「お歳暮」 (Oseibo) เป็นธรรมเนียมการมอบของขวัญในช่วงสิ้นปีซึ่งอยู่ในช่วงฤดูหนาวของประเทศญี่ปุ่น โดยจะมอบให้กับพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย เจ้านาย เพื่อนร่วมงาน อาจารย์ เพื่อแสดงความขอบคุณต่อผู้มีอุปการะคุณสำหรับความช่วยเหลือในปีที่ผ่านมา
เรียบเรียงโดย : ทีมงานโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่น Jat
สวัสดีค่ะเพื่อนๆ ทุกคน กลับมาพบกันอีกครั้ง กับเกร็ดความรู้ดีๆ เกี่ยวกับภาษาญี่ปุ่น ที่พร้อมเสิร์ฟถึงหน้าจอให้กับเพื่อนๆทุกคนถึงที่เลยค่ะ
ใกล้จะถึงวันขึ้นปีใหม่แล้วเพื่อนๆ ทุกคนมีโปรแกรมจะไปเที่ยวที่ไหนกันบ้างหรือเปล่าค่ะ บางคนอาจจะใช้ช่วงเวลานี้ในการหาซื้อของขวัญเพื่อมอบให้กับผู้มีอุปการะคุณเพื่อแสดงการขอบคุณสำหรับทุกอย่างที่ผ่านมากันใช่ไหมค่ะ แต่สำหรับคนไทยแล้วการมอบของขวัญโดยการห่อของขวัญแบบธรรมด๊า..ธรรมดาก็รู้สึกเฉยๆ กันใช่ไหมคะ วันนี้จึงอยากจะพาเพื่อนๆไปทำความรู้จักกับ “การมอบของขวัญสิ้นปีของคนญี่ปุ่น”ว่ารูปแบบจะแตกต่างกันอย่างไร ไปติดตามชมได้เลยค่ะ
「お歳暮」 (Oseibo) การมอบของขวัญสิ้นปี

「お歳暮」 (Oseibo) เป็นธรรมเนียมการมอบของขวัญในช่วงสิ้นปีซึ่งอยู่ในช่วงฤดูหนาวของประเทศญี่ปุ่น โดยจะมอบให้กับพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย เจ้านาย เพื่อนร่วมงาน อาจารย์ เพื่อแสดงความขอบคุณต่อผู้มีอุปการะคุณสำหรับความช่วยเหลือในปีที่ผ่านมา

ประเพณีการมอบของขวัญของคนญี่ปุ่นนั้นจะมีการมอบขวัญปีละ 2 ครั้ง โดยจะมอบในช่วงฤดูร้อนซึ่งเรียกว่า「御中元」 (Ochuugen เป็นการมอบของขวัญกลางปี จะเริ่มมอบของขวัญตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ไปจนถึง 15 สิงหาคม) และมอบในช่วงฤดูหนาวซึ่งเรียกว่า 「お歳暮」(Oseibo เป็นการมอบของขวัญในช่วงสิ้นปี จะเริ่มมอบของขวัญตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคมจนถึงสิ้นปี) นั้นเอง
การมอบของขวัญเดิมได้รับประเพณีมาจากประเทศจีนโดยจะมอบของขวัญอยู่ 3 ช่วง ซึ่งการมอบของขวัญกลางปีนั้นจะอยู่ในช่วงเทศกาล (お盆 Obon เทศกาลรำลึกถึงผู้ตายตามความเชื่อของศาสนาพุทธ) จึงยึดถือให้ช่วงนั้นเป็นการมอบของขวัญในช่วงฤดูร้อน ส่วนการมอบของขวัญในช่วงฤดูหนาวของคนสมัยก่อนจะเซ่นไหว้ให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว

ช่วงศตวรรษที่ 17 – 19 ของสมัยเอโดะ เป็นช่วงที่มีความสัมพันธ์ทางด้านธุรกิจการค้าขายเป็นอย่างมาก เมื่อมีการสรุปปิดยอดบัญชีช่วงกลางปีจึงนิยมมีการมอบขอบขวัญให้กับลูกค้าผู้มีอุปการะคุณ เพื่อแสดงความขอบคุณและสานสัมพันธ์อันดีต่อกันและกัน แล้วเมื่อราวศตวรรษที่ 20 ของสมัยเมจิก็นิยมมอบของขวัญกันอย่างแพร่หลายจนมีการสร้างห้างสรรพสินค้าขึ้นมาจนถึงสมัยปัจจุบัน

ปัจจุบันนี้การทำงานของคนญี่ปุ่นที่เต็มไปด้วยความเคร่งเครียด งานการเยอะแยะยุ่งเหยิง ก็มักหาอีกทางเลือกนึงในการมอบของขวัญ นั่นก็คือ “ห้างสรรพสินค้า” เป็นธุระจัดการแพ็คกล่องส่งให้ถึงมือผู้รับ ซึ่งช่วงนี้บรรดาห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้าทั่วไปจะเนื่องแน่นไปด้วยข้าวของสินค้าต่างๆ และผู้คนที่มาจับจ่ายซื้อของเป็นอันมาก

สำหรับสินค้าที่นิยมซื้อให้กันนั้นมักจะเป็นของกิน เช่น บรรดาเครื่องดื่มต่างๆ กาแฟ น้ำผลไม้ เบียร์ หรือบางคนอาจจะให้พวกเนื้อหมู เนื้อวัว แฮม ไส้กรอก บะหมี่ ผลไม้สด ฯลฯ จะได้ให้ผู้รับสามารถทำ (おせちOsechi อาหารชุดปีใหม่แบบญี่ปุ่น) ได้ทานกันเพื่อฉลองปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง หรือของที่สามารถใช้ได้ถึงปีหน้าจะเป็นพวกของใช้ต่างๆ เช่น สบู่ ผงซักฟอก ผ้าเช็ดตัว ปากกา ฯลฯ
ส่วนสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงในการมอบของขวัญมักจะเป็นของที่อยู่ได้ไม่นานแล้วเสียไป เช่น ดอกไม้ เพราะสื่อความหมายว่าอยู่ได้ไม่นานก็ร่วงโรยไป… หรือของใช้มีคม เช่น มีด กรรไกร เพราะสื่อความหมายถึงการตัดความสัมพันธ์ต่อกัน
การห่อของขวัญของคนญี่ปุ่น

การห่อของขวัญของคนญี่ปุ่นนั้นจะมีลักษณะแบบเรียบง่ายและประณีต แต่อีกนัยหนึ่งนั้นแฝงไปด้วยความรู้สึกที่มีให้ต่อผู้รับ ด้วยลักษณะนิสัยของคนญี่ปุ่นที่เป็นคนพิถีพิถันและเอาใจใส่ไปหมดซะทุกอย่าง และเป็นคนที่ไม่แสดงออกทางด้านความรู้สึกให้เห็นเด่นชัด แต่กลับกลายเป็นแสดงออกผ่านการ “ห่อหุ้มความรู้สึก” ที่พยายามห่อของขวัญนั้นๆ ให้ออกมาน่ารักสวยงาม อีกทั้งให้ความสำคัญมากเรื่องรูปลักษณ์ของการห่อของขวัญมากกว่าสิ่งของภายในกล่องเสียอีก
การห่อของขวัญกลางปีและสิ้นปี

1. | ตั้งงบประมาณในการหาซื้อของขวัญให้กับผู้รับโดยคำนึงถึงความเหมาะสมก่อน |
2. | การห่อของขวัญนั้นจะห่อด้วย 「千代紙」 (Chiyo-gami กระดาษห่อของขวัญที่มีหลากสี) โดยคาด 「のし紙」 (Noshi-gami แผ่นกระดาษขาวที่คาดบนห่อของขวัญที่จะมอบให้ผู้อื่นซึ่งพิมพ์คำแสดงโอกาสที่มอบไว้) ไว้ด้านบนกล่อง แล้วเขียนด้านบนตรงกลางด้วยคำว่า 「御中元」(Ochuugen เป็นการมอบของขวัญกลางปี หรือ 「お歳暮」 (Oseibo เป็นการมอบของขวัญในช่วงสิ้นปี |
3. | ส่วนด้านล่างตรงกลางจะเขียนชื่อของผู้ส่งไว้ ซึ่งในกรณีที่ให้ทางห้างสรรพสินค้าช่วยส่งของขวัญให้ ควรกรอกชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ของผู้รับและผู้ส่งไว้ |
4. | เมื่อผู้รับได้รับของขวัญแล้วจะส่งจดหมายเพื่อแสดงการขอบคุณกลับ |

การมอบของขวัญให้กันนั้น สิ่งของแต่ละชิ้นล้วนมีความหมายบ่งบอกในตัวของมันเอง ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งของที่โก้หรูหรือมีมูลค่าที่แพงมาก แต่สิ่งที่สำคัญนั้นก็คือ สิ่งของที่ให้นั้นมีคุณค่าทางจิตใจที่มอบให้แก่ผู้รับนั้นสำคัญที่สุด ยิ่งถ้าของสิ่งนั้นตั้งใจทำด้วยตัวเองกับมือแล้วล่ะก็ผู้รับจะยิ่งมีความรู้สึกดีมากขึ้น จริงไหมค่ะทุกคน ^ ^
เรียบเรียงโดย : ทีมงานโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่น เจ.เอ.ที. (JAT)
เอื้อเฟื้อโดย :
โรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่นแจ๊ท Jat (JAT Japanese language school)
http://www.jatschool.com
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ :
หนังสือ วัฒนธรรมญี่ปุ่น
โอคะโมะโทะ โทะมิ(ผู้แต่ง), แสวง จงสุจริตธรรม(ผู้แปล), รศ.ปราณี จงสุจริตธรรม(ผู้แปล). วัฒนธรรมญี่ปุ่น. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ภาษาและวัฒนธรรม, 2547
http://nishiyama.ashita-sanuki.jp/e612289.html
Oseibo
http://area-baito.weban.jp/contents/baito_tobira/130318.html?OP=620001508
http://allabout.co.jp/tipsplus/tips/detail/950/
http://know-how.fc2.com/1620/
http://item.rakuten.co.jp/kireispot/te371/
http://rearcarcoffee.sakura.ne.jp/home/?p=302
http://www.takashimaya.co.jp/shopping/gift/wintergift/
http://www.i-nekko.jp/nov/2012-113018.html