Naki Sumo – – เมื่อหนุ่มตัวโตๆ ต้องมาแข่งกันทำให้เด็กร้องไห้!
ส่งท้ายโอลิมปิก 2024 ทั้งที ก็ต้องขอแอบเกาะกระแสนี้พูดถึงเรื่องกีฬากันซักนิดดีกว่า และกีฬาที่เราอยากชวนมาเม้าท์มอยกันในวันนี้ก็คือกีฬาซูโม่ ซึ่งถือเป็นกีฬาประจำชาติของประเทศญี่ปุ่นที่ทุกคนคุ้นตา และยังเป็นกีฬาเก่าแก่ที่ได้รับความนิยมชนิดฝังเข้าไปในทุกอณู DNA ของชาวญี่ปุ่นมาอย่างยาวนานตั้งแต่อดีตจนถึงทุกวันนี้ – – นอกจากซูโม่แบบที่มีหนุ่มๆ หุ่นหมีพร้อมเรือนร่างแบบโอเวอร์ไซส์มาประลองพละกำลังเพื่อชัยชนะกันแล้ว ยังมีซูโม่อีกหนึ่งแบบที่แข่งกันแบบตะมุตะมิไม่เหมือนใคร นั่นคือ Naki Sumo ที่รับรองว่าถ้าได้ชมก็ต้องนั่งอมยิ้มด้วยความเอ็นดูอย่างแน่นอน!
ว่ากันว่าซูโม่นั้นเป็นกีฬาเก่าแก่ที่อยู่คู่กับประเทศญี่ปุ่นมาอย่างยาวนานนับพันปี โดยเชื่อกันว่าในช่วงเริ่มต้นนั้น ซูโม่คือพิธีการเต้นระบำเพื่อสร้างความบันเทิงแก่เหล่าเทพเจ้าทั้งหลายก่อนฤดูการเกษตร เพื่ออธิษฐานให้การเพาะปลูกพืชผลมีความอุดมสมบูรณ์ ก่อนจะกลายมาเป็นกีฬาที่เกิดขึ้นภายใต้การอุปถัมภ์ของบรรดาราชวงศ์ในช่วงราวปี ค.ศ.710 – 1185 ซึ่งในช่วงแรกนั้นซูโม่ถือเป็นกีฬาที่มีการแข่งขันในราชสำนักต่อหน้าพระพักตร์ขององค์จักรพรรดิเท่านั้น โดยไม่มีการแข่งขันในที่สาธารณะแต่อย่างใด จนกระทั่งประมาณช่วงปี ค.ศ.1600 ซูโม่จึงเริ่มมีการแข่งขันในที่สาธารณะ ซึ่งในช่วงแรกๆ นั้นมีการจัดการแข่งขันขึ้นเพื่อระดมเงินในการสร้างศาลเจ้า วัด หรือสะพาน โดยมีการจัดการแข่งขันเพื่อชิงถ้วยรางวัลใหญ่ 6 แม็ทช์ในแต่ละปี ซึ่งเวทีการแข่งขันจะเกิดขึ้นที่โอซาก้า นาโกย่า ฟุกุโอกะ และโตเกียว
นอกจากการต่อสู้เอาชนะกันด้วยพละกำลังในสังเวียนวงกลมอย่างที่เราทุกคนล้วนคุ้นตา ในญี่ปุ่นยังมีอีกหนึ่งงานเทศกาลที่เหล่านักกีฬาซูโม่ต้องมาต่อสู้กัน เพียงแต่ในคราวนี้เป็นการต่อสู้ที่ปราศจากการใช้กำลังอย่างสิ้นเชิง นั่นคืองานเทศกาลที่เรียกว่า Naki Sumo – Crying Baby Festival ซึ่งมีการจัดขึ้นในหลายวัดของญี่ปุ่น และหนึ่งในพิกัดที่โด่งดังก็ต้องยกให้กับวัด Sensoji ในย่านอาซากุสะ หนึ่งในแหล่งเช็คอินยอดฮิตของโตเกียวซึ่งเชื่อว่าเกือบทุกคนต้องเคยไป
นากิ ซูโม่ นั้นถูกจัดขึ้นบนพื้นฐานของความเชื่อแบบญี่ปุ่นที่เชื่อกันว่า เสียงร้องไห้ของเด็กทารกนั้นจะสามารถขับไล่ภูตผีปีศาจและสิ่งชั่วร้ายทั้งหลายให้ออกห่างไปได้ และยังเชื่อกันว่าเด็กที่ยิ่งมีเสียงร้องไห้ดังเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเติบโตได้ไวและยิ่งแข็งแรงมากขึ้นเท่านั้น โดยงานเทศกาลนี้จัดขึ้นอย่างยาวนานมาแล้วกว่า 400 ปี ซึ่งปกติจะจัดขึ้นในช่วงวันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปี เนื่องจากเป็นช่วงวันเด็กในประเทศญี่ปุ่น แถมยังอยู่ในช่วง Golden Week หรือช่วงวันหยุดยาวของชาวญี่ปุ่นอีกด้วย วิธีการแข่งขันก็ไม่ได้ซับซ้อนซ่อนเงื่อนอะไร โดยจะจัดการแข่งขันกันในเวทีซูโม่กลางแจ้งซึ่งอยู่ในวัด และนักซูโม่แต่ละคนซึ่งยืนเผชิญหน้ากันจะทำการอุ้มเด็กเอาไว้ เมื่อเริ่มการแข่งขัน นักซูโม่ทั้งสองฝั่งจะต้องหาวิธีทำให้เจ้าตัวเล็กร้องไห้ให้ไวที่สุด โดยข้อห้ามสำคัญก็คือการห้ามใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ ซึ่งทำให้เรามีโอกาสได้เห็นความน่ารักน่าเอ็นดูของเหล่าซูโม่ร่างใหญ่ที่ต้องใช้สารพัดเทคนิคในการล่อหลอกให้เด็กๆ ร้องไห้ ไม่ว่าจะเป็นการแลบลิ้นปลิ้นตา ส่งเสียงดัง ซึ่งบางครั้งแทนที่จะกลัวจนร้องไห้ก็ดันกลับทำให้เจ้าตัวเล็กหัวเราะออกมาแทน! หรือหากเจอเด็กจิตแข็งที่ร้องไห้ยากเข้าไป กรรมการก็จะเริ่มเข้าไปช่วยด้วยการใส่หน้ากากปีศาจแล้วยื่นหน้าเข้าไปใกล้ๆ เพื่อให้เด็กๆ กลัวจนร้องไห้ออกมา และเมื่อเด็กคนไหนร้องไห้จ้าขึ้นมาก่อน นักซูโม่ที่อุ้มอยู่ก็จะทำการชูเด็กขึ้นมาเพื่อประกาศชัยชนะ หรือหากเด็กทั้งสองร้องไห้ออกมาพร้อมกัน ก็จะตัดสินให้เด็กที่ร้องไห้เสียงดังกว่าหรือร้องได้นานกว่าเป็นผู้ชนะไป โดยในช่วงท้ายของการแข่งขันแต่ละรอบ ทุกคนมักจะตะโกนคำว่า “บันไซ รากุ” ซึ่งแปลว่าขอให้มีอายุยืนยาว เหมือนการอวยพรให้เจ้าตัวน้อยนั่นเอง
หลายคนอาจมีคำถามว่า แล้วทำไมจะต้องให้เหล่าบรรดาซูโม่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเทศกาลนี้ด้วยล่ะ? – – คำตอบก็คือชาวญี่ปุ่นมีความเชื่อว่าเวทีซูโม่ที่เรียกกันว่า Dohyo นั้นถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่ง การที่ลูกๆ ของตนเองได้มีโอกาสเข้าไปร้องไห้ในวงโดเฮียวนั้นจึงถือว่าเป็นเรื่องมงคลสำหรับตัวเด็กอย่างนึงเลยละ นอกจากนั้นยังเชื่อกันว่าการที่เด็กๆ ได้รับการอุ้มชูจากมืออันแข็งแรงของเหล่านักซูโม่ จะเปรียบเหมือนการอวยพรให้เด็กๆ มีสุขภาพดีไปตลอดชีวิตของพวกเค้าอีกด้วย – – เมื่อแลดูเหมือนเป็นเทศกาลที่มีแต่ข้อดี จึงทำให้คนที่อยากพาเจ้าตัวเล็กซึ่งมีอายุระหว่าง 6 – 18 เดือนไปเข้าร่วมพิธีนี้ต้องมีการสมัครและจ่ายค่าธรรมเนียมเข้าร่วมงาน โดยจะต้องจ่ายกันประมาณ 15,000 เยนเลยทีเดียว แต่ถึงแบบนี้ก็ยังมีบรรดาพ่อแม่แห่ไปสมัครกันอย่างท้วมท้นในแต่ละปี ซึ่งทางวัดเซนโซจิจะเปิดรับเด็กน้อยแค่เพียงปีละ 160 คนเท่านั้น หลายครั้งจึงต้องทำการตัดสินกันด้วยวิธีจับฉลากเพื่อให้ได้ผู้เข้าร่วมงานกันเลยนะ
แม้ภาพลักษณ์ของบรรดาซูโม่ร่างใหญ่ที่เราค่อนข้างคุ้นตา มักจะมาในรูปแบบของชายหน้านิ่งที่แลดูจริงจังบนเวทีซึ่งมีแสงไฟสว่างจ้า แต่นั่นก็เป็นเพียงบทบาทนักกีฬาบนเวทีอันแสนจะศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวญี่ปุ่นยกย่องและให้เกียรติเป็นพิเศษเท่านั้น แท้จริงแล้วไม่ว่าจะไซส์ไหน พวกเค้าต่างก็เป็นมนุษย์ที่ยังมีอารมณ์หลากหลาย รวมถึงมีมุมน่ารักน่าเอ็นดูที่ใครได้เห็นก็อดไม่ได้ที่จะต้องอมยิ้มกันทั้งนั้นอย่างในเทศกาลนี้ และหากคุณอยากมีโอกาสไปสัมผัสบรรยากาศสุด cute แบบนี้ด้วยตัวเองในปีหน้า ก็ยังมีเวลาที่จะจัดแพลนเดินทางกันได้ ที่เริ่ดก็คืองานนี้เปิดให้เข้าชมกันแบบฟรีๆ ด้วยนะ ใครไปแล้วมารีวิวให้หน่อยน้าว่าบรรยากาศมันน่ารักขนาดไหน!
เรื่องแนะนำ :
– ทำความรู้จัก Japanese Bobtail – – แมวหางกุดสุดน่ารักจากแดนอาทิตย์อุทัย
– เรื่องหมาๆ ในแดนอาทิตย์อุทัย ไม่ได้มีแค่ฮาจิโกะเท่านั้นนะ!
– หนังสือการ์ตูนยุคแรกเริ่มของญี่ปุ่นเป็นยังไง ไปดูกัน!
– 10 ลาย ‘Wagara’ กับความสวยที่ไม่ใช่แค่ลวดลาย แต่มีความหมายดีๆ ซ่อนอยู่
– ส่องที่มาเทศกาล ‘Hanabi’ ดอกไม้ไฟแห่งปีที่คนญี่ปุ่นนับล้านรอคอย!
อ้างอิงข้อมูลและรูปภาพจาก:
https://en.wikipedia.org/wiki/Sumo
https://www.britannica.com/sports/sumo-sport
https://japanupclose.web-japan.org/techculture/c20230315_2.html
https://en.japantravel.com/tokyo/nakizumo-crying-baby-festival/57856
https://tokyobling.wordpress.com/2014/04/28/nakizumo-sumo-baby-crying-competition/
#Naki Sumo – – เมื่อหนุ่มตัวโตๆ ต้องมาแข่งกันทำให้เด็กร้องไห้!