ฝันถึง ”ภาพทิวทัศน์ใหม่” ของฟุตบอลทีมชาติญี่ปุ่น
รูปประกอบโดย WALK on CLOUD
”กำแพงของรอบ 8 ทีมสุดท้ายช่างสูงยิ่งนัก”
เป็นสิ่งที่สื่อมวลชนออนไลน์ของญี่ปุ่นต่างเขียนถึง
แฟนบอลญี่ปุ่นฝันที่จะได้เห็น “ภาพทิวทัศน์ใหม่” (新しい景色: อะตะระชี่เคะชิคิ) ในฟุตบอลโลกรอบ 8 ทีมสุดท้าย แต่แล้วพวกเขาคงต้องรอไปอีกสี่ปี สำหรับโอกาสนั้นอีกครั้ง
สื่อมวลชนญี่ปุ่นต่างออกมาวิเคราะห์ว่า เพื่อสี่ปีข้างหน้านี้ วงการฟุตบอลญี่ปุ่นควรต้องปรับปรุงอย่างไร
บทความนี้ผมรวบรวมข้อเท็จจริง และ ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทางฟุตบอลในญี่ปุ่น ต่อทีมฟุตบอลญี่ปุ่น ณ ปัจจุบัน และเขียนสรุปเนื้อหาที่น่าสนใจไว้ บทความนี้ไม่ได้เป็นความพยายามในการวิเคราะห์ แต่ต้องการถ่ายทอดให้คนอ่านพอจะรับรู้ได้ว่าผู้คนในวงการฟุตบอลคนญี่ปุ่นเขารู้สึกอย่างไร
หวังว่าในอีกสี่ปีข้างหน้าเราจะได้กลับมาดูกันว่าเราจะได้เห็น “ภาพทิวทัศน์ใหม่” นี้ไหมครับ
ในแง่มุมของผู้เล่น
หากย้อนกลับไปยุคฟุตบอลโลกปี ค.ศ. 1998 ที่ญี่ปุ่นไปเล่นฟุตบอลโลกครั้งแรก ยุคสมัยนั้นการที่จะมีผู้เล่นญี่ปุ่นอย่าง นากาตะ ฮิเดะโตะชิ (中田英寿) ย้ายไปเล่นในสโมสรต่างชาติอย่างในซีรี่ย์เอ ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก
นากาตะ ฮิเดะโตะชิ สมัยเล่นให้เปรูจา กัลโช่
นากาตะ ฮิเดะโตะชิ เป็นแกนหลักของทีมชาติญี่ปุ่น และพาญี่ปุ่นเข้าไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่ฝรั่งเศสได้ ด้วยผลงานตรงนั้นทำให้ นากาตะ ได้รับข้อเสนอจากหลายสโมสรในต่างประเทศ นากาตะเลือกเซ็นสัญญากับทีมเปรูจา กัลโช่ (A.C. Perugia Calcio) หลังจากนั้น นากาตะ ย้ายไปอยู่กับโรม่า สามารถคว้าแชมป์ซีรี่ย์เอ ในปีค.ศ.2001
นี่เป็นหนึ่งในตัวอย่างแรกๆ ของยุคสมัย 2000 กับการที่นักเตะญี่ปุ่นไปค้าแข้งในต่างประเทศและมีผลงานเป็นรูปธรรม
วันเวลาล่วงเลยมา ณ ปัจจุบันนี้ปีค.ศ.2022 มีนักกีฬาญี่ปุ่นที่ไปเล่นอยู่ในลีกยุโรปหลายสิบคน ทั้งพรีเมียร์ลีก ลาลีกา บุนเดสลีกา ลีกเอิง และลีกอื่นๆ ในประเทศยุโรป ยิ่งในบุนเดสลีกา มีนักกีฬาญี่ปุ่นเป็นจำนวนมากที่ไปค้าแข้งในเยอรมัน ผู้เล่นตำแหน่งกองกลางตัวรุก อย่าง คามาดะ ไดจิ (鎌田大地) ที่ไปค้าแข้งในบุนเดสลีกากับ ไอน์ทรัค์ทฟรังค์ฟวร์ท ซึ่งคว้าแชมป์ยูโรป้าลีกเมื่อปีที่แล้ว และมีประสบการณ์ต่อกรกับทีมยักษ์ใหญ่ในบุนเดสลีกาอย่าง ไบเอิร์นมิวนิก มาหลายต่อหลายครั้ง ซึ่ง คามาดะ ได้ให้สัมภาษณ์ก่อนเกมเจอเยอรมันในคัดเลือกบอลโลกรอบแรกไว้ว่า
“ทีมชาติเยอรมันแตกต่างกับไบเอิร์นตรงที่ quality อาจจะไม่เทียบเท่าไบเอิร์น รับรองได้ว่าถ้าสู้กับไบเอิร์นหรือทีมชาติเยอรมันตอนนี้แล้ว แน่นอนว่าไบเอิร์นน่าจะแกร่งกว่า”
ซึ่งถือได้ว่านักกีฬาญี่ปุ่นมาไกลพอสมควรแล้ว พวกเขาได้เป็นเพื่อนร่วมทีมกับนักกีฬาชาติอื่น ได้เล่นฟุตบอลในระดับสูงแทบทุกวันตอนซ้อม ทุกสุดสัปดาห์ได้ลงแข่งจริง บางคนก็มีโอกาสได้เตะฟุตบอลยุโรปกลางสัปดาห์ ทางทัศนคติแล้วถือว่าพวกเขาน่าจะคุ้นเคยและคิดว่า “เอาน่า พอสู้ไหว ขนาดแข่งในลีกยังพอจะเอาอยู่เลย”
ก้าวต่อไปของเหล่าผู้เล่นญี่ปุ่นเหล่านี้ อดีตผู้เล่นทีมชาติญี่ปุ่นที่เคยไปค้าแข้งให้กับชัลเคอ 04 อย่าง อุจิดะ อะซึโตะ (内田篤人) มองว่านักเตะญี่ปุ่นควรจะต้องตั้งเป้าหมายเป็นตัวหลักของทีมใหญ่ๆในแต่ละลีกให้ได้
ในตรงจุดนี้ผมเองดูฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอยู่บ่อยๆ ก็รู้สึกว่า โทะมิยาสุ ทะเคะฮิโระ(冨安健洋) ของอาร์เซนอลก็อยู่ในสถานะที่ใกล้เคียงกับตัวหลักพอสมควร (ตรงนี้คงต้องให้แฟนทีมอาร์เซนอลมายืนยันครับ)
ส่วน มิโทะมะ คะโอะรุ (三笘薫) ที่ทำผลงานได้ดีในฟุตบอลโลกปีนี้ ที่ผ่านมาค้าแข้งกับทีมไบร์ทตัน ก็มักถูกเปลี่ยนเป็นตัวสำรองและสร้างความแตกต่างในเกมรุกและช่วยทีมได้เยอะ ซึ่งคาดว่าหลังจากฟุตบอลโลกคราวนี้เขาจะมีบทบาทมากขึ้น
อีกประเด็นหนึ่งที่ถูกมองคือในแง่ด้านกายภาพที่ร่างกายของคนญี่ปุ่นยังเป็นรองคนต่างชาติ ซึ่งคงต้องอาศัยอะไรหลายๆ อย่าง รวมถึงเวลาอีกหลายรุ่นจนกว่าจะหาทางปรับปรุงในด้านนี้
แผนทีม
ญี่ปุ่นในฐานะบอลรอง อาศัยการมีระเบียบวินัยในเกมรับ
นักวิเคราะห์ฟุตบอลอย่าง คาเนดะ โนะบุโตะชิ (金田喜稔) มองว่าญี่ปุ่นมี “เกมรับที่ดีสู่เกมรุกที่ดี” แต่ยังไม่ค่อยมีความหลากหลายในการเข้าทำประตู ถ้าครองบอลอยู่เพื่อเจาะเกมรับ ควรจะต้องมีไอเดียการเข้าทำประตูที่ดีกว่านี้
ในบางครั้งที่มีการส่งบอลให้ อิโตะ หรือ มิโตมะ ไปเล่น ซึ่งทั้งคู่สามารถดวลหนึ่งต่อหนึ่งได้ แต่เมื่อส่งบอลให้พวกเขาแล้ว ไม่ใช่แค่เพียง “ฝากด้วยนะ” เพราะมันก็มีขีดจำกัดในการจะเจาะแบบดวลหนึ่งต่อหนึ่ง พวกเขาจะโดดเดี่ยวเกินไป ควรจะต้องหาทาง support พวกเขาไม่ให้ถูกปิดตายได้
การจะก้าวขึ้นไปอีกขั้นได้ “หากครองบอลแล้วทำเกมรุกอย่างไร” และสร้าง “เกมรุกที่ดีสู่เกมรับที่ดี” ได้อย่างไร
โค้ช
โค้ชคนต่อไปจะเป็นใคร เป็นคนญี่ปุ่น หรือคนต่างชาติดี
ในประวัติศาสตร์ครั้งหลังๆ ที่ผ่านมา เมื่อโค้ชทีมชาติเป็นชาวต่างชาติ ญี่ปุ่นตกรอบแรกฟุตบอลโลกมาตลอด
โค้ชคนต่อไปยังคงต้องเป็นคนญี่ปุ่น หากลองมองดูจากทีมใหญ่ๆ ก็ต่างใช้โค้ชเป็นคนชาติเดียวกัน เพราะการสื่อสารกับผู้เล่น การเข้าใจในวัฒนธรรมของผู้เล่นในชาตินั้นๆ เป็นเรื่องสำคัญ
ท้ายที่สุด
แน่ใจว่ามีหลายองค์ประกอบ นอกเหนือจากผู้เล่น แผนการเล่น และโค้ช เพื่อที่จะพาทีมชาติญี่ปุ่นไปสู่ “ภาพทิวทัศน์ใหม่” ของรอบ 8 ทีมสุดท้าย และ โปรเจค “ดรีม” ที่ทีมชาติญี่ปุ่นตั้งเป้าว่าจะเป็นแชมป์บอลโลกในปีค.ศ. 2050 ให้โปรเจคนี้ใกล้เคียงความจริงมากยิ่งขึ้น
อายุของคนนั้นจำกัด หากรุ่นเราไม่ทัน ญี่ปุ่นคาดหวังไว้ที่คนรุ่นหลัง ไม่ว่าจะเป็น “ป่าในเมือง” ของศาลเจ้าเมจิจิงกู หรือ โปรเจค “ดรีม” ของทีมชาติฟุตบอลโลกญี่ปุ่น
เพื่อที่จะถึงเป้าหมายนั้น มันก็คงต้องมีการเสียสละของผู้คน ซึ่งมีคำพูดหนึ่งของ นักกีฬา คามาดะ กล่าวไว้หลังจากที่ญี่ปุ่นต้องออกจากฟุตบอลโลกรอบ 16 ทีมในการแข่งครั้งนี้ว่า
“みんな自分が一番って思っている選手が集まっているなか、自分を犠牲にしてチームのために戦うのは高校サッカー以来の感覚”
“ท่ามกลางผู้เล่นที่คิดว่าตัวเองเป็นหนึ่งมารวมตัวกัน แต่ก็พร้อมจะเสียสละตนเองสู้เพื่อทีม นับได้ว่าเป็นความรู้สึกที่ไม่ได้มีมานานนับตั้งแต่สมัยฟุตบอลมัธยมปลาย”
ลองมองดูว่ากระบวนการ check ของพวกเขาจะเป็นอย่างไรเพื่อสู่ next PDCA cycle
รูปประกอบโดย WALK on CLOUD
เรื่องแนะนำ :
– กว่าจะเป็นสุนัขชิบะ
– ประวัติศาสตร์ทะเลสาบคาวากุจิโคะ
– ฮะโคะเนะ ประวัติความเป็นมาและเรือโจรสลัด
– ใครคือ Onitsuka Tiger
– สลากกินแบ่งญี่ปุ่น
อ้างอิง
บทความที่พูดถึง “เทียบกับทีมชาติเยอรมัน ทีมไบเอิร์นแข็งแกร่งกว่า”
– https://news.yahoo.co.jp/
– https://www.goal.com/
– https://www.soccerdigestweb.com/
บทความที่พูดถึงเรื่อง “เกมรับที่ดีสู่เกมรุกที่ดี”
– https://news.yahoo.co.jp/
บทความที่พูดถึง “การเสียสละเพื่อทีม ความรู้สึกที่ไม่ได้มีมานานนับตั้งฟุตบอลมัธยมปลาย”
– https://www.soccerdigestweb.com/
#ฝันถึง ”ภาพทิวทัศน์ใหม่” ของฟุตบอลทีมชาติญี่ปุ่น