“พระญี่ปุ่น” บทความนี้ไม่ได้มีเจตนามอมเมาชักชวนให้เข้านิกายใด ไม่ได้เขียนเพื่อจะบอกว่านิกายนี้ดีหรือไม่ดีเพราะไม่ได้ทราบข้อมูลอะไร มากมาย โดยส่วนตัวเป็นคนนับถือพุทธศาสนา อ่านหนังสือธรรมะแบบที่สามารถเข้าใจได้เพื่อการใช้ชีวิตฆราวาสอย่างมีสติ เข้าวัดป่าปฏิบัติธรรมตามวาระโอกาสที่มี แต่จากประสบการณ์ที่มีโอกาสได้ไปใช้ชีวิตอยู่ในวัดญี่ปุ่นหนึ่งวันหนึ่งคืน นี้ เลยขอเอามาบอกเล่าให้ฟังกันค่ะ

ในขณะที่ไทยเรามีกระแสภาพยนตร์เรื่อง “อาปัติ“ ช่วงนี้ที่ญี่ปุ่นก็มีหนังมีละครเกี่ยวกับพระๆ เหมือนกันค่ะ
เรื่องแรกเป็นละครคืนวันจันทร์ ทางช่องฟูจิทีวีชื่อว่า 5 → 9 ~私に恋したお坊さん~ 5 → 9 Watashi ni koi shita obousan แปลเป็นไทยว่า “5 – 9 พระที่ตกหลุมรักฉัน” แค่ชื่อเรื่องถ้าเป็นที่ไทยคงโดนเซ็นเซอร์ตั้งแต่ยังไม่สร้างแล้วใช่ไหมคะ ^^
ละครเรื่องนี้มีโทโมฮิสะ ยามาชิตะ หรือยามะพี รับบทเป็น “พระหนุ่มรูปหล่อ ฉลาด รวย” เริ่มวันแรกมาก็มีฉาก “พระหนุ่มเข้าพิธีดูตัวกับครูสอนภาษาอังกฤษสาวสวย” ซึ่งรับบทโดยซาโตมิ อิชิฮาระ เพื่อการแต่งงาน
ในขณะเดียวกันมีภาพยนตร์น่าดูอีกเรื่องชื่อว่า ボクは坊さん : boku wa bousan แปลดื้อๆ ว่า “ผมเป็นพระ” โดยทีมงานเดียวกับที่สร้างภาพยนตร์เรื่อง Always Sanchōme no Yūhi เป็นเรื่องของชายหนุ่มวัย 24 ที่ตกกระไดพลอยโจนต้องมาเป็นพระสืบทอดวัดของตระกูล มีฉากในตัวอย่างหนังเป็นภาพ “หลวงพี่จับท้องภรรยาสาวที่กำลังตั้งครรภ์” และคำโปรยเขียนว่า お坊さんだって、普通の人間! พระ…ก็เป็นคนธรรมดา!
สำหรับคนไทยเราดูแล้วอาจจะรู้สึกแปลกๆ ตะหงิดๆ อยู่บ้างนะคะ เพราะเราติดภาพที่ว่าพระสงฆ์ห้ามถูกตัวผู้หญิง ไหงมีฉากเลิฟซีนอะไรขนาดนี้ แต่ที่ญี่ปุ่นจะมีทั้งพระกลุ่มที่รักษาพระวินัยเคร่งครัดถือเพศพรหมจรรย์ กับพระที่ใช้ชีวิตแบบคนธรรมดาๆ สามารถมีภรรยาได้
ก่อนอื่นต้องขอชี้แจงว่า บทความนี้ไม่ได้มีเจตนามอมเมาชักชวนให้เข้านิกายใด ไม่ได้เขียนเพื่อจะบอกว่านิกายนี้ดีหรือไม่ดีเพราะไม่ได้ทราบข้อมูลอะไรมากมาย โดยส่วนตัวเป็นคนนับถือพุทธศาสนา อ่านหนังสือธรรมะแบบที่สามารถเข้าใจได้เพื่อการใช้ชีวิตฆราวาสอย่างมีสติ เข้าวัดป่าปฏิบัติธรรมตามวาระโอกาสที่มี แต่จากประสบการณ์ที่มีโอกาสได้ไปใช้ชีวิตอยู่ในวัดญี่ปุ่นหนึ่งวันหนึ่งคืนนี้ เลยขอเอามาบอกเล่าให้ฟังกันค่ะ (เป็นวัดธรรมดาไม่ใช่วัดแบบ shokubou ที่ให้คนมาเข้าพัก )
วัดที่ไปมานี้ตั้งอยู่ในโตเกียวชื่อว่า 安祥寺 Anchoji เป็นวัดในพุทธศาสนาแบบมหายาน นิกายนิชิเรนโชชู
ช่วงที่ไปเป็นช่วงฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งเป็นฤดูของหน่อไม้ ทางวัดมีการจัดพิธีทานหน่อไม้ ภรรยาเจ้าอาวาสจึงมอบหมายงานแรกในวันนี้ด้วยการไปขุดหน่อไม้กับหลวงพี่รูปหนึ่งค่ะ ตอนหลวงพี่ส่งจอบมามือปะทะกันแพล๊บ เจ๊ถึงกับสะดุ้งโหยงด้วยความตกใจว่า ตายแล้ว !! ชั้นถูกมือพระจะบาปไหมเนี่ย แล้วก็นึกขึ้นได้ว่า เออ..หลวงพ่อเจ้าอาวาสก็มีภรรยานี่ พระญี่ปุ่นถูกตัวสีกาได้ไม่เป็นไร
ได้หน่อไม้หลังวัด มาทำอาหารหน้าตาอร่อยเชียวค่ะ แน่นอนว่าไม่ใช่ฝีมือเจ๊ค่ะ ฝีมือคุณแม่และภรรยาของหลวงพ่อและชาวบ้านที่มาช่วยเตรียมงาน
สายๆ ชาวบ้านแถวๆ นั้นซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่วัยกลางคนและผู้สูงอายุต่างมารวมกันที่วัดทำพิธีสวดมนต์และทานข้าวกัน
หลังจากนั้นหลวงพ่อท่านก็ออกมานั่งบรรยายธรรมให้ฟังเป็นแบบ 紙芝居 kamishibai คือการเล่าเรื่องด้วยการเปิดภาพทีละแผ่นสไตล์การเล่านิทานแบบญี่ปุ่นค่ะ เป็นเรื่องของนางกิสาโคตมีที่อุ้มลูกที่ป่วยหนัก (ของไทยจะบอกว่าอุ้มศพลูก) ไปหาพระพุทธเจ้า แล้วพระพุทธเจ้าบอกให้ไปหาเมล็ดพันธุ์ผักจากบ้านที่ไม่เคยมีคนตายมาเพื่อช่วยชีวิตลูก นางหาจนเย็นย่ำก็ไม่เจอบ้านที่ไม่มีคนตาย คือเนื้อเรื่องและหลักธรรมเหมือนกันเป๊ะค่ะ แค่เป็นเวอร์ชั่นภาษาญี่ปุ่น สารภาพว่าแอบนึกในใจว่าการเทศน์ด้วยคามิชิไบก็สนุกดีเหมือนกันนะเนี่ย
ในช่วงท้ายเป็นการพูดคุยกันตามอัธยาศัยมีการแนะนำตัวให้รู้จักกัน กล่าวขอบคุณคนที่มาช่วยงาน พูดถึงสิ่งที่ชุมชนต้องร่วมมือกันโดยมีคุณแม่และภรรยาของเจ้าอาวาส เป็นแม่งานคอยดูแลจัดการงานต่างๆ จนจบงาน รู้สึกขึ้นมาได้ทันทีว่าวัดคือศูนย์รวมของชุมชน แต่นี่ไม่ใช่บ้านนอกบ้านนาที่ไหนนะคะเป็นใจกลางมหานครโตเกียวค่ะ
ในช่วงเย็นมีการทำพิธีสวดมนต์กับหลวงพี่อีกรูปหนึ่ง ท่านมีอาชีพหลักเป็นจิตแพทย์ พระคืออาชีพเสริม เมื่อจบจากการสวดมนต์เป็นการพูดคุยโดยมีคุณป้าท่านหนึ่งมานั่งปรึกษาหลวงพี่ด้วยความกลุ้มใจเรื่องลูก กลุ้มใจเรื่องนู้นเรื่องนี้ แล้วเจ๊ก็พบว่าหลวงพี่ท่านตอบคำถามด้วยหลักคำสอนของพุทธศาสนาเหมือนที่ไทยเป๊ะ นั่นก็คือเรื่องของ “ทุกข์และการดับทุกข์” การอยู่กับปัจจุบันโดยไม่ต้องไปกังวลกับเรื่องที่ยังมาไม่ถึงหรือเรื่องที่ผ่านไปแล้ว

ได้เวลาอาหารเย็น ทั้งหลวงพ่อและหลวงพี่ต่างเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดปรกติ แล้วเราก็เดินออกไปทานข้าวเย็นข้างนอกกันเป็นร้านอาหารแบบ izakaya หรือร้านเหล้าญี่ปุ่น และเป็นครั้งแรกที่เจ๊ “ก๊งเหล้ากับพระ”
ไม่ต้องพูดถึงเรื่องผิดศีลเพราะพระญี่ปุ่นไม่มีการถือศีล พระดำเนินพิธีกรรมทางศาสนาให้คำปรึกษาชาวบ้านตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เหมือนกัน แต่การดำเนินชีวิตของพระญี่ปุ่น (บางนิกาย) เหมือนคนธรรมดา แต่งงานได้ กินเหล้าสูบบุหรี่ ใส่ชุดธรรมดาตอนออกไปข้างนอกขับรถได้ การบริหารงานและดูแลวัดเป็นหน้าที่และมรดกที่สืบทอดกันต่อๆ กันมาในตระกูล
จากสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาทั้งวัน คือหลักธรรมของพุทธศาสนาที่เป็นสากล ทำให้ข้อตะหงิดๆ ตะขิดตะขวงใจในตอนแรก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการถูกตัวพระ เอาเสื้อหนาวของหลวงพี่มาใส่ ดื่มเหล้ากับพระ ฯลฯ มลายหายไป และสิ่งที่ประทับใจคือเงินทำบุญที่ได้มา ท่านเจ้าอาวาสนำไปช่วยเหลือสร้างโรงเรียน สร้างบ่อน้ำให้กับเด็กๆ และชาวบ้านยากไร้ในกัมพูชา

เช้าวันรุ่งขึ้นตื่นหกโมงเช้า สวดมนต์ทำวัตรเช้า (หลวงพ่อสวด เจ๊ฟังไม่รู้เรื่องเหมือนเดิม) ทานข้าวเช้าที่ซื้อมาจากร้านสะดวกซื้อเมื่อคืน แล้วก็ออกมาเปิดวัด ทำความสะอาดด้วยการกวาดลานวัดกัน อารมณ์อิกคิวซังมากๆ ค่ะ แต่อยากจะบอกว่า ารกวาดลานวัดญี่ปุ่น จำเป็นต้องมีสติมากกว่ากวาดวัดที่ไทย เนื่องจากเป็นการกวาดใบไม้ออกจากลานหิน ควรจะเรียกว่าเขี่ยใบไม้ออกจากหินน่าจะตรงกว่าซึ่งมันยากกว่าที่คิดไว้เยอะ ต่างจากการกวาดใบไม้ในวัดไทยเราที่ส่วนใหญ่จะเป็นลานดินหรือไม่ก็ลานปูน
ปิดโปรแกรมประสบการณ์ชีวิตในวัดญี่ปุ่น ด้วยการมาทัศนศึกษาที่วัดอิเคะกะมิ ฮนมงจิ 池上本門寺 ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่อายุกว่า 700 ปีที่มีความสำคัญ อันเนื่องจากเป็นสถานที่ที่พระนิชิเรนดับขันธ์
ถ้ามองจากสายตาคนทั่วไปจะทราบไหมคะว่าผู้ชายสองคนนี้ที่พาเจ๊เที่ยวชมวัดอยู่นี้ คือ “พระ“
การไปเรียนไปใช้ชีวิตในญี่ปุ่น ได้พบเจอเรื่องราวและสิ่งต่างๆ ที่ผิดแปลกแตกต่างไปจากการใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทย ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดที่ได้รับคือการเรียนรู้ที่จะมีใจที่เปิดกว้างและเข้าใจในความ “ต่าง“ อย่างที่มันเป็น
การไปเรียนไปใช้ชีวิตในต่างแดนไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนเป็นประสบการณ์ที่ดีค่ะ แต่สำหรับเจ๊แล้วการไปเรียนไปใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นคือ ประสบการณ์ที่มีค่ามากที่สุด ที่อยากให้ทุกคนที่มีโอกาส มีความพร้อมได้ไปสัมผัสด้วยตัวเอง เพราะเจ๊เชื่อว่าการไปเรียนที่ญี่ปุ่นนั้น “ดี” (ปิดท้ายขายของไม่เกี่ยวอะไรกับวัดซะอย่างนั้น)
พบปะ “เจ๊เอ๊ด” และ #ทีมเจ๊เอ๊ด ได้ที่ >>> www.facebook.com/jeducationfan
ข้อมูลเรียนต่อญี่ปุ่น-เรียนภาษาญี่ปุ่น >>> www.jeducation.com