ญี่ปุ่นงงไทย ไทยงงญี่ปุ่น (ด้านศาสนา)…“ลาบวช” คืออะไร? นั่นเป็นคำถามหนึ่งที่ผู้จัดการหนุ่มชาวญี่ปุ่นที่เพิ่งมาประจำที่ไทยถามดิฉัน ตอนดิฉันนั่งแปลกฎระเบียบของบริษัทให้เขาฟัง (ลาเกณฑ์ทหาร กับลาทำหมันก็ทำญี่ปุ่นงงเช่นกันค่ะ) บางครั้งสิ่งที่เราคุ้นชินกลับแปลกตาในสายตาญี่ปุ่น อย่างเช่น….
“ลาบวช” คืออะไร?
นั่นเป็นคำถามหนึ่งที่ผู้จัดการหนุ่มชาวญี่ปุ่นที่เพิ่งมาประจำที่ไทยถามดิฉัน ตอนดิฉันนั่งแปลกฎระเบียบของบริษัทให้เขาฟัง (ลาเกณฑ์ทหาร กับลาทำหมันก็ทำญี่ปุ่นงงเช่นกันค่ะ)
บางครั้งสิ่งที่เราคุ้นชินกลับแปลกตาในสายตาญี่ปุ่น อย่าง ….
1. โรงเรียนญี่ปุ่นไม่มีการสอนสวดมนต์ ไม่มีการสอนเรื่องวันสำคัญทางศาสนา หรือพุทธประวัติ หรือพระธรรมคำสอนอะไร อย่างมากก็เรียนวิชาจริยธรรม เรียนรู้แค่หน้าที่ที่พลเมืองพึงกระทำ
2. วัดไทยเน้นความสวยงามที่โบสถ์ ช่อฟ้าใบระกา แต่วัดญี่ปุ่นที่คนนิยมไปเที่ยวนั้น บางทีไม่ใช่เพราะแค่สถาปัตยกรรม แต่คนชอบไปเพราะไปชมสวนญี่ปุ่นสวย ๆ
3. วัดญี่ปุ่นไม่มีฝังลูกนิมิต ไม่มีมัคนายกมาหยิบไมค์ประกาศโน่นนี่ในวัด บรรยากาศในวัดจะเงียบสงบดีมาก
4. วัดญี่ปุ่นเก็บค่าธรรมเนียม (ค่าผ่านประตู) เพื่อเป็นรายได้บำรุงวัด เรทอยู่ที่ 300-500 เยน (ประมาณ 100-160 บาท)
5. พระญี่ปุ่นไม่บิณฑบาต ส่วนมาก “ภรรยา” ของพระ จะเป็นคนจับจ่ายซื้อของ และจัดเตรียมทุกอย่างไว้ให้
6. พระญี่ปุ่นแต่งงานได้ ดื่มเหล้าได้ (ตีกอล์ฟได้เช่นกัน) บางนิกาย ก็ทานเนื้อได้ บางนิกาย ก็ทานแต่มังสวิรัติ
7. พระญี่ปุ่นเจอแฟนได้อย่างไร … อืม อาจเจอกันสมัยเรียนมหาลัย หรือมีคนแนะนำให้รู้จักกัน เขาเชื่อว่า แต่งงานเพื่อสืบทอดศาสนา
8. การบวชบางครั้งไม่ใช่เพราะความสมัครใจ แต่เป็นการสืบทอดต่อกันจากพ่อสู่ลูก ถ้าเกิดมาแล้วที่บ้านเป็นวัด ลูกชายก็มีหน้าที่ต้องสืบทอดวัดต่อไป
9. ผู้หญิงญี่ปุ่นเวลาเจอพระจะไม่สะดุ้งหรือกระโดดหนีเหมือนสีกาไทย ที่โดนปลูกฝังมาอย่างเข้มงวดว่า ห้ามแตะต้องโดนพระเด็ดขาด
10. รถไฟญี่ปุ่นไม่มีการกันที่นั่งพิเศษสำหรับพระหรือนักบวช (และก็แทบไม่เคยเห็นพระบนรถไฟหรือรถประจำทางเลย มักจะเห็นพระขี่สกู๊ทเตอร์ไปบ้านญาติโยมเองมากกว่า)
11. ปฏิทินญี่ปุ่นก็ไม่มีเครื่องหมายบอกข้างขึ้นข้างแรม …แน่นอนว่าคนญี่ปุ่นไม่รู้จักวันมาฆะ วิสาขะ อาสาฬหะ คือวันอะไร สำคัญอย่างไร แต่ระบุวันฮาโลวีน วันวาเลนไทน์ หรือวันคริสต์มาส ซึ่งคนญี่ปุ่นชอบถือเป็นโอกาสฉลอง อย่างฮาโลวีน ก็ฉลองเพราะสนุกที่ได้แต่งแฟนซี วันคริสต์มาสก็เป็นวันที่คู่รักจะได้หนุงหนิงกัน ส่วนมากมักขอเป็นแฟน ขอแต่งงานกันวันนี้
12. ท้องถนนที่ญี่ปุ่นไม่มีแผงขายพวงมาลัย และไม่มีธรรมเนียมการไหว้พระด้วยดอกไม้หรือปิดทองหลังพระ โดยมาก มักไหว้กันมือเปล่า หรืออย่างมากที่สุด ก็แค่จุดธูปไหว้พระ
13. คนญี่ปุ่นมักอึ้งกับหิ้งพระคนไทย …. ยิ่งบ้านไหนมีแบบแกรนด์ๆ วางพระหลายๆ องค์ เขาจะยิ่งตกใจ นอกจากนี้ คนญี่ปุ่นยังไม่เข้าใจว่า ทำไมต้องวางรูปพระเกจิอาจารย์ด้วย หิ้งพระญี่ปุ่นจะมีแค่พระพุทธรูปองค์เล็กๆ องค์เดียว จบ

14. พระญี่ปุ่นไม่มีสกิลในการเจิมบ้าน เจิมรถ หรือให้เลขเด็ด
15. ลัทธิศาสนาอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลามก็มี เช่น ศาสนา PL (Public Liberty) ที่เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเหมือนงานศิลปะ แต่ละคนล้วนมีความพิเศษต่างกัน ควรดึงจุดแข็งตนมาทำประโยชน์แก่สังคม สำนักงานใหญ่อยู่ที่เมือง Tondabayashi ในจังหวัดโอซาก้า ในเมือง มีโรงเรียนม.ต้น ม.ปลายของตัวเอง มีสวนสนุก (ที่ทางศาสนาบริหาร) เอาเป็นว่าเมืองนี้มีครบทุกอย่าง พอถึงช่วงดอกไม้ไฟ ทางศาสนาก็จัดงานเทศกาลดอกไม้ไฟ (ซึ่งยิ่งใหญ่อลังการงานสร้างมาก)
16. ดิฉันเคยมีรุ่นน้องคนไทยที่ไปเข้ากลุ่มศาสนา PL อยู่สักพัก เพียงเพราะอยากได้ที่นั่งดูพลุไฟแถวหน้า ๆ
17. คนญี่ปุ่นไม่มีความเชื่อเรื่องเกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์ ไม่มีธรรมเนียมต้องบวชก่อนแต่ง อะไรทำนองนี้
18. แน่นอน…ไม่มีบวชนาคด้วย
19. คนญี่ปุ่นเองก็งง ๆ กับศาสนาตัวเองเหมือนกัน มันปน ๆ กัน อย่างเวลาลูกเกิด ก็อุ้มลูกไปทำพิธีที่ศาลเจ้าชินโต ตอนแต่งงานอาจไปจัดที่โบสถ์คริสต์ (ได้ฟีลเก๋ๆ) ตอนเสียชีวิต ก็นิมนต์พระมาสวด เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าคุณนับถือศาสนาอะไร คนญี่ปุ่นมักจะตอบว่า “ไม่มี”
20. คู่รักญี่ปุ่นค่อนข้างปลื้มกับการได้แต่งงานสไตล์คริสเตียน … มันดูเก๋ดี เพราะฉะนั้นสถานที่จัดงานแต่งหลาย ๆ แห่ง จะมีโบสถ์เทียม และมีบาทหลวงมายืนพูดบทต่าง ๆ เหมือนในหนังฮอลลีวู้ด (เพื่อนนักเรียนต่างชาติดิฉัน เคยไปรับจ๊อบเป็นบาทหลวงมาแล้ว งานสบาย เงินดี เน้นหน้าตา…ล้วนๆ)
พอดีเห็นเพิ่งผ่านช่วงอาสาฬหบูชา เข้าพรรษา เลยลองเขียนเรื่องศาสนาดูค่ะ ไม่มีเจตาลบหลู่หรืออะไรนะคะ เปรียบเทียบให้ดูเป็นเกร็ดเฉย ๆ จ้า
ทักทายพูดคุยกับเกตุวดี ได้ที่ >>> เกตุวดี Marumura
อ่าน Japan Gossip ทั้งหมด CLICK HERE
เรื่องแนะนำ :
– เมื่อฉันบอกคนญี่ปุ่นว่าจะไปปฏิบัติธรรม…
– Do and Don’t กับแฟชั่นหน้าร้อนญี่ปุ่น…
– มาแอบเงี่ยหูฟังเสียงอาหารญี่ปุ่นกระซิบเย้ายวน
– งานแต่งไทย vs ญี่ปุ่น ความเหมือนที่แตกต่าง
– ชามใครก็ชามมัน…วิถีการทานของครอบครัวญี่ปุ่น