วันนี้ก็เลยอยากจะมาเล่าถึง “มนุษย์เงินเดือน” ในซีรีส์ญี่ปุ่นว่า เขาจะเป็นยังไง แค่นั่งตากแอร์ เซ็นเอกสารเฉยๆ หรือเปล่า ตามมาอ่านกันเลยค่ะ
หลายคนคงเคยได้ยินมาว่า “คนญี่ปุ่นบ้างาน” “คนญี่ปุ่นทุ่มเทกับการทำงานมาก” ซึ่งวัฒนธรรมพวกนี้ก็ได้ถูกถ่ายทอดผ่านละครด้วยค่ะ
ในละคนแนวอาชีพ “มนุษย์เงินเดือน” หรือ “พนักงานออฟฟิศ” เป็นอีกหนึ่งกลุ่มคนที่พบเจอในละครญี่ปุ่นอยู่บ่อยๆ แม้จะได้ทำงานในออฟฟิศ ห้องแอร์เย็นสบาย แต่ใช่ว่าจะมีชีวิตที่สะดวกสบายอย่างที่เข้าใจ ด้วยความลำบากท้อแท้ใจของเหล่ามนุษย์เงินเดือน ทำให้มีละครแนวนี้ขึ้น เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจและสร้างความรักงานให้กับคนดูค่ะ วันนี้ก็เลยอยากจะมาเล่าถึง “มนุษย์เงินเดือน” ในละครญี่ปุ่นว่า เขาจะเป็นยังไง แค่นั่งตากแอร์ เซนเอกสารเฉยๆ หรือเปล่า ตามมาอ่านกันเลยค่ะ
1. มนุษย์เงินเดือนมักมีบทบาทหลัก
ในละครญี่ปุ่น มนุษย์เงินเดือนจะมีบทบาทสำคัญมากค่ะ จะไม่ใช่แค่ว่าเอามาพูดถึงพื้นเพชีวิตของตัวละครว่าเป็นมนุษย์เงินเดือนเฉยๆ แล้วจบแค่นั้น แต่จะถูกชูขึ้นมาให้มีความโดดเด่น นำเสนอวิถีชีวิตของมนุษย์เงินเดือนแบบจริงจัง ทำให้ละครญี่ปุ่นมีละครแนวมนุษย์เงินเดือนอยู่เยอะมากๆ และวิถีชีวิตของคนกลุ่มนี้จะเป็นประเด็นหลักของละครเรื่องนั้นๆ มากกว่าเรื่องความรักของพระ-นางค่ะ และที่สำคัญตัวละครหลักจะอยู่ในตำแหน่งพนักงานออฟฟิศธรรมดา ไม่ใช่ว่าเรียนจบมาก็ได้เป็นประธาน สุดหล่อ แสนสมาร์ท แต่จะเป็นละครที่เล่าไปตามความเป็นไปได้ในชีวิตจริงของคนส่วนใหญ่ค่ะ
2. แต่งตัวเนี๊ยบ
เป็นไปตามขนบละครญี่ปุ่น ที่ให้ความละเอียดกับทุกสิ่ง โดยเฉพาะเรื่องเสื้อผ้า หน้าผม การแต่งตัวของมนุษย์เงินเดือนในละครญี่ปุ่นเรียกได้ว่า “เนี๊ยบ” มาก การแต่งตัวก็จะมี 2 แบบค่ะ ก็คือ เครื่องแต่งกายตามแบบของบริษัท กับแบบที่ 2 คือ ไม่ได้มีเครื่องแบบของบริษัท แต่ต้องแต่งกายให้ถูกระเบียบ พนักงานในละครออฟฟิศของญี่ปุ่นจะไม่เน้นแต่งตัวตามแฟชั่นจ้า แต่จะเน้นความเรียบร้อย ต้องอยู่ภายในขอบเขตของกฎระเบียบ และกาลเทศะค่ะ

จากเรื่อง “Shomuni 2013” แต่งตัวสุดเนี๊ยบตามเครื่องแบบของบริษัท
3. ชีวิตกว่า 80% อยู่ที่ทำงาน
ฉากส่วนใหญ่ในละครแนวนี้จะอยู่ในที่ทำงานค่ะ น้อยมากที่เราจะเห็นพวกเขาออกไปเที่ยวเล่นตามห้างสรรพสินค้า ดินเนอร์ในร้านอาหารสุดหรู หรือแม้แต่ “บ้าน” ยังไม่ค่อยเห็นเลยค่ะ ฉากส่วนใหญ่จะอยู่ใน “ออฟฟิศ” หรือ “สำนักงาน” ค่ะ ถ้าให้ดีหน่อยก็จะเป็นฉากตามร้านอาหารที่อยู่ใกล้ที่ทำงาน ออกแนวห่างจากที่ทำงานไม่ค่อยได้ เป็นคนรักงานค่ะ ฮ่าๆ
4. เลิกงานแล้วไปดื่มกันหน่อย
ละครญี่ปุ่นหลายเรื่อง พอทำงานเสร็จ จะต้องออกไปดื่ม นั่งพูดคุยปลดทุกข์กันหน่อย และพอไปทุกวันเข้า ก็จะได้เพื่อนใหม่เพิ่มมาคือ “เจ้าของร้าน” ทำให้พวกมนุษย์เงินเดือนในละครญี่ปุ่นจะต้องมีเพื่อนสนิทเป็นเจ้าของร้าน อาหารไปโดยปริยาย

ที่เลิกงานแล้วต้องไปดื่มหรือไปกินข้าวต่อเนี่ย อาจเป็นเพราะว่าในเวลาทำงาน พวกพนักงานออฟฟิศในละครญี่ปุ่นเขาจะไม่ค่อยมานั่งเม้าท์กันได้อย่างเต็มที่ ค่ะ ฉากที่พนักงานสุ่มหัวเม้าท์กันเนี่ยจะเห็นได้น้อยมากในละคร หลักๆ ก็เอาแต่ทำงานงกๆ พอเลิกงาน ค่อยคุยกันอย่างเต็มที่ สะท้อนให้เห็นการทำงานในสังคมญี่ปุ่นเหมือนกันนะเนี่ย
5. ไม่เม้าท์เรื่องอื่น นอกจากเรื่อง “งาน”
เนื่องจากเป็นละครแนวการทำงาน ตัวละครในนี้จะรักงานรักการกันมากค่ะ หัวข้อที่เขาคุยกันเนี่ยส่วนใหญ่แล้วจะเป็น “เรื่องงาน” (แต่ก็อาจจะมีเรื่องอื่นบ้าง ในกรณีที่ละครเรื่องนั้นอยากจะสื่อเรื่องอื่นด้วย เช่น Hotaru no Hikari, Anego, Rich Man Poor Woman เป็นต้น ที่จะมีเรื่องความรักเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย) เวลาอยู่ในออฟฟิศ ก็ใช่ว่าพวกเขาจะไม่เม้าท์ ไม่พูดคุยกันเลยนะคะ ก็มีบ้างอะไรบ้าง แต่หัวข้อในการเม้าท์ก็ยังเป็นเรื่อง “งาน” เช่น

จากเรื่อง First Class เรมิเอะนางว่าง ก็เลยหันมาชวนชิรายูกิคุย แต่ก็ยังคุยในประเด็นการทำงาน ที่ต่างคนต่างอวยกัน (ต่อหน้า) ว่า อยากเรียนรู้การทำงานซึ่งกันและกันจังเลย

แม้แต่ตอนกินข้าวหลังเลิกงาน ก็อดห่วงความเป็นไปของนิตยสารตัวเองไม่ได้ เฮ้อ…

ชีวิตนี้ต้องตั้งใจทำงาน หาเงิน ไม่มีเวลาไปเม้าท์ ซุบซิบนินทาใคร
หรือเอาใจไปใส่กับเรื่องอื่นหรอก!
6. ทำงานหนักมาก!
มนุษย์เงินเดือนหรือพนักงานออฟฟิศในละครญี่ปุ่นไม่ได้มีชีวิตที่แสนสะดวกสบาย ที่เข้างานมาแค่เพื่อเซนเอกสารรับทราบยิกๆ นะคะ (แม้แต่ระดับบอสในละครญี่ปุ่นก็ยังทำงานหนักค่ะ) แต่พวกเขาทำงานกันหนักมาก หนักขนาดไหนเรามาดูกันค่ะ

จากเรื่อง “Ghost Writer” ค่ะ อาชีพบ.ก. ไม่ใช่แค่นั่งตรวจงาน อยู่กับหนังสือนะคะ ยังต้องใช้เวลาว่างในการตามล่าต้นฉบับ และต้องสร้างคอนเน็กชั่นกับนักเขียนเพื่อให้ได้ต้นฉบับมา อย่างนายคนนี้ ต้องทุ่มเทกับงานขนาดไปเล่นไพ่นกกระจอกกับนักเขียนจนถึงตี 4 เลยทีเดียว

จากเรื่อง “Hanzawa Naoki” เจาะลึกอาชีพของนายธนาคาร ที่เครียดกว่าที่คิด ในแต่ละวันต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่างๆ มากมาย พร้อมภารกิจที่ต้องรับผิดชอบ ถ้าพลาดเมื่อไรจะส่งผลกระทบต่อองค์กรอย่างมหาศาลทันที ดังนั้น นายฮันซาว่าต้องทำทุกวิถีทางที่จะตามล่าเงินที่ปล่อยกู้ไปกลับคืนมาให้ได้ โดยไม่ทำให้องค์กรต้องเดือดร้อนเด็ดขาด ชามะนาวเคยคุยละครเรื่องนี้กับเซนเซย์ญี่ปุ่นคนหนึ่ง เธอบอกว่าก่อนหน้าที่เธอจะมาเป็นอาจารย์สอนภาษานั้น เคยทำงานธนาคารมาก่อน ชีวิตตอนนั้น… “เป็นแบบในละครเรื่องนี้เลย” เต็มไปด้วยความเสี่ยง !การันตีได้เลยว่า ละครญี่ปุ่นมีความสมจริงค่ะ

จากเรื่อง “Black President” เป็นตัวแทนจากคนระดับหัวหน้างาน หัวหน้าที่ไม่ได้หมายถึงผู้ที่สบายกว่าใคร ทุกความลำบากเขาผ่านมาหมด แม้แต่ตอนที่อยู่ในจุดสูงสุดก็ต้องทำงานอย่างหนัก สิ่งสำคัญคือจะทำงานอย่างไรให้สำเร็จ แม้ว่าจะต้องทำงานทั้งวันทั้งคืนก็ตาม

เปรียบการทำงานเป็นลมหายใจที่ทำให้มีชีวิตต่อไปเลยทีเดียว รักงานจริงๆ ค่ะ
ละครญี่ปุ่นแนวนี้ทำให้เราได้เห็นถึงชีวิตของเหล่า “มนุษย์เงินเดือน” อย่างแท้จริงค่ะ เราอาจจะรู้สึกว่า เหนื่อยกับงานมาทั้งวันแล้ว ทำไมเรายังต้องมาจมกับวงจรชีวิตการทำงานต่อในละครอีก แต่บางทีการดูละครแนวนี้ ที่ใกล้เคียงกับชีวิตจริง อาจจะช่วยทำให้เราได้แนวทางในการเดินต่อไปในชีวิตค่ะ เราจะได้เห็นว่า บางปัญหาที่เราเจอ ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด หรือหนักหนาสาหัสอะไร มันอาจเป็นเรื่องธรรมดาที่ใครๆ เขาก็เจอกัน บางทีก็จะได้แนวทางการแก้ไขปัญหากลับไปด้วยจากละคร รวมถึง “กำลังใจ” ที่ทำให้เราอยากจะกลับไปสู้งานที่เหนื่อยยากต่อ
หลายครั้งเราอาจหันหน้าหนีจากชีวิตจริงที่ลำบาก แต่จริงๆ แล้วการหลุดจากชีวิตแบบนั้น ไม่ใช่การเดินหนี แต่เป็นการเผชิญหน้ากับมันอย่างตรงไปตรงมา รับมือกับมัน แก้ไขปัญหาแต่ละวันไปให้ได้ และหาแรงบันดาลใจที่จะทำให้เรามีความสุขจากงานที่ทำ โดยไม่ต้องหนีจากมันอีกต่อไป
เรื่องแนะนำ :
– มารู้จักเพลงประกอบเพิ่มความอินให้ละครญี่ปุ่นกัน!
– Okitegami Kyoko แฟนเดย์ เป็นนักสืบแค่วันเดียว
– เทคนิคที่ละครญี่ปุ่นใช้เล่าเรื่องยากๆ ให้เข้าใจง่าย
– ประโยชน์จากซีรีส์สืบสวนญี่ปุ่น ที่ได้มากกว่าความสนุก
– ศิลปินญี่ปุ่นที่มาพร้อมกับเพลงที่ฟังแล้ว Feel Good