วิชายุทธ วิถีเซน by Lordofwar Nick
ประวัติศาสตร์ของ “ยูยิตสู” ฉบับ Renzo Gracie [เชิงอรรถ 9] หลุยซ์ ฟรังกา ปรมาจารย์ BJJ นอกวงศ์เกรซี่
สวัสดีครับท่านผู้อ่าน หลังจากที่ท่านผู้อ่านได้อ่านเนื้อหาที่ผมได้นำเสนอไป จากภาพที่ว่า มาเอดะ มิตสึโยะ สอนวิชาให้คนตระกูลเกรซี่ คือคาร์ลอสจนถึงน้องๆ แล้วคาร์ลอสจนถึงน้องๆ โดยเฉพาะเฮลิโอ ก็เป็นผู้ขับเคลื่อนในการสร้างแนวทางวิชาในแบบของตัวเองพร้อมกับตั้งป้ายยี่ห้อ “เกรซี่ยูยิตสู” ซึ่งคลี่คลายกลายเป็น “บราซิลเลียนยูยิตสู” พล็อตเรื่องเช่นนี้ อาจทำให้หลายคนพาลเข้าใจไปว่า เกรซี่ยูยิตสู=บราซิลเลียนยูยิตสู ซึ่ง “ไม่ใช่” นะครับ เพราะมาเอดะไม่ได้มีศิษย์แค่พวกพี่น้องตระกูลเกรซี่ แต่ยังมีศิษย์อีกหนึ่งคน ที่กลายเป็นปรมาจารย์ ต้นสายธารแห่งบราซิลเลียนยูยิตสู “นอกวงศ์เกรซี่” ซึ่งได้หว่านเมล็ดพันธุ์สร้างลูกศิษย์หลานศิษย์เหลนศิษย์ที่ต่อมาไปตั้งทีมยูยิตสูที่มีชื่อเสียงระดับโลก คือ GFTeam ในฐานะที่ผมเป็นคนเรียนบีเจเจ และยิมของผม (Pure Grappling เชียงใหม่) ก็เพิ่งไปเข้าชายคา GFTeam (ซึ่งมียิมของตนเองที่เชียงรายมาก่อนอยู่แล้ว) เมื่อปีที่แล้วนี่เอง ดังนั้น ผมจึงต้องขอเขียนถึงประวัติศาสตร์ของต้นธารสายนี้เสียหน่อย นะครับ
Luiz França Filho (ที่มา blogspot)
Luiz França Filho เกิดเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2453 ที่เมืองมาเนาส์ ประเทศบราซิล แรกเริ่มเดิมทีเรียนวิชาที่โรงเรียนของ Soshihiro Satake หลังจากนั้น หลุยซ์ได้ย้ายไปอยู่เมืองเบเลม แล้วได้เรียนวิชากับมาเอดะ มิตสึโยะ พร้อมกับคาร์ลอส เกรซี่ แล้วหลุยซ์ก็ย้ายอีกแล้ว ไปอยู่เซาเปาโล เรียนวิชากับ จีโอ โอโมริ นักยูโดญี่ปุ่นอีกคน (นี่ก็เป็นหนึ่งใน “บิดาแห่ง BJJ ที่ถูกลืม” อีกคน)
ในที่สุด หลุยซ์ได้ย้ายมาอยู่นอกเมืองริโอ เดอ จาเนโร เปิดสำนักสอนวิชาให้ทหารตำรวจ รวมไปถึงเด็กๆ ในสลัม (ซึ่งเป็นอะไรที่คอนทราสต์มากกับสำนักเกรซี่ยูยิตสูที่ออกแนวนักเรียนเป็นลูกคนรวย) อุดมการณ์การสอนวิชาเพื่อคนจน เด็กด้อยโอกาส นั้น ได้ถูกส่งต่อไปยังศิษย์ของหลุยซ์ คือ Oswaldo Fadda และถูกส่งต่อมาจนถึง Julio Cesar Pereira ศิษย์ของ Monir Salomão ซึ่งเป็นศิษย์ของ Oswaldo Fadda อีกทีนึง
Oswaldo Fadda (ที่มา Facebook)
Monir Salomão (ที่มา Facebook)
Julio Cesar Pereira (ที่มา Facebook)
และ Julio Cesar Pereira นั้น ต่อมาก็ได้ไปเป็นโค้ชที่มหาลัย Universidade Gama Filho ซึ่งพอตอนหลังหลังจาก Pedro Gama Filho ถึงแก่กรรม ก็เลยออกมาตั้ง Grappling Fight Team หรือ GFTeam นี่แหละครับ ฉะนั้น อุดมการณ์เรื่องการสอนวิชาให้เด็กด้อยโอกาสของ GFTeam (รวมถึงยิม GFT-CRT ที่เชียงรายด้วย) นั้น อาจสืบย้อนไปได้ถึงปรมาจารย์ต้นสายคือ หลุยซ์ ฟรังกา เลยทีเดียว
หลุยซ์ ฟรังกา ถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ. 2525 สิริอายุได้ 72 ปี
สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง เอ จะพูดดีไหม เพราะค่อนข้างเป็นเรื่องการเมืองในวงการวิชาต่อสู้ที่พ่วงมากับการตลาด แต่ในเมื่อมันเป็นประวัติศาสตร์ คงจะพูดได้นะครับ
อย่างที่บอกแล้วว่า ถ้าเกรซี่ยูยิตสู มีภาพลักษณ์ของความเป็นวิชาต่อสู้ของลูกคนรวย (เพราะตระกูลเกรซี่มีสายสัมพันธ์กับผู้อำนาจ จนถึงกับมีเรื่องที่ว่าคนตระกูลเกรซี่เป็นพวกฝ่ายขวา สนับสนุนเผด็จการทหาร ค่าเรียนก็แพงนะ) ยูยิตสูของหลุยซ์ ก็ต้องเรียกว่าเป็น ยูยิตสูมหาชนเพื่อคนรากหญ้า ประมาณนั้น และในขณะที่สำนักเกรซี่ยูยิตสูทำการตลาดแบบฮาร์ดเซลส์ พร้อมท้าชนโดยลงคำท้าในหนังสือพิมพ์เพื่อพิสูจน์ว่า เกรซี่ยูยิตสูสิแน่กว่าใคร ตัวหลุยซ์กลับทำตัวสงบเสงี่ยม ไม่เคยไปไฝว้กะใคร เป็นเพียงครูคนหนึ่งจริงๆ ส่วนฟัดดา ศิษย์ของหลุยซ์นั้น ก็ยึดอุดมการณ์เดียวกับครูของตน คือสอนคนตามชายหาดหรือในสวนสาธารณะก็ได้ ไม่ต้องมีเบาะก็ได้ ทั้งยังมีความคิดว่า ยูยิตสูนั้นเป็นหนทางที่จะช่วยเหลือคนที่พิการทางกายหรือทางจิตได้ โดยเฉพาะคนเป็นโปลิโอที่มีเกลื่อนเมืองตอนนั้น (ผมอ่านถึงตรงนี้ อึ้ง เลยครับ)
ฟัดดาเปิดยิมของตัวเองนอกเมืองริโอในปี พ.ศ. 2493 มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย และศิษย์สำนักนี้หลายคนก็เก่งวิชา “รัดข้อเท้า” (foot lock) ซึ่งเกรซี่ยูยิตสูไม่มีสิ่งนี้
และเมื่อได้เวลา ฟัดดาจึง “ท้าชน”
ปี พ.ศ. 2498 ฟัดดาท้าชนตระกูลเกรซี่ออกสื่อ ประมาณว่า เรามีศิษย์ 20 คน พร้อมท้าชนสำนักท่าน เฮลิโอ เกรซี่ รับคำท้า ซึ่งผลนั้น ข้อมูลแตกต่างกันไป หนังสือพิมพ์ไปลงว่า สู้กัน 14 นัด เกรซี่ชนะ 7 เสมอ 4 ส่วนทีมของฟัดดาชนะแค่ 3 แต่ในแหล่งอื่นบอกวา ทีมของฟัดดาเล่นท่ารัดข้อเท้าจนทีมเกรซี่สู้ไม่ได้ (เพราะไม่รู้วิชาโจมตีข้อเท้า) ถึงกับว่า ศิษย์ของฟัดดารัดคอคนของเกรซี่ซะสลบ
ปีต่อมา ดวลกันอีกแล้ว คราวนี้พวกลูกศิษย์ของเกรซี่ถึงกับตะโกนพูดคำเหยียดคนสำนักฟัดดาว่า “ไอ้คนทำรองเท้า” เวลาศิษย์สำนักฟัดดาจะเล่นท่ารัดข้อเท้า แต่ยังไงสำนักฟัดดาก็ชนะ (อยู่ดี)
ออสวาลโด ฟัดดา ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2548 จากอาการแทรกซ้อนเนื่องจากโรคปอดบวม สิริอายุได้ 84 ปี หลังจากมรณกรรมแล้วจึงได้สายแดง (สิบดั้ง) นับเป็นปรมาจารย์อีกหนึ่งที่อยู่นอกวงศ์เกรซี่
เรื่องแนะนำ :
– ประวัติศาสตร์ของ “ยูยิตสู” ฉบับ Renzo Gracie [เชิงอรรถ 8] Soshihiro Satake บิดาแห่ง BJJ ผู้ถูกลืม?
– ประวัติศาสตร์ของ “ยูยิตสู” ฉบับ Renzo Gracie [เชิงอรรถ 7] ทานิ ยูคิโอะ ผู้เอาวิชายูยิตสูไปเผยแพร่ถึงเกาะอังกฤษ
– ประวัติศาสตร์ของ “ยูยิตสู” ฉบับ Renzo Gracie [เชิงอรรถ 6] ทานาเบะ มาตาเอมอน ผู้ซึ่งสี่จตุรเทพยังขยาด!
– ประวัติศาสตร์ของ “ยูยิตสู” ฉบับ Renzo Gracie [เชิงอรรถ 5] สี่จตุรเทพแห่งโคโดคัน
– ว่าด้วยคำว่า “อดทน” ในภาษาญี่ปุ่น กามัน (我慢) กับ นินไต (忍耐)
#ประวัติศาสตร์ของ “ยูยิตสู” ฉบับ Renzo Gracie [เชิงอรรถ 9] หลุยซ์ ฟรังกา ปรมาจารย์ BJJ นอกวงศ์เกรซี่