มีปู่กะหลานคู่นึงอาศัยอยู่ในประเทศที่ชื่อว่า “ไทยแลนด์” ปู่เป็นคนรู้อะไรเยอะผ่านชีวิตมามาก และเคยไปใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศหนึ่งชื่อ “ญี่ปุ่น” ซึ่งเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีล้ำหน้า
เล่าโดย : ลุงวสุ www.marumura.com
เครดิตรูปประกอบ : เอกรงค์ โกมลภมร
(สิ่งที่เขียนข้างล่างนี้เป็น Fiction ที่ได้แรงบันดาลใจจากโลกใบนี้)

มีปู่กะหลานคู่นึงอาศัยอยู่ในประเทศที่ชื่อว่า “ไทยแลนด์”
ปู่เป็นคนรู้อะไรเยอะผ่านชีวิตมามาก และเคยไปใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศหนึ่งชื่อ “ญี่ปุ่น” ซึ่งเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีล้ำหน้า
หลานของปู่ชื่อ “ป่าน” อายุอานามย่างเข้าปีที่ 10 เป็นเด็กอยากรู้อยากเห็นและชอบถามโน่นถามนี่จากปู่
และนี่คือบทสนทนาของปู่กะป่าน
ป่าน : ปู่ครับ
ปู่ : อะไรเหรอ ป่าน
ป่าน : ปู่ได้ยินข่าวที่บ้านเราไปเซ็นสัญญารถไฟชินคันเซนกับญี่ปุ่นเปล่าครับ
ปู่ : แน่นอนสิป่าน หวังว่าปู่จะอยู่ทันได้นั่งรถไฟชินคันเซนกับเขาบ้าง
ป่าน : ปู่ไม่เคยนั่งที่ญี่ปุ่นเหรอ
ปู่ : ปู่อยากนั่งในไทยบ้างหน่ะ มันเป็นฟีลลิ่ง
ป่าน : ทำไมปู่พูดจาวัยรุ่นจัง มีฟีลล่งฟีลลิ่งด้วย
ปู่ : อ๊ะ! แน่นอนนน
ป่าน : ….
ปู่ : ทำไมเงียบไปหล่ะ ป่านเอ๊ยยยย
ป่าน : (ถามต่อ ไม่สนใจปู่) แล้วอะไรที่เรียกว่ารถไฟชินคันเซนครับ
ปู่ : ชินคันเซนเป็นรถไฟฟ้าความเร็วสูงของญี่ปุ่นนะ เห็นเขาว่ารถไฟต้องวิ่งได้ตั้งแต่ 200 km/h “โดยส่วนใหญ่” ของเส้นทางทั้งหมด ตามกฎหมายญี่ปุ่นว่าไว้
ป่าน : “โดยส่วนใหญ่” ? หมายความว่าไงอะ
ปู่ : รถไฟคงต้องมีเบรกบ้าง แต่วิ่งปกติบนเส้นทางส่วนใหญ่มันต้องเร็วตั้งแต่ 200 km/h ต่อชั่วโมงแหล่ะ
ป่าน : แล้วเลข 200 มันมีอะไรพิเศษหรือครับ
ปู่ : สมัยโน่น รถไฟของฝรั่งเขาวิ่งกันได้ 150 km/h ก็มี 180 km/h ก็มี สงสัยจะเอาชนะทั้งทีก็คงเลือกเลขสวยๆ กลมๆ อย่าง 200 km/h หล่ะมั้ง
ปู่ : อีกอย่างญี่ปุ่นตอนแรกมีแต่รถไฟรางแคบ (1067 mm) วิ่งได้อย่างเร็วก็ไม่เกิน 100 km/h มันเลยวิ่งเร็วสู้รถไฟฝรั่งที่ใช้รางมาตรฐานสากล (1435 mm) ไม่ได้
ป่าน : แล้วทำไมเขาไม่สร้างให้มันกว้างแต่แรกครับ
ปู่ : ญี่ปุ่นเคยจนนนนน นะป่าน ช่วงที่เขาเริ่มสร้างทางรถไฟตอนยุคเมจิ (คศ 1868 – 1912) เขาเลือกใช้รางแคบกัน เพราะถูกตังค์ดี
ปู่ : ต่อมาในยุคปี 1930 เนื่องจากเหตุการณ์สงครามกับจีนทำให้ความจำเป็นที่ต้องขนส่งสะเบียงมีบ่อยขึ้น จึงเกิดโครงการเมกะโปรเจคที่ชื่อว่า “รถไฟหัวกระสุน” [弾丸列車計画 ]
ป่าน : สุโก้ยยยย
ปู่ : พวกเขาจะสร้างเส้นทางรถไฟใหม่โดยใช้รางกว้าง (1435 mm) ให้คู่ไปกับเส้นหลัก (幹線 : คันเซน) เดิมที่เป็นรางแคบ ตั้งเป้าหมายว่าจะวิ่งด้วยความเร็ว 200 km/h เชื่อมโตเกียวกับโอซาก้า โดยใช้เวลา 4 ชั่วโมง ด้วยเหตุนี้เส้นทางหลัก “สายใหม่” เลยได้ชื่อว่า 新幹線 (新 [ชิน] แปลว่า ใหม่ + 幹線 = เส้นหลักสายใหม่)
ปู่ : พวกเขาทะเยอทะยานไปถึงขั้นว่าจะสร้างเส้นทางนี้ ลอดอุโมงค์ใต้น้ำไปจีนและวิ่งบนแผ่นดินใหญ่ไปถึงสิงคโปร์เลยทีเดียว
ป่าน : ญี่ปุ่นสมัยโน้นก็ฝันไปไกลมากเลยนะปู่
ปู่ : ช่วงใกล้ๆ สงครามโลกครั้งที่สองนะ ญี่ปุ่นตอนนั้นก็ไม่ใช่ย่อย
ปู่ : ในช่วงนั้นการขุดอุโมงค์ลอดภูเขาก็แล้วเสร็จเรียบร้อย และก็มีการกว้านซื้อพื้นที่เพื่อสร้างทางรถไฟไว้หลายแห่ง แต่ต่อมาเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่สองเร่ิมดุเดือดมากขึ้นในปี 1942 โครงการจึงมีอันต้องพับไป
ป่าน : สงครามนี้ทำคนเราลำบากกันมากเลยนะครับปู่
ปู่ : ป่านพูดได้โลกสวยแบบนางงามมากเลย แต่ก็ถูกของป่านแหล่ะ
ปู่ : เพราะสงคราม การกว้านซื้อที่ดินในช่วงนั้นเลยออกแนวแกมบังคับทำให้ได้พื้นที่มาอย่างง่ายดาย ส่งผลให้การสร้างรถไฟฟ้าชินคันเซนในยุคต่อมา (ปี 1959) เป็นไปได้ด้วยความราบรื่น เพราะอุโมงค์พร้อม พื้นที่สร้างก็มีแล้ว
ป่าน : แล้วประเทศไทยเราหากสร้างชินคันเซนแล้วจะมีปัญหาแบบนั้นไหมครับ
ปู่ : ฟันธงเลยว่ามีชัวร์ ขึ้นอยู่การบริหารจัดการโปรเจค และนโยบายต่อภาคชุมชน
ป่าน : นั่นสิครับ
ปู่ : วันนี้โควต้าเนื้อที่ลง marumura.com หมดแล้ว ไว้ปู่มาเล่าใหม่คราวหน้าแล้วกันว่าที่ชินคันเซนวิ่งได้เร็วนั้นด้วย “ความร่วมมือของทุกฝ่าย”
ป่าน : ปู่ขี้เกียจเล่าให้จบวันนี้ก็บอกเถอะ
ปู่ : เดี๋ยวตัดจากกองมรดกซะเลย
———————————————-
คำศัพท์เล็กน้อยส่งท้าย
弾丸列車計画
{だんがんれっしゃ けいかく}
[ดันกันเร็กชะเคคะคุ]โครงการรถไฟหัวกระสุน
เล่าโดย : ลุงวสุ www.marumura.com
เครดิตรูปประกอบ : เอกรงค์ โกมลภมร
ทักทายพูดคุยกับ Wasu ได้ที่ >>> Facebook Wasu’s thought on Japan