วันก่อน เพื่อนคนไทยที่อยู่ฝรั่งเศสเพิ่งเมสเสจมาถามดิฉัน ประมาณว่า เขาไปเจอคำนี้ในการ์ตูนสักอย่าง เฮ้ย เกตุ …. กู-เร-โตะ แปลว่า เยี่ยมป๊ะ
วันก่อน เพื่อนคนไทยที่อยู่ฝรั่งเศสเพิ่งเมสเสจมาถามดิฉัน ประมาณว่า เขาไปเจอคำนี้ในการ์ตูนสักอย่าง
เพื่อน : เฮ้ย เกตุ …. กู-เร-โตะ แปลว่า เยี่ยมป๊ะ
เกตุ : ถูกต้อง! แต่จริงๆแล้วคำนี้มันไม่ใช่ภาษาญี่ปุ่น มันคือคำว่า Great
เพื่อน : …. มัน…คือภาษาอังกฤษ…รึ?
เพื่อนๆหลายคนคงมีประสบการณ์คล้ายๆ กันตอนไปเที่ยวญี่ปุ่นแล้วต้องถามทาง คงมีศัพท์ประมาณว่า
“บัส-สุ” (Bus)
“เลฟ-ฝุ-โตะ” (Left)
“เท่ม-ผุ-หรุ” (Temple)
หรือบางคนอาจเจอภาษาอังกฤษขำๆ ของคนญี่ปุ่นแบบนี้

เดือนก่อน มีเด็กนักเรียนจากมหาลัยเกียวโตกว่า 20 คนมาแลกเปลี่ยนที่มหาลัยดิฉัน เด็กๆ จะมาเรียนที่นี่เป็นระยะเวลา 4 เดือนค่ะ เนื่องจากดิฉันเคยไปเรียนและอยู่ญี่ปุ่นมาก่อน อาจารย์คณบดีเลยมอบหมายให้ดิฉันดูแลเด็ก (หนุ่ม) 2 คนจาก 20 คน
ภารกิจอันยากลำบากในการดูแลเด็ก 2 คนนี้คือ การห้ามไม่ให้ตัวเองเผลอพูดภาษาญี่ปุ่นค่ะ ท่านคณบดีสั่งการเฉียบขาดมาว่า เด็กๆ มาที่นี่เพื่อฝึกภาษาอังกฤษและการใช้ชีวิตในต่างประเทศ เพราะฉะนั้น เราต้องช่วยให้เขาได้ฝึกมากที่สุด
พบ “โกโบริ” เด็ก 2 คนในสังกัดอาจารย์เกตุวดีหน้าตาแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง คนแรกชื่อ “จุน” หน้าใสกิ๊ง ขาว ตี๋ ตัวผอมๆ อีกคน ชื่อ “โคบาริ” มาแนวเข้ม ล่ำ คล้ำ สูงใหญ่
จุนจะดูเรียบร้อย ส่วนโคบาริจะออกฮาๆ ค่ะ ตอนโคบาริซังแนะนำตัวกับดิฉัน เขาได้รู้จักชื่อผู้ชายญี่ปุ่นที่โด่งดังที่สุดในเมืองไทยแล้ว เพราะเขาชิงบอกดิฉันก่อนเลยว่า “ผมชื่อ โคบาริ ครับ แต่อาจารย์เรียกผม โกโบริก็ได้ครับ…” 555

การแนะนำตัวเอง
ปกติ เราคนไทย เวลารู้จักกันใหม่ๆ จะเรียกชื่อจริงก่อน พอสนิทสนมไปได้ระดับหนึ่ง ถึงค่อยเรียกชื่อเล่นใช่ไหมคะ แต่คนญี่ปุ่นเขาจะเรียกอีกฝ่ายด้วย “นามสกุล” กันค่ะ เช่น คุณทานากะ คุณซุซุกิ ไว้พอสนิทกันมากๆ ถึงค่อยเรียกชื่อจริง พูดง่ายๆคือ สำหรับคนญี่ปุ่น นามสกุล เปรียบเสมือนชื่อจริงของคนไทย ส่วนชื่อจริง ก็เหมือนชื่อเล่นของคนไทย (งงมั้ยคะ 55)
อย่างหนุ่มสาวญี่ปุ่น เวลาคบกันใหม่ๆ ต่างฝ่ายยังเกรงใจกันอยู่ ก็จะเรียกนามสกุลกัน แต่พอสนิทกันแล้ว หรือคบเป็นแฟนจริงจัง ถึงค่อยเริ่มเรียกชื่อเล่น เช่น “นานะ” “โทโมโกะ” “ซาโตชิ” เรียกได้ว่า ชื่อเรียก สามารถบอกระดับความสัมพันธ์ของคู่รักนั้นๆ ได้เลยล่ะค่ะ
ถ้าเราถามคนญี่ปุ่นว่า “คุณชื่ออะไร” เป็นภาษาญี่ปุ่น ร้อยทั้งร้อยจะตอบ “นามสกุล” ตัวเอง แต่ถ้าถามเป็นภาษาอังกฤษ “What’s your name?” ร้อยทั้งร้อยจะตอบ “ชื่อจริง” ตัวเองแทน ทั้งๆ ที่เป็นชื่อที่ให้คนที่สนิทจริงๆ เรียกเท่านั้น
คำถามคือ เวลาถูกถามชื่อ ทำไมคนญี่ปุ่นไม่ตอบชื่อที่ตัวเองถูกเรียกเป็นปกติ (ซึ่งก็คือนามสกุล) อันนี้ดิฉันวิเคราะห์เองว่า คงเป็นเพราะคนญี่ปุ่นเป็นคนซื่อตรง เวลาถูกถาม “Name” ฉันก็ตอบ “ชื่อ” จริงๆ อย่างนักเรียนดิฉันคนนี้ เขาชื่อ นายโคบาริ โคบายาชิ ถ้าอยู่ที่ญี่ปุ่น ทุกคนคงเรียกเขาว่า “โคบายาชิซัง” แต่พอหนุ่มน้อยมาไทย ดันแนะนำตัวว่าชื่อ โคบาริ พวกเราก็เลยเรียกชื่อเขาอย่าง “สนิทสนม” ประหนึ่งแฟนและครอบครัวไปเลย
สุภาพน้อยลง
อีเมลด้านล่างเป็นอีเมลช็อคโลกที่ดิฉันได้จากเจ้าจุน …
Title: Meeting on Oct 21 st
Hi Kate
9:30-10:30 is good. I’ll go to your office where we met before.
So Mr.Kobari will not be able to attend this MTG, because He was given massive tasks by his internship boss until Tuesday.
See you Monday.
Best,
Jun

ในทางกลับกัน จุนพยายามจะบอกดิฉันว่า โคบาริมาประชุมด้วยไม่ได้ ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมทีอย่างนี้ ดันเรียกชื่อเพื่อนตัวเองซะสุภาพเชียว “Mr. Kobari” … ชิชะ
สมมติว่า ถ้าจุนต้องเขียนอีเมลถึงอาจารย์เป็นภาษาญี่ปุ่น ดิฉันมั่นใจมากว่า เขาคงไม่เขียนอีเมลแบบข้างต้นแน่นอน ตอนเรียนที่ญี่ปุ่น ดิฉันเกลียดเวลาที่ต้องเขียนอีเมลถึงอาจารย์มาก เพราะมันช่างเป็นพิธีรีตองเหลือเกิน ต้องถ่อมตัว ต้องเกริ่นให้สุภาพ ถ้าปรับข้อความข้างต้นเป็นสไตล์ญี่ปุ่น คงเป็นแบบนี้ค่ะ
“เรียน ….. เกตุเซ็นเซที่เคารพ
เกี่ยวกับเรื่องที่ผมขอรบกวนอาจารย์ช่วยเลื่อนเวลาการประชุมในวันที่ 21 ตุลาคม
ผมขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงที่อาจารย์กรุณาเลื่อนเวลาเป็น 9.30-10.30 น. ผมจะไปที่ออฟฟิศอาจารย์ตามวันที่และเวลาข้างต้นครับ
ต้องขอประทานโทษที่กระผมอีเมลมาขออาจารย์กระทันหัน* และขอขอบพระคุณที่อาจารย์กรุณาสละเวลาให้ครับ”
(*แม้ว่าคุณจะเมลล่วงหน้าหาอาจารย์ 4-5 วัน คุณต้องถ่อมตัวเองค่ะว่า ขอโทษที่ติดต่อ “กระทันหัน” )
รู้สึกได้ไหมคะว่า สำเนียงและภาษาเวอร์ชั่นภาษาญี่ปุ่นช่างแตกต่างกับเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษโดยสิ้นเชิง เราต้องขอโทษขอโพย ถ่อมตัว กดตัวเองแบบสุดๆ ค่ะ
สุดท้ายนี้ แถมให้ภาพหนึ่ง … เวลาคนญี่ปุ่นเขาพยายามพูดภาษาอังกฤษสำนวนเรียบร้อยแบบญี่ปุ่น จะกลายเป็นแบบนี้ค่ะ
