พนักงานออฟฟิสจำนวนมากนั่งในออฟฟิสไม่ยอมกลับบ้านทั้งๆ ที่งานเสร็จแล้วเพื่อแค่ให้เห็นว่า “ทำงานหนัก” แต่ประสิทธิภาพในการทำงานกลับไม่ได้มีมาก พนักงานรุ่นใหม่ๆ ก็มักไม่กล้ากลับบ้านก่อนเจ้านาย ทำให้ส่วนใหญ่ต้องทำงานล่วงเวลาโดยไม่ได้รับค่าจ้าง
ใกล้สิ้นปีกันแล้ว คุณผู้อ่านมีแพลนไปเที่ยวไหนกันบ้างคะ ดิฉันวางแผนจะไปเที่ยวเหนือช่วงหนาวๆ นี้แหละค่ะ เรื่องการพักผ่อนนี่ขอให้บอก เราต้องมี Work Life Balance จริงไหมคะ

เป็นที่ทราบกันดีกว่าที่ญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องการทำงานหนัก แต่ก็มักจะถูกตั้งข้อสงสัยถึงความมีประสิทธิภาพของการทำงานที่แท้จริง รวมถึงปัญหาวัฒนธรรมองค์กรที่เต็มไปด้วยพิธีรีตองมากมายที่ไม่ค่อยเอื้อประโยชน์
พนักงานออฟฟิสจำนวนมากนั่งในออฟฟิสไม่ยอมกลับบ้านทั้งๆ ที่งานเสร็จแล้วเพื่อแค่ให้เห็นว่า “ทำงานหนัก” แต่ประสิทธิภาพในการทำงานกลับไม่ได้มีมาก พนักงานรุ่นใหม่ๆ ก็มักไม่กล้ากลับบ้านก่อนเจ้านาย ทำให้ส่วนใหญ่ต้องทำงานล่วงเวลาโดยไม่ได้รับค่าจ้างซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ พนักงานบริษัทโดยทั่วไปยังไม่กล้าหยุดงานถึงแม้จะมีวันหยุด เกรงว่าหากตัวเองหยุดงานแล้ว เพื่อนร่วมงานของตัวเองจะไม่พอใจ ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ของความเกรงใจของญี่ปุ่น หรือกลัวจะถูกประเมินผลงานไม่ดี กลัวเจ้านายเขม่น
เพื่อนคนญี่ปุ่นของดิฉันมีวันลาหยุดได้ถึง 35 วันแต่เขากลับไม่กล้าใช้เลย ปัญหาของญี่ปุ่นเรียกได้ว่าช่างตรงกันข้ามกับสหรัฐฯ โดยสิ้นเชิง เนื่องจากคนงานอเมริกันจำนวนมากที่มีสิทธิ์ลาหยุดส่วนใหญ่ก็จะใช้ตามสิทธิ์ของตนจนหมด
สืบเนื่องจากการทำงานหนักนี่เอง รัฐบาลญี่ปุ่นยังประเมินตัวเลขคนที่ทำงานจนตายหรือ “คาโรชิ” ในญี่ปุ่นว่ามีสูงถึง 400 รายในแต่ละปี แต่ข่าวบางแหล่งบอกว่าตัวเลขสูงถึง 20,000 คน โดยส่วนใหญ่ตายจากโรคหัวใจ หรือเลือดคั่งในสมอง เนื่องจากการทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน อันนี้ไม่นับรวมตัวเลขความตายอันเนื่องมาจากปัญหาสุขภาพจิต และการฆ่าตัวตายจากความเครียดอันเนื่องจากการทำงาน ตัวอย่างเช่น คุณโนริโกะ นากาฮาระ ที่สูญเสียสามีที่ทำงานที่โรงพยาบาลเนื่องจากทำงานหนักเกินไป คุณโนริโกะกล่าวว่าสามีของเธอมักจะทำงานสองกะจนไม่ยอมหลับยอมนอนเพื่อที่จะทำยอดให้ถึงเป้าที่ โรงพยาบาลตั้งไว้ คุณนากาฮาระต้องต่อสู้คดีเพื่อฟ้องร้องโรงพยาบาลให้จ่ายค่าชดเชยเป็นเวลานาน เพราะการตายของสามีเธอส่งผลกระทบต่อครอบครัวโดยเฉพาะลูกที่ยังเล็ก
การใช้ชีวิตอย่างคนบ้างานของญี่ปุ่นยังเป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่อยากมีลูก ส่งผลให้อัตราการเกิดของญี่ปุ่นลดน้อยลงเรื่อยๆ จนถึงขั้นวิกฤตและกำลังเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ญี่ปุ่นได้ศึกษาประเด็นนี้เพื่อร่างกฎหมายเป็นเวลาหลายปี และนับแต่ปี 2012 เป็นต้นมาหลายฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าสภาวะความบ้างานของคนญี่ปุ่นกำลังสร้าง ภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข สร้างปัญหาสังคม และปัญหาต่อความเจริญพันธุ์ของคนญี่ปุ่นจึงจำเป็นต้องสนับสนุนให้พนักงาน กลับบ้านเร็วขึ้นและใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้น
ดิฉันเชื่อค่ะว่าการทำงานหนักโดยปราศจากการพักผ่อนนั้นจะทำให้การทำงานไร้ประสิทธิภาพ นอกจากนี้หากเราเป็นอะไรไปบริษัทหาคนใหม่ได้เสมอ แต่ครอบครัวเราชีวิตและสุขภาพเราสำคัญที่สุด จึงต้องหาทางผ่อนคลายบ้าง..เหนื่อยนักก็พักบ้าง
หุ่นยนต์ยังต้องชาร์จแบต แล้วเราเป็นคนก็ต้องพักผ่อนบ้างจริงไหมค่ะ นอกจากการนอนหลับพักผ่อน การหายใจเข้าและออกลึกๆ รวมถึงการออกกำลังกายก็เป็นการผ่อนคลายร่างกายและจิตใจอีกทางหนึ่งค่ะ
สามารถพูดคุยสื่อสารกับพิชชารัศมิ์ได้ที่ FB: Life Inspired by พิชชารัศมิ์
เรื่องแนะนำ :
– การบริการลูกค้าแบบญี่ปุ่นคือ คือต้องรู้จักพูด “คำขอโทษ” ไม่ใช่ “คำแก้ตัว”
– เด็กญี่ปุ่นและไทย โตขึ้นอยากเป็นอะไรกันนะ
– ประธานบริษัทถุงมือผู้ไม่เคยย่อท้อต่ออุปสรรคทางกายและทางใจ
– Japan Success ธุรกิจสำเร็จได้ด้วยใจรัก
– เคล็ดลับความสำเร็จที่เป็นเอกลักษณ์แบบ Uniqlo
– คนไทยทำงานกับญี่ปุ่น รู้สึกยังไงกันนะ
#เหนื่อยนักก็พักบ้าง