วิชายุทธ วิถีเซน by Lordofwar Nick
มาอ่าน “คัมภีร์ห้าห่วง” ของมูซาชิด้วยกันเถอะ (30) คัมภีร์แห่งอาโป (น้ำ): ยี่สิบ สิ่งที่เรียกว่าการกระทบถูกแห่งหินเหล็กไฟ
สวัสดีครับท่านผู้อ่าน ในขณะที่ผมกำลังเขียนอยู่นี้ เหลือเวลาอีกสองสัปดาห์ผมก็ต้องเดินทางไปแข่งสยามคัพที่กรุงเทพฯ ละ ตอนนี้อยู่ในขั้นที่ต้อง “ซ่อมร่าง” โดยไปเข้าคอร์สกายภาพบำบัดแบบ จริงๆ จังๆ เลย เพราะมีสิ่งที่ต้องซ่อมเยอะตั้งแต่หัวไหล่ยันนิ้วมือ (อารมณ์เหมือนตรวจสภาพรถก่อนเดินทาง แล้วต้องได้ซ่อมนั่นเปลี่ยนนี่) ทำให้รู้ว่าตัวเองนั้น “ช่างอ่อนแอเสียจริง” (จริงๆ มนุษย์น่ะเทียบกับสัตว์สี่ขาแล้วจัดว่าร่างกายอ่อนแอมาก) และ “จำเป็นต้องซ่อม” ถ้าอยากจะยืนระยะกับตรงนี้ (และเพื่อคุณภาพชีวิตในวัยชรา ๕๕๕)
เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า บางครั้งเรามีปัญหา แต่มองไม่เห็นปัญหาเพราะเราเคยชินกับมันจนคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา จนมันกลายเป็นเรื่องใหญ่นี่หละ เราถึงจะเห็นว่ามันเป็นปัญหา (งงไหมครับ)
ฉะนั้นการตระหนักรู้ถึงปัญหาแต่เนิ่นๆ พยายามแก้ไข จึงเป็นสิ่งสำคัญ ครับ ว่าแล้วก็มาอ่านคัมภีร์ห้าห่วงด้วยกันต่อเลยครับ
คำแปลข้อความต้นฉบับ
水の巻
คัมภีร์แห่งอาโป
二〇 一 石火のあたりと云事
ยี่สิบ สิ่งที่เรียกว่าการกระทบถูกแห่งหินเหล็กไฟ
`石火のあたりは敵の太刀と我太刀と付合ほどにて我太刀少もあげずしていかにもつよく打也 `是は足もつよく身もつよく手もつよく三所を以て早く打べき也 `此打度々打習はずしては打がたし `よく鍛錬すれば強くあたるもの也
การกระทบถูกแห่งหินเหล็กไฟนั้น ด้วยระยะที่ทะจิของศัตรูกับทะจิของตนนั้นแตะติดกัน ทะจิของตนไม่ยกขึ้นแม้แต่น้อย ตีแรงๆ เลย นี้คือ อาศัยสามที่ เท้าแรง กายแรง มือแรง สมควรตีให้ไว การตีนี้ หากหลุดจากการหัดตีหลายๆ ครั้ง จักตีได้ยาก หากฝึกบ่อยๆ จะกระทบถูกได้แรง
การตีความและอภิปราย
ผมอ่านแล้ว หากจะประยุกต์เข้ากับ BJJ คงจะเข้ากับหัวข้อนี้ครับ
Pressure Passing
พูดอีกอย่างก็คือการทะลวงการ์ดของคู่ต่อสู้ด้วยการ ใช้ส่วนบนของร่างกาย ใช้น้ำหนักตัว “กด” และ “ดัน” ให้ตัวเองผ่านการ์ดของคู่ต่อสู้ไปได้ เพื่อให้เห็นภาพ โปรดดูภาพนี้ครับ
ที่มา bjjee
การจะทำให้ได้ผลนั้น ก็ล้อกับคำว่า เท้าแรง กายแรง มือแรง (足もつよく身もつよく手もつよく อะชิ โมะ ทสึโยคุ มิ โมะ ทสึโยคุ เทะ โมะ ทสึโยคุ) เท่าที่ประสบกับตัวเอง ก็มีดังนี้
เท้าแรง คือ ตำแหน่งของเท้า (รวมถึงขา เอว) ต้องอยู่ในตำแหน่งที่จะสามารถโฟกัสโถมลำตัวลงไปได้
กายแรง คือ ร่างกายช่วงบนต้องโฟกัสจุดสัมผัส โดยมากผมจะชอบลงน้ำหนักที่ไหล่ (เอาไหล่กด)
มือแรง คือ ต้องอาศัยการยึดจับ (grip) ที่แข็งแรงเข้ามาช่วยด้วย
และแน่นอน ส่วนของร่างกายเราต้อง “แนบสนิท” กับส่วนของร่างกายคู่ต่อสู้ด้วย “ไม่ยกขึ้น” ขืนยกตัวขึ้น เปิดช่องว่าง คู่ต่อสู้ก้อกลับมาจัดท่าใหม่ให้ตัวเองตั้งการ์ดได้อีก (guard retention) สิครับ
เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ (ฮา)
อ้อ คำว่า หินเหล็กไฟ หมายถึงหินที่เอามาตีกระทบกันแล้วเกิดประกายไฟนะจ๊ะ (คนโบราณเอาไว้ใช้จุดไฟ) ไม่ได้หมายถึงวงดนตรีร็อค แต่อย่างใด 5555 (ไอ้เธอมันคือนางแมวยั่วสวาท อิอิ)
มีเรื่องหนึ่งที่ผมขออนุญาตนอกเรื่องนิดนึง คือผมสังเกตว่า สมัยก่อนเนี่ย เวลาเขาเอาตำรากลยุทธ์ จะคัมภีร์ห้าห่วง พิชัยสงครามซูนวู หรือ ๓๖ กลยุทธ์ ก็ตาม มาเขียนขาย มันเหมือนเป็นเทรนด์ว่าจะต้องเอาเนื้อหาของตำรา คัมภีร์พวกนี้ ไปโยงกับเรื่อง “ธุรกิจ” ประมาณว่าเอาหลักปรัชญา คำสอน แนวคิด ไปประยุกต์กับการวางแผน การแข่งขันด้านธุรกิจ การตลาด อะไรพวกนี้ มันก็เหมือนจะดีนะครับ แต่พอผมมองย้อนกลับไป ผมรู้สึกว่าคำสอนต่างๆ เหล่านี้จริงๆ ไม่ควรจะถูกบีบให้ต้องมารับใช้เพียงแค่เป้าหมายแคบๆ แค่นั้น มันควรเป็นสิ่งที่อ่านแล้วเปิดโอกาสให้คิด ตีความ และนำไปใช้กับเรื่องอื่นๆ ในชีวิตประจำวันธรรมดาๆ ให้กว้างๆ ไปมากกว่า (มากกว่าที่พยายามจะเขียนออกมาเป็น “คำสอนสำเร็จรูป” อย่างนั้น) อย่างตัวผมไม่ได้มีสติปัญญาอะไรมากมาย อ่านอะไรก็แปลความเอา “ตามตัวอักษร” ง่ายๆ ตรงๆ เลย ฉะนั้น การตีความและอภิปรายของผม ก็คือการตีความและอภิปรายของผม โดยการเอาประสบการณ์ตรงของตัวเองที่ประสบอยู่ในยิม เอามันมาจับ แค่นั้้นเอง ผมแค่อยากแสดงให้เห็นว่า ปรัชญา ตำรา คัมภีร์นั้น ไม่ได้อยู่สูงเลิศลอย หรือเป็นนามธรรมอะไรปานนั้น มันคือสิ่งง่ายๆ ซื่อๆ ที่ทุกคนอาจเอื้อมมือคว้าได้ (แล้วแต่ว่าคุณจะทำไหม)
พูดจบแล้วก็ ไปกินข้าวแกงกะหรี่ลิ้นวัวดีกว่า ที่ร้าน “ด้งเจริญ” ราคาน่าคบมากแค่ ๙๙ บาท ที่พูดมานี้ไม่ได้ค่าโฆษณาแต่อย่างใด 555
อาทิตย์หน้าค่อยว่ากันใหม่นะครับ คาดว่า “คัมภีร์แห่งอาโป” จะจบสิ้นปีนี้พอดีเด๊ะ (จริงดิ 55) อย่าลืมติดตามกันนานๆ นะครับ สวัสดีครับ
เรื่องแนะนำ :
– มาอ่าน “คัมภีร์ห้าห่วง” ของมูซาชิด้วยกันเถอะ (29) คัมภีร์แห่งอาโป (น้ำ): สิบเก้า สิ่งที่เรียกว่าการกระทบถูกแห่งเหตุปัจจัย
– มาอ่าน “คัมภีร์ห้าห่วง” ของมูซาชิด้วยกันเถอะ (28) คัมภีร์แห่งอาโป (น้ำ): สิบแปด สิ่งที่เรียกว่าการตีแห่งธารน้ำไหล
– มาอ่าน “คัมภีร์ห้าห่วง” ของมูซาชิด้วยกันเถอะ (27) คัมภีร์แห่งอาโป (น้ำ): สิบเจ็ด สิ่งที่เรียกว่า การตีอย่างไร้นึกไร้คิด
– มาอ่าน “คัมภีร์ห้าห่วง” ของมูซาชิด้วยกันเถอะ (26) คัมภีร์แห่งอาโป (น้ำ): สิบหก เรื่องของจังหวะเอวสอง
– มาอ่าน “คัมภีร์ห้าห่วง” ของมูซาชิด้วยกันเถอะ (25) คัมภีร์แห่งอาโป (น้ำ): สิบห้า การตีหนึ่งจังหวะในการตีศัตรู
#มาอ่าน “คัมภีร์ห้าห่วง” ของมูซาชิด้วยกันเถอะ (30) คัมภีร์แห่งอาโป (น้ำ): ยี่สิบ สิ่งที่เรียกว่าการกระทบถูกแห่งหินเหล็กไฟ