาวนานมาก วันนี้เลยจะมาเล่าค่ะว่า ทำไม “ละครญี่ปุ่น” ถึงทำให้แฟนๆ สายเจคลั่งไคล้กันได้ขนาดนี้ ตามมาอ่านกันเลยยยย
1. มีเนื้อหานอกกระแส
ถ้ามองในมุมมองของบ้านเรา ละครญี่ปุ่นจะค่อนข้างมีเนื้อหาที่นอกกระแสค่ะ ไม่ใช่แนวละครที่จะเห็นได้ทั่วๆ ไป อย่างเช่น ละครไทยบ้านเราจะเน้นแนวความรัก ส่วนละครเกาหลีที่ฮิตๆ ในบ้านเราก็จะมีธีมหลักที่เน้นในเรื่องความรักเช่นกัน ถึงแม้ว่าจะมีเรื่องอาชีพ ข้อคิดในชีวิตเข้ามาแทรกด้วย แต่ถ้าเทียบกับของญี่ปุ่นแล้ว แนวความรักจะหาเจอได้ยาก จะเป็นชนิดที่ว่าถ้าเป็นแนวชีวิตก็จะชีวิตเพียวๆ แบบฮาร์ดร็อกเลย ไม่มีความรักกุ๊กกิ๊กมามีบทนำ เช่น เรื่องชีวิตที่รันทด โศกเศร้า แต่ก็ต้องเดินต่อไป อย่าง “บันทึกน้ำตา 1 ลิตร” หรือเรื่องราวครอบครัวแบบจัดเต็มสุดๆ อย่าง “Kazoku Game” และ “Kaseifu no Mita” หรือจะเป็นเรื่องราวชีวิตของเด็กกำพร้ากลุ่มหนึ่งที่ชวนให้ติดตามอย่าง “Ashita Mama ga Inai” หรือจะเรื่องอาชีพการงาน ที่ดูแล้วรู้สึกว่า วันๆ นี่พวกนายมี “งาน” เป็นแรงขับเคลื่อนในการมีชีวิตใช่ไหม? หรือจะเป็นพวกละครแนวสืบสวนสอบสวน ที่สืบคดี ไขปริศนากันอย่างเมามัน ถือว่าญี่ปุ่นมีละครที่หลากหลาย สะท้อนทุกมุมมองของชีวิตให้คนดูได้เห็นค่ะ เลยทำให้ละครญี่ปุ่นมีความน่าสนใจ และเป็นทางเลือกใหม่อยู่เสมอ สำหรับคนที่อยากดูละครแนวอื่นๆ ที่ฉีกไปจากเดิมบ้าง
2. มีความใหม่อยู่เสมอ
ถ้าพูดถึงละครญี่ปุ่น หลายคนจะเห็นภาพว่ามีแต่แนวสืบสวนสอบสวนที่ให้เห็นได้ทุก Season แต่ถ้าพูดถึงพล็อตเรื่อง กลับมีการพลิกแพลงและพัฒนาไปเรื่อยๆ ทำให้ละครแนวนี้ยังคงเป็นที่ครองใจของคนดู หรือถ้าพูดถึงแนวละครหลักในมุมกว้างของญี่ปุ่นก็จะเห็นได้ว่ามีความ เปลี่ยนแปลงมาเป็นระยะๆ เมื่อก่อนละครญี่ปุ่นก็มีแนวความรักเยอะเช่นกันค่ะ และก็ค่อยๆ เริ่มพัฒนาเรื่อยๆ โดยการแทรกเรื่องอื่นๆ เข้าไปด้วย เช่น เรื่องของครอบครัว การทำงาน เป็นต้น พอเข้ายุคประมาณ 1990 เป็นต้นไป ญี่ปุ่นประสบกับปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนัก ผู้คนเริ่มเคร่งเครียดกับชีวิตมากขึ้น ละครญี่ปุ่นในช่วงนี้เริ่มมีเนื้อเรื่องที่อิงกับชีวิตจริง เล่าถึงชีวิตประจำวันที่คนส่วนใหญ่ต้องพบเจอ เช่น เรื่องการทำงาน ครอบครัว ชีวิตวัยเรียน ซึ่งละครแนวนี้ถูกเรียกว่า “Trendy Drama” ที่ดูแล้วสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนดูได้ ได้เห็นรูปแบบชีวิตต่างๆ เหมือนกับว่าได้เรียนรู้ชีวิตไปในตัว
ส่วนตัวแล้ว จากที่ดูละครญี่ปุ่นมาเป็นประจำ รู้สึกได้ว่า ละครญี่ปุ่นยังเป็นสิ่งที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ และมีความแปลกใหม่ให้เห็นอยู่ตลอด ในแต่ละปีละครญี่ปุ่นจะต้องมีละครเด็ดๆ โผล่มาให้เห็นสัก 2-3 เรื่องค่ะ และเรื่องที่ว่าเด็ดนี่ มักจะต่างไปจากเรื่องที่เคยๆ ดู อย่างเรื่อง “Kaseifu no Mita” ถือเป็นแนวครอบครัวที่แปลกใหม่มาก ที่นำเอาความลึกลับ ชวนน่าค้นหาอย่าง “ละครสืบสวน” มารวมในละครแนวครอบครัว หรือเรื่อง “Hanzawa Naoki” เรื่องที่ใครๆ พูดถึงกันจนหนาหู สิ่งหนึ่งที่ทำให้คนสนใจก็คือความแปลกใหม่ของเรื่องค่ะ คนไม่เคยเห็นละครแนวอาชีพนายธนาคาร ชีวิตมนุษย์เงินเดือนที่ถึงพริกถึงขิงขนาดนี้มาก่อน เป็นเรื่องที่เอา “การสืบสวน” บวกกับ “ความหักมุม” ที่เห็นได้บ่อยๆ ในละครสืบสวนมาผสมในเรื่องนี้ด้วย ไม่มีอะไรจะพูดนอกจากว่า “มันส์สุดๆ” ค่ะ หรือจะเป็นเรื่อง “First Class” ที่มีตัวละครนำเป็นผู้หญิง ละครแนวแซบๆ แบบนี้ไม่ค่อยได้เจอในละครญี่ปุ่น ก็จะเห็นได้ว่า ละครญี่ปุ่นเองก็จะมีการพัฒนาให้เราเห็นอยู่เสมอๆ
3. ความหักมุม
เนื้อเรื่องที่หักมุมและคาดเดาไม่ได้ ถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนดูรู้สึกติดใจไปกับละครญี่ปุ่นค่ะ ทำให้เราต้องคอยลุ้นว่าต่อไปจะเป็นอย่างไร อาจจะเป็นรสนิยมในการดูของญี่ปุ่นก็เป็นได้ ที่ไม่ชอบอะไรที่คาดเดาได้ แต่ใช่ว่าญี่ปุ่นจะไม่ชอบอะไรเดิมๆ นะคะ จะเห็นได้ว่าละครญี่ปุ่นจะมี “ละครภาคต่อ” เยอะ นั่นก็เพราะว่า ละครจบไม่เคลียร์ บวกกับละครเรื่องนั้นมันสนุก เลยต้องทำต่อ เพื่อให้ละครเรื่องนั้นๆ อยู่กับคนดูตลอดไปเรื่อยๆ ค่ะ
4. การแสดงที่ไม่ผิดหวัง
แม้ว่าหน้าตาของนักแสดงจะเป็นจุดสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้หลายคนเมินละครญี่ปุ่นไป แต่ในทางกลับกัน “นักแสดงญี่ปุ่น” คือสิ่งสำคัญที่ทำให้แฟนละครญี่ปุ่นยึดมั่นที่จะติดตามละครญี่ปุ่นค่ะ ถึงแม้ว่านักแสดงญี่ปุ่นจะมีหน้าตาที่ธรรมดาไปสักหน่อย อาจจะไม่หล่อเข้าขั้นเทพ แต่เป็นนักแสดงที่มีเสน่ห์ และมีเอกลักษณ์ค่ะ และที่สำคัญนักแสดงทุกคนจะสามารถแสดงบทแต่ละบทได้อย่างดี ตีบทแตก จนไม่ทำให้คนดูรู้สึก เล่นแข็ง เล่นไม่ดี แต่อย่างใด และด้วยความสามารถของการแสดง ก็ช่วยทำให้ละครเรื่องนั้นๆ มีความสนุกมากขึ้น สร้างความอินให้กับคนดูเพิ่มมากขึ้น นักแสดงสามารถส่งต่อความรู้สึกของ “ตัวละคร” ได้อย่างเต็มที่ เป็นการเพิ่มอรรถรสของละครไปในตัว!
5. ไม่เสียเวลา
ข้อดีของละครญี่ปุ่นอีกอย่างก็คือ “ไม่เสียเวลาในการดู” ค่ะ เพราะแต่ละตอนจะมีความยาวประมาณ 1 ชั่วโมง และแต่ละเรื่องมีแค่ 8 – 12 ตอนเท่านั้น ถ้าดูแบบจริงๆ จังๆ เลยก็จะใช้เวลาแค่ 2 วันเท่านั้น!!! จะชอบมีคนมาถามค่ะว่า เอาเวลาที่ไหนมาดูซีรีส์ ก็ได้แต่ตอบว่า มันไม่ต้องใช้เวลาในการดูมากมายอะไรขนาดนั้น แค่ 1 ชั่วโมงก่อนนอน ก็จบตอนแล้ว คนที่ไม่เคยดูละครญี่ปุ่นก็จะรู้สึก Amazing มากค่ะ บางคนอาจจะมองว่ามันสั้นไป แต่ในความสั้นของละครญี่ปุ่นก็มีข้อดีหลายอย่าง ความสั้นทำให้เรื่องดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ไม่ยืดเยื้อ ไม่น่าเบื่อหน่าย และทำให้การดูละครญี่ปุ่นของเรา “ไม่ใช่เรื่องเสียเวลา” ค่ะ!
6. ทางออกของชีวิต
ช่วงเวลาที่ชามะนาวอยากดูละครญี่ปุ่นมากที่สุด ก็คือ ช่วงเวลาที่เครียดที่สุดค่ะ คนรอบข้างก็ไม่เข้าใจนะคะว่า เครียดแล้วจะไปดูอะไรที่มันเครียดๆ ทำไม ? แต่ที่ชอบก็เพราะว่า ถึงแม้ละครญี่ปุ่นจะเครียด แต่ก็มักจะแทรกข้อคิด และทางออกชีวิตให้เราอยู่เสมอค่ะ ท่ามกลางเรื่องราวที่ยากลำบากในละคร มักจะมีข้อคิดดีๆ จากตัวละครแทรกขึ้นมาให้เราได้ฉุกคิด ทำให้จากที่เราจมอยู่กับสิ่งหนึ่ง ก็ได้เห็นมุมมองอีกมุมหนึ่งที่เราอาจนึกไม่ถึง ความรู้สึกมันคล้ายๆ การอ่านหนังสือ How to ที่ให้กำลังใจนั่นแหละค่ะ การดูละครญี่ปุ่นถือว่าเป็นการสอนให้เรารู้จักการแก้ปัญหาด้วยการเผชิญหน้า ต่อความจริงอย่างแท้จริงค่ะ
7. ได้เรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรม
ข้อนี้ก็ถือเป็นข้อดีสำหรับคนที่ดูละครญี่ปุ่นค่ะ นอกจากจะได้ความสนุกแล้ว ยังได้เรียนรู้ภาษาญี่ปุ่นไปในตัว ได้ฝึกทักษะการฟัง ภาษาพูดที่ดูเป็นธรรมชาติ รวมถึงเวลาดูละครญี่ปุ่น เราจะซึมซับวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่นอกเหนือไปจากตำราเรียน ถือว่าเป็นวิธีการศึกษาที่สนุกไปอีกแบบเลยทีเดียว
8. ความเป็นธรรมดาที่มีเสน่ห์
เสน่ห์ของละครญี่ปุ่นที่ทำให้ครองใจคนดูชาวไทยมาได้เป็นเวลายาวนาน คงจะเป็น “ความธรรมดา” ค่ะ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า หน้าผม ที่ไม่จำเป็นต้องจัดเต็มอะไรมากมาย แต่ก็ดูดีสบายตา รวมถึงเนื้อเรื่องของละคร แม้บางเรื่องจะเป็นเรื่องธรรมดา ใกล้ๆ ตัว แต่กลับถ่ายทอดออกมาแล้วรู้สึกประทับใจ ดูแล้วอบอุ่นอยู่ในใจ นำเสนอมุมมองที่น่าสนใจออกมาได้ ไม่ค่อยมีเรื่องราวที่พระเอกรวยล้นฟ้า อยู่คฤหาสน์ใหญ่มาหลงรักหญิงสาวจนๆ ธรรมดาให้เห็นสักเท่าไร แต่จะเป็นเรื่องของคนทั่วๆ ไป ที่ตื่นเช้ามาก็ไปทำงาน เดินทางด้วยรถไฟฟ้า รถเมล์ อยู่อพาร์ตเม้นท์ หรือบ้าน 2 ชั้นธรรมดาทั่วๆ ไป แต่งตัวก็ไม่ได้จัดเต็มทุกวัน ด้วยความธรรมดา และธรรมชาติของละคร มันทำให้คนดูเกิดความรู้สึกหนึ่งค่ะ นั่นก็คือ “แม้ว่าเราจะเป็นคนธรรมดา เราก็เป็นพระเอกหรือนางเอกได้” จากเนื้อเรื่องที่ใกล้ความจริง ทำให้คนดูรู้สึกว่ามันใกล้กับชีวิต และสนใจอยากจะดูต่อๆ ไป
9. ความผูกพัน
เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ละครญี่ปุ่นอยู่ในใจมาตลอดเลยก็คือ “ความผูกพัน” ค่ะ สำหรับคนที่ดูละครญี่ปุ่นมาตั้งแต่แรกเริ่ม เขาจะรู้สึกว่าเราโตมากับสิ่งนี้ เกิดความผูกพัน เชื่อมั่นที่อยากจะอยู่กับสิ่งนี้ตลอดไป บางคนอาจจะเลิกดูไปแล้ว แต่พอกลับมาดูอีก ก็จะทำให้หวนคิดถึงเรื่องราวสมัยเก่าๆ ได้ค่ะ ได้เห็นดาราในสมัยที่เรายังวัยรุ่น ในวัยที่เปลี่ยนไป แต่บางทีก็ไม่เปลี่ยนมากค่ะ แม้เวลาจะผ่านไปเป็น 10 ปี แต่บางคนก็ยังรับบทเป็นพระเอก นางเอกกันอยู่เลย อย่างเช่น “ทาคุยะ คิมูระ” ก็ยังคงเป็นพระเอกตลอดกาลของญี่ปุ่น อายุอานามก็ไม่เบาแล้ว แต่เขายังไม่เคยได้รับบทพ่อพระเอก พ่อนางเอก ลุง น้า หรืออะไรทั้งสิ้น นอกจาก “พระเอก” ค่ะ มันให้ความรู้สึกว่า ทาคุยะในวันวานยังอยู่กับพวกเราในวันนี้ เหมือนกับเรื่อง “HERO” ภาค2 ที่ช่วยพา “คุริว” กลับมาหาพวกเราอีกครั้ง
นี่ก็เป็นเหตุผล 9 ข้อ ที่ทำให้หลายคนรักละครญี่ปุ่นค่ะ ก็เป็นเหตุผลที่มาจากตัวเองบวกกับความคิดเห็นจากการได้พูดคุยกับคนที่ชอบดู ละครญี่ปุ่นเหมือนกัน ละครญี่ปุ่นมีข้อดีหลายอย่างค่ะ แต่ก็มีข้อเสียที่ดูเป็นปัญหาสำหรับคนที่สนใจอยากดูละครญี่ปุ่นก็คือ “หาดูได้ยาก” แต่พักหลังมานี้ละครญี่ปุ่นเริ่มเข้ามาในบ้านเรามากขึ้น หวังว่าจะมีโอกาสได้ดูละครญี่ปุ่นหลายๆ เรื่องมากขึ้นเนอะ (^^)