ลิขสิทธิ์การ์ตูนญี่ปุ่น…มีคำถามจากเพื่อนๆ อยู่หลายต่อหลายครั้งว่า “การ์ตูนเหล่านี้ถูกนำมาในเมืองไทยได้อย่างไรกันนะ” ดังนั้นวันนี้เราจะมาเล่าถึงวิธีการต่างๆ เท่าที่ผมทราบและสามารถเปิดเผยได้นะครับ
โดยส่วนตัวผมเป็นคนที่ทำงานเกี่ยวกับวงการลิขสิทธิ์หนังสือ ไม่ว่าจะเป็นนิยาย วรรณกรรม เรื่องสั้น หรือกระทั่งเหล่าการ์ตูนญี่ปุ่น และด้วยความที่ตนเองก็อ่านการ์ตูนญี่ปุ่นอยู่บ้างพอสมควร และได้ยินคำถามจากเพื่อนๆ อยู่หลายต่อหลายครั้งว่า “การ์ตูนเหล่านี้ถูกนำมาในเมืองไทยได้อย่างไรกันนะ” ดังนั้นวันนี้เราจะมาเล่าถึงวิธีการต่างๆ เท่าที่ผมทราบและสามารถเปิดเผยได้นะครับ

เช่นเดียวกับในวงการหนังสือโดยปกติ “การ์ตูนญี่ปุ่น” หรือที่เรียกกันว่า “มังงะ” (Manga) เริ่มเข้ามาในเมืองไทยแบบ “ผิดลิขสิทธิ์” ก่อนที่หลายฝ่ายจะหันมารณรงค์และให้ความสำคัญกับการทำการ์ตูนแบบถูกกฏหมาย มากขึ้น จากผลสำรวจที่ผมได้รับมานั้น ระบุว่า “ประเทศไทยคือหนึ่งในประเทศที่นำเข้าการ์ตูนญี่ปุ่นมากที่สุดในเอเชียตะวัน ออกเฉียงใต้ ตามหลังอินโดนิเซียที่เป็นอันดับหนึ่งอยู่ไม่มากนัก” และประเทศไทยยังเป็นประเทศที่ “แนะนำการ์ตูนให้เพื่อนบ้าน” มากที่สุดอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น “การแนะนำโดเรม่อนให้กับประเทศเวียดนาม”… ทราบหรือไม่ครับว่าการ์ตูนโดเรม่อนเพิ่งได้รับการตีพิมพ์แบบถูกกฏหมายใน เวียดนามเพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง ผ่านการแนะนำของสำนักพิมพ์ไทย และนั่นก็กลายเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นในวงการการ์ตูนเลยล่ะครับ มีการจัดนิทรรศการมากมาย และราคาลิขสิทธิ์ของเรื่องนี้ก็สูงขึ้นตามไปด้วย นี่คืออีกหนึ่งสาเหตุที่ทางสำนักพิมพ์ญี่ปุ่นเชื่อมั่นในศักยภาพของไทย รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านของเราเองก็เลือกซื้อลิขสิทธิ์โดยมองจากสถานการณ์ในเมืองไทยเป็นหลักเช่นเดียวกัน

ก่อนจะนอกเรื่องไปไกลกว่านี้ เราย้อนกลับมาเรื่องการซื้อลิขสิทธิ์ดีกว่า โดยปกติแล้วหนังสือการ์ตูนจะติดต่อซื้อลิขสิทธิ์ผ่าน “เอเจนซี่” ครับ เพราะสำนักพิมพ์ญี่ปุ่นเขาถือว่าจะไม่ทำงานกับบุคคลที่ไม่รู้จัก แบบว่าอยู่ๆ เรามีเงินแล้วอยากเอาการ์ตูนมาตีพิมพ์ในไทย ก็เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย สำนักพิมพ์ในญี่ปุ่นจะให้เอเจนซี่เป็นคนจัดการ เปรียบเสมือนการคัดกรองคนในระดับหนึ่ง โดยเอเจนซี่เหล่านี้ก็จะมีหน้าที่เตรียมงาน เตรียมข้อเสนอ ตลอดจนให้คำแนะนำกับเจ้าของลิขสิทธิ์ว่าผู้ที่ขอซื้อการ์ตูนมีบริบท เบื้องหลังอย่างไร เหมาะกับเนื้อหาของการ์ตูนรึเปล่า โดยเฉพาะในกรณีที่มีหลายสำนักพิมพ์แย่งลิขสิทธิ์กัน บทบาทของเอเจนซี่ถือว่าสำคัญมากๆ ครับ

อีกหนึ่งวิธีของสำนักพิมพ์ใหม่ๆ ที่อยากได้ลิขสิทธิ์การ์ตูน ก็คือการตระเวนไปตาม BOOK FAIR ต่างๆ ซึ่งจะมีเจ้าของลิขสิทธิ์มาแวะเวียนกัน แต่นั่นหมายถึงว่าเราต้องมี Company Profile หรือ Portfolio เตรียมไว้ในระดับหนึ่ง เพื่อใช้โน้มน้าว ยกตัวอย่างสมมติเราเป็นสำนักพิมพ์ใหม่มากกกกกกกกกกกก และอยากจะตีพิมพ์การ์ตูนเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เราก็อาจต้องหาคนที่เก่งวิทยาศาสตร์มากๆ มาเป็นทีมงาน และระบุใน Port ของเราว่า “สำนักพิมพ์ของเรามีนักวิทยาศาสตร์ที่ได้เกียรตินิยมเหรียญทองจาก มหาวิทยาลัยชั้นนำของเมืองไทย นอกจากนี้เขายังเป็นคนที่รักการ์ตูนมากอีกด้วย ดังนั้นเราคิดว่าการแปลหนังสือเล่มนี้ จะได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจน เป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้อ่านและเจ้าของลิขสิทธิ์” คือเราต้องพยายาม Present จุดเด่นของตนเองออกไปให้มากที่สุดน่ะครับ และหลังจากเราทำแบบนี้ไปได้สักสี่ห้าครั้ง เราก็จะเริ่มมีผลงานเป็นของตนเอง และมันก็จะค่อยๆ ง่ายขึ้นตามลำดับ

ต้นทุนในการผลิตการ์ตูนแต่ละเรื่องถือว่าสูงมากครับ เราต้องคำนึงถึงทั้ง “ค่าลิขสิทธิ์” รวมถึงเงินหักจ่ายล่วงหน้าต่อการตีพิมพ์ 1 ครั้ง และยังจะมีรายละเอียดปลีกย่อยคิดเป็นเปอร์เซนต์ต่อการจัดจำหน่ายแต่ละเล่ม อีก ซึ่งทางสำนักพิมพ์จะต้องรายงานอย่างเคร่งคัดต่อเจ้าของลิขสิทธิ์ เฉลี่ยแล้วการ์ตูนเล่มหนึ่งต้องลงทุนเกือบๆ หนึ่งล้านบาทเลยครับ ไหนจะนักแปล ซึ่งบางครั้งก็ต้องหาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมาตรวจสอบ ไหนจะค่าวางบนชั้นหนังสือ (ตามร้านดังๆ จะมี Cost พวกนี้หมดเลยนะครับ) บางร้านใหญ่ๆ จะเสียค่าวางหนังสือเกือบ 30% ของราคาหนังสือด้วยซ้ำ และนี่ก็คืออีกเหตุผลหนึ่งที่เราเห็นหนังสือการ์ตูนมีราคาสูงขึ้นอย่างรวด เร็วมากๆ ส่วนหนึ่งเพราะต้องอ้างอิงจากปัจจัยภายนอกเหล่านี้ล่ะครับ

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าหนังสือการ์ตูนที่นำมาตีพิมพ์ในไทย “มีโอกาสที่จะไม่เหมือนต้นฉบับญี่ปุ่น 100%” นั่นเพราะเมื่อเราซื้อลิขสิทธิ์มาแล้ว ทางสำนักพิมพ์จะเปิดโอกาสให้เราเปลี่ยนแปลงแก้ไขตามต้องการ แต่ต้องให้ทางเจ้าของลิขสิทธิ์ตรวจสอบและ Approve อย่างมีลายลักษณ์อักษรเสียก่อน ยกตัวอย่าง การ์ตูนบางเรื่องอาจจะมีฉากโป๊เปลือย คนไทยก็จะนำมาใส่ “อักษรศีลธรรม” พวก “ควับ.คว้าง.พรึ่บ ฯลฯ” หรือแม้กระทั่งในส่วนของเนื้อหา หากคำพูดของตัวละคร หรือภาพประกอบ มีข้อความที่ส่งผลเสียต่อประเทศไทย (ที่ตัดทิ้งบ่อยๆ ก็จะเป็นเรื่องพวกการค่าประเวณีในเมืองไทย) ส่วนใหญ่ก็จะตัดทิ้งไปครับ

จริงๆ แล้วอีกหนึ่งสิ่งที่ทางเจ้าของลิขสิทธิ์อยากจะทำก็คือเรื่องของ E-BOOK ครับ อย่างที่เรารู้กันว่าปัจจุบันทุกคนสามารถเข้าถึงสื่อดิจิตอลได้โดยงาน ตลอดจนการทำ E-BOOK จะช่วยลดต้นทุนได้อย่างมหาศาล เพียงแต่ปัจจุบันปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ในไทยถือว่ามีอัตราที่สูงเกินกว่า จะมาลงทุนเพิ่มความเสี่ยง ทางญี่ปุ่นเชื่อว่า ต่อให้มีระบบป้องกัน การเข้ารหัสที่แน่นหนาเพียงไร แต่การนำการ์ตูนมาไว้บนอินเตอร์เน็ต ก็ถือว่าเขาได้ทำลายมันเสียแล้ว กล่าวคือเจ้าของลิขสิทธิ์เชื่อว่าไม่มีระบบป้องกันใดดีเกินกว่าจะรอดพ้น ฝีมือ Hacker ได้ นอกจากนี้ในไทยยังเต็มไปด้วยการ์ตูนแบบ Scanlation คือการสแกนการ์ตูนจากญี่ปุ่นโดยตรงและมาแปลเป็นภาษาไทย (Scan + Translation) อันนี้ถึงแม้จะผิดลิขสิทธิ์ แต่ทางฝั่งญี่ปุ่นก็ไม่ค่อยได้เอาเรื่อง อย่างไรก็ตาม มันก็คือสิ่งสำคัญที่ขัดขวางการเติบโตของธุรกิจมังงะในบ้านเรา (ตัวอย่างการ Scanlation หน้ากากเสือด้านล่าง)

ดังนั้นหากเรารักการ์ตูนจริงๆ เริ่มด้วยการอุดหนุนของแท้ก่อนดีกว่าครับ การบอกว่ารักการ์ตูน โดยเป็นเทพดาวน์โหลดไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นนอกจากความสุขของตัวเองคนเดียว กำลังซื้อของเมืองไทยมีมาก แต่เราตัดโอกาสด้วยกันเองไปแล้วหลายครั้ง ถือว่าช่วยกันคนละไม้คนละมือครับ
พบกันใหม่สัปดาห์หน้า หรือติดต่อพูดคุยกับผมได้ทางทวิตเตอร์ @pumiiiiiiiiii ครับ